อัยการ-ดีเอสไอ ร่วม ปิดเกม คดีทุนจีนสีเทา

คดีทุนจีนสีเทา ที่เรียกกันว่าคดีตู้ห่าว กำลังเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะตอนนี้มีอีก 2 หน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวนขบวนการดังกล่าว

หน่วยงานแรกคือ สำนักงานอัยการสูงสุด ที่เข้ามาดำเนินการ หลังจากพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าวของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ส่งสำนวนคดีให้อัยการสูงสุดพิจารณา โดยระบุว่า กลุ่มผู้กระทำความผิดได้ร่วมกันกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร คือชักชวนลูกค้าต่างชาติ โดยพบการกระทำความผิดบางส่วนในราชอาณาจักรไทย และบางส่วนนอกราชอาณาจักรไทย จึงเข้าเงื่อนไขตามความผิดตามกฎหมายที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทยตามมาตรา 20 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ทำให้อัยการสูงสุด จึงมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวทันที

และอีกหนึ่งองค์กรที่เข้ามาร่วมสืบสวนสอบสวนด้วยก็คือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ ที่เข้ามาสอบสวน เนื่องจากเป็นคดีการฟอกเงินยาเสพติดมูลค่าสูงกระทบวงกว้าง เข้าเงื่อนไขบัญชีท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ

สำหรับในส่วนของสำนักงานอัยการสูงสุด การขยับดังกล่าวเกิดขึ้น หลัง นารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด ลงนามคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดแต่งตั้งคณะทำงานกำกับการสอบสวนและการดำเนินคดีสำคัญ

 หลังจากผู้บัญชาการตำรวจนครบาลมีหนังสือรายงานข้อมูลผู้ต้องหากระทำผิดฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ.2556 ถึงอัยการสูงสุด ที่ได้มีการดำเนินคดีกับ นายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือตู้ห่าว ในสำนวนคดีอาญาในความผิดฐานร่วมกันจำหน่ายยาเสพติดให้โทษ อันเป็นการมีไว้จำหน่ายเพื่อการค้าอันเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ หรือความปลอดภัยของประชาชนทั่วไป, สมคบกันกระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด และสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดร้ายแรงเกี่ยวกับยาเสพติด โดยกลุ่มผู้ต้องหาเป็นผู้มีอิทธิพลที่อยู่ในความสนใจของประชาชน และมีการตรวจยึดทรัพย์สินของกลุ่มผู้ต้องหาได้จำนวนมาก

ทำให้อัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งแต่งตั้งพนักงานอัยการและเจ้าพนักงานตำรวจเป็นคณะทำงานและมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยคณะทํางานดังกล่าวประกอบด้วย อัยการสูงสุด เป็นที่ปรึกษาคณะทํางาน-ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นที่ปรึกษาคณะทำงาน โดยมี สมเกียรติ คุณวัฒนานนท์ รองอัยการสูงสุด เป็นหัวหน้าคณะทํางาน ส่วนคณะทำงานคนอื่นๆ ก็มีเช่น รองอัยการสูงสุด-อธิบดีอัยการสำนักงานคดีอัยการสูงสุด-ผู้บัญชากาตำรวจนครบาล เป็นต้น

ทั้งนี้คำสั่งระบุว่า ให้คณะทำงานชุดดังกล่าวมีอำนาจหน้าที่กำกับและติดตามการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวน-เร่งรัดการสอบสวนและการส่งสำนวนการสอบสวนคดีนี้ให้ทันภายในกรอบระยะเวลาในการควบคุมฝากขังผู้ต้องหาตามกฎหมาย

เบื้องต้น โกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ขยายความถึงกรณีอัยการสูงสุดลงนามคำสั่งตั้งคณะทำงานกำกับการสอบสวนและการดำเนินคดีสำคัญ ในคดีตู้ห่าวดังกล่าว ว่า หลังจากนี้ในส่วนของการสืบสวนต้องมีอีกคำสั่งหนึ่งคือ การตั้งพนักงานสอบสวน อาจจะเป็นการร่วมมือกันระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการ ต้องรออัยการสูงสุดมีหนังสือคำสั่งตั้ง

ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า คดีสืบสวนสอบสวนทุนจีนสีเทากำลังดำเนินไปอย่างเข้มข้น เพราะองค์กรในกระบวนการยุติธรรมทั้ง กองบัญชาการตำรวจนครบาล-สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-สำนักงานอัยการสูงสุด-กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวน เพราะรูปคดีจะพบว่า เครือข่ายดังกล่าวมีการกระทำความผิดเป็นกระบวนการทั้งเรื่องคดียาเสพติด-การฟอกเงิน ที่เข้าข่ายเป็นการกระทบต่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัย

ขณะที่ในส่วนของความคืบหน้าคดียึดอายัดทรัพย์ ทาง สมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดและดีเอสไอ ให้ข้อมูลว่า ตัวเลขการยึดอายัดทรัพย์จนถึงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ดีเอสไอยึดอายัดได้ 3,020 ล้านบาท ป.ป.ส.ยึดอายัดได้ 2,192 ล้านบาท มีทรัพย์สินบางส่วนที่ซ้ำกับดีเอสไอ ขณะนี้ยอดรวมอยู่ที่ 4,401 ล้านบาท และ ป.ป.ส.กำลังออกหมายยึดอายัดเพิ่มอีก 1,123 ล้านบาท

เมื่อหลายหน่วยงานในกระบวนการยุติธรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการสืบสวนสอบสวนคดีดังกล่าว แน่นอนว่า เป็นเรื่องดีแน่นอน เพราะอย่างน้อยก็ทำให้เกิดการตรวจสอบถ่วงดุลกันในการทำงาน จะได้ไม่เกิดข้อครหาว่าการทำสำนวนสอบสวนหย่อนยาน ทำสำนวนอ่อนจนมีผลต่อรูปคดีเมื่อคดีไปถึงศาลยุติธรรม แต่สิ่งสำคัญคือ ในการสืบสวนสอบสวน รวมถึงการเดินหน้าอายัด-ยึดทรัพย์เครือข่ายดังกล่าว แต่ละฝ่ายต้องทำงานกันแบบบูรณาการ ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ มีการแย่งซีนกัน หากเป็นไปได้ ก็ควรต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันเท่าที่ทำได้ เพื่อทำให้กระบวนการสืบสวนสอบสวนจากทุกหน่วยงานมีความรัดกุม สำนวนแน่นหนา ชนิดผู้กระทำผิดดิ้นไม่หลุดในชั้นศาล 

เพราะตอนนี้ก็ต้องยอมรับกันว่า ยังมีหลายฝ่ายไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจว่าจะเอาจริงเอาจังกับคดีนี้มากน้อยแค่ไหน เนื่องจากเป็นคดีใหญ่ เกี่ยวข้องกับคนจำนวนไม่น้อย และหลายคนที่ถูกเชื่อมโยงถึงก็เป็น เครือข่ายนักการเมือง-คนมีสี ที่ยังมีบทบาททางการเมืองอยู่

โดยเสียงสะท้อนสำคัญที่แสดงท่าทีไม่ไว้ใจการทำงานของตำรวจ คงไม่พ้น ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ที่เกาะติดเรื่องนี้มาตลอด ที่ล่าสุด 18 ธ.ค.ที่ผ่านมา โพสต์ข้อความผ่านเฟชบุ๊กส่วนตัว เปรียบเทียบคดี อั้ม แยม คดีพนันออนไลน์ VS ตู้ห่าว คดียาเสพติด

โดยระบุตอนหนึ่งว่า “วันก่อน พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช นำกำลังบุกจับกุม “อั้ม และแยม” ผัวเมีย ได้เงินสด ทรัพย์สินมากมาย พร้อมตั้งข้อหา “สมคบฟอกเงิน” อย่างรวดเร็วทันที เพราะคดีจัดให้เล่นการพนันวงเงินเกิน 5 ล้าน เป็น “มูลฐานการฟอกเงิน” โดยไม่ต้องทำท่ารีๆ รอๆ

แต่ “ตู้ห่าว” โดนคดียาเสพติดร้ายแรงแท้ๆ กลับไม่ยอมตั้งข้อหา “สมคบฟอกเงิน” ทั้งที่เป็นความผิดมูลฐานเช่นเดียวกัน ร้ายแรงต่อสังคมมาก เพราะเป็นยาเสพติด

และกำลังขยายผลไปเป็น “อาชญากรรมข้ามชาติ” จากการร้องต่ออัยการสูงสุดของผม จนบัดนี้ตำรวจยังประสานเสียงบอกว่า “กำลังรอหลักฐานตรวจสอบเส้นทางการเงินจากธนาคารเพื่อพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหานายตู้ห่าวฐานฟอกเงิน”

ส่วนคดีพนันออนไลน์ของนายอั้มและแยม ตั้งข้อหา “สมคบฟอกเงิน” ได้ทันที ไม่เห็นต้องรอตรวจสอบกับธนาคาร เข้าทาง ปปง. เพราะพนันออนไลน์เงินมาก แต่กับตู้ห่าวรอก่อน ยาเสพติด อิทธิพลเยอะ ไม่เอา คดีตู้ห่าวยังพบยาเสพติดมากมายในพื้นที่เกิดเหตุ “จินหลิง”

ผ่านไปใกล้ครบกำหนดฝากขัง 84 วัน หากฟ้องไม่ทัน หรือตั้งข้อหาใหม่เพิ่มไม่ได้ ต้องปล่อยตัวตู้ห่าว ไม่ก็ฟ้องไปเท่าที่ตั้งข้อหา

มันเป็นเรื่องน่าแปลกใจสำหรับประชาชนอย่างพวกกระผม ว่าทำไมคดีตู้ห่าวรอแล้วรอเล่า”

ดังนั้นมันก็เป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง คือ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ-พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร., พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร., พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผบช.น.ต้องทำคดีนี้ให้กระจ่าง ไม่กลายเป็นมวยล้มในสายตาประชาชน ไม่เช่นนั้นภาพลักษณ์สำนักงานตำรวจแห่งชาติติดลบแน่ หากคดีนี้ผลออกมาค้านสายตาประชาชนทั้งประเทศ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน