5 ปมร้อนการเมืองหลังจบเอเปก เส้นทาง “บิ๊กตู่” อีกนานกว่าจะชัด

ผ่านไปแล้วอย่างเรียบร้อยและยิ่งใหญ่สำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก เมื่อวันเสาร์ที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมา

เห็นได้ชัด ประเทศไทยได้ใช้เวทีเอเปกโปรโมตสร้างชื่อเสียงให้ประเทศในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยว-เรื่องของการเป็นประเทศที่มี Soft Power ที่หลากหลาย-การแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมในการเป็น MICE City หรือเมืองแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ ที่หลังจากนี้น่าจะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ ของโลก หากจะมีการจัดกิจกรรมการประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติ

ทั้งหมดคือความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งชาติ ที่ก็ต้องยอมรับว่า เครดิตเรื่องนี้ยังไงรัฐบาลปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ได้ไปเต็มๆ ในฐานะรัฐบาลที่จัดการประชุมเอเปก

เมื่อเอเปกจบไปแล้ว หลังจากนี้โหมดการเมืองเริ่มกลับมาเข้าสู่สภาวะปกติอีกครั้ง โดยประเด็นร้อนทางการเมืองที่ต้องติดตามต่อจากนี้ เบื้องต้นพบว่ามี 5 เรื่องสำคัญที่ต้องจับตา ประกอบด้วย

1.การตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของพลเอกประยุทธ์

ประเมินว่า แม้ก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์จะส่งสัญญาณทางการเมืองทำนองว่า รอให้ผ่านเอเปกก่อนถึงจะให้ความชัดเจนและพูดคุยเรื่องการเมือง

 ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พลเอกประยุทธ์เลือกที่จะเดินต่อทางการเมืองแน่นอน เพียงแต่จะอยู่บนเส้นทางไหน ระหว่าง อยู่ที่ พลังประชารัฐ เพื่อให้ 3 ป. ผนึกกำลังกันเหนียวแน่น หรือเลือกที่จะไป รวมไทยสร้างชาติ เพื่อสร้างฐานที่มั่นการเมืองของตัวเองที่เป็นบ้านหลังใหม่ เพราะอึดอัดใจที่จะอยู่พลังประชารัฐ ซึ่งต้องอยู่ใต้เงาของ พี่ป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ต่อไปเรื่อยๆ รวมถึงเพื่อเดินตามยุทธศาสตร์ แยกกันเดิน รวมกันหลังเลือกตั้ง ของ 3 ป.

กระนั้นประเมินแล้วคาดได้ว่า ถึงจบเอเปกมา พลเอกประยุทธ์คงไม่รีบประกาศการตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของตัวเองทันที เพราะเหลือเวลาพอสมควรให้ตัดสินใจ โดยอาจขอรอดูไทม์มิ่งการเมืองอีกสักระยะเพื่อพิจารณาองค์ประกอบต่างๆ เช่น ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ว่าด้วยสูตรหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ ในวันที่ 30 พ.ย.นี้

ทุกปัจจัยชี้ชัด การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ว่าจะเลือกเดินต่อไปบนเส้นทางทางการเมืองแบบไหน จะส่งผลต่อบริบทการเมืองโดยรวมตามมา เช่น การตัดสินใจว่าจะยุบสภาฯ ในช่วงใด หรือสุดท้ายจะดันให้รัฐบาลอยู่ครบวาระ 4 ปี เพื่อไปเลือกตั้ง 7 พ.ค.2566 ซึ่งหากใช้สูตรนี้ เรื่องการสังกัดพรรคการเมือง 90 วัน จนถึงวันเลือกตั้ง ตามกฎหมายเลือกตั้งจะขยับไปที่เส้นตาย 7 ก.พ.2566

2.การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคำร้องคดีร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมือง

ที่พลเอกสมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภาพร้อมคณะรวม 77 คน เข้าชื่อกันยื่นคำร้องให้ศาลวินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองที่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลได้นัดอ่านคำวินิจฉัยวันพุธนี้ 23 พ.ย.

สำหรับประเด็นที่ยื่นคำร้องให้ตีความมีทั้งสิ้น 3 ประเด็นคือ 1.กรณีมีการแก้ไขเกี่ยวกับอัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองที่เรียกเก็บจากสมาชิก 2.การลดคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ที่เดิมกำหนดห้ามบุคคลที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรค แต่ร่าง พ.ร.บพรรคการเมืองไปแก้ไขให้บุคคลที่มีมลทินสามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรคได้ จึงเห็นว่าน่าจะขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญที่ป้องกันผู้ที่มีมลทินเข้าสู่การเมือง 3.กรณีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์การเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. หรือไพรมารีโหวตของพรรคการเมือง

3.คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญต่อร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ในเรื่องสูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์ 100 หาร

อันเป็นคำร้องที่ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.พรรคพลังธรรมใหม่กับพวกรวม 106 คน เข้าชื่อกันยื่นคำร้อง ที่ศาลนัดอ่านคำวินิจฉัย 30 พ.ย.

โดยประเด็นที่ยื่นคำร้องไปมี 2 ประเด็นคือ ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า ระบบการคิดคำนวณ ส.ส.ด้วยการหาร 100 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ และกระบวนการตราร่างกฎหมายฉบับนี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยคำร้องยกประเด็นว่า มีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค มีการถ่วงเวลา ทำให้การประชุมรัฐสภาล่มถึง 4 ครั้ง อันหมายถึงไม่ใช่การมุ่งมั่นตั้งใจกระทำการตามกระบวนการกฎหมาย

ผลคำวินิจฉัยที่ออกมา หากสุดท้ายศาลไฟเขียวทั้งร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองและร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง พลเอกประยุทธ์ก็เตรียมนำร่างฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป โดยหากมีการประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมือง-กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. ก็เท่ากับมีกฎหมายรองรับสำหรับการเลือกตั้ง ทำให้พลเอกประยุทธ์สามารถ ยุบสภาฯ ได้ตลอดเวลา

และแน่นอนว่าหากสุดท้ายกฎหมายทั้ง 2 ฉบับผ่านจากศาลรัฐธรรมนูญมาได้ โดยเฉพาะหากหาร 100 ปาร์ตี้ลิสต์ฉลุย

จะเกิดความเคลื่อนไหวทางการเมืองต่างๆ ตามมาทันที เช่น อาจได้เห็นการ เจรจา-ควบรวมพรรค ของพรรคการเมืองขนาดกลาง-เล็ก พรรคตั้งใหม่ ที่ไปต่อไม่ไหวหากใช้ 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่คืบ เหตุก็เพราะรอเรื่องนี้อยู่ แต่หากกติกาเลือกตั้งชัดแล้ว คงทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้นทันที เป็นต้น

ทว่าหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด เช่น ศาลชี้ว่าเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับ หรือฉบับใดฉบับหนึ่งมีปัญหา ขึ้นมา คราวนี้ก็ยุ่งแน่ ต้องมาดูว่ารัฐสภาจะหาทางออกอย่างไรในการไปปรับปรุงเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ให้สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ทันกับช่วงเวลาที่สภาฯ ชุดนี้เหลือเวลาการทำงานอีกแค่ประมาณ 3 เดือนกว่า ก็จะปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.2566

4.การปรับคณะรัฐมนตรีรอบสุดท้าย

ซึ่งหากสุดท้าย พลเอกประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐและผู้จัดการรัฐบาล ไม่ส่งชื่อคนในพลังประชารัฐให้พลเอกประยุทธ์เป็นรัฐมนตรีแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ 2 ตำแหน่งตอนนี้ ก็จะทำให้การปรับ ครม.รอบสุดท้าย พลเอกประยุทธ์คงแค่เสนอชื่อ นริศ ขำนุรักษ์ ส.ส.พัทลุง ประชาธิปัตย์ เป็น รมช.มหาดไทยคนใหม่ ตามมติพรรค ปชป.ที่ส่งชื่อมาให้พลเอกประยุทธ์ตั้งแต่ 12 ต.ค. ที่ถึงขณะนี้ก็ผ่านไปเดือนเศษแล้ว โดยหากช้าไปกว่านี้ ประชาธิปัตย์คงมีเคืองแน่นอน

5.ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ระเบิดเวลาพรรคร่วมรัฐบาล

ที่พบว่า วิปรัฐบาลกำหนดให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่มีพรรคภูมิใจไทยเป็นโต้โผใหญ่ เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ 7 ธ.ค. โดยพบว่า แกนนำ-ส.ส.ของทั้งภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ยังคงเปิดศึกวิวาทะเรื่องนี้กันอย่างดุเดือด แบบไม่มีใครยอมใคร โดยประชาธิปัตย์สร้างกระแสว่า หากกฎหมายนี้ผ่าน จะทำให้เกิดกัญชาเสรีสุดขั้ว แต่ภูมิใจไทยโต้ว่า ตอนนี้มันเสรีอยู่ แต่หากยิ่งไม่มีกฎหมายกัญชาออกมาควบคุม จะยิ่งทำให้กัญชาเสรีสุดขั้วของจริง และอัดว่าเรื่องนี้เป็นเกมการเมืองของประชาธิปัตย์ที่ต้องการเตะตัดขาภูมิใจไทย เพราะไม่อยากให้พรรคมีผลงานไปหาเสียง ทำให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จึงเป็นระเบิดเวลาของพรรคร่วมรัฐบาลที่คงร้อนแรงแน่ ยามเมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ

ทั้งหมดคือ 5 เรื่องสำคัญทางการเมืองที่ต้องติดตามกันหลังจากรูดม่านปิดฉากการประชุมเอเปกไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง