17 พ.ย.โหวตร่างแก้ไข รธน. หลังจบแมตช์เดือดปิยบุตรVSส.ว.

วันพุธที่ 17 พ.ย.นี้ ที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะลงมติวาระแรกว่าจะ รับหลักการ-ไม่รับหลักการ ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน หลังที่ประชุมร่วมรัฐสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีการอภิปรายถกเถียง-ดีเบต-เห็นด้วย-คัดค้าน เนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวตลอดทั้งวันอังคารที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา

ซึ่งบางช่วงบางตอนของการอภิปรายที่มีทั้งสนับสนุนและคัดค้านร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว ก็เป็นไปตามความคาดหมาย ที่มีสมาชิกรัฐสภาบางส่วนโดยเฉพาะ ส.ว. อย่างนาย กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ที่มีการปะทะฝีปาก-เชือดเฉือนคารมกับแกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น ที่เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวล่ารายชื่อประชาชน อย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า-อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ อย่างดุเดือด-เผ็ดร้อน จนเกิดวิวาทะทำเอาห้องประชุมรัฐสภาร้อนระอุ ไม่ว่าจะเป็น เนรคุณแผ่นดิน-ล้มล้างสถาบันฯ-ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ที่ก็ไม่ผิดความคาดหมายอยู่แล้ว ที่จะเห็นซีนดังกล่าว เพราะรู้กันดีว่า แนวทางการเมืองของแกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น อย่าง ปิยบุตร-พริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม และชลธิชา แจ้งเร็ว อยู่คนละขั้วกับกลุ่ม ส.ว.ชุดปัจจุบันและพรรคร่วมรัฐบาลโดยเฉพาะพลังประชารัฐอยู่แล้ว จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องการเชือดเฉือนคารมจนทำให้การประชุมร่วมรัฐสภา เรื่องการแก้ไข รธน.รอบนี้ มีสีสัน เข้มข้น และอัดแน่นด้วยข้อมูล ความเห็นเชิงรัฐศาสตร์-นิติศาสตร์ ที่น่าสนใจในหลายแง่มุม

อย่างไรก็ตาม มีการประเมินกันตั้งแต่ก่อนที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาแล้วว่า โอกาสที่ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว ที่มีเนื้อหา

ล้ม-โละ-เลิก-ล้างระบอบประยุทธ์

และโครงสร้างอำนาจต่างๆ เช่น วุฒิสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ ไม่น่าจะไปไกลเกินกว่าแค่ได้เสนอต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวาระแรก เพราะด้วยเนื้อหาในร่างแก้ไข รธน.หลายประเด็น โดยเฉพาะที่พุ่งเป้าตรงไปที่การเสนอให้ประเทศไทยใช้ระบบ สภาเดี่ยว คือมีแต่สภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีวุฒิสภา ที่ก็คือการ ล้มกระดานสภาสูง ทั้งหมด ทำให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันต้องพ้นสภาพ ไม่มีสถานะเป็นส.ว.ผู้ทรงเกียรติอีกต่อไป

จึงเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายแม้แต่คนในกลุ่มรีโซลูชั่นก็รู้ดีว่า ทำให้โอกาสที่จะเกิดแรงต้านในกลุ่ม ส.ว.ย่อมมีสูง เพราะส.ว.คงไม่โหวตรับร่างแก้ไข รธน.ที่ทำให้ตัวเองพ้นสภาพไป  ดังนั้น ด้วยเงื่อนไขของการแก้ไข รธน.ที่นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งจากสมาชิกรัฐสภาที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่แล้ว ในเสียงเห็นชอบดังกล่าว ยังต้องได้เสียง ส.ว.ลงมติด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 84 เสียง จึงเป็นเรื่องที่ยากในการเข็นให้ได้ไปต่อในวาระสองและวาระสาม

ยิ่งเมื่อได้ยินได้ฟังเนื้อหาการอภิปรายทักท้วงร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว จาก ส.ว.ร่วมยี่สิบคนที่อภิปรายตลอดทั้งวัน   โดยเน้นไปที่การอภิปรายท้วงติงข้อเสีย-จุดอ่อนของร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว ทั้งเรื่องผลเสียของข้อเสนอให้ฝ่ายนิติบัญญัติประเทศไทยใช้ระบบสภาเดี่ยว ไม่ต้องมีสภาพี่เลี้ยงอย่างวุฒิสภาอีกต่อไป-การไม่เห็นด้วยกับโครงสร้างและกระบวนการคัดเลือกตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและกรรมการองค์กรอิสระ-การยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ-การอภิปรายว่าผู้ทำพิมพ์เขียวร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว มีความแค้นส่วนตัวทางการเมืองกับกลุ่มองค์กรที่ถูกเสนอให้ ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเคยถูกตัดสินคดียุบพรรคและโดนตัดสิทธิการเมืองสิบปี เป็นต้น

หลังหลายคนเห็นท่าที-การอภิปรายของ ส.ว. ในห้องประชุม ต่างจับสัญญาณการเมืองไปในทางเดียวกันว่า โอกาส ส.ว.จะคว่่ำร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจึงมีสูง

จนดูแล้ว เรื่องว่า ส.ว.คนไหนจะงดออกเสียงหรือจะลงมติไม่รับหลักการ ไม่น่าสนใจเท่าไหร่แล้ว แต่ที่น่าสนใจกว่าคือ จะมี ส.ว.คนไหน ลงมติรับหลักการหรือไม่ ที่หากมีก็อาจทำให้ ส.ว.คนดังกล่าว ถูกเพื่อน ส.ว.ด้วยกันเองมีอาการตึงๆ เข้าใส่แน่นอน ส่วนจะมีหรือไม่ และจะเป็นใคร ก็ต้องรอลุ้น หรือสุดท้าย ส.ว.ทั้งหมด จะไม่มีใครแตกแถวเลยสักคนเดียว ให้รอดูการขานชื่อลงมติรายบุคคลกันต่อไป  

แม้ก่อนเริ่มประชุมปิยบุตรและคณะจะไปแถลงข่าวดักทาง ส.ว.ไว้ก่อนแล้วว่า ควรเปิดใจกว้างลงมติรับหลักการร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว

"สำหรับ ส.ว. เข้าใจดีว่าอาจเป็นเรื่องยากลำบากที่จะโหวตเห็นชอบในชั้นรับหลักการได้ แต่เชื่อว่าคงมี ส.ว.ที่ตระหนักถึงประโยชน์ประเทศชาติ ประชาชนเป็นหลัก และ ส.ว.ดำรงตำแหน่งอย่างไม่ถูกต้องชอบธรรมมานานแล้ว บางคนเป็นมาตั้งแต่รัฐประหาร 2549 ถ้า ส.ว.ต้องการมีบทบาททางการเมืองต่อไป เรามีสนามทางการเมืองหลายสนาม รวมถึงการดำรงตำแหน่งในองค์กรต่างๆ ในอนาคต ในเมื่อที่มาของคุณไม่ชอบธรรม

ส.ว.ต้องเสียสละลงมติยุบ ส.ว.ทิ้งไป เข้ามาสู่ระบบปกติ อย่าปล่อยให้ ส.ว.แบบนี้ดำรงอยู่ต่อไป หลายคนบอกว่ายาก แต่ตนยังหวัง ถ้าประชาชนช่วยกันส่งเสียง อย่างน้อย ส.ว.ต้องฟัง ให้สมกับที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่า ส.ว.เป็นหนึ่งในผู้แทนของปวงชนชาวไทย” แกนนำกลุ่มรีโซลูชั่น ปิยบุตรแถลงไว้นอกห้องประชุมรัฐสภา

เช่นเดียวกันกับต้องจับตาดูว่า ท่าทีของพรรคร่วมรัฐบาล จะมีการลงมติในร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้อย่างไร หลังพรรคร่วมฝ่ายค้านผนึกกำลังแน่น ประกาศจะลงมติรับหลักการร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน

โดยในส่วนของบางพรรคเช่น พลังประชารัฐ มีการคาดหมายกันว่า เสียงน่าจะออกมาในทางเดียวกัน ไม่น่ามีแตกแถว หลังแกนนำออกมาทักท้วงไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในร่างแก้ไข รธน.หลายคน แม้จะพบว่ามี ส.ส.พลังประชารัฐบางคนเช่น วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ อภิปรายในเชิงสนับสนุนให้มีการรื้อ-ทบทวนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญตามร่างที่เสนอมา แต่ไม่เห็นด้วยกับระบบสภาเดี่ยว และการยกเลิกมาตรา 279 ที่นิรโทษกรรมคณะ คสช.

ผลการลงมติออกเสียงของสมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.-ส.ว.ในวันที่ 17 พ.ย. จะออกมาแบบไหน จะมีใครลงมติแบบเซอร์ไพรส์หรือไม่ เป็นเรื่องน่าสนใจ แม้แวดวงการเมืองจะประเมินว่า เส้นทางร่างแก้ไข รธน.ฉบับดังกล่าวอาจฝ่าด่านสกัดลำบาก.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี

สวมบท'อินฟลูอาเซียน' จุดเสี่ยงใช้ประเทศเดิมพัน?

ยืนยันชัดเจนจาก นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย หลังโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Anwar Ibrahim พร้อมรูปภาพคู่กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี