ย้อนดูกฎเหล็ก 180 วัน พรรครัฐบาลได้เปรียบหรือไม่?

ถือเป็น 4 ปีที่เร็วสำหรับอายุสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.65 บรรดาฝ่ายการเมืองทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านเริ่มลงพื้นที่หาเสียง ในบางพื้นที่เริ่มมีการติดป้ายแนะนำว่าที่ผู้สมัครแล้ว โดยเฉพาะฝ่ายรัฐบาลจะเห็นได้ว่าช่วงนี้ขยันลงพื้นที่มากเป็นพิเศษ จนเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่าจะเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะสามารถหาเสียงได้เต็มรูปแบบ เพราะตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เรื่อง แนวทางการปฏิบัติและข้อควรระวังในช่วงระยะเวลาการหาเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ของผู้สมัครและพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และหน่วยงานของรัฐ ในช่วง 180 วันก่อนครบอายุสภา หรือ กฎเหล็ก 180 วัน ยังคงมีอยู่ ซึ่งเริ่มนับตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งถือว่ามีข้อห้ามหลายอย่างที่มาควบคุมนักการเมือง

โดยแนวทางปฏิบัติในช่วง 180 วัน จะแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก ผู้สมัคร และพรรคการเมือง 1.สามารถไปร่วมงานประเพณีต่างๆ เช่น งานแต่งงาน งานบวช งานศพ และมอบพวงหรีดดอกไม้สดได้ แต่ไม่มีการให้เงิน ทรัพย์สินต่างๆ เว้นแต่เจ้าภาพเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล ปัจจัย ทั้งนี้ ผู้สมัคร-พรรคการเมือง ต้องไม่มอบเงิน หรือทรัพย์สินของตนเอง 2.สามารถจัดงานศพ งานบวช งานแต่งงานได้ แต่พึงหลีกเลี่ยงจัดงานที่เป็นงานใหญ่-คนจำนวนมาก เพราะอาจเป็นเหตุถูกร้องเรื่องการจัดเลี้ยง-มหรสพได้

3.ห้ามเกณฑ์คนมาช่วยหาเสียง โดยได้รับค่าตอบแทน หรือประโยชน์ตอบแทน 4.สามารถเข้าไปหาเสียงในโรงเรียน สถานที่ราชการได้ แต่ต้องขออนุญาตเจ้าของพื้นที่ก่อน 5.ไม่สามารถมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในสถานการณ์ต่างๆ ได้ เช่น อุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย โรคระบาด 6.สามารถปิดป้ายหาเสียงได้ โดยมีวิธีการ ขนาด จำนวน สถานที่ ตามที่เคยทำในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

ส่วนที่สอง แนวทางปฏิบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อย่าง นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ข้าราชการการเมือง 1.สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติในตำแหน่ง เช่น ออกรายการวิทยุ เป็นประธานเปิดงานพิธีต่างๆ ลงตรวจงานในพื้นที่ พบประชาชนในพื้นที่ หรือลงพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน แต่ห้ามมิให้กระทำใดๆ ที่อาศัยตำแหน่งหน้าที่นั้นหาเสียงให้ตนเอง หรือผู้อื่น หรือพรรคการเมือง 2.ในเวลานอกราชการ สามารถหาเสียงให้ตนเอง ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองได้ แต่ต้องไม่ใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยชอบ หรือกระทำการใดๆ เพื่อเป็นคุณหรือเป็นโทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

3.สามารถไปร่วมประเพณีต่างๆ ได้ แต่ต้องไม่ให้เงินหรือทรัพย์สินต่างๆ ของตนเอง ในกรณีที่ฝ่ายเจ้าภาพจัดเตรียมสิ่งของตามพิธีการไว้ให้มอบในงาน เช่น ผ้าบังสุกุล หรือระบุชื่อไว้-เป็นประธานในงานกฐิน โดยไม่ได้มอบเงินหรือทรัพย์สินของตนเอง สามารถทำได้ แต่เจ้าภาพห้ามประกาศชื่อ หรือประกาศชื่อพรรคการเมือง ในลักษณะช่วยหาเสียงไม่ได้

ส่วนการทำเอกสารของหน่วยงานของรัฐ เอกสารเผยแพร่ผลงานของรัฐมนตรี ปฏิทินปีใหม่ที่มีรูปและผลงานของรัฐมนตรี 1.ให้จัดทำเผยแพร่ในนามของหน่วยงานนั้นเท่านั้น และต้องระมัดระวังไม่ให้มีลักษณะเข้าข่ายหาเสียงให้กับบุคคลหนึ่งบุคคลใด หรือพรรคการเมือง 2.การจัดทำป้ายต้อนรับการลงตรวจพื้นที่ของรัฐมนตรี คณะกรรมาธิการต่างๆ ที่มาปฏิบัติงานตามหน้าที่ ให้พึงระมัดระวังไม่ให้เข้าข่ายเป็นการจัดทำป้ายหาเสียงเลือกตั้ง 3.การจัดทำป้ายต้อนรับหรือป้ายขอบคุณของพรรคการเมือง หรือ ส.ส.ไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากอาจจะเป็นป้ายหาเสียง และเป็นการขัดมติ ครม.ในเรื่องการวางตัวเป็นกลางทางการเมือง

อย่างไรก็ตาม มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝั่งพรรคฝ่ายค้าน และพรรคที่เกิดใหม่ว่า เกิดความไม่เท่าเทียมกัน เพราะแม้ว่าจะมี กฎเหล็ก ควบคุมพรรคฝ่ายรัฐบาล แต่ตำแหน่งทางฝ่ายบริหารในรัฐบาล เช่น รัฐมนตรี ใช้ตำแหน่งตัวเองลงพื้นที่หาเสียง สร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองได้ ทำให้เกิดความลักลั่นตรงนี้ขึ้น

นักวิชาการด้านการเมืองให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า โดยทั่วไปแล้วในการหาเสียง ฝ่ายรัฐบาลก็มักจะได้เปรียบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทยเท่าที่เป็นมา อีกทั้งหาก กกต.มีความเกรงใจต่อรัฐบาล เนื่องจากเห็นว่าทำงาน ก็อาจจะยิ่งทำให้ฝ่ายค้านเสียเปรียบมากขึ้น ทั้งนี้ โดยรวมแล้วในประเทศเสรีประชาธิปไตยที่ก้าวหน้าทั้งหลาย การสอดส่อง เฝ้าระวังในเรื่องเหล่านี้ จะเข้มงวดมากในเรื่องการใช้ทรัพยากรของรัฐ

โดยพรรครัฐบาลจะถูกติดตาม และตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับฝ่ายค้าน ซึ่งหากมีการพิจารณาที่ถ้วนถี่ ฝ่ายรัฐบาลมีโอกาสที่จะเสียเปรียบได้ด้วยซ้ำไป เพราะอยู่ในฐานะของผู้ที่มีโอกาสในการใช้ทรัพยากรของรัฐได้มากกว่า ในขณะที่ฝ่ายค้านจะถูกกล่าวหาว่าใช้ทรัพยากรของรัฐได้น้อยกว่า ดังนั้นเรื่องนี้จึงต้องอยู่ที่การกวดขัน และความรอบคอบของกรรมการ คือ กกต.

ยกตัวอย่างกรณี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่งตั้ง นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งการเข้ามารับบทบาทในครั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมในการเลือกตั้งที่จะสามารถประสานการทำงานในภาคการเมืองได้ง่ายขึ้น หลังมีความชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไปร่วมงานกับรวมไทยสร้างชาติอย่างแน่นอน

แต่ในขณะเดียวกันการลงพื้นเพื่อทำงานการเมือง จะต้องระวังเรื่องการใช้ตำแหน่งรัฐบาลในการหาเสียง เพราะอาจเสี่ยงต่อการผิดกฎ 180 วัน ทางที่ดีถ้าต้องการหาเสียงควรใช้วันหยุดราชการ

ส่วนประเด็นร้อนอย่างการทำปฏิทิน นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ จัดทำปฏิทินปีใหม่เป็นรูปคู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีข้อความรวมไทยสร้างชาติผงาดบนเวทีโลก พร้อมใส่ตราสัญลักษณ์พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่ง นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อ กกต. ขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยกรณีดังกล่าวแล้ว 

ประเด็นนี้ต้องให้ กกต.เป็นผู้ชี้ขาดว่ามีความผิดหรือไม่ "ซึ่งต้องดูว่าเจ้าของปฏิทินได้มีการแจกให้กับประชาชนหรือไม่ ถ้าพบว่ามีการแจกจะถือว่ามีความผิด เพราะถือว่าเป็นการให้ทรัพย์สิน ต้องดูการไต่สวน สอบสวนจาก กกต.เพิ่มเติม".

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

14ส.ค.ชี้ชะตา‘ลุงป้อม-พปชร.’ ลุ้นสุดท้ายคดี‘เศรษฐา’

ภายใน "พรรคพลังประชารัฐ" ขณะนี้เหมือนจะมี 2 ชุดความคิด ชุดความคิดแรกคือ พรรคจะควรจะอยู่นิ่งๆ ทำตัวเป็นพรรคร่วมรัฐบาลที่ดี เพื่อรักษาสถานภาพที่มีอยู่

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน