2566 ปีแห่งการเลือกตั้ง สรุป 3 เรื่องใหญ่การเมืองปี 65

อีกไม่กี่วันก็จะสิ้นปีปฏิทิน 2565 ที่เป็นปีขาล เข้าสู่ปีใหม่ 2566 ที่เป็นปีเถาะ หรือปีกระต่าย

ในส่วนของ การเมืองไทยปี 2565 พบว่ามีฉากการเมืองที่สำคัญๆ ดังนี้

1.คดี 8 ปี การเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ

ที่เรียกได้ว่า เป็นคำร้องคดีการเมืองที่ร้อนแรงที่สุดของปีนี้  เพราะถูกจับตามอง และเป็นที่พูดถึงทั้งในเชิง นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ด้วยมุมมองจากฝ่ายต่างๆ ที่เห็นแตกต่างกันไปว่า บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีต่อได้อีกหรือไม่ หลัง 24 สิงหาคม 2565 หลังฝ่ายค้านและนักกฎหมายหลายคนมองว่า ไม่สามารถเป็นต่อได้ เพราะการนับวาระ 8 ปีการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 158 วรรคสี่ ต้องนับจาก 24 สิงหาคม 2557 ดังนั้น 8 ปีจึงต้องครบ 24 สิงหาคม 2565 จนเป็นที่มาของการที่ฝ่ายค้านยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย

เส้นทางของคดี ตั้งแต่ยื่นคำร้องจนกระทั่งถึงวันที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนัดลงมติและอ่านคำวินิจฉัย ทำเอาการเมืองไทยลุ้นกันสุดตัวว่า บิ๊กตู่จะหลุดจากเก้าอี้นายกฯ หรือไม่ เพราะตลอดเส้นทางคดี เข้มข้น-เร้าใจมาก

 ตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเฉียดฉิว 5 ต่อ 4 ให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นก็เกิดกรณี เอกสารรั่ว กลางศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งเอกสารของพลเอกประยุทธ์ และมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. ที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้การวินิจฉัยคดี 8 ปีพลเอกประยุทธ์ยิ่งตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ ทว่าสุดท้ายตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติ 6 ต่อ 3 ให้พลเอกประยุทธ์ไม่หลุดจากเก้าอี้ เมื่อ 30 กันยายน 2565

โดยผลคำวินิจฉัยที่ให้นับวาระการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์นับแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ที่หากไปถึงตอนเลือกตั้งปีหน้า 2566 เท่ากับพลเอกประยุทธ์จะเหลือเวลาการเป็นนายกฯ อีก 2 ปี ยังส่งผลต่อทิศทางการเมืองในภาพรวมตามมา โดยเฉพาะการตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ ที่สุดท้าย แยกตัวออกมาจากพลังประชารัฐไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ ที่ได้ประกาศไปเมื่อ 23 ธ.ค.ที่ผ่านมา

2.การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะการเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์

ชัยชนะของชัชชาติในการเลือกตั้งเมื่อ 23 พ.ค.2565 ว่าไปแล้วไม่เหนือความคาดหมาย เพราะกระแสการตอบรับของชัชชาติก่อนการเลือกตั้งนำโด่งมาตลอดร่วมปี จึงทำให้ชัชชาติชนะเลือกตั้งแบบม้วนเดียวจบ แต่ที่หลายคนคงคาดไม่ถึงก็คือ ชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ที่กวาดคะแนนไปถึง 1,386,215 คะแนน คิดเป็นถึง 51.85% ของคะแนนทั้งหมด ที่ก็คือ คะแนนของผู้สมัครคนอื่นๆ ทั้งหมดที่ลงเลือกตั้ง รวมกันแล้วยังแพ้ชัชชาติ คนเดียว จนทำให้เกิดกระแสชัชชาติฟีเวอร์ช่วงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การทำงานของชัชชาติจนถึงปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่หลายคนตั้งคำถามกันมากว่า เขาเหมาะสมกับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.หรือไม่ และหลายเรื่องที่หาเสียงไว้ ถึงตอนนี้ก็ยังไม่ได้มีอะไรเป็นรูปธรรมจับต้องได้

3.กลเกมการเมือง การชิงไหวชิงพริบเพื่อแย่งชิงอำนาจกันในพรรคการเมืองและในรัฐสภา

ตลอดทั้งปีนี้พบว่า การเมืองที่เป็นเรื่องของอำนาจ มีการต่อรอง ชิงไหวชิงพริบ และวางหมากการเมืองกันแบบหลายชั้นให้เห็นหลายฉากตลอดช่วงปีนี้

 เหตุการณ์เด่นๆ ก็เช่น ปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ ระหว่างกลุ่มก๊วนการเมืองภายในพรรคที่แย่งชิงอำนาจกันอย่างเข้มข้น จนสุดท้ายกลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า ต้องระเห็จออกจากพลังประชารัฐ ไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย แต่เมื่อการทำพรรคเศรษฐกิจไทยล้มเหลว กลุ่มธรรมนัสก็คัมแบ็กกลับมาพลังประชารัฐอีกครั้งในช่วงเดือนธันวาคมนี้

ตลอดช่วงที่ธรรมนัสไปอยู่เศรษฐกิจไทย ก็ทำให้การเมืองไทยอยู่ในความร้อนแรงตลอด เพราะพยายามจะรวมเสียง ส.ส.พรรคเล็ก ฝ่ายรัฐบาลเพื่อให้โหวตไม่ไว้วางใจพลเอกประยุทธ์กลางสภาฯ ตอนศึกซักฟอกรอบล่าสุด แต่ไม่สำเร็จ ทำให้ธรรมนัสหมดราคา จนต้องซมซานขอกลับพลังประชารัฐอย่างที่เห็น

นอกจากนี้ตลอดปีนี้พบว่า มีการเคลื่อนไหวต่อรอง พลิกเกมการเมืองกันในรัฐสภาแบบเข้มข้นหลายรอบ แต่การเคลื่อนไหวที่มีผลทางการเมืองสูงก็คือเรื่อง การแก้ไขกฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. เรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่พลิกไปพลิกมา จาก 100 หาร มาเป็น 500 หาร ได้สำเร็จตอนพิจารณาวาระ 2 แต่สุดท้ายหลังบิ๊กพลังประชารัฐเปลี่ยนใจ ไม่เอาหาร 500 ก็ใช้วิธีทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาล่มถึง 4 ครั้งติดต่อกัน จนรัฐสภาพิจารณาร่าง กม.เลือกตั้ง ส.ส.ไม่ทัน ต้องกลับไปใช้หาร 100 ที่จะมีผลต่อการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลในปีหน้าอย่างแน่นอน

ฉากการเมืองที่ยกมาข้างต้น คือหนังตัวอย่างที่ฉายให้เห็นชัดว่า การเมืองไทยปี 2565 กลเกมการเมืองเพื่อแย่งชิงอำนาจเร้าใจยิ่งนัก

สำหรับการเมืองไทยปีหน้า 2566 ก็แลเห็นเด่นชัดมาแต่ไกล ว่าคือ ปีแห่งการเลือกตั้ง เพราะด้วยเงื่อนไข-กติกาตามรัฐธรรมนูญ ที่สภาฯ จะครบ 4 ปี 23 มีนาคม 2566 ทำให้แม้พลเอกประยุทธ์ไม่ยุบสภา สภาก็หมดวาระเดือนมีนาคมปีหน้า และไปเลือกตั้ง 7 พ.ค.2566 ตามที่ กกต.ปักหมุดไว้ แต่หากนายกฯ ยุบสภา ก็จะทำให้การเลือกตั้งเกิดเร็วขึ้น แต่หลายปัจจัยการเมืองก็บ่งชี้ว่า พลเอกประยุทธ์อาจลากยาวครบเทอมก็ได้ เพื่อให้รวมไทยสร้างชาติที่พลเอกประยุทธ์จะไปอยู่ด้วย มีความพร้อมในการเลือกตั้งมากที่สุด

การเมืองไทยตั้งแต่ต้นปีหน้า 2566 ก่อนจะไปถึงวันเลือกตั้ง มีหลายเรื่องให้ติดตาม โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของแต่ละพรรคการเมืองในการเตรียมพร้อมเลือกตั้ง เช่น การวางยุทธศาสตร์เลือกตั้ง-การออกนโยบายพรรคที่จะใช้ในการหาเสียง-การกำหนดตัวแคนดิเดตนายกฯ

 แต่ที่หลายคนสนใจมากที่สุด คงไม่พ้นเรื่องการย้ายพรรค-การหาสังกัดพรรคลงเลือกตั้ง ที่พบว่าบางพรรคก็นิ่งแล้ว เช่น เพื่อไทย คงไม่มีขยับอะไรมาก เพราะคนที่จะย้ายออก ตอนนี้ก็ออกไปเกือบหมดแล้ว แต่ที่หลายคนกำลังจับตาก็คือ กลุ่มการเมืองจากพรรคอื่นที่จะเข้ามาที่เพื่อไทย เช่น กลุ่มสุชาติ ตันเจริญ รองประธานสภาฯ กลุ่มสนธยา คุณปลื้ม เป็นต้น

แต่ที่น่าจะมีการขยับกันมากก็คือ พรรคพลังประชารัฐที่จะเชื่อมโยงมาถึงพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่เรียกกัน พรรคลุงป้อม-พรรคลุงตู่ ที่การขยับของ 2 พรรคนี้ น่าจะเกิดขึ้นสูงในช่วงตั้งแต่ต้นปีหน้า หลังบิ๊กตู่ประกาศไปอยู่รวมไทยสร้างชาติ ที่อาจทำให้เกิดแรงกระเพื่อมภายในพลังประชารัฐตามมา โดยเฉพาะหากการกลับเข้าพลังประชารัฐของ ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่จะเปิดตัวปีหน้า คงทำให้บางคนที่อยู่ในพลังประชารัฐและไม่กินเส้นกับธรรมนัส อาจต้องตัดสินใจว่า จะเดินออกจากพลังประชารัฐไปอยู่พรรคอื่นหรือไม่ ที่หากออกกันไปหลายคน คงทำให้พลังประชารัฐแกว่งพอสมควร 

การเมืองไทยตลอดทั้งปีหน้า 2566  บอกได้คำเดียว จะมีจุดพีกหลายรอบ โดยเฉพาะการช่วงชิงการจัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง น่าจะลุ้นกันมันส์หยด!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14ส.ค.ชี้ชะตา‘ลุงป้อม-พปชร.’ ลุ้นสุดท้ายคดี‘เศรษฐา’

ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ขณะนี้เหมือนจะมี 2 ชุดความคิด ชุดความคิดแรกคือ พรรคจะควรจะอยู่นิ่งๆ ทำตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ดี เพื่อรักษาสถานภาพที่มีอยู่

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

กมธ.ฯ ปรับไทม์ไลน์วันออกเสียงประชามติ พร้อมเลือกตั้ง หลัง 60 วัน แต่ไม่เกิน 150 วัน

กมธ.ประชามติ ปรับเนื้อหา ขีดไทม์ไลน์วันออกเสียง พร้อมวันเลือกตั้ง ตั้งเงื่อนไข ไม่เร็วกว่า60วันไม่ช้ากว่า150วัน พบ ‘อนุทิน’ ชงแปรญัตติ เพิ่มเกณฑ์ 1ใน4 ขอคนมาใช้สิทธิ เป็นเงื่อนไขผ่านประชามติ

ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน

“ลุง”กับ“อา”ใจถึงพึ่งได้ เฮือกสุดท้ายใน”บ้านป่า”?

“เปิดต้อนรับนักการเมืองเทรนด์เดียวกัน ที่รสนิยมในเรื่องของ พรรคพวก เพื่อนฝูง พี่น้อง ต้องมาก่อน เรื่องคำมั่นสัญญา การไม่หักหลังกัน เปรียบเหมือน ปฏิญญา-กฎเหล็ก ในการคบหากันของแวดวงคนใจนักเลง”