ประยุทธ์-รทสช.ขยับ ผลสะเทือนย้อนกลับพลังประชารัฐ

    การเมืองปลายปี 2565 ปลายรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้มข้น ร้อนแรงขึ้นตามลำดับ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก พรรคการเมืองน้องใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล พรรคประชาชาติ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ พรรครวมไทยสร้างชาติ พรรคเพื่อชาติ พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย ฯลฯ ขยับออกตัววางยุทธศาสตร์เดินหน้าไปสู่การเลือกตั้งในปี 2566   

    คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกแผนงานรองรับการเลือกตั้ง 2 รูปแบบ หากรัฐบาลประยุทธ์อยู่ครบวาระ 23 มี.ค.2566 คาดว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 7 พ.ค.2566 กับอีกแผนงาน หากรัฐบาลเกิดอุบัติเหตุ ยุบสภาไปก่อน ก็ต้องเตรียมอีกแผนงาน กำหนดไทม์ไลน์ต่างๆ ไว้คร่าวๆ ให้ ส.ส.พรรคการเมืองได้เตรียมตัวกันล่วงหน้า 

    แม้ในวันนี้ไม่มีใครรู้ว่าวันเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในเดือนอะไร วันไหน ถึงอย่างไรจะมีการเลือกตั้งอย่างแน่นอนในปี 2566 สิ่งที่พรรคการเมือง นักการเมืองเฝ้ารอมานาน ทุกพรรคการเมืองเร่งทำใน 3 ประการ 1.ประกาศนโยบาย-วางยุทธศาสตร์เลือกตั้ง 2.เตรียมว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. 3.แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี  

    พรรคเพื่อไทย วางเป้าหมาย "แลนด์สไลด์ทั้งแผ่นดิน" ตั้งเป้ากวาด ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 253 คน พร้อมกับวางแผนงานหลังจากทวงอำนาจรัฐแล้วจะทำอะไรบ้าง ทั้งในเชิงการเมือง สังคม เศรษฐกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในแผนนโยบาย 10 ข้อของเพื่อไทย เปิดออกมาก่อนหน้านี้ ส่วนเรื่อง แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 รายชื่อ ยังต้องตามลุ้นนายใหญ่คนแดนไกลจะเดินเกมเสี่ยงดันแก้วตาดวงใจ อิ๊งค์-น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นหนึ่งในสามแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่  

    พรรคก้าวไกล แนวคิด อุดมการณ์ฝั่งซ้าย-หัวก้าวหน้ายังฝังลึก ชูทิศทางพรรคปฏิรูปทั้งระบบกองทัพ ระบบยุติธรรม ที่มีฐานเสียงเฉพาะ พร้อมสนับสนุน ขานรับในจุดที่น่าพอใจ 

    พรรคพลังประชารัฐ ขยับออกตัวช้ากว่าเพื่อน ทั้งนโยบาย ว่าที่ผู้สมัคร แต่เริ่มเข้าที่เข้าทางเรื่อยๆ มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ มานำทัพและว่าที่แคนดิเดตนายกฯ อย่างแน่นอน มือทำงาน ทีม ส.ส.ยังอยู่กันครบครัน มีกลไกรัฐ กลไกปกครองหนุนนำ พร้อมท้าชนทุกพรรคการเมือง    

    พรรคประชาธิปัตย์ ขอกอบกู้ศักดิ์ศรีกลับคืนมา หลังจากการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เสียรังวัดไปพอสมควร ใน กทม.ไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว ส่วนภาคใต้ เคยเข้มแข็ง ถูกเจาะไปหลายพื้นที่  

    พรรคภูมิใจไทย เนื้อหอมสุดขีด ส.ส.ต่างพรรคตบเท้าเข้าร่วมกันเพียบ ด้วยพลังปัจจัยไม่อั้น เล่นเอาคู่แข่งทางการเมืองทั้งในซีกรัฐบาล ฝ่ายค้าน ด่าไล่หลังกันขรม แต่ก็ไม่สนใจ ยิ่งรอบหน้าปักหมุด ขยับจากพรรคขนาดกลางเป็นพรรคขนาดใหญ่ ขอกวาด ส.ส.มากกว่า 100 ขึ้น จึงต้องเร่งดึง ส.ส.เกรดเอทุกพรรคมาร่วมงานบวกแต้มต่อทางการเมือง 

    พรรคเพื่อชาติ มาเงียบๆ ทางนโยบายเน้นแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทุนผูกขาด แก้ระบบการบริหารจัดการน้ำ ออกนโยบายเฉพาะ ความต้องการแต่ละพื้นถิ่น ถือว่าประมาทไม่ได้เช่นกัน 

    พรรคประชาชาติ ยังคงมุ่งเน้น 5 จังหวัดภาคใต้ มีกลุ่มวาดะห์ยังผนึกกำลังกันแน่น ยิ่งมีกระแสข่าวเล็ดลอด ได้ท่อน้ำเลี้ยงดี บวกกับนโยบายพิเศษเพื่อพี่น้องภาคใต้ยังคงเหนียวแน่น แน่นแฟ้น กลุ่มพี่น้องมุสลิมเป็นจุดแข็ง หลายพรรคไปตีตลาดตรงนี้ยาก 

    พรรคไทยสร้างไทย พรรคสร้างอนาคตไทย อาจจะยังไม่ชัดเจนว่าท้ายที่สุดจะรวมพรรคหรือไม่ สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้ายังต้องเดินหน้าต่อไป ตั้งเป้าขอเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ทางรอดประเทศ ขอแชร์ตลาดการเมือง แบ่ง ส.ส.จากพรรคการเมืองอื่นมาเช่นกัน  

    พรรคพลังชล อาจหวนคืนกลับคืนสนามเลือกตั้งอีกครั้ง เน้นการเลือกตั้งภาคตะวันออกเป็นหลัก พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนากล้า พรรคขนาดเล็ก อีกหลายพรรค เตรียมผนึกกำลังสู้ กลไกกติกาบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ระบบหาร 100 ยังไม่ยอมแพ้ วางมือจากสนามการเมืองให้หายไปจากสารบบการเมือง 

    ที่น่าสนใจ สปอตไลต์จับจ้องเป็นพิเศษนาทีนี้ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เสี่ยตุ๋ย-นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เป็นหัวหน้าพรรค เสี่ยขิง-นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เป็นเลขาธิการพรรค แต่เบื้องหน้าเบื้องหลัง ทีมซัพพอร์ตไม่ธรรมดา บ้างก็ว่าเป็นแหล่งรวมทีม กปปส.เดิม ยังคงมีกำนันคนดัง เทพเทือก-สุเทพ เทือกสุบรรณ หนุนหลังอีกชั้น  

    นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี นักการเมือง นักปราศรัยชื่อดังออกจากประชาธิปัตย์ เตรียมมาร่วมงาน รทสช.ด้วย ชื่อที่เปิดออกมาเป็นคณะทำงานเบื้องหน้า กรรมการบริหารพรรคไม่ธรรมดา ส่วนที่อยู่ข้างหลัง กองหนุน ยิ่งไม่ต้องพูดถึง  

    พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เป็นพรรครองรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ที่ในระยะหลังมีปัญหาภายใน ไม่ลงรอยกับพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ บวกกับความไม่ลงรอยกันระหว่างคนใกล้ตัว พี่ใหญ่หลายคน ทำให้เกิดความอึดอัด เลยขอแยกออกมาสร้างดาวคนละดวง 

    มีกระแสข่าวแพร่สะพัดในแวดวงการเมืองต่อความสัมพันธ์อันดีของบิ๊กๆ พลังประชารัฐ ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังหลายคนกับบิ๊กๆ ในพรรคเพื่อไทย ถึงขนาดพร้อมสมานฉันท์ทางการเมือง เตรียมจะจับมือกันตั้งรัฐบาลในสมัยหน้า ยิ่งล่าสุดกรณี ป.ป.ช.ปล่อยผีโครงการรับจำนำข้าวภาคสอง จีทูจี ส่งผลพี่น้องเครือข่ายชินวัตรหลุดรอด ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผู้คนในสังคม  

    เส้นทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์ชัดเจนเลือกข้าง เลือกฝั่ง พล.อ.ประยุทธ์ระบุอย่างชัดเจน 

    “วันนี้ทางพรรครวมไทยสร้างชาติได้เสนอมาแล้วว่ายินดีสนับสนุนผมในการเป็นนายกฯ ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป จำเป็นต้องทำให้เกิดความชัดเจนเกิดขึ้น ไม่เช่นนั้นจะวิพากษ์วิจารณ์กันไปทำให้เกิดความเสียหายหลายอย่าง จึงตัดสินใจวันนี้ว่าจะไปอยู่กับรวมไทยสร้างชาติ โดยจะเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และเตรียมสมัครสมาชิกพรรค” พล.อ.ประยุทธ์พูดชัดเจนเป็นครั้งแรก ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. หลังจากสงวนท่าทีทางการเมืองต่อเส้นทาง-อนาคตการเมืองมานาน  

    พลพรรครวมไทยสร้างชาติยิ้มแก้มไม่หุบ มีความชัดเจนขึ้นมาอีกระดับ ยุทธศาสตร์แผนงานการเลือกตั้งจะได้เริ่มนับหนึ่งเสียที หลังจากเกิดภาวะหัวรอพรรค พรรคก็รอหัว มานาน  

    ว่ากันว่า ความชัดเจนทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์จะส่งแรงกระเพื่อมกลับไปทางฝั่งรัฐบาล โดยเฉพาะในพรรคพลังประชารัฐมากกว่า เพราะมี ส.ส.หลายกลุ่ม หลายคน เตรียมตบเท้าตามบิ๊กตู่มาร่วมงานในพรรครวมไทยสร้างชาติอีกหลายคน  

    กลุ่มที่ชัดเจนแล้วมาร่วมงานกับพรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดชุมพร ฐานเสียงสำคัญ "ตระกูลจุลใส" มีนักการเมืองทั้งระดับชาติ ท้องถิ่น ผูกขาดมาต่อเนื่องยาวนาน กลุ่มธรรมเพชร จังหวัดพัทลุง มีฐานเสียงเหนียวแน่น จะมาเป็นกองกำลังสำคัญ จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.มีฐานเสียงแข็งแกร่งในระดับท้องถิ่น และยังมีว่าที่ผู้สมัครเกรดเออีกหลายคน ตอบตกลงจะมาร่วมหัวจมท้ายกับ รทสช. 

    กลุ่มที่คาดว่าน่าจะมาร่วมงาน กลุ่มแตกรังเก่า ออกมาจากประชาธิปัตย์ นายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์, นางรังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม กลุ่มเสนพงศ์ และนักการเมืองชื่อดังใน นครศรีธรรมราช อีกบางคน ที่ไม่ลงรอยกับการบริหารงานหัวหน้าพรรคปัจจุบัน จะทยอยย้ายตามมาอีกเพียบ   

    กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ พลังประชารัฐ คาดว่าน่าจะย้ายตาม พล.อ.ประยุทธ์ อาทิ นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช, นายศาสตรา ศรีปาน, ร.ต.อ.อรุณ สวัสดี, นายพยม พรหมเพชร ส.ส.สงขลา  

    เหนือตอนล่าง-ภาคกลาง-กทม. กลุ่มนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส ที่มีฐานอยู่ในพื้นที่จังหวัดสิงห์บุรี, น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ ส.ส.กทม. พรรคพลังประชารัฐ และอาจได้กลุ่มสามมิตรของเสี่ยสมศักดิ์ เทพสุทิน, สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่มี ส.ส.ในกลุ่มมากกว่า 20 คน มาผนึกกำลังด้วย  

    กลุ่มของนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และกลุ่มชลบุรี จากโซนภาคตะวันออก ภาคกลางบางส่วน กำลังชักชวนเพื่อน ส.ส.และนักการเมืองท้องถิ่นชื่อดังอีกหลายคนมาร่วมงานด้วย   

    นอกจากนี้ยังมีกลุ่มของเสี่ยชัช เตาปูน-ชัชวาลล์ คงอุดม ที่พูดชัดเจน จะลาออกจากพรรคพลังท้องถิ่นไทมาร่วมงานกับบิ๊กตู่ ยังไม่นับรวมกลุ่มพรรคขนาดเล็กอีกบางพรรคที่อาจจะมาในนามบุคคล จ่อเตรียมย้ายตามมาอีกเพียบ  

    เบ็ดเสร็จรวมๆ แล้ว รทสช.น่าจะโกย ส.ส.ได้เป็นกอบเป็นกำ ส่วนจะได้ถึง 25 ส.ส.เพื่อให้มีสิทธิ์เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเข้าไปชิงชัยกันในสภาได้หรือไม่ ยังคงต้องไปตามลุ้นกันในสเต็ปที่สอง  

    พล.อ.ประยุทธ์ประกาศความชัดเจนทางการเมือง พร้อมลุยต่อในสนามเลือกตั้ง โควตานายกรัฐมนตรี 8 ปี ยังเหลือวาระ 2 ปี ได้พรรคที่อยู่แล้วสบายใจ พรรคพวก คนคุ้นเคย พร้อมผนึกกำลังกันสู้ในสนามเลือกตั้งปี 2566 ส่วนจะได้ตามเป้าประสงค์ ต่อท่ออำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีอีกคำรบหรือไม่ ยังต้องลุ้นกันยาวๆ เพราะทั้งพรรคฝ่ายตรงข้าม หรือแม้แต่พรรคคนเคยคุ้นเคยกัน คงจะสกัดขัดขวางทุกวิถีทางเหมือนกัน. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

จับตา! 'นายกฯอิ๊งค์' หัวโต๊ะ ก.ตร. เคาะโผ 'นายพลเล็ก' 140 ตำแหน่ง 'นรต.45' ผงาด

จับตา 'นายกฯอิ๊งค์' นั่งหัวโต๊ะประชุม ก.ตร. ถกโผแต่งตั้งนายพล ระดับ 'รองผบช.-ผบก.' กว่า 140 ตำแหน่ง คาด 'บิ๊กเต่า' โยกจาก บช.ก. นั่งรองผบช.น. 'นรต.45' ผงาดผู้การกองปราบ มือขวาผบช.ไซเบอร์ ขึ้น ผบก.สอท.4

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด