ผ่านพ้นไปแล้วกับการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ที่ประเทศไทยได้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ การลงทุน ผ่านโมเดล BCG และโชว์ศักยภาพของประเทศจัดประชุมหลังสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะนำเสนอซอฟต์เพาเวอร์ทางด้านอาหาร วัฒนธรรม และการท่องเที่ยวให้ทั่วโลกรู้จัก
"บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม โกยแต้มความสำเร็จจากเวทีอินเตอร์ ก่อนส่งสัญญาณทางการเมืองในประเทศที่กำลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอย่างช้าจะเกิดขึ้นไม่เกินวันที่ 7 พ.ค.2566 ที่หลายฝ่ายรอความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร
“บิ๊กตู่” จะเดินหน้าทางการเมืองต่อไปโดยมีข้อจำกัดครองอำนาจไปถึงปี 2568 หรือหยุดเพียงแค่นี้หลังจากอยู่ในอำนาจ 8 ปี
โดยคนการเมืองต่างฟันธงกันล่วงหน้าว่า "พล.อ.ประยุทธ์" มีโอกาสไปต่ออย่างแน่นอน แต่จะไปในเส้นทางไหนกันแน่
ระหว่างอยู่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี "บิ๊กป้อม" พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรค พปชร. หรือจะแยกตัวไปพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกฯ เป็นหัวหน้าพรรค
ท่ามกลางทฤษฎี แยกกันเดินร่วมกันตี เพื่อรักษาระบอบ 3 ป.เอาไว้ให้ยาวนานที่สุด มิใช่แตกกันจริง ดังที่ฝ่ายตรงข้ามพยายามเสี้ยม และลดทอนกำลังของผู้มีอำนาจ
ฉะนั้นหากสมมุติว่า 2 ป.เดินตามแผน “แยกกันเดินร่วมกันตีจริง” ผลประโยชน์จะเกิดขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร ได้โชว์ศักยภาพทางการเมืองของตัวเองแบบแท้ๆ และชัดๆ
รวมทั้งเป็นการแบ่งแยกมิให้คนข้างกายทั้ง 2 ลุงไม่ต้องเผชิญหน้ากัน หลังมีความขัดแย้งกันเป็นระยะ และส่งสัญญาณให้สภา ส.ว.250 เสียง ที่เลือกนายกฯ ในปีสุดท้ายจะได้ออกเสียงอย่างมีเอกภาพ
ทั้งนี้ มองกันว่าหาก พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจย้ายไป รทสช.จริง จะมีนักการเมืองจากพรรค พปชร.และพรรค ปชป. สายอดีต กปปส.ไหลตามมา
เพราะเชื่อว่าเป็นจุดขายของฝ่ายอนุรักษนิยม ต้านระบอบทักษิณ และพรรคก้าวไกล ที่ชูแก้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และยังมีกระแสในพื้นที่ภาคใต้ จากผลสำรวจอย่างเช่นนิด้าโพล เป็นต้น
ไม่นับกระสุนและอำนาจรัฐ นโยบายต่างๆ จะไหลตามมาช่วยเหลือ กระทั่งคาดกันว่าจะมี ส.ส.เกิน 25 เสียงอย่างแน่นอนเพื่อเสนอชื่อนายกฯ ในรัฐสภา
ทั้งนี้เมื่อสแกนกองหนุนนายกฯ พบว่าในส่วนของ พปชร.อาจมี กลุ่มบ้านใหม่ชลบุรี ของนายสุชาติ ชมกลิ่น พร้อม ส.ส.อยู่ในมือประมาณ 10 คนกระจายอยู่ในชลบุรี ฉะเชิงเทรา ระยอง จันทบุรี เพชรบุรี และกาญจนบุรี และ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาชาติ
เพราะไม่สามารถอยู่บ้านหลังเดิมได้หลังถูกแทงข้างหลัง เมื่อกลุ่มปากน้ำโหวตสวนในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่ในเวลาต่อมา "บิ๊กป้อม" ลงพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ พร้อมจะมอบโควตารัฐมนตรีให้ทั้งที่ ส.ส.แหกมติพรรคอีกด้วย
ถัดมาคือ กลุ่มบางระจัน โดยนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดีอีเอส เป็นแกนนำ ที่ใกล้ชิดลุงตู่ แต่เจ้าตัวยังแทงกั๊กว่า “ขออยู่กับ 3 ป."
รวมทั้งในส่วนของนายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม ก็ตามนายกฯ ไปด้วย เพราะมีข่าวแยกกันเดินกับกลุ่มบ้านใหญ่ชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม ที่มีแนวโน้มออกจากระบอบ 3 ป.ไปแล้ว
ยังมี ส.ส.ภาคใต้หน้าใหม่ 13 คน ที่ครั้งก่อนเป็นผู้แทนฯ เพราะขี่กระแส พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งตามข่าวหลายคนก็จะย้ายตามไปด้วยหากนายกฯ เคลียร์พื้นที่เขตให้ โดยไม่ทับซ้อนกับคนใน รทสช. ควบคู่ดูแลท่อน้ำเลี้ยง ลักษณะเดียวกับ “บิ๊กป้อม” เมื่ออยู่ค่าย พปชร.
ขณะที่คนจาก ปชป.คาดว่าจะย้ายตามมาล่าสุด น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล ส.ส.นครศรีธรรมราช ได้แจ้งลาออกจาก ปชป., นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่มีความสนิทสนมส่วนตัวกับนายพีระพันธุ์, น.ส.รังสิมา รอดรัศมี ส.ส.สมุทรสงคราม และอดีตแนวร่วม กปปส. รวมถึงนายสมบูรณ์ อุทัยเวียนกุล เลขานุการประธานสภาผู้แทนราษฎร และอดีต ส.ส.ตรัง
อีกทั้ง พ.ท.สินธพ แก้วพิจิตร ส.ส.นครปฐม เป็นอีกรายหนึ่งที่จะย้ายไป รทสช.ด้วย เนื่องจากมี “บิ๊กทหาร” เป็นคนเชื่อมประสาน, น.ส.วชิราภรณ์ กาญจนะ ส.ส.สุราษฎร์ธานี ลูกสาวนายชุมพล กาญจนะ อดีต ส.ส. และแกนนำพรรค ปชป.
ผนึกกำลังกับอดีต ส.ส.ปชป.ที่ย้ายมาก่อนหน้าแล้วคือ กลุ่มบ้านใหญ่ เช่น “ลูกหมี” นายชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร, นายวิทยา แก้วภราดัย และนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ที่ปรึกษานายกฯ ที่สุดทนกับผู้บริหารพรรค ปชป. โดยมีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ กำกับการเมืองอยู่เบื้องหลัง
กลับมาที่พรรค พปชร. แม้ไม่มี "บิ๊กตู่" ในเรื่องกระแส แต่อีกมุมหนึ่งก็ปลดล็อกข้อจำกัดเรื่องแบ่งขั้วการเมือง ทำให้สามารถจับกับทุกขั้วการเมืองได้ ไม่เว้นแม้แต่พรรคเพื่อไทย ที่มีเงื่อนไขเดียวคือไม่ร่วมมือกับ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อพาทักษิณกลับบ้านโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม
อีกทั้งบรรดาลูกพรรค พปชร.ก็จะได้โอกาสชู "บิ๊กป้อม" ขึ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ สมใจ โดยจะมุ่งเน้นคะแนน ส.ส.ระบอบเขตเป็นสำคัญ โดยอาศัยคะแนนจาก ส.ส.กลุ่มบ้านใหญ่ เป็นเป้าหมายหลัก
อาทิ กลุ่มสามมิตร นำโดยนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม, นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม และนายอนุชา นาคาศัย รมต.ประจำสำนักนายกฯ ที่มีฐานเสียงในจังหวัดสุโขทัย พิษณุโลก ชัยนาท ราชบุรี ฯลฯ
แม้เบื้องแรกจะถูกมองว่าเลือกข้างลุงตู่ แต่ด้วยความจัดเจนของ “เจ้าพ่อไก่ชน” คงไม่ตัดสินใจง่ายๆ อาจจะเลือกอยู่พรรค พปชร.ต่อไปก็เป็นได้ เพราะมีโอกาสเป็นรัฐบาลสูง ไม่ต้องเสี่ยงโยนหัวโยนก้อนหากย้ายไปอยู่ รทสช. ที่หากแพ้ก็เป็นฝ่ายค้านอย่างเดียว เว้นแต่ “บิ๊กป้อม” ดึง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า กลับมา พปชร. ทำให้บีบไปอยู่พรรคอื่น
นอกจากนี้ยังมี กลุ่มบ้านรัตนเศรษฐ ในโคราช ของนายวิรัช รัตนเศรษฐ, กลุ่มสระแก้ว นำโดย น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ, กลุ่มเพชรบูรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ รมช.คลัง, กลุ่มหิมาลัย, กลุ่มปากน้ำโพ, กลุ่มกำแพงเพชร ของนายวราเทพ รัตนากร และกลุ่มปากน้ำ ที่หัวหน้ากลุ่มเพิ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด เท่ากับล่ามโซ่ไว้อยู่กับ พปชร. เป็นต้น
นักวิเคราะห์ประเมินว่าหากผลเลือกตั้งออก ทั้ง พปชร.และ รทสช.ได้ ส.ส.ตามเป้าหมาย ก็มาจับมือกันเป็นรัฐบาลหลังเลือกตั้งได้เกิน 250 เสียง โดยดูว่า “บิ๊กตู่” และ “บิ๊กป้อม” ใครมีคะแนนสูงกว่ากัน ประกอบกับได้ ส.ส.เกิน 25 เสียงหรือไม่
จากนั้นจำเป็นต้องตกลงกันว่าใครจะเป็นนายกฯ หรือจะใช้สูตรนายกฯ คนละครึ่ง โดยมีพรรคร่วมรัฐบาลเดิม อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคชาติไทยพัฒนา ฯลฯ และ ส.ว.250 เสียงเป็นนั่งร้านไปสู่เป้าหมายในช่วงที่ยังมีอำนาจประคองระบอบ 3 ป.ได้ในการเลือกตั้งเที่ยวหน้า
ผศ.ดร.สุวิชา เป้าอารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพล ประเมินว่า ถ้าให้แนะนำ พล.อ.ประยุทธ์ควรออกจาก พปชร. ถ้าต้องการกลับมาเป็นนายกฯ แน่นอนให้มาอยู่พรรคใหม่ อย่าลืมว่าหลังเลือกตั้งปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์เคยมีคะแนนนิยมอยู่ที่ประมาณ 36% ตอนนี้หายไปกว่า 20% การไปอยู่พรรคใหม่ก็อยู่ด้วยความหวังว่าจะได้คะแนนที่ยังอยู่ตามมา และคะแนนที่หายจะตามมาด้วยบางส่วน จากนั้นก็ไปเน้นตัว ส.ส.เขต ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์มีแรงแม่เหล็กดูด ส.ส.ที่มีประสิทธิภาพเข้าพรรคได้
"ในขณะเดียวกัน หากนายกฯ ย้ายไปรวมกับรวมไทยสร้างชาติ พปชร.จะเป็นพรรคที่การันตีการเป็นรัฐบาลอย่างแน่นอน ไม่ว่ากับฝั่งไหน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ออกไปแล้ว ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเดิมชนะก็ร่วมรัฐบาลเดิมได้ หากฝั่งรัฐบาลเดิมไม่ชนะ เงื่อนไขของการเอาบิ๊กตู่ออกก็เรียบร้อยแล้ว สามารถไปจับมือพรรคเพื่อไทยจัดตั้งรัฐบาลได้" ผู้อำนวยการศูนย์สำรวจความคิดเห็นนิด้าโพลวิเคราะห์ไว้
หากเป็นไปตามสูตรนี้ พี่น้อง 2 ป.ถือว่าได้มากกว่าเสีย หากท้ายสุด รทสช.แพ้เลือกตั้งและไม่เป็นไปตามแผน ยังเหลือ พปชร.ที่มี พล.อ.ประวิตรได้เป็นรัฐบาลดูแล น้องเล็กไม่ต้องถูกกัดเมื่อลงจากหลังเสือ และยังเป็นตัวแทนของระบอบ 3 ป.สืบทอดอำนาจต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน