วันพุธที่ 30 พ.ย.นี้ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้นัดลงมติคำร้องคดีร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีจุดสำคัญอยู่ในร่างดังกล่าวคือเรื่อง ระบบการเลือกตั้งแบบหาร 100 คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ ที่จะมีผลต่อการเมือง-การเลือกตั้งในอนาคตตามมา
คำร้องดังกล่าว กลุ่มผู้ร้องซึ่งนำโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล กับคณะเข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่าร่างดังกล่าวมีเนื้อหาขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันหรือไม่ โดยได้ยื่นให้ตีความ 2 ประเด็นคือ
1.ระบบการคิดคำนวณ ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ที่ให้ใช้ระบบ 100 หาร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 93 และ 94 หรือไม่
ซึ่งคำร้องระบุโดยสังเขปว่า ระบบหาร 100 ดังกล่าว ไม่มีเรื่องของ ส.ส.พึงมี แต่ใน 2 มาตราข้างต้นที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ให้มี ส.ส.พึงมี โดยชี้ว่า หาร 100 เป็นระบบเลือกตั้งที่ไปยกเลิกเจตนารมณ์หลักของรัฐธรรมนูญใน 3 เรื่องสำคัญคือ ส.ส.พึงมี-ทุกคะแนนเสียงที่ประชาชนใช้สิทธิ์เลือกตั้งต้องไม่ตกน้ำ-ระบบจัดสรรปันส่วนผสมจึงน่าจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
2.ให้วินิจฉัยถึงกระบวนการประชุมร่วมรัฐสภา ที่ผู้ร้องเห็นว่ามีการทำให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ฉบับของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้งของรัฐสภา พิจารณาไม่แล้วเสร็จภายใน 180 วัน
ด้วยการทำให้องค์ประชุมล่มถึง 4 ครั้งติดต่อกัน จนสุดท้ายร่างของกรรมาธิการที่ค้างการพิจารณาในวาระ 2 ของรัฐสภาที่เป็นระบบหาร 500 พิจารณาไม่ทัน จนต้องกลับไปใช้ร่างของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่เป็นหาร 100
ผู้ร้องจึงเห็นว่า การทำให้รัฐสภาองค์ประชุมล่มเป็นวิธีการที่ไม่ปกติ จะกลายเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ดีต่อการพิจารณาร่างกฎหมายของฝ่ายนิติบัญญัติและอาจขัดรัฐธรรนูญ
ต้องดูกันว่า ผลคำวินิจฉัยพุธนี้ 30 พ.ย.จะออกมาแบบไหน หาร 100 จะผ่านไปได้ หรือจะติดไฟแดง
ขณะที่ท่าทีของพรรคเล็กที่จะได้รับผลกระทบโดยตรงอย่างปฏิเสธไม่ได้ หากระบบเลือกตั้งกลับไปใช้ระบบหาร 100 โดยเฉพาะพรรคที่หวังจะได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่จะทำได้ยากขึ้น เรื่องนี้หัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็กอย่าง ศ.ดร.โกวิทย์ พวงงาม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท กล่าวถึงผลคำวินิจฉัยของศาลที่จะออกมาว่า ส.ส.ของพรรคพลังท้องถิ่นไท ได้ร่วมลงชื่อในคำร้องดังกล่าวด้วย เพราะต้องการให้เกิดความชัดเจนในข้อกฎหมาย จะได้หายข้อข้องใจ ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าสุดท้าย กติกาเลือกตั้งจะออกมาแบบไหน จะเป็นหาร 100 หรือหาร 500 แต่ว่าไปมันก็ผิดทั้งคู่ เหตุเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราก่อนหน้านี้ไม่สะเด็ดน้ำ เพราะมาตรา 93 กับ 94 ที่มีเรื่องของ ส.ส.พึงมี ยังคงมีอยู่ ไม่ได้รับการแก้ไข เพราะตอนนั้นรัฐสภาไปรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราเฉพาะของประชาธิปัตย์พรรคเดียว ซึ่งไม่ได้เสนอแก้ไขมาตรา 93 กับ 94 แต่พรรคการเมืองอื่นที่เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาด้วยพร้อมกัน เขาเสนอแก้มาตรา 93 กับ 94 มาไว้ด้วย แต่ปรากฏว่ารัฐสภาไปรับหลักการมาเฉพาะของประชาธิปัตย์ มันเลยกลายเป็นประเด็นการเมืองเกิดขึ้น
"หากสุดท้ายออกมาเป็นว่าให้ใช้กติกาเลือกตั้งแบบหาร 100 พรรคพลังท้องถิ่นไทยืนยันว่าพร้อมจะเดินหน้าต่อไป เราพร้อมยอมรับทุกกติกาที่จะใช้ เพราะเราทำการเมืองไม่ใช่เพื่อการเลือกตั้งอย่างเดียว แต่การเมืองคือเรื่องของสาธารณะ พรรคการเมืองต้องทำหน้าที่เป็นปากเสียงของประชาชน ทั้งในสภาและนอกสภา”
“หัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท” ย้ำว่า สิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำมีอยู่ 2 เรื่องคือ 1.ส่งผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งทั้งระบบเขตและบัญชีรายชื่อตามกฎหมาย เพื่อให้ประชาชนเลือกเข้ามาทำหน้าที่ในฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นปากเสียงให้ประชาชน นำนโยบายพรรคที่หาเสียงไว้ไปปฏิบัติ หากมีโอกาสได้เป็นรัฐบาล 2.พรรคการเมืองต้องสร้างพลเมือง ให้ความรู้กับประชาชน เป็นการเมืองแบบภาคพลเมือง สำหรับพรรคพลังถิ่นไท เราทำการเมืองภาคพลเมืองได้ โดยให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องการเมืองกับประชาชน ซึ่งหากสมมุติพรรคไม่ได้ ส.ส.แม้แต่คนเดียว มันไม่ใช่ว่าพรรคจะสลายไป แต่พรรคต้องทำหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์ประเทศชาติและประชาชน ซึ่งหลังผมได้รับเลือกเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาให้เป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ ผมได้ประกาศเลยว่า พรรคจะต้องทำเรื่องการเมืองภาคพลเมืองให้เกิดขึ้น เช่น อาจจะทำโรงเรียนการเมืองของภาคพลเมืองในนามของพรรคพลังท้องถิ่นไท เพื่อให้ประชาชนได้เข้าใจเรื่องการกระจายอำนาจ เรื่องท้องถิ่น การเมืองของประเทศชาติ ให้เขาตระหนักในความเป็นชาติบ้านเมือง แบบนี้คือหน้าที่ซึ่งพรรคการเมืองต้องทำ
ศ.ดร.โกวิทย์ กล่าวอีกว่า สุดท้ายแล้วไม่ว่ากติกาเลือกตั้ง ส.ส.จะออกมาแบบไหน จะเป็นหาร 100 หรือหาร 500 มันไม่สำคัญ เพราะหากพรรคการเมืองเข้าถึงประชาชน ทำให้ประชาชนสนใจนโยบายของพรรค ผมว่าเขาเลือกเรา เพียงแต่ว่าตอนนี้ที่คนเขากลัวกัน เพราะการเมืองปัจจุบันมันไม่ใช่การเมืองแบบดั้งเดิมที่ใช้เสียงประชาชนแบบบริสุทธิ์มาลงคะแนนเสียง ซึ่งพรรคขนาดเล็ก พรรคที่มีทุนน้อยเรากลัวธุรกิจการเมือง อย่างเขตหนึ่งบอกว่าต้องใช้เงินในการเลือกตั้ง 30-40 ล้านบาท พูดกันให้แซ่ดเลย แล้วทุนพวกนี้เอามาจากไหน พรรคเล็กก็กลัว เพราะไม่มีทุน เราสู้ทุนพรรคใหญ่ไม่ได้ เราสู้ธุรกิจการเมืองใหญ่ไม่ได้ อย่างพลังท้องถิ่นไทไม่มีเงินที่จะไปสู้พรรคใหญ่ ซึ่งหากออกมาเป็นหาร 100 ก็ต้องได้คะแนนมากขึ้นจากเดิม ส่วนหากออกมาเป็นหาร 500 ใช้เสียงน้อยลง ก็มีจุดดี แต่ต้องดูว่าหากใช้แล้วจะให้มี ส.ส.พึงมีไว้แบบเดิมหรือไม่ เพราะในรัฐธรรมนูญก็ยังมีเรื่อง ส.ส.พึงมีอยู่ คิดว่าหากออกมาเป็นหาร 500 แล้วมีเรื่อง ส.ส.พึงมี พรรคใหญ่ก็ไม่ยอม ก็ต้องโวยวาย เพราะทำให้ไม่ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลย หากได้ ส.ส.เขตเยอะ จะเห็นได้ว่ากลัวกันคนละแบบระหว่างพรรคใหญ่กับพรรคเล็ก
…ยืนยันว่าในฐานะหัวหน้าพรรคพลังท้องถิ่นไท เราสู้ทุกรูปแบบ เราต้องทำการเมืองให้ไม่ไปตามกระแส ซึ่งกระแสที่บอกก็อย่างเช่น การคิดว่าจะลงเลือกตั้งต้องมีทุน ต้องมีเงินใช้ในการหาเสียง ซึ่งวิธีแบบนี้เราไม่เอาด้วย แต่ผมอยากทำการเมืองทวนกระแส เช่น เราต้องขายนโยบายกับประชาชน เช่น เรื่องกระจายอำนาจ นโยบายสร้างรายได้ใหม่ให้กับประเทศ ต้องเป็นการเมืองที่ไม่ใช่ธุรกิจการเมืองไปเกี่ยวข้อง แต่ต้องทำการเมืองแนวใหม่ การเมืองวิถีใหม่ แบบการเมืองภาคพลเมือง เพื่อให้พลเมืองใหญ่กว่านักการเมือง
นั่นคือท่าทีของหัวหน้าพรรคการเมืองขนาดเล็ก ในวันที่กำลังรอลุ้นผลคำวินิจฉัยของศาล รธน.พุธที่ 30 พ.ย. ที่สรุปได้ว่า ถึงต่อให้ออกมาเป็นหาร 100 พรรคเล็กก็ไม่หวั่น ขอสู้ตาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี