พันธมิตรการเมือง 2 ส. ลุ้นอีกเฮือก รวม-ไม่รวมพรรค

ความเคลื่อนไหว 2 พรรคการเมือง พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย คึกคัก ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ แกนนำทั้ง 2 พรรค คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ นายโภคิน พลกุล พ.ต.ท.กุลธน ประจวบเหมาะ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายอุตตม สาวนายน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ นัดหารือทางการเมือง ร้านอาหารชื่อดังย่านสุขุมวิท 

สปอตไลต์การเมืองจับจ้อง ดีลลงตัว จับมือควบรวมพรรคกันแล้ว  

"ส่วนตัวและนายสมคิด เคยทำงานร่วมกันมาหลาย 10 ปี ในฐานะคนที่ผ่านประสบการณ์มา และเคยทำนโยบายที่สำคัญให้กับประเทศจนสำเร็จ ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้ ลูกหลาน คนรุ่นใหม่จะอยู่อย่างไร ดังนั้น ภารกิจครั้งนี้คือ การสร้างพรรคการเมือง เพื่อส่งมอบประเทศไทยให้คนรุ่นต่อไป จึงมาหารือร่วมกันว่าจะร่วมงานการเมืองกันต่ออย่างไร ที่ไม่ใช่การแย่งชิงตำแหน่ง แย่งชิงอำนาจ โดยตกลงกันว่า จะพยายามแสวงหาทางออกให้บ้านเมือง และร่วมมือเป็นพันธมิตร ยุติความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม" คุณหญิงสุดารัตน์ กล่าว 

ขณะที่ นายอุตตม ระบุว่า "ความท้าทายที่เกิดขึ้น จึงต้องมาผนึกกำลังเป็นพันธมิตรเพื่อทำให้บ้านเมือง เพราะปัญหาบ้านเมืองขณะนี้ใหญ่เกินกว่าที่คนไม่กี่คนจะมาแก้ได้ จึงต้องมา ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ"  

               จนถึงนาทีนี้ พรรคตระกูลสร้าง ภายใต้การนำ 2 ส. ระหว่าง ส.สุดารัตน์ กับ ส.สมคิด ขีดเส้นใต้เพียงแค่คำว่า พันธมิตรทางการเมือง ต่างฝ่ายต่างสงวนท่าที พูดให้ชัด ในอนาคตจะมีการควบรวมพรรคหรือไม่ เส้นทางการเมืองทั้ง 2 พรรค จะมาบรรจบเป็นเส้นทางเดียวกันในทางการเมืองได้หรือไม่ ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามลุ้นกันต่อ 

1.ปิดดีลลงตัว จับมือควบรวมพรรค 

2.ปิดดีลไม่ลงตัว แยกย้ายกันไปทำงานในสนามเลือกตั้ง แต่ยังเป็นพันธมิตรทางการเมืองที่ดีต่อกัน          

แม้การควบรวมพรรคไม่ยาก ทว่าสิ่งที่ต้องทำต่อไป ไม่ได้มีเพียงขั้นตอนทางกฎหมาย เพราะในการอธิบายอิมเมจใหม่ ต่อสังคม-มวลชน การกำหนดเป้าหมาย วางยุทธศาสตร์พรรคใหม่ การวางตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเบอร์หนึ่ง คนที่สังคมจับจ้อง จะชูแคนดิเดต ‘เพียงหนึ่งเดียว’ หรือ ‘ส่งครบ 3 คน’   

ทิศทางทางนโยบาย ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. จะต้องมาเกลี่ย ตกลงกันใหม่ เขตที่ว่าที่ผู้สมัครแต่ละพรรคต่างลงพื้นที่ทำงาน แนะนำตัวไปแล้ว ด้วยระยะเวลาที่เหลือ จะสร้างความงุนงง สับสน ไปอธิบายกับชาวบ้านหรือไม่ ปาร์ตี้ลิสต์ยิ่งต้องเน้น เขตก็ละเลยไม่ได้ หากมุ่งหวังตั้งเป้ากวาดให้ได้อย่างน้อย 25 ส.ส. ถึงจะมีสิทธิ์เสนอแคนดิเดตนายกฯ ชิงชัยในสภา  

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากมีการควบรวมพรรค ต้องสะสาง ทำความเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ป้องกันความสับสน ปิดช่องไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามโจมตี   

พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย แกนนำ สมาชิกพรรคทั้งสองฝ่าย กองเชียร์ กองหนุน ต่างมีมุมมอง ความคิด มีทั้งเห็นด้วย อยากให้เดินหน้าควบรวมให้แล้วเสร็จเร็ววัน กับอีกฝ่ายไม่เห็นด้วย เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อฐานเสียง ยุทธศาสตร์หาเสียง ถึงขั้นสมาชิกพรรคบางคนตั้งประเด็นอย่างดุเดือดในกรุ๊ปไลน์ ร้อนถึง ผู้บริหารพรรคต้องลงมาเคลียร์สถานการณ์ "ตอนนี้ยังไม่มีการรวมพรรค"   

แม้โดยเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญ กฎกติกาใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า บัตร 2 ใบ การคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ มีแนวโน้มค่อนข้างสูง โดยเฉลี่ยน่าจะ 3.5 แสนแต้ม ได้ ส.ส.หนึ่งคน ซึ่งมองตามเหลี่ยมมุมไหน ไม่เป็นใจให้กับพรรคขนาดเล็ก พรรคการเมืองน้องใหม่สักเท่าไหร่ เป็นตัวเร่งเร้าให้พรรคขนาดเล็กทั้งหลายต้องเร่งรวมกำลังสู้ศึกเลือกตั้ง  

 พรรคชาติพัฒนากับพรรคกล้า กลายเป็นพรรคชาติพัฒนากล้า, พรรคพลังธรรมใหม่ ของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ก็เร่งเดินสายเจรจากับพรรคขนาดเล็กหลายพรรคด้วยกัน รวมกันเป็นหนึ่ง, พรรคพลังท้องถิ่นไทย ของ เสี่ยชัช-ชัชวาลล์ คงอุดม ไปๆ มาๆ เสี่ยชัช ก็ปล่อยพรรคไปซบพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว 

พรรคชาติไทยก็มีกระแสข่าวเตรียมผนึกพันธมิตร พรรคการเมืองอื่น เสริมความแข็งแกร่งสู้ศึกเลือกตั้ง   

จะเห็นได้ว่าพรรคการเมืองน้องใหม่ พรรคอยู่ในสนามเลือกตั้งขนาดเล็กค่อนไปกลาง ต่างต้องเร่งหาพันธมิตรผนึกความร่วมมือสู้ศึกเลือกตั้งภายใต้กติกาใหม่แทบทั้งสิ้น   

ไม่ว่าการควบรวมพรรคจะมีมาจากหลายสาเหตุ ทำให้ต้อง จับมือร่วมกันทำงาน การเลือกตั้งในปี 2566 ดุเดือด ต้องระดมสรรพกำลัง ทั้งกระแส กระสุน นโยบาย ต่อกรกับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่เพียบพร้อมกว่า 

ถึงแม้ สร้างอนาคตไทย-สมคิด ชูภาพลักษณ์ นักบริหารมีมือทำงานด้านเศรษฐกิจหวังเข้ามากอบกู้ แก้ไข เศรษฐกิจ ไม่สู้ดีนัก ให้กลับมาดีดังเดิม ไทยสร้างไทย-สุดารัตน์ ภาพลักษณ์ กระแสนิยม ผู้คนรู้จัก ว่าที่ผู้สมัคร แกนนำพรรค ในการลงไปคลุกคลี สัมผัสมวลชน และมีนโยบายที่เดินหน้าไปไกล จับต้องได้มากกว่า   

ต่างฝ่ายต่างมีจุดแข็ง ยังไม่นับรวมปัจจัยแบ็กอัปคอยสนับสนุน แม้การออกมาแถลงข่าวแสดงความชัดเจนในครั้งนี้ยังเป็นเพียงแค่พันธมิตรทางการเมือง และยังมีเสียงคัดค้านจากคนทั้ง 2 พรรค ไม่อยากให้รวมพรรค ทว่า คนเสียงดังในพรรค มองอีกมุม คิดคนละแบบ มองว่าควบรวมแล้วเกิดผลดีมากกว่า  

ไม่ว่าดีลควบรวม 2 ส. พรรคตระกูลสร้าง จะจบลงเอยอย่างไร เมื่อดูจากปฏิทิน มีเวลาคิดทบทวน วิเคราะห์แง่มุมต่างๆ ถึงสิ้นเดือนมกราคม 2566 และปักหมุดให้ชัด เงื่อนเวลาบีบรัดเข้ามา ไม่ว่าจะควบรวม-ไม่ควบรวมพรรค ยังต้องเดินต่อไปในเส้นทางการเมือง สู้ศึกเลือกตั้ง ที่นับวันก็เหลือเวลาไม่นานนัก.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง

ดรามา วุฒิการศึกษา 'หมอเกศ' เปิดข้อกม.เอาผิด-พ้นสภาพสว.?

นับตั้งแต่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อปลายเดือนมิ.ย. สิ้นสุดลง หัวกระไดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่แห้งอีกเลย เพราะหลังจากนั้นมีกลุ่มคนเข้ามายื่นหนังสือ เพื่อตรวจสอบกระบวนการเลือกที่ไม่สุจริต และเที่ยงธรรม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเลือกบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ หรือเรียกว่า ฮั้ว หรือการตรวจคุณสมบัติสว.