เข้าโหมดเคาต์ดาวน์เลือกตั้ง 2 ลุง ‘แยกกันเดิน แต่เจอกันได้’

จากที่เคยลุ้นๆ กันว่าผู้มีอำนาจจะตุกติก เล่นพิเรนทร์อะไรกับเรื่องกฎหมายลูกหรือไม่ วันนี้นักการเมืองหลายคนคงโล่งอก มองเห็นสนามเลือกตั้งชัดเจนขึ้น ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไฟเขียวให้กฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ 

โดยขั้นตอนภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้ว จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ ไปให้นายชวน หลีกภัย ในฐานะประธานรัฐสภา เพื่อส่งต่อให้ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม นำขึ้นทูลเกล้าฯ จากนั้นรอให้มีการโปรดเกล้าฯ ลงมาเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษา  

หลังมีการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว กฎหมายทั้ง 2 ฉบับจะมีผลบังคับใช้ ถือว่ากติกาพร้อม สามารถจัดการเลือกตั้งได้เลย อยู่ที่ว่า "บิ๊กตู่" จะกดปุ่มยุบสภา หรือจะลากยาวจบครบเทอมในปลายเดือนมีนาคม 2566 

“แม้จะมีความชัดเจนว่า 2 ลุง บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม จะอยู่คนละพรรคแน่นอนแล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ยังเชื่อกันว่าภายหลังการเลือกตั้งจะสามารถจับมือร่วมกันทำงานได้ เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งของ 2 ป. แต่มันเป็นเพียงแค่การมองจุดหมายในองศาที่แตกต่างกัน”

นับจากนี้จึงถือเป็นช่วงเวลาเคาต์ดาวน์เลือกตั้งใหญ่ และเป็นช่วงเวลาของการจัดทัพของแต่ละพรรคการเมืองเพื่อเตรียมตัวลงสนาม  

เดือนธันวาคมนี้จะเป็นเดือนที่มีความเคลื่อนไหวของเหล่านักการเมืองมากที่สุด โดยเฉพาะการโยกย้ายพรรค ซึ่ง ส.ส.หลายคนเตรียมตัวที่จะลาออกจากการเป็น ส.ส.เพื่อเปิดทางไปสู่การสังกัดพรรคใหม่ เพื่อให้คุณสมบัติการลงสมัครรับเลือกตั้งถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 

ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงปลายอายุรัฐบาล หลังจากนี้จะไม่ค่อยมีกฎหมายสำคัญระดับเป็นเรื่องคอขาดบาดตายแล้ว จึงเหมาะแก่การโยกย้ายสับเปลี่ยนต้นสังกัด ดังจะเริ่มเห็นสัญญาณว่า ส.ส.หลายคนเริ่มปักหลักอยู่ในพื้นที่ ไม่เดินทางมาประชุม จนเกิดเหตุสภาล่มซ้ำซาก 

ความเคลื่อนไหวของพรรคการเมืองต่างๆ จะเอิกเกริกมากขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ ไม่ต้องปิดบังอำพราง หลบๆ ซ่อนๆ เพื่อ ดีล-ดึง-ดูด กัน แต่จะทำกันอย่างเปิดเผย เพราะมันถึงโหมดที่ต้อง สิ้นสุดทางเพื่อนเอาไว้ชั่วคราว ทุกพรรคตอนนี้คือคู่แข่งและศัตรูกันในสนามเลือกตั้ง 

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา พรรคพลังประชารัฐของ "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค กับพรรครวมไทยสร้างชาติ นั่งร้านอันใหม่ของ "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ยังคงถูกโฟกัสเหมือนกับ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังความชัดเจนหลายอย่างเริ่มปรากฏขึ้นเรื่อยๆ  

ความเคลื่อนไหวของ "บิ๊กตู่" หรือแม้แต่คนใกล้ชิด ยังคงได้รับความสนใจทุกฝีก้าว แม้จะยังไม่มีการยอมรับออกจากปากเจ้าตัว แต่การ "ไม่ปฏิเสธ" มันได้ถูกแปรรหัสเรียบร้อยว่า ทุกข่าวลือที่ออกมามีเค้าลาง "ความจริง" 

และต่อให้ "บิ๊กตู่" ไม่พูด นาทีนี้มันไม่ได้เป็นประเด็นสำคัญอีกต่อไป เพราะความเคลื่อนไหวขององคาพยพมันอึกทึกครึกโครมแทนคำตอบไปหมดแล้ว  

โดยเฉพาะกระแสข่าวว่า ระยะนี้บ้าน "บิ๊กตู่" มีแขกเข้า-ออกจำนวนมาก มี ส.ส.เข้าไปคารวะแนะนำตัวไม่เว้นแต่ละวัน 

รวมไปทั้งการที่ "บิ๊กป้อม" เปิดปากตอบนักข่าวถึงกระแส ส.ส.พรรคพลังประชารัฐย้ายไปอยู่กับ "บิ๊กตู่" ที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ซึ่งมันชัดเสียยิ่งกว่ากระไร ว่า 2 ลุงจะไม่ได้สู้ศึกในป้อมค่ายเดียวกันอีกแล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้า   

“อ๋อ เขาก็ไป ก็พรรคเดียวกันนั่นแหละครับ ไม่มีอะไรหรอกครับ” 

หรือการที่ "เสี่ยเฮ้ง" นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ถูกเรียกให้ไปยื่นใบลาออกจากตำแหน่งผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐเมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังสวมบทกวาดต้อนไพร่พลจากต้นสังกัดปัจจุบันไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติ  

แม้แต่การที่นายสายัณห์ ยุติธรรม ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคพลังประชารัฐ หนึ่งใน ส.ส.ที่มีข่าวว่าจะย้ายตามไปอยู่กับ "บิ๊กตู่" โผล่ในงานเปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ชุมพร ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ก่อนที่เวลาต่อมาเจ้าตัวจะเอ่ยปากยอมรับว่าจะตามผู้นำประเทศไปอยู่กับพรรคใหม่  

ขณะเดียวกันยังมีรายงานออกมาตลอดว่า ในช่วงสัปดาห์ก่อนต่อเนื่องสัปดาห์นี้มีทีมงานของ "บิ๊กตู่" ต่อสายโทรศัพท์หา ส.ส.ระดับเกรดเอในพรรคพลังประชารัฐ โดยเฉพาะคนที่พรรครวมไทยสร้างชาติยังไม่มีตัวผู้สมัคร เพื่อชักชวนมาอยู่บ้านใหม่ พร้อมกับข้อเสนออลังการ กระสุนดินดำมีให้สาดไม่แพ้ใคร 

เหล่านี้คือความชัดเจนที่รอแค่ "บิ๊กตู่" ตัดริบบิ้นเท่านั้น 

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพรรคพลังประชารัฐของ "บิ๊กป้อม" กลายเป็นช่วงเวลาที่อลหม่าน อันมาจากการที่ "บิ๊กตู่" ไปสร้างอาณาจักรใหม่  

พรรคพลังประชารัฐโมงยามนี้ประสบปัญหาเลือดไหล หลายพรรคการเมืองอาศัยจังหวะผึ้งแตกรัง ตีท้ายครัว ฉก ส.ส.ไปอยู่ด้วย ไม่ได้มีเพียงแค่พรรครวมไทยสร้างชาติที่มาตกปลาในบ่อเพื่อนเท่านั้น 

เป็นช่วงเวลาของการไล่เช็กชื่อว่าเหลือกำลังพลเท่าไหร่ หนักถึงขั้นเรียก ส.ส.มาคุยเรียงตัว พร้อมจรดปากกาในสัญญาไม่ทิ้งพรรคกันเลยทีเดียว         

ตอนนี้คนที่เหลืออยู่กับ "บิ๊กป้อม" มี 2 ประเภท คือ ไปไหนไม่ได้ เพราะมีชนักปักหลัง กับไปไหนไม่ได้ เพราะไม่มีที่ให้ลง จำเป็นต้องอยู่ต่อ       

สถานการณ์แบบเรียลไทม์ "มุ้งผู้กอง" ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา จากพรรคเศรษฐกิจไทย 13 คน รีเทิร์นรังเก่า 100% ขณะที่ "บ้านรัตนเศรษฐ" ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คดีทุจริตโครงการสร้างสนามฟุตซอล จ.นครราชสีมา ยังคาราคาซัง จำเป็นต้องตัวติด "บิ๊กป้อม" ไว้ 

เช่นเดียวกับ ก๊วนปากน้ำ ของ "เอ๋" ชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม เหตุหลักในการอยู่ต่อไม่ใช่เพราะเพิ่งได้ปูนบำเหน็จโควตารัฐมนตรี หากแต่หัวหน้าก๊วนเพิ่งถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลไป ซึ่งมองกันว่ามันเป็นการล่ามโซ่ไว้ไม่ให้กล้าตีจาก 

รวมไปถึง ก๊วนชากังราว จ.กำแพงเพชร ของนายวราเทพ รัตนากร ที่ตัดสินใจอยู่ต่อ หลัง "บิ๊กป้อม" พูดต่อหน้าทุกคนว่าจะยังให้รับผิดชอบการเลือกตั้งเมืองกล้วยไข่แบบเบ็ดเสร็จ แม้ก๊วน ร.อ.ธรรมนัสจะกลับมาก็ตาม 

ฟาก ก๊วนมะขามหวาน ของนายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง แม่บ้านพรรค ที่ก่อนหน้านี้ปันใจไปอีกฝั่ง อาจจะปักหลักต่อ หาก "บิ๊กป้อม" ให้บทบาทเหมือนเดิม ไม่ต้องเผชิญปัญหากับ ร.อ.ธรรมนัสอีก 

ขณะที่ ส.ส.ภาคใต้ ที่ตกเป็นเป้าถูกพรรครวมไทยสร้างชาติดูด ถึงเวลานี้ยังอยู่กับ "บิ๊กป้อม" หลายคน เหตุเพราะพรรคน้องใหม่ล็อกเป้าเฉพาะบางคนที่เป็นเกรดเอและขาดตัวผู้สมัครเท่านั้น เนื่องจาก "เสี่ยตุ๋ย" พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค มีตัวผู้สมัคร ส.ส.ที่ส่วนใหญ่ที่ย้ายมาจากพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว  

และด้วยเลือดที่ไหลทะลักของพรรคพลังประชารัฐ ประกอบกับ "บิ๊กตู่" ที่ยังพอมีกระแสในพื้นที่ภาคใต้และ กทม.อยู่แล้ว ทำให้มีรายงานว่า ในการเลือกตั้งหน้า "บิ๊กป้อม" จะเปลี่ยนยุทธศาสตร์ ปรับตัวเองจากพรรคขนาดใหญ่เป็น ไซส์เอสเอ็มอี เน้นเฉพาะพื้นที่ที่มีโอกาสได้ ส.ส. หลักๆ คือภาคเหนือตอนล่างกับภาคอีสาน 

โดย 2 ภาคนี้ "บิ๊กป้อม" มีนักการเมืองที่แข็งในพื้นที่หลายคน ไม่ต้องพึ่งกระแส "บิ๊กตู่" แต่อย่างใด 

อย่างไรก็ดี ถึงแม้จะมีความชัดเจนว่า 2 ลุง "บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม" จะอยู่คนละพรรคแน่นอนแล้วในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ยังเชื่อกันว่าภายหลังการเลือกตั้งจะสามารถจับมือร่วมกันทำงานได้  

เพราะเรื่องที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เกิดจากความขัดแย้งของ 2 ป. แต่มันเป็นเพียงแค่การมองจุดหมายในองศาที่แตกต่างกันเท่านั้น  

“นายกฯ กับผมก็เป็นพี่เป็นน้องกัน ไม่มีอะไร ท่านอยากไปอยู่นู่นก็ไป ผมไม่ว่าอะไร ผมไม่มีปัญหาอะไร ยืนยันว่าผมไม่มีความขัดแย้งกันเลย อยู่กันมา 40-50 ปีแล้ว จะมาขัดแย้งได้อย่างไร สื่อถามทุกวันเลย” พล.อ.ประวิตรยังคงยืนยันความสัมพันธ์ในวันที่ต้องแยกกันเดิน 

ขณะที่การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดยังทำให้เห็นสัญญาณของความประนีประนอมระหว่างพี่น้อง หลังเก้าอี้รัฐมนตรี 2 ตำแหน่งที่ว่างมานาน ถูกแบ่งคนละเก้าอี้ "บิ๊กตู่" ไม่ได้ยึดมาครองหมด 

โดยเฉพาะชื่อนายสุนทร ปานแสงทอง รมช.เกษตรและสหกรณ์ โควตากลุ่มปากน้ำ ที่แม้จะโหวตสวน "บิ๊กป๊อก" พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา แต่ "บิ๊กตู่" ยังให้ตามที่ "บิ๊กป้อม" เสนอมา ไม่มีกีดกัน  

มันแสดงให้เห็นว่ายังคงแคร์กันและกัน แม้วันนี้จะแยกออกไปสร้างอาณาจักรของตัวเองแล้วก็ตาม 

ฉะนั้น แม้มันยังไม่ชัดว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ "แยกกันเดิน รวมกันตี" อย่างที่มีคนตั้งข้อสังเกตหรือไม่ แต่สิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้คือ 2 ลุง แม้จะ "แยกกันเดิน" แต่สามารถ "กลับมาเจอกันได้". 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

สุดคึก! แกนนำพท. มั่นใจ ‘ทักษิณ’ ช่วยหาเสียง อบจ. ปูทางตั้งรัฐบาลพรรคเดียว

‘ประเสริฐ’ มั่นใจ พท.กวาดทุกสนาม อบจ. ที่ ‘ทักษิณ’ ไปเยือนปูทาง ตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ลั่นในอดีตทำแล้ว ทำมึนสื่อหมายถึงใคร หลังถูกถาม นายกฯช่วยหาเสียงวันหยุด

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ