ฉาวท้ายปี จับอธิบดีกรมอุทยานฯ สะท้อนภาพสินบน-ซื้อขายเก้าอี้

หลังจากนี้ คาดว่าคงมีการ กวาดบ้านครั้งใหญ่ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในยุคที่มี วราวุธ ศิลปอาชา เป็น รมว.ทรัพยากรธรรมชาติฯ

 หลังเกิดเหตุ อื้อฉาวครั้งใหญ่ ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในวงการราชการเมืองไทย เมื่อหน่วยงาน ภาครัฐทั้งตำรวจกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง- สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)-สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท) ร่วมกันบูรณาการวางแผน จับกุม รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เมื่อวันอังคารที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา คาห้องทำงานอธิบดี ด้วยความผิดฐานเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสําหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบฯ โดยระหว่างการแถลงข่าวผลการจับกุม ได้มีการแสดงหลักฐานเงินสดร่วมห้าล้านบาท

คดีดังกล่าวถือเป็นการจับกุม บิ๊กข้าราชการ ทำทุจริตที่อื้อฉาวที่สุดของปี 2565 เลยก็ว่าได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจโดย พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวน แถลงข่าวรูปคดีอย่างเป็นทางการว่า สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 ได้มีผู้ร้องเรียนกับทางเจ้าหน้าที่ให้ช่วยดําเนินการตรวจสอบพฤติกรรมของนายรัชฎา ข้าราชการระดับสูง ซึ่งดํารงตําแหน่งอยู่ในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เนื่องจากมีพฤติกรรมเรียกรับเงินจากเจ้าหน้าที่ในสังกัด โดยเป็นการเรียกรับเงินจากหัวหน้าหน่วย เพื่อเป็นการวิ่งเต้นให้รักษาตําแหน่งหัวหน้าหน่วยไว้ให้ หากหัวหน้าหน่วยแต่ละหน่วยไม่นําเงินมาวิ่งเต้นตําแหน่งกับนายรัชฎา ภายหลังจะถูกโยกย้ายออกจากตําแหน่ง

พล.ต.ท.จิรภพ ระบุว่า การวิ่งเต้นรักษาตําแหน่งนั้น หัวหน้าหน่วยจะต้องนําเงินมามอบให้ที่สํานักงานรายละประมาณ 500,000-1,000,000 บาท อีกทั้งยังต้องนําเงินสดมามอบให้เป็นรายเดือนอีกด้วย นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ข้าราชการระดับสูงรายดังกล่าวมีพฤติกรรมในการเรียกเก็บเงินจากหัวหน้าหน่วยงานในภาคสนามอีกด้วย โดยจะคิดตามอัตราส่วนจากหน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เช่น อุทยานแห่งชาติ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าจะเก็บ 18.5 เปอร์เซ็นต์ จากหมวดงบดําเนินงานและค่าใช้สอย, หน่วยป้องกันไฟป่า 30 เปอร์เซ็นต์ จากหมวดงบดําเนินงานและค่าใช้สอย

ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ย้ำว่า จากพฤติกรรมของทางนายรัชฎา ซึ่งเป็นข้าราชการระดับสูงที่มีการเรียกรับเงินจากทางเจ้าหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งถือเป็นการกระทําผิดต่อตําแหน่ง ทางตำรวจ บก.ปปป.จึงร่วมกับเจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.และ ป.ป.ช.ดําเนินการสืบสวนสอบสวน และรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดําเนินคดีกับนายรัชฎา จนนำมาสู่การนํากําลังเข้าตรวจสอบที่กรมอุทยานแห่งชาติ โดยพบตัวนายรัชฎาอยู่ภายในสํานักงานดังกล่าว ซึ่งขณะนั้นพบว่ากําลังมีการรับเงินจากทางเจ้าหน้าที่ที่จะต้องนําเงินมามอบให้ เจ้าหน้าที่จึงทําการจับกุมและตรวจยึดของกลางเงินสดมูลค่าประมาณ 4.9 ล้านบาท พร้อมกับซองบรรจุเงินที่มีการจ่าหน้าซองจากหน่วยงานในแต่ละสังกัดอีกจํานวนหลายซอง และเอกสารอีกจํานวนหลายฉบับ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการดําเนินการเรียกรับเงินของนายรัชฎา นําส่งพนักงานสอบสวนดําเนินการตามกฎหมายต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นความจริงของระบบราชการไทยในเรื่อง การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง ที่มีข้อครหาและเป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าเป็นเรื่องจริง

 ยิ่งตำแหน่งที่วิ่งเต้นซื้อขายเป็นตำแหน่งใหญ่ ผลประโยชน์สูง เป็นการไปทำหน้าที่ใน พื้นที่เกรดเอ เงินที่ใช้ในการวิ่งเต้นยิ่งสูงตามไปด้วย

ที่ผ่านมาจะพบว่าหน่วยงานหลักๆ ที่มักมีข้อครหา มีข่าวทำนองนี้ หลักๆ เลยก็เช่น วงการตำรวจ-สีกากี ที่มีข้อครหามาตลอดว่ามีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งในทุกระดับ ตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงระดับนายพล

ยิ่งตำแหน่งที่มีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง เป็นตำแหน่งสูง หรือเป็นการวิ่งเต้นเพื่อขอไปอยู่ในพื้นที่ดีๆ ในกองบัญชาการที่มีผลประโยชน์เยอะ ค่าวิ่งเต้นโยกย้าย-เลื่อนขั้น ก็ยิ่งสูงตามไปด้วย ตามลักษณะการแบ่งเกรดกองบัญชาการ-สถานีตำรวจ แต่ที่ผ่านมาก็ยังไม่เคยถึงกับมีการจับได้คาหนังคาเขา ที่เป็นคดีใหญ่ปรากฏให้เห็นมากนัก

นอกจากนี้ก็ยังมีอีกหลายหน่วยงาน ที่ถูกจับตามองทุกครั้งเวลาเข้าสู่ช่วง ฤดูกาลแต่งตั้งโยกย้าย ว่ามีเรื่องของการวิ่งเต้น ซื้อขายตำแหน่งหรือไม่ แต่พอมีเสียงวิจารณ์ทำนองมีการซื้อขายตำแหน่ง ก็มักมีเสียงสำทับกลับมาว่า ไม่ได้มีการซื้อขายตำแหน่ง แต่เป็นเรื่องของ ระบบอุปถัมภ์ เช่น การแนะนำ ฝากฝังกันมา เรื่องของเส้นสาย ที่ของแบบนี้ไม่ต้องใช้เงิน แต่ขอให้ช่วยดูแลกันยามที่ร้องขอ จนสุดท้าย มาเกิดกับกรณีคดีจับกุมอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่กลายเป็นคดีอื้อฉาวส่งท้ายปี 2565 ที่ย้ำให้เห็นชัดว่า การวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่งในวงราชการไทยเป็นเรื่องจริง

รูปคดีต่อจากนี้ก็ต้องดูกันว่า ทางตำรวจ-ป.ป.ช.-ป.ป.ท. จะมีการขยายผลต่อไปอย่างไร เช่น จะมีการเอาผิดคนที่นำเงินไปให้ เพื่อแลกกับการซื้อขายตำแหน่งด้วยหรือไม่ หรือจะกันไว้เป็นพยานในชั้นศาล ขณะเดียวกัน อีกทางหนึ่งก็ต้องให้โอกาส นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในการสู้คดีเพื่อพิสูจน์ตัวเองเช่นกัน ว่าจะสามารถแก้ตัวขึ้นได้หรือไม่ และมีพยานหลักฐานใดๆ มาหักล้างสู้คดี จนทำให้พ้นข้อกล่าวหาหรือไม่

เบื้องต้น วราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนี้ว่า ต้องว่าไปตามตัวบทกฎหมาย ให้กฎหมายเป็นตัวตัดสิน แต่ว่าตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่ง นโยบายที่ย้ำกับผู้บริหารกระทรวงเกี่ยวกับเรื่องตำแหน่ง ขอให้ดำเนินการโดยสุจริต แต่พอเกิดเรื่องเช่นนี้ขึ้นมา จึงได้ให้ปลัดกระทรวงย้ำกับข้าราชการอีกครั้งเรื่องความโปร่งใส และไม่ให้มีการซื้อขายตำแหน่ง

หลังเกิดคดีดังกล่าวขึ้น หลายฝ่ายได้แต่หวังว่า “ปฏิบัติการกวาดบ้านตัวเอง เพื่อสร้างธรรมาภิบาล ความโปร่งใสในองค์กร เพื่อไม่ให้มีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง” คงไม่เกิดขึ้นกับแค่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เท่านั้น แต่ทุกหน่วยงานภาครัฐต้องกวาดบ้าน สร้างกฎเหล็กชำระล้างเรื่องนี้

 เพราะเมื่อมีการวิ่งเต้นซื้อขายตำแหน่ง หากมีการใช้เงินในการซื้อตำแหน่งมาก คนที่ซื้อตำแหน่ง ก็ต้องมีการเข้าไปถอนทุนคืน โดยเอาตำแหน่งที่ซื้อมา ไปทุจริต-หาผลประโยชน์เพื่อถอนทุนคืนและทุจริตเพื่อสะสมทุนไว้ใช้ในการซื้อขายตำแหน่งรอบต่อไป วนเวียนแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นวงจรอุบาทว์ของระบบราชการไทยที่เป็นแบบนี้มาหลายยุคหลายสมัย!!! .

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง

ดรามา วุฒิการศึกษา 'หมอเกศ' เปิดข้อกม.เอาผิด-พ้นสภาพสว.?

นับตั้งแต่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อปลายเดือนมิ.ย. สิ้นสุดลง หัวกระไดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่แห้งอีกเลย เพราะหลังจากนั้นมีกลุ่มคนเข้ามายื่นหนังสือ เพื่อตรวจสอบกระบวนการเลือกที่ไม่สุจริต และเที่ยงธรรม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเลือกบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ หรือเรียกว่า ฮั้ว หรือการตรวจคุณสมบัติสว.