การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งล่าสุด แทนตำแหน่งที่ว่าง 3 เก้าอี้ ในส่วนโควตาพรรคประชาธิปัตย์ไม่พลิกโผ ได้ นายนริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง 5 สมัย ดำรงตำแหน่ง รมช.มหาดไทย ตามที่หัวหน้าพรรค ปชป.เสนอรายชื่อไปก่อนหน้านี้ เป็นระยะเวลาเดือนกว่า
แต่ที่สร้างเซอร์ไพรส์คือ โควตาเดิมของพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ว่างเว้นไปปีกว่า หลัง บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม ปลด ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงานพ้นจาก ครม.หลังก่อกบฏเมื่อปี 64
แต่รายชื่อรัฐมนตรีใหม่ 2 คนรอบนี้ กลับไม่ใช่โควตาของ พปชร. แต่เป็นการประนีประนอมของพี่น้อง 2 ป.แบ่งโควตาคนละครึ่ง
ทำให้เห็นว่าแม้จะแยกพรรคกันก็จริง แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือรักษาระบอบ 3 ป.ให้ครองอำนาจทางการเมืองต่อไปให้ยาวนานที่สุด
ในส่วนของ นายสุนทร ปานแสงทอง อดีตรองนายกฯ อบจ.สมุทรปราการ โควตากลุ่มปากน้ำ พปชร.ได้รับการตบรางวัลจาก บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. หลังก่อนหน้านี้เคยลงพื้นที่ตรวจราชการที่สมุทรปราการ โดยลั่นวาจาว่าจะมอบเก้าอี้รัฐมนตรีให้ มาคราวนี้ก็ถือว่ารักษาสัญญาตามคำพูด
แม้ตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ อาจไม่ตอบโจทย์พื้นที่สมุทรปราการเท่าที่ควร แต่ก็ดีกว่าไม่ได้อะไรติดไม้ติดมือในช่วงท้ายรัฐบาลเพื่อเตรียมความพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง
แต่ที่สำคัญสุดคือ ซื้อใจให้อยู่กับ พปชร.ต่อไปในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า ดังที่ นายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร.ออกมาสะท้อนว่า มีความใกล้ชิด "บิ๊กป้อม" มากกว่า "บิ๊กตู่" และ "บิ๊กป๊อก"
ขณะที่ "สุนทร" ถือเป็นคนเก่าคนแก่ทำงานให้กลุ่มปากน้ำ ตั้งแต่รุ่นนายวัฒนา อัศวเหม ยังทำการเมืองสนามใหญ่ ก่อนมาช่วยทำงานท้องถิ่นให้กับ "นายกฯ ตู่" นันทิดา แก้วบัวสาย นายกฯ อบจ.สมุทรปราการ ฉะนั้นจึงไม่มีความขัดแย้งใดๆ กับกลุ่ม ส.ส.ในพื้นที่ เพราะทุกคนก็ขึ้นตรงกับ "ลูกพี่เอ๋-ชนม์สวัสดิ์"
อีกทั้ง "รมช.สุนทร" ยังถือเป็นคนนอก และสามารถนั่งทำงานใน ครม.ได้สะดวก และมองหน้ากับ บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ รมว.มหาดไทยได้ และ เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานได้ เพราะไม่ใช่เป็นตัวแทนจาก ส.ส. 6 คน ในกลุ่มปากน้ำ ที่เคยขัดมติพรรค พปชร. โหวตไม่ไว้วางใจ รมว.มหาดไทย และ รมว.แรงงานมาแล้ว
กระทั่ง "เสี่ยเฮ้ง" เตรียมออกจาก พปชร.ในเวลาที่เหมาะสม เพื่อไปช่วย "บิ๊กตู่" ทำพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า
แต่ที่พลิกโผเล่นเอาคนแตกตื่นสะท้านทั้งการเมือง กรณี ดร.แด๊ก-นายธนกร วังบุญคงชนะ ได้นั่งตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
ด้วยระยะเวลาเพียง 3 ปีกว่า ตัวเขาสามารถขึ้นลิฟต์ทางการเมืองอย่างรวดเร็ว เริ่มตั้งแต่ไม่มีใครรู้จัก จนเป็น โฆษกกลุ่มสามมิตร เพราะเป็นเด็กในบ้านของนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ต่อด้วยรองโฆษก พปชร.และโฆษก พปชร.
จากนั้นมุ่งสู่ตำแหน่งข้าราชการการเมืองในตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยนายอุตตม สาวนายน ต่อด้วยเลขานุการรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ของนายอนุชา นาคาศัย ก่อนขึ้นไปโฆษกประจำสำนักนายกฯ ที่เรียกว่าช่วงนั้นทำงานเข้ามา "บิ๊กตู่" พร้อมทั้งตอบโต้ฝ่ายตรงข้ามได้อย่างถึงพริกถึงขิง เรียกได้ว่าทำงานถวายตัว และตายแทนนายกฯ ได้เลย
ต่อมา มาดามเดียร์-น.ส.วทันยา บุนนาค ลาออกจาก ส.ส.บัญชีรายชื่อ พปชร. ชื่อของนายธนกรจึงเลื่อนขึ้นมาเป็น ส.ส.แทน จากนั้นไม่กี่เดือน นายกฯ ก็ตั้งขึ้นเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ
เพื่อเดินงานการเมืองแทน ด้วยการ ดึง ส.ส.และนักการเมืองบ้านใหญ่เข้าพรรค รทสช. และยังสะท้อนให้ทุกคนเห็นว่า หากใครฝากตัวรับใช้นาย "บิ๊กตู่" ก็พร้อมจะตบโบนัสก้อนใหญ่ให้ ที่สำคัญยังมัดใจกลุ่มสามมิตรให้อยู่กับนายกฯ ต่อไป
ขณะเดียวกันการตั้ง รมต.ธนกร เป็นเสนาบดี อีกด้านหนึ่ง “บิ๊กตู่” ก็ถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากคนใน พปชร.ที่ถูกมองว่ายึดโควตาของพรรคแล้ว และไม่เห็นหัว ส.ส.เขตภาค ใต้ 14 คนของ พปชร.ที่ต้องการโควตานี้มาตลอดการเป็นนั่งร้านให้ เพื่อหวังขยายฐานอำนาจทางการเมือง
รวมทั้งยังมองว่า กลุ่มสามมิตรซึ่งเป็นต้นสังกัดของธนกรได้โควตามากเกินไปแล้ว จากเดิมมี 3 เก้าอี้ เพิ่มขึ้นเป็น 4 เก้าอี้ ทั้งที่ ส.ส.ในกลุ่มก็มีเพียง 10 กว่าคนเท่านั้น
เช่นเดียวกับฝ่ายตรงข้ามออกมาสับโดยไม่ไว้หน้า นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การปรับ ครม.ครั้งนี้ นายกฯ ได้กำไรสุดๆ ไม่ได้คนละครึ่ง เพราะตำแหน่งที่ปรับมา โดยเฉพาะตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการ ปรับมาเพื่อมาทำงานใกล้ชิดนายกฯ
ส่วนตำแหน่ง รมช.เกษตรฯ ปรับเพราะมาจากกลุ่มปากน้ำ เป็นคนในเครือข่ายเดียวกัน เหมือนเป็นการปรับเพื่อต่างตอบแทน ดังนั้นการปรับ ครม.ครั้งนี้จึงไม่ได้ตอบโจทย์และตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชน
“ตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ถือเป็นตำแหน่งสำคัญ แต่ทำไมถึงเป็นนายธนกร นั่นหมายความว่า พล.อ.ประยุทธ์ไว้ใจคนนี้ โดยเฉพาะช่วงใกล้เลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์มีงบกลางเหลือประมาณ 5 แสนล้านบาท และคนที่จะมาขับเคลื่อนตรงนี้ต้องอาศัยคนที่ไว้ใจ และเป็นไปตามความต้องการของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่แปลกที่เลือกคนคนนี้เข้ามา” นพ.ชลน่าน กล่าวปิดท้าย
การปรับ ครม.ครั้งนี้ จะเป็นอย่างที่คนการเมืองตั้งข้อสังเกตหรือไม่ การทำงานของรัฐมนตรีใหม่ป้ายแดงจะเป็นผู้ให้คำตอบ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
'ธนกร' ชี้หลัง 22 พ.ย.ประเทศก็ยังเดินหน้าต่อ!
'ธนกร' มองทุกคดีศาล รธน.ยึดตามหลักกฎหมาย เชื่อการเมืองหลัง 22 พ.ย.นี้ประเทศต้องเดินหน้าต่อ ขอทุกฝ่ายอย่าคาดเดาจนอาจก้าวล่วงอำนาจ ฝากรัฐบาลเร่งทำผลงาน
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
คปท.บุกทำเนียบฯ ยื่น นายกฯ-ครม. ค้าน ‘กิตติรัตน์’ นั่งปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ
คปท. ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี คัดค้านการเสนอชื่อนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ บอร์ดแบงก์ชาติ