จับกระแสคลื่นใต้น้ำ "ปชป." ก่อนลงสู้ศึกเลือกตั้ง

หลังมีกระแสข่าวในเชิงถูกพาดพิงว่าอยู่ใน กลุ่มเคลื่อนไหวในการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ หรือกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อจะโค่นจุรินทร์ลงจากเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

ทำให้ ตั๊น-น.ส.จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ต้องออกมาแจงต่อสื่อทันทีกรณีมีชื่อเป็น 5 ใน 6 คนของรองเลขาธิการพรรค ที่ร่วมก่อการเข้าชื่อเพื่อกดดันให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคลาออกจากตำแหน่งว่า

“ขอปฏิเสธว่าไม่ใช่ข้อเท็จจริง เพราะไม่ได้ร่วมเคลื่อนไหวดำเนินการใดในพรรคในลักษณะที่ถูกโยงชื่อและภาพข่าวตามที่ถูกกล่าวหา เพราะตระหนักดีว่า ในห้วงเวลาที่เข้าสู่โหมดการเลือกตั้งที่ทุกพรรคการเมืองต้องเตรียมความพร้อม ทั้งนโยบายในการรณรงค์หาเสียง และคัดสรรว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ในนามพรรคเพื่อสู้ศึกการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง จึงไม่ใช่เวลาที่จะมาสร้างข่าว หรือสร้างความแตกแยกด้วยการตอกลิ่มเพิ่มขึ้นในพรรคที่เปรียบเสมือนบ้านของพวกเรากันเอง แต่เป็นห้วงเวลาที่พรรคต้องเป็นเอกภาพ และต้องการความสมัครสมานสามัคคีของสมาชิกพรรคทุกระดับเพื่อรวมพลังในการสู้ศึกการเลือกตั้ง”

จิตภัสร์-รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า มีจุดยืนที่มั่นคงและชัดเจนมาตลอด โดยให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนก่อนหน้านี้แล้วว่า ไม่คิดจะย้ายพรรคไปอยู่พรรคอื่น ยังขอทำงานให้พรรคประชาธิปัตย์ตามที่ได้รับมอบหมายจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคและผู้ใหญ่ในพรรค โดยทำหน้าที่ในความรับผิดชอบของตนอย่างเต็มที่และดีที่สุด และพร้อมที่จะร่วมสู้ศึกเลือกตั้งที่จะมาถึงร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์ จึงขอเรียกร้องให้สมาชิกพรรคบางคน บางกลุ่มยุติพฤติกรรมการปล่อยข่าวที่ต้องการสร้างความแตกแยก หรือใช้สถานการณ์นี้สร้างเงื่อนไข หรือเรียกร้องผลประโยชน์ส่วนตัว โดยสร้างความเสียหายต่อพรรคของเราทุกคน

ทั้งนี้เหตุที่ จิตภัสร์-รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าว ก็เพราะมีกระแสข่าวทางการเมืองในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาถึงเรื่อง คลื่นใต้น้ำ ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ว่ามี ส.ส.-แกนนำพรรค-อดีต ส.ส.กลุ่มหนึ่ง ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในพรรคประชาธิปัตย์ โดยอ้างเหตุว่าต้องการให้มีการปรับทัพประชาธิปัตย์ใหม่ ก่อนทำศึกเลือกตั้งในปีหน้า ซึ่งกลุ่มที่มีแนวคิดดังกล่าว ก็คือกลุ่มการเมืองที่ไม่ถูกกับ กลุ่มจุรินทร์ในปัจจุบัน ที่คีย์แมนหลักๆ ของกลุ่มนี้ก็มี เช่น จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์, เฉลิมชัย ศรีอ่อน, นิพนธ์ บุญญามณี, ชินวรณ์ บุณยเกียรติ เป็นต้น 

โดยกลุ่มที่มีแนวคิดเคลื่อนไหวให้มีการเปลี่ยนตัวหน้าพรรค ปชป.ข่าวบางกระแสบอกว่า เป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ได้มีแนวคิดย้ายออกจากพรรคไปอยู่พรรคอื่นๆ เช่น รวมไทยสร้างชาติ คือยังมีแนวคิดจะอยู่ที่ประชาธิปัตย์ต่อ แต่กลุ่มนี้รู้ดีว่า บทบาทในพรรคลดลงเรื่อยๆ เช่น หากลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ ก็จะอยู่ในลำดับที่ไม่ปลอดภัย คืออยู่อันดับต่ำกว่า 15 คนแรก ที่เสี่ยงสูงจะไม่ได้เข้าไปเป็น ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หลังเลือกตั้ง

เลยเคลื่อนไหวให้เกิดการเปลี่ยนแปลง จัดทัพใหม่ในประชาธิปัตย์ โดยพยายามสร้างกระแสว่า คะแนนนิยมของจุรินทร์ จากการสำรวจของโพลหลายสำนัก คะแนนยังเป็นรอง รวมถึงคะแนนของพรรคในหลายภาคหลายจังหวัด คะแนนของพรรคก็ยังเป็นรองพรรคคู่แข่งค่อนข้างมาก ทำให้คนที่จะลงสมัคร ส.ส.เขตก็เหนื่อย มีโอกาสสอบตกสูง จึงพยายามอ้างเหตุว่า พรรคควรปรับทัพใหม่โดยด่วนก่อนถึงตอนเลือกตั้ง

กระนั้นก็มีกระแสข่าวว่า ยังไม่มีแนวร่วมในพรรคประชาธิปัตย์เอาด้วยมากเท่าไหร่นัก เพราะเห็นว่าควรให้โอกาสจุรินทร์นำทัพสู้ศึกเลือกตั้งไปก่อน หากพรรคได้ ส.ส.ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เช่น ได้ ส.ส.หลังเลือกตั้งไม่ถึง 52 ที่นั่ง ที่คือน้อยกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 ยังไงถึงตอนนั้นจุรินทร์ก็ต้องแสดงสปิริตลาออกจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้วตามธรรมเนียมของพรรคที่ปฏิบัติกันมาตลอดในช่วงหลัง ตั้งแต่ยุค บัญญัติ บรรทัดฐาน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยถึงตอนนั้นค่อยปรับทัพใหม่ เลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ก็ยังได้ เพราะหากไปเคลื่อนไหวในช่วงนี้ จะไม่เป็นผลดีต่อพรรคในภาพรวม โดยเฉพาะจะทำให้เกิดภาพ ประชาธิปัตย์ขัดแย้งกันเองในพรรคอย่างหนัก ที่ไม่เป็นผลดีกับพรรคในภาพรวมในช่วงที่การเลือกตั้งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

และต่อมาเมื่อ 13 ธ.ค. เฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมายืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรใดๆ ทั้งสิ้น

ทว่า ต่อมาก็มีข่าวออกมาสำทับอีกรอบว่า ภายในพรรคมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้น โดยมี รองหัวหน้าพรรค 1 คน และรองเลขาธิการพรรคอีก 2 คน เดินสายขอให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ ร่วมลาออกจากการเป็นกรรมการบริหารพรรค โดยอ้างว่าต้องการเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคคนใหม่ เพราะเห็นว่าจากผลการสำรวจความนิยมของสำนักโพลต่างๆ พบว่า คะแนนของหัวหน้าพรรค คือ จุรินทร์ได้รับคะแนนนิยมค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับหัวหน้าของพรรคการเมืองต่างๆ ประกอบกับการบริหารภายในพรรค กลุ่มของจุรินทร์กุมอำนาจเบ็ดเสร็จเกินไป

โดยมีกระแสข่าวออกมาทำนองว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มก่อการนี้มีเป้าหมายจะรวบรวมเสียงให้ได้ครึ่งหนึ่งของคณะ กก.บห.ที่มีอยู่ หรือ 17 เสียง จากทั้งหมด 34 เสียง ซึ่งถ้าหากได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ก็จะเท่ากับเป็นการเปิดทางให้มีการเลือกคณะผู้บริหารของพรรคใหม่ยกชุด อย่างไรก็ตาม มีกระแสข่าวว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวดังกล่าวทราบดีว่าถ้าทำไม่สำเร็จก็จะถูกเช็กบิลจากผู้บริหารพรรคโดยการไม่ส่งลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในครั้งที่จะถึงนี้ แต่โต้โผคนสำคัญยังยืนยันจะสู้ต่อเดินหน้าขออีก 2 เสียง แม้จะรู้ว่าการรวบรวมชื่อเป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะผู้ใหญ่สั่งบล็อกกรรมการบริหารพรรคไว้หมดแล้ว

“เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา หนึ่งในผู้ร่วมก่อการครั้งนี้ที่เป็นรองเลขาธิการพรรคคนหนึ่งได้ไปสารภาพผิดกับรองหัวหน้าพรรคอีกคนหนึ่งที่กุมอำนาจเบ็ดเสร็จ โดยเปิดเผยแผนการทั้งหมด รวมถึงผู้ร่วมขบวนการว่า เดิมจะเป็นเพียงการรวบรวมให้ได้ 18 คน เพื่อกดดันนายจุรินทร์ให้ลาออกจากหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง โดยให้หาเหตุผลอะไรก็ได้ แต่ถ้านายจุรินทร์ไม่ยอมก็จำเป็นต้องให้กรรมการบริหารพรรค 18 คน เซ็นใบลาออก เพื่อให้เปิดประชุมใหญ่วิสามัญคัดเลือกผู้บริหารของพรรคชุดใหม่ ทั้งนี้ โต้โผใหญ่ยังยืนยันจะรวบรวมต่ออีก 2 ชื่อ ให้ได้ภายในสัปดาห์นี้” รายงานข่าวระบุ

ทั้งนี้ มีรายงานว่า กลุ่มที่เคลื่อนไหวดังกล่าว เห็นว่าขณะนี้สถานการณ์ในพรรคอึมครึม และถ้ายังปล่อยไปเช่นนี้จะยิ่งทำให้มี ส.ส.เกรดเอของพรรคไหลออกอีก จึงเห็นพ้องว่าต้องทำอะไรสักอย่าง จนเป็นที่มาของการเคลื่อนขบวนการครั้งนี้ และก่อนหน้านี้ก็มีการพูดคุยกับ ส.ส.และอดีต ส.ส.ที่มีแนวโน้มจะลาออกจากพรรคว่า ถ้าเปลี่ยนตัวนายจุรินทร์ได้ ขออย่าลาออกได้หรือไม่ อาทิ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี สมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล อดีต ส.ส.ตรัง แต่ที่สุดก็ไม่สามารถโน้มน้าวใจคนเหล่านั้นได้ เพราะทุกอย่างสายเกินแก้ไขแล้ว 

 ทั้งหมดคือภาพรวมของสถานการณ์ภายในพรรคประชาธิปัตย์ ที่หลายคนคาดไม่ถึง เพราะเห็นดูเงียบๆ แต่กลับมีคลื่นใต้น้ำก่อตัวขึ้นมาอีกครั้ง ซึ่งก็ดูจะเป็นบุคลิกการเมืองของพรรคนี้ ที่คนในพรรคยังบอกเลยว่า ประชาธิปัตย์ ยามศึกร่วมรบ ยามสงบเรารบกันเอง เพราะอย่างในยุคจุรินทร์เป็นหัวหน้าพรรค ก็เคยเกิดความเคลื่อนไหวทำนองนี้มาแล้วเมื่อสักเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา ที่พบว่า คนที่ร่วมเคลื่อนไหว ปัจจุบันก็ออกจากประชาธิปัตย์ไปแล้วหลายคน

ส่วนผลพวงของคลื่นใต้น้ำรอบนี้จะเป็นอย่างไร ก็ให้รอดูตอนเลือกตั้งกันให้ดีๆ ข่าวว่างานนี้อาจมีเช็กบิลแน่นอน!!!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ดรามา วุฒิการศึกษา 'หมอเกศ' เปิดข้อกม.เอาผิด-พ้นสภาพสว.?

นับตั้งแต่กระบวนการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เมื่อปลายเดือนมิ.ย. สิ้นสุดลง หัวกระไดสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ไม่แห้งอีกเลย เพราะหลังจากนั้นมีกลุ่มคนเข้ามายื่นหนังสือ เพื่อตรวจสอบกระบวนการเลือกที่ไม่สุจริต และเที่ยงธรรม รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มเพื่อเลือกบุคคลที่เป็นเป้าหมายโดยเฉพาะ หรือเรียกว่า ฮั้ว หรือการตรวจคุณสมบัติสว.

ส.ค."ทักษิณ"ติดปีกพ้นพักโทษ รอชักใยเศรษฐา-พท.เต็มตัว

ช่วงที่ผ่านมา ทักษิณ ชินวัตร ที่ถูกเรียกขาน นายกฯ ตัวจริง-หัวหน้าพรรคเพื่อไทยตัวจริง แม้จะอยู่ในช่วงการ พักโทษ แต่ก็ออกมาเคลื่อนไหวการเมืองทั้งในส่วนของรัฐบาลและพรรคเพื่อไทย

'วัชระ' ช่วยทหารเรือชั้นผู้น้อยยื่น ป.ป.ช.สอบทุจริตจัดซื้อปืนกล 30 มม.

"วัชระ เปิดใจยื่นเรื่องนี้แทนกำลังพลชั้นผู้น้อยที่รักชาติไม่ยิ่งหย่อนกว่านายพล เพื่อตอบแทนพี่น้องทหารเรือที่ช่วยนักศึกษามาตลอดตั้งแต่สมัย 6 ตุลาคม 2519 จนถึงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ..."

สว. 2567 สารพัดขั้วสี รุกชิงเก้าอี้ใหญ่สภาสูง หึ่งล็อบบี้จัดโปรดูแลรายเดือน!

วันจันทร์ที่ 15 ก.ค. จะเป็นวันสุดท้ายที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเปิดห้องให้สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ 200 คน เข้ารายงานตัวก่อนเข้าปฏิบัติหน้าที่

วุฒิสภาฝุ่นตลบ-ล็อบบี้หนัก เบื้องหลังตั้งกลุ่มต่อรอง-ชิงอำนาจ

หลังการรายงานตัวของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ชุดใหม่ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เสร็จสิ้นลงในสัปดาห์หน้า วันจันทร์ที่ 15 ก.ค. ได้มีการคาดหมายกันว่า ไม่แน่อาจจะมีการนัดประชุม สว.นัดแรกกลางสัปดาห์หน้าเลย