'บิ๊กตู่'-'บิ๊กป้อม'สร้างดาวคนละดวง การเมืองปี2566สูตรเดิมหรือพลิกขั้ว?

สถานการณ์การเมืองในรอบปี 2565 ถือว่าร้อนแรงอย่างยิ่ง โดยเฉพาะปมความสัมพันธ์ของ พี่น้อง 3 ป. ที่มาถึงจุดแยกทางกันเดิน หรือสร้างดาวคนละดวงในช่วงปลายปี ท่ามกลางกระแส แยกกันเดินรวมกันตี ยังมีอยู่จริงหรือไม่   

            โฟกัสใหญ่ไปที่รอยร้าวของ น้องเล็ก หรือ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม และ พี่ใหญ่ หรือ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่วัดพลังทางการเมืองกันมาเป็นระยะเวลาต่อเนื่อง 

อาทิ การแก้รัฐธรรมนูญจากบัตรเลือกตั้งจากบัตรใบเดียวเป็นสองใบ รวมทั้งการต่อสู้กันในทั้งสภาล่างและสภาสูง กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

ที่ บิ๊กตู่ ต้องการสูตรหาร 500 เพราะเป็นประโยชน์กับพรรคขนาดกลางและเล็ก และที่ผ่านมาทำให้ตัวเองได้เป็น นายกฯ จากกติกาเลือกตั้งนี้ ยังทอนกำลังพรรคเพื่อไทยไม่ให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เช่น การเลือกตั้งปี 2562 ที่ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว

ขณะที่ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร ต้องการสูตรหาร 100 ท่ามกลางข้อกังขา อาจทำให้ พปชร.ได้ ส.ส.ลดน้อยลงจากหลักร้อยเหลือครึ่งร้อย สวนทางกับพรรคเพื่อไทย ที่มีโอกาสชนะแลนด์สไลด์ ซึ่งท้ายสุด “พี่ใหญ่” ก็เป็นฝ่ายชนะ 

ต่อเนื่องด้วยกระแสโหวตคว่ำนายกฯ  ในเวทีอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพื่อดัน “พี่ใหญ่” ทำหน้าที่แทน แม้ "บิ๊กตู่" จะผ่านไปได้ แต่เวทีซักฟอกครั้งนี้ “บิ๊กป้อม” กลับมีคะแนนไว้วางใจมากกว่าผู้เป็นนายกฯ เสียอีก 

 ส่วนคนที่อาจเจ็บฝังใจที่สุดในพี่น้อง 3 ป. คือ "พี่กลาง" บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ถูกแทงหลัง ได้คะแนนไว้วางใจน้อยที่สุด เพราะถูก ส.ส.กลุ่มปากน้ำใน พปชร. ยกมือสวนมติพรรค ขณะที่ "บิ๊กป้อม" ไม่ได้ลงโทษอะไร แต่กลับมอบตำแหน่งรัฐมนตรีในโควตาของ พปชร. เป็นรางวัลอีกด้วย

            รวมทั้งเหตุการณ์สำคัญ "บิ๊กตู่" ถูกพรรคเพื่อไทยยื่นตรวจสอบคุณสมบัติปมนั่งนายกฯ 8 ปี และศาลรัฐธรรมนูญชี้ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ส้มหล่นมาที่ "บิ๊กป้อม" ทำหน้าที่รักษาราชการนายกฯ เป็นเวลา 38 วัน และใช้  ใจบันดาลแรง ทำงานอย่างขยันขันแข็ง ลงพื้นที่ลุยงานรัวๆ แบบไม่เคอะเขิน ทำเอาคนใน พปชร.ฝันหวานอยากเห็นนายตัวเองเป็นนายกฯ ตัวจริง   

ส่วน "บิ๊กตู่" และกองเชียร์ ร้อนๆ หนาวๆ ต้องเลี่ยงไปทำงานอยู่ที่กระทรวงกลาโหมอย่างเหงาๆ มีเพียงคนใกล้ชิดคอยไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจ แต่ก็ไม่วายต่อสู้กันทางการข่าวขิงกลับว่ายังมีนายกฯ ตัวจริงอยู่ 

กระทั่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พล.อ.ประยุทธ์พ้นข้อกล่าวหา 8 ปี และสามารถทำหน้าที่นายกฯ ต่อไป และภารกิจสำคัญเป็นจัดประชุมเอเปกได้ตามที่ตั้งใจไว้ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา 

ช่วงนั้น "บิ๊กตู่" ยังไม่ตัดสินทางการเมือง ว่าคนใน พปชร. ไม่ต้องการตัวเอง   พร้อมกระแสข่าวจะดึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับ พปชร. จึงต้องตั้งพรรคสำรองเอาไว้คือ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.)

กระทั่งฟางเส้นสุดท้ายมาถึง เมื่อ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ (ป.ป.ช.) มีมติชี้มูลความผิดข้าราชการการเมือง ข้าราชการ และเอกชนจำนวนหนึ่ง ในคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ หรือ จีทูจีข้าว ภาค 2

            แต่กลับตีตก 3 พี่น้องตระกูลชินวัตร คือ นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย 

            สิ่งที่เกิดขึ้นถูกนำมาเชื่อมโยงกับกระแสข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า มีกลิ่นดีลลับ จับมือกันหลังเลือกตั้ง ระหว่าง “บิ๊กป้อม” กับผู้มีอำนาจของพรรคเพื่อไทยทันที เพิ่มออปชันทางการเมืองหลังเลือกตั้งเพิ่มเติม เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช.บางคนมีความสัมพันธ์พิเศษกับ พล.อ.ประวิตร และเครือข่ายข้างกายลุงป้อม

ด้วยเหตุนี้เอง จึงทำให้ "บิ๊กตู่" ประกาศไปร่วมงานกับพรรค รทสช.ทันที  เพราะไม่สามารถสังฆกรรมกับ ระบอบทักษิณ ที่เขาเคยยึดอำนาจการปกครองมาได้ตั้งแต่ปี 2557 

 พร้อมแต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค รทสช. เป็น เลขาธิการนายกรัฐมนตรี และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี สมาชิกพรรค รทสช.เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าการเมืองเต็มสูบ เช่นเดียวกับการดูด ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และคนสาย กปปส. อีกหลายคน ถึงกับประกาศว่า จะได้ ส.ส.เกินร้อยเสียง เพื่อดัน “บิ๊กตู่” เป็นนายกฯรอบ 3

รวมทั้งก่อนหน้านี้ ยังแต่งตั้งคนใกล้ชิดอย่าง นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกรัฐบาล เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เพื่อสะท้อนให้คนการเมืองเห็นว่า  หากใครมาร่วมงานกับนายกฯ จะได้รับการดูแลอย่างดี โดยมี นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และอดีตผู้อำนวยการพรรค พปชร. ที่จะขน ส.ส.พปชร.นับกว่าสิบคนมาช่วยงานนายกฯ ในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า 

เมื่อความชัดเจนของ พี่น้อง 2 ป. แยกกันเดิน และกองเชียร์แต่ละฝ่ายต้องการผลักดันนายตัวเป็นแคนดิเดตนายกฯเพียง 1 เดียวของพรรค หลังจากนี้การเมืองต่างๆ จะเข้มข้น

เช่นเดียวกับพรรคการเมืองในซีกพรรคร่วมรัฐบาล ก็เปลี่ยนท่าที จากเดิมเป็นผู้ใต้บังคับบัญชานายกฯ บัดนี้ได้มองเป็นคู่แข่งในสนามเลือกตั้งเที่ยวหน้าทันที

            ไม่ว่าจะเป็น เสี่ยหนู-นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่ประกาศเปลี่ยนท่าทีว่า "ราชสีห์ของหนูวันนี้คือประชาชน" จากเดิมที่เคยเป็นหนูช่วยนายกฯ พร้อมขอขยับเป็นพรรคการเมืองขนาดใหญ่ เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลเพื่อเป็นนายกฯ สอดคล้องกับกระแสพรรคภูมิใจไทยเนื้อหอมสุดๆ มีแต่ ส.ส.บ้านใหญ่จากหลากหลายพรรคทยอยเข้ามาเปิดตัวกับพรรค ภท. กระทั่งวิเคราะห์กันว่าอาจมีจำนวน ส.ส.มากที่สุดในปีกขั้วรัฐบาลเดิม 

เช่นเดียวกับ อู๊ดด้า หรือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ออกมาเตือน "บิ๊กตู่" หลังมีกระแสข่าวจะเป็นสมาชิกพรรค รทสช. ให้ระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะมีความชัดเจนทางการเมืองแล้ว หลังไม่พอใจที่ ส.ส.ของตัวเองถูกดูดไปพรรค รทสช. รวมทั้งพื้นที่ยุทธศาสตร์ในภาคใต้ถูกเขย่าขวัญอย่างต่อเนื่อง

ที่สำคัญสุดทั้งพรรคภูมิใจไทยและ พรรคประชาธิปัตย์ หรือแม้กระทั่งคนในเครือข่าย พปชร. ฯลฯ ประกาศไม่เป็นของตายของ พล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป เพราะทุกอย่างอยู่ที่ผลการเลือกตั้ง และประชาชนจะเป็นผู้กำหนดให้เดินไปในทิศทางไหน  

นอกจากนี้ "บิ๊กตู่" ยังมีด้านสำคัญคือ คู่ต่อสู้ฝั่งตรงข้ามที่จะต้องรวบรวมเสียงยึดสภาล่างให้ได้ เพื่อดับฝันยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกัน หยุดความเหิมเกริมของพรรคก้าวไกล  ที่มีนโยบายหาเสียงแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

            อย่างไรก็ตาม ในปีหน้า 2566 เป็นต้นไป ระหว่างรอกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับมีผลบังคับใช้ เชื่อว่าแต่ละพรรคการเมืองจะเคลื่อนงานการเมืองอย่างสุดกำลัง โดยไม่สนใจข้อครหาเรื่องความได้เปรียบหรือเสียเปรียบทางการเมือง ทั้งการลงพื้นที่หาเสียง ดูดนักการเมือง ด้วยกระสุนดินดำมหาศาล หรือไล่ต้อนเข้าคอกด้วยวิธีต่างๆ เพื่อชนะเลือกตั้งรวบรวมเสียงจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ

ขณะที่เวทีสภาเหลือเวลาไม่ถึง 3 เดือน ก่อนครบวาระวันที่ 23 มีนาคม 2566 ก็แทบไม่เหลือเรื่องชี้เป็นชี้ตายให้รัฐบาลต้องกังวลใจ เว้นแต่การเปิดอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ซึ่งไม่แน่ว่าฝ่ายค้านจะได้เปิดสภาอภิปรายหรือไม่ เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลอาจแก้เผ็ดคืน ด้วยการทำสภาล่ม เพราะไม่อยากให้ใครมาด่าฟรีในช่วงใกล้เลือกตั้ง  

ส่วนจุดยืนทางการเมืองของพรรคต่างๆ ก็ยังไม่มีใครประกาศชัดว่าจะยืนหยัดอยู่กับขั้วไหน เพราะต้องรอคะแนนหลังปิดหีบเลือกตั้ง แต่ก็มีบางพรรคเริ่มเปิดสัญญาณดีลพลิกขั้วการเมืองกันแล้ว 

เช่น กลิ่นดีลลับระหว่างบ้านป่ารอยต่อฯ กับนายใหญ่ฯ ในกรณี “น้องเล็ก” ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หรือมีเสียงสนับสนุนน้อยเกินไป “บิ๊กป้อม” ก็พร้อมจะพลิกขั้วจับมือกับพรรคเพื่อไทย เพื่อตัวเองจะได้เป็นนายกฯ สมใจปรารถนา โดยมีส.ว.หนุนหลังใช่หรือไม่   

แตกต่างจากจุดยืน พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านพรรค รทสช. ยืนปักหลักขั้วอนุรักษนิยม และจำเป็นจะต้องชนะเลือกตั้งให้สำเร็จ มิเช่นนั้นก็ม้วนเสื่อกลับบ้าน เพราะไม่สามารถทรยศต่อผู้มีอุดมการณ์เดียวกัน ที่ไม่ต้องการเห็น "ระบอบทักษิณ" กลับมามีอำนาจ.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ลุยเปิดกาสิโนส่อสะดุด กฤษฎีกาโดดขวางเต็มสูบ

แนวคิดการทำให้ พนันออนไลน์ ขึ้นมาอยู่บนดิน ตามที่ทักษิณ ชินวัตร ผู้นำรัฐบาลเพื่อไทยตัวจริงส่งสัญญาณมา หลายคนยังมองโมเดลนี้ไม่ออกว่าจะทำได้อย่างไร เพราะน่าจะติดล็อกข้อกฎหมายหลายอย่าง รวมถึงต้องเจอแรงต้านในส่วนของภาคประชาสังคม

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

จับตา! 'นายกฯอิ๊งค์' หัวโต๊ะ ก.ตร. เคาะโผ 'นายพลเล็ก' 140 ตำแหน่ง 'นรต.45' ผงาด

จับตา 'นายกฯอิ๊งค์' นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. ถกโผแต่งตั้งนายพล ระดับ 'รองผบช.-ผบก.' กว่า 140 ตำแหน่ง คาด 'บิ๊กเต่า' โยกจาก บช.ก. นั่งรองผบช.น. 'นรต.45' ผงาดผู้การกองปราบ มือขวาผบช.ไซเบอร์ ขึ้น ผบก.สอท.4