ปล่อยผี 3 พี่น้องตระกูลชิน ‘ดีลลับ’ พปชร.-พท.ส่งกลิ่น

ก่อนหน้านี้เป็นคดีที่หลายคนจับตา สำหรับคดีทุจริตการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ในมือของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  

เนื่องจากมีตัวละครสำคัญ คือ 2 อดีตนายกรัฐมนตรีอย่าง นายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รวมไปถึงคนในตระกูลชินวัตรอีกคน คือ ‘เจ๊แดง’ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย 

ความน่าสนใจของคดีนี้ยังอยู่ที่การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กัน ‘ผู้ถูกกล่าวหา’ ในคดีทุจริตจีทูจีภาคแรกอย่าง นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่อยู่ระหว่างจำคุกเป็น ‘พยาน’  

มิเพียงเท่านั้น ก่อนจะมีบทสรุปของคดี มีกระแสข่าวเล็ดลอดออกมาทำนองว่า ป.ป.ช.มีหลักฐานเด็ดที่ได้มาจากการซัดทอดเป็น ‘เทปลับ’ ในลักษณะของการ ‘สั่งการ’  

คดีนี้ถูกมองว่ามีนัยสำคัญทางการเมือง หาก 3 ตัวละครที่ถูกกล่าวหาอย่าง 3 พี่น้องตระกูล ชินวัตร ‘ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์-เยาวภา’ ถูกชี้มูล ซึ่งมันส่งผลต่อพรรคเพื่อไทย ที่กำลังชั่งใจว่า จะชูคนในตระกูล ‘อุ๊งอิ๊ง’ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหรือไม่  

อีกทั้งยังจะส่งผลต่อองคาพยพที่ต้องกลับมานั่งประเมินสถานการณ์วันข้างหน้า ว่าถ้าปักหลักอยู่กับพรรคเพื่อไทยยังมีอนาคตอยู่หรือไม่  

ขณะเดียวกัน คดีดังกล่าวยังมาคาบลูกคาบดอกในช่วงปลายสมัยรัฐบาล และก่อนจะเกิดการเลือกตั้งไม่กี่เดือน จึงทำให้ถูกเพ่งเล็งเป็นพิเศษ  

และเดิมที ‘บิ๊กกุ้ย’ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.หมายมั่นปั้นมือจะนำวาระดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในสิ้นเดือนพฤศจิกายน แต่สุดท้ายเจอ ‘โรคเลื่อน’ ไป 2 สัปดาห์ พร้อมกับให้เหตุผลว่า เอกสารมีจำนวนมาก  

กระทั่งมีการนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เมื่อช่วงต้นสัปดาห์นี้ ก่อนจะมีมติชี้มูลระดับเลขานุการรัฐมนตรี อธิบดี และเอกชน ซึ่งเป็นตัวละครเดิมที่เคยถูกชี้มูลในภาคแรกทั้งหมด  

ส่วน ‘เทปลับ’ ที่หลายคนจับตา กลายเป็นว่าสุดท้าย ‘ไม่มี’ ขณะที่ 3 พี่น้องตระกูลชินวัตรถูกตีตกหมด โดยกรรมการ ป.ป.ช.เสียงข้างมากให้เหตุผลว่า ชื่อเหล่านี้ถูกตีตกมาตั้งแต่คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดที่มี นายวิชา มหาคุณ เป็นผู้รับผิดชอบแล้ว การมาชี้มูลในภาคนี้จึงย้อนแย้งกัน                                        

การตีตกชื่อของ 3 พี่น้องตระกูลชินวัตร ถูกขมวดเข้ากับประเด็นทางการเมืองทันที โดยเฉพาะเรื่องกระแสข่าว ‘ดีลลับ’ ระหว่าง ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ กับ ‘บิ๊กพรรคเพื่อไทย’ เพื่อจับมือกันในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้า   

ช่วงที่ผ่านมามีกระแสข่าวดังกล่าวออกมาอย่างหนาหูว่า พรรคเพื่อไทยจำเป็นต้องพึ่งพรรคพลังประชารัฐของ ‘บิ๊กป้อม’ ที่มีออปชันเสียง ส.ว.พ่วงมา เพื่อให้เพียงพอต่อการโหวตแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 

ไม่เพียงเท่านั้น ยุทธศาสตร์การทำพรรคพลังประชารัฐในปัจจุบันภายหลังไม่มี ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหมแล้ว ได้ถูกปรับเปลี่ยนมาเป็น ‘ไซส์เอสเอ็มอี’ ที่พร้อมจะเป็นตัวแปรได้ในทุกขั้ว 

หากขั้วเก่ารวบรวมเสียงไม่เพียงพอ ‘บิ๊กตู่’ ไปต่อไม่ได้ พรรคพลังประชารัฐจะยังสามารถไปต่อทางการเมืองได้ เพราะกุญแจ ส.ว.อีกหนึ่งดอกอยู่ที่ ‘พี่ใหญ่’ 

นอกจากนี้จะเห็นว่า แม้พรรคเพื่อไทยจะโจมตีรัฐบาล รวมไปถึง ‘บิ๊กตู่’ แต่กลับไม่เคยแตะต้อง ‘บิ๊กป้อม’ ในทางเสียๆ หายๆ เลย ประหนึ่งเกรงใจ 

เมื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ตีตก 3 คีย์แมนคนสำคัญของพรรคเพื่อไทย มันจึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการ ‘ทอดไมตรี’ ต่อกันหรือไม่ 

อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ภายใต้การนำของ ‘บิ๊กกุ้ย’ ถูกจับจ้องมาตลอดว่า มีความสัมพันธ์ที่ดี และเป็นอดีตผู้ใต้บังคับบัญชาคนสนิทของคนตระกูลวงษ์สุวรณมาโดยตลอด

จึงยากที่จะไม่ถูกจับเชื่อมโยงว่า มีอะไรอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์นี้หรือไม่.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว

สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์

ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"

แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา

'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน

ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย