เก้าอี้นายกฯ-แกนนำจัดตั้งรัฐบาล ฝันที่เป็นไปได้'อนุทิน-ภูมิใจไทย'

รอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคการเมืองที่มีความเคลื่อนไหวตกอยู่ในความสนใจของแวดวงการเมืองมากที่สุดคงไม่พ้น

พรรคภูมิใจไทย

ที่ได้นัดหมายให้ ส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรคมาอยู่ที่พรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นต้องมาเปิดตัว-สมัครเป็นสมาชิกพรรคอย่างเป็นทางการในวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา ในโอกาสที่ภูมิใจไทยจะเปิดใช้ตึกที่ทำการพรรคหลังปรับปรุงใหม่อย่างเป็นทางการ เลยจะใช้อีเวนต์การเมืองครั้งนี้เปิดตัวคนที่จะย้ายพรรคมาภูมิใจไทย

แม้ในความเป็นจริงหลายคนก็มาอยู่กับภูมิใจไทยนานเป็นปีแล้ว ไม่ใช่เพิ่งตัดสินใจย้ายมา เช่น อดีต ส.ส.พรรคก้าวไกล อย่าง เอกภพ เพียรพิเศษ และพีรเดช คําสมุทร สองอดีต ส.ส.เชียงราย-เกษมสันต์ มีทิพย์ และคารม พลพรกลาง สองอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก้าวไกล ที่มาอยู่กับภูมิใจไทยร่วมสามปีเข้าไปแล้ว ตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่โดนยุบพรรค แต่หลายคนที่มาเปิดตัวเมื่อ 16 ธ.ค. ก็เห็นชัดบางคนเพิ่งตัดสินใจในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา หลังเห็นว่าหากยังอยู่กับพรรคเดิมคงสู้คู่แข่งลำบากในพื้นที่เลือกตั้ง มีโอกาสสอบตกสูง

ผนวกกับคงมองว่าพรรคเดิมที่สังกัด แนวโน้มหลังเลือกตั้งอาจไม่ได้เป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และเป็นพรรคที่อยู่ในสภาพการเมืองที่ไม่นิ่ง อยู่ไปก็คงไม่เติบโตไปกว่านี้ สู้มาภูมิใจไทยดีกว่า ผนวกกับภูมิใจไทย คนที่มาติดต่อทำดีลให้ย้ายพรรค มีข้อเสนอที่ปฏิเสธได้ยาก โดยเฉพาะเรื่อง

ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง-กระสุนดินดำ ที่มากกว่าพรรคที่อยู่เดิม รวมถึง สัญญาใจ หลังเลือกตั้ง เช่น การให้คำมั่นว่าหากพรรคภูมิใจไทยได้เป็นรัฐบาล แล้วคนที่ย้ายพรรคมาทำผลงานเข้าเป้า เช่นทำผลงานในพื้นที่ชนะเลือกตั้งยกจังหวัด หรือนำทีมของตัวเองชนะเลือกตั้งได้มาเกือบยกจังหวัด ก็จะได้ถูกดันให้เป็น รัฐมนตรี-เสนาบดี

เรียกได้ว่าเงื่อนไขที่ภูมิใจไทยให้มา มันปฏิเสธไม่ลงจริงๆ

ผนวกกับภูมิใจไทย ที่ผ่านมาเล่นการเมืองแบบไม่สุดขั้ว ไม่มีศัตรูการเมืองที่แน่ชัด เป็นพรรคเซฟโซนการเมืองที่เข้าได้กับทุกฝ่าย แม้แต่กับทักษิณ ชินวัตร

ยิ่งสถานะการเมืองปัจจุบัน ภูมิใจไทยเป็นพรรครัฐบาล กุมอำนาจ-กลไกรัฐ ที่จะไปถึงช่วงเลือกตั้งด้วย แม้ถึงตอนนั้นจะเป็นรัฐบาลรักษาการ แต่การที่มีคนของภูมิใจไทยเป็นรัฐมนตรีอยู่ในกระทรวงต่างๆ ทั้งสาธารณสุข-คมนาคม-มหาดไทย-เกษตรและสหกรณ์-ท่องเที่ยวและกีฬา ทำให้มีแต้มต่อ ได้เปรียบพรรคการเมืองอื่นตอนเลือกตั้งระดับหนึ่ง

อีกทั้งแกนนำภูมิใจไทยที่อยู่ทั้งหน้าฉากและหลังฉาก ก็มีลูกเก๋าทางการเมือง มีประสบการณ์การเลือกตั้งมาเพียบ และมีคอนเน็กชันมากมายในวงการธุรกิจและวงการแผงอำนาจทั้งในทหาร-ตำรวจ-กระทรวงมหาดไทย ที่สามารถต่อยอดทางการเมืองให้กับคนของพรรคได้ ผสมกับบุคลิกใจถึงพึ่งได้ของอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค และเนวิน ชิดชอบ แกนนำภูมิใจไทยตัวจริง มันก็ต้องตาต้องใจนักเลือกตั้งทั้งหลายที่ต้องการอยู่ใต้ร่มเงาคนแบบนี้

ทั้งหมดคือเงื่อนไข ปัจจัย ที่ทำให้ “นักเลือกตั้ง” ทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ต่างสนใจและตอบรับเข้าไปทำงานการเมืองที่พรรคภูมิใจไทย

ซึ่งจริงๆ ข่าวว่าหลายคนในเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ที่ไม่ได้ย้ายพรรคมาที่ภูมิใจไทย ทว่าก็อยากมาภูมิใจไทยด้วย แต่ติดขัดหลายเรื่อง เช่นบางคนเป็นรัฐมนตรีและแกนนำพรรคตอนนี้ เลยไม่อยากทิ้งพรรคไป แม้จะมีความสัมพันธ์ที่ดีกับแกนนำภูมิใจไทย เช่น สาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข-รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ทำงานร่วมกับอนุทินในกระทรวงสาธารณสุข แบบเข้าขากันอย่างดีมากว่าสามปี แม้อยากจะไปอยู่ที่ภูมิใจไทย แต่ด้วยความที่เป็นรองหัวหน้าพรรค เป็นรัฐมนตรี เรียกได้ว่าใหญ่อยู่แล้วในประชาธิปัตย์ ผนวกกับมีความเกรงใจคนในประชาธิปัตย์ ไม่อยากทิ้งพรรคไปในช่วงที่ ประชาธิปัตย์เลือดไหลออก ต่อเนื่อง เลยทำให้สาธิตต้องปฏิเสธลูกจีบของอนุทิน ขออยู่ประชาธิปัตย์ต่อไป

ส่วนอดีต ส.ส.พลังประชารัฐ หลายคนที่ย้ายมาภูมิใจไทย ก็พบว่าบางคนเดิมทีก็จะไปอยู่ที่ พรรครวมไทยสร้างชาติ แต่หลังประเมินสถานการณ์โดยรวมแล้ว เมื่อเห็นว่ารวมไทยสร้างชาติยังแกว่งๆ ไม่มีทิศทางที่ชัดเจน เช่น ความไม่ชัดของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าจะเอายังไงกันแน่ ที่แม้สัญญาณการเมืองหลายอย่างบ่งชี้ว่าไปที่รวมไทยสร้างชาติ แต่อาจเปิดตัวช่วงใกล้ๆ เลือกตั้ง ขณะที่ข่าวบางกระแสก็บอกว่า พลเอกประยุทธ์เริ่มไม่มั่นใจแล้วว่ารวมไทยสร้างชาติจะเติบโตได้ โดยเฉพาะอาจไม่ได้ ส.ส.ถึง 25 ที่นั่งด้วยซ้ำ ทำให้เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ชิงแคนดิเดตนายกฯ ต่อที่ประชุมรัฐสภาไม่ได้

จนมีข่าวลือช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์กำลังชั่งใจ จะเอายังไงกับรวมไทยสร้างชาติ ถึงขั้นลือกันว่าพลเอกประยุทธ์อาจไม่ไปรวมไทยสร้างชาติแล้ว แต่สุดท้ายการที่พลเอกประยุทธ์สลับเก้าอี้กันระหว่าง ดิสทัต โหตระกิตย์ กับพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ด้วยการให้พีระพันธุ์ จากที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นเลขาธิการนายกรัฐมนตรี แล้วโยกดิสทัต จากเลขาธิการนายกฯ มาเป็นที่ปรึกษานายกฯ มันก็น่าจะชัดในระดับหนึ่งว่า สุดท้ายพลเอกประยุทธ์ยังไงคงไปรวมไทยสร้างชาติแน่ เลยดันให้พีระพันธุ์ หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ มีตำแหน่งการเมืองที่มีบทบาทมากขึ้น กับเก้าอี้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

นอกจากนี้ อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้อดีต ส.ส.พลังประชารัฐ ที่เคยมีข่าวว่าจะไปรวมไทยสร้างชาติ แต่สุดท้ายเปลี่ยนใจไปภูมิใจไทย คงเพราะหลายคนเห็นเหมือนกับที่แวดวงการเมืองเห็นคือ หากดูจากสเกลการเมืองแล้ว ยังไงภูมิใจไทยก็ใหญ่และมั่นคง รวมถึงจ่ายหนักกว่ารวมไทยสร้างชาติแน่นอน มันก็เลยทำให้อดีต ส.ส.พลังประชารัฐตัดสินใจเข้าภูมิใจไทยมากกว่าจะไปที่รวมไทยสร้างชาติ ทั้งที่ข่าวว่าบางคนเคยไปคุยกับแกนนำรวมไทยสร้างชาติมาแล้วด้วยซ้ำ แต่สุดท้ายก็เทกันเห็นๆ

โดยกลุ่มการเมืองอดีตพลังประชารัฐ ที่มีลักษณะการตัดสินใจดังกล่าว ที่เห็นชัดๆ ก็มีเช่น กลุ่มอดีต ส.ส.เพชรบุรี คือ กฤษณ์ แก้วอยู่-สุชาติ อุสาหะ หรือ กลุ่มกาญจนบุรี ที่ย้ายมาภูมิใจไทยแบบแท็กทีม คือ พล.อ.สมชาย วิษณุวงศ์-ธรรมวิชญ์และอัฏฐพล โพธิพิพิธ สองอดีต ส.ส.กาญจนบุรี ลูกชายกำนันเซี้ย ประชา โพธิพิพิธ

ข่าวว่าเดิมที กลุ่มเพชรบุรี-กาญจนบุรีเคยอยู่ในกลุ่มของสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน เป็น ส.ส.ในกลุ่มที่ตัวเองดูแลและจะพาออกจากพลังประชารัฐไปที่รวมไทยสร้างชาติ หลังสุชาติประกาศจะอยู่กับลุงตู่ ลุงตู่ไปไหนผมไปด้วย แต่สุดท้ายถึงเวลาต้องตัดสินใจจริงๆ กลุ่มการเมืองข้างต้นมองแล้วว่าไปรวมไทยสร้างชาติมีความเสี่ยงสูง ส่วนอยู่พลังประชารัฐต่อไปก็อาจไม่โตไปมากกว่านี้ ยิ่งการไม่มีพลเอกประยุทธ์อยู่ด้วย ยิ่งทำให้หาเสียงในพื้นที่ไม่ง่ายเหมือนปี 2562 สู้ไปอยู่กับภูมิใจไทยที่ให้เงื่อนไขดีกว่า ก็เลยทำให้หลายคนที่เคยมีข่าวจะไปรวมไทยสร้างชาติ สุดท้ายเลยเลี้ยวรถเข้าภูมิใจไทยอย่างที่เห็น

องค์ประกอบการเมืองทั้งหมด โดยเฉพาะหากวัดจาก ขุมกำลัง ที่อนุทิน-เนวิน-ภูมิใจไทย มีอยู่ตอนนี้ ทำให้มีความเป็นไปได้สูงที่ภูมิใจไทยจะได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งมาเป็นอันดับสอง รองจากพรรคเพื่อไทย เพียงแต่อันดับสองดังกล่าว หากอนุทินต้องการให้ตัวเองมีลุ้นเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้ง ก็ต้องทำให้พรรคได้ ส.ส.อย่างน้อยระดับเฉียดๆ 100 ที่นั่ง แต่จะถึงขั้นไปถึง 120 ที่นั่งอย่างที่เนวินเคยประกาศไว้กลางงานวันเกิดของตัวเองที่บุรีรัมย์หรือไม่ หลายคนประเมินว่าน่าจะยังยากอยู่ เพราะลำพังให้เฉียดร้อยก็หนักแล้ว

โดยหากภูมิใจไทยทำได้ตามเป้าคือประมาณสัก 80-95 ที่นั่ง แล้วพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลปัจจุบัคือ พลังประชารัฐ -ประชาธิปัตย์-ชาติไทยพัฒนา รวมถึงพรรคตั้งใหม่ดีลกันได้ อย่างรวมไทยสร้างชาติ-ไทยสร้างไทย หรือพรรคชาติพัฒนากล้า ของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่กำลังเจรจาควบรวมกับกลุ่ม ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จากไทยสร้างไทย

ถ้าพรรคการเมืองปีกดังกล่าวข้างต้นรวมเสียงกันแล้วหลังเลือกตั้งเกิน 250 เสียง โดยที่ภูมิใจไทยได้ ส.ส.มากสุด และทิ้งห่างพรรคขั้วนี้เช่นพลังประชารัฐ หลายสิบเก้าอี้ มันก็ทำให้อนุทิน-ภูมิใจไทย ย่อมมีแต้มต่อในการขอเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลและดันตัวเองเป็นนายกฯ ได้ ต่อให้พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ กับพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มี สมาชิกวุฒิสภา 250 เสียง ที่สามารถกดปุ่มสั่งให้โหวตนายกฯ ได้ก็ตาม

เว้นเสียแต่อนุทินจะยอมหลีกทางให้พลเอกประวิตรกับพลเอกประยุทธ์ โดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ที่เหลืออายุการเป็นนายกฯ สองปี เพื่อให้ขึ้นก่อน ตามคอนเซ็ปต์ จากตู่สู่หนู ที่คนการเมืองพูดถึงกัน

ทว่า ประเมินกันแล้วหากไปถึงตอนนั้น ถ้าภูมิใจไทยได้ ส.ส.เป็นอันดับสอง รองจากเพื่อไทย อนุทินและภูมิใจไทยคงไม่ยอมง่ายๆ ที่จะเปิดทางให้พลเอกประยุทธ์กับพลเอกประวิตร เพราะโอกาสแบบนี้คงหายากแล้วสำหรับอนุทินและภูมิใจไทย ในการขึ้นเป็นนายกฯ และเป็นพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล นอกจากจะมี สัญญาณพิเศษ บางอย่างมาถึงอนุทิน เพื่อขอให้เปิดทางดังกล่าว ที่ถ้าเป็นแบบนี้ อนุทินก็คงต้องยอม

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องจับตาการพลิกเกมการเมืองที่อาจเกิดขึ้นหลังเลือกตั้ง เช่น พลเอกประวิตรนำพลังประชารัฐไปจับมือกับเพื่อไทยตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังเลือกตั้ง ซึ่งถ้าออกมาแบบนี้ก็ไม่แน่ จากที่ภูมิใจไทยจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็อาจเปลี่ยนไปเป็นแกนนำฝ่ายค้านไปเลย!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

“ไชยชนก” นำกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ถวายแจกันดอกไม้และลงนามถวายพระพร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา 8 มกราคม 2568

วันนี้ (9 ม.ค. 2568) ที่วังศุโขทัย เขตดุสิต กรุงเทพฯ นายไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารพรรคภูมิใจไทย ได้แก่ นางสาวพิมพฤดา ตันจรารักษ์ สส.พระนครศรีอยุธยา รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย, นายกรวีร์

'อนุทิน' ลงสงขลาเปิดอาคารเทศบาลเมืองคอหงส์

'อนุทิน' ลงพื้นที่สงขลา เป็นประธานเปิดอาคารเทศบาลเมืองคอหงส์ อ.หาดใหญ่ ย้ำบทบาทเทศบาลยุคใหม่ส่งเสริมยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนทุกด้าน

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ