การเคลื่อนไหวของ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ ในการจะผลักดันให้สภาฯ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่ใช้ชื่อเต็มว่า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน พ.ศ. ....” ที่มีเนื้อหาคือ “นิรโทษกรรมแก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน”
โดยให้นับตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 ที่ก็คือวันที่ คมช.ทำรัฐประหาร รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 ให้ไม่เป็นความผิดทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อไป และให้ผู้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง
และเพื่อไม่ให้เกิดแรงต้านว่าเป็นการจะออกกฎหมายเพื่อช่วยเหลือหรือล้างผิดให้ใคร หรือคนกลุ่มไหน ในร่างดังกล่าวก็มีการระบุไว้ว่า “การนิรโทษกรรมดังกล่าว ไม่รวมถึงการกระทำใดๆ ที่เป็นความผิดจาก (1) การทุจริต คอร์รัปชัน (2) ความผิดทางอาญาที่รุนแรง (3) ความผิดตามมาตรา 112”
การเคลื่อนไหวครั้งนี้จริงๆ แล้ว นพ.ระวี ไม่ได้เพิ่งคิดทำเอาตอนการประชุมสภาฯ เทอมสุดท้าย แต่พบว่ามีการคิดและริเริ่มจะผลักดันเรื่องนี้มาร่วมปีแล้ว ข่าวว่าตัว นพ.ระวีมีการไปคุยและนำร่างนิรโทษกรรมต้นแบบฉบับพิมพ์เขียว ไปคุยกับบุคคลหลายกลุ่ม ไม่เว้นแม้แต่ผู้นำรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ไปคุยด้วยตัวเอง เพื่อต้องการทราบท่าทีของนายกฯ และต้องการให้ส่งสัญญาณสนับสนุนการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ตอนที่พลเอกประยุทธ์มาประชุมที่สภาฯ โดยคุยกันที่ห้องรับรองนายกฯ 1-2 รอบ
สายข่าวบอกว่า การพูดคุยดังกล่าว พลเอกประยุทธ์ บอกกับหมอระวีว่า “ยังไม่อยากให้ทำเรื่องนี้ เพราะไทม์มิ่งไม่เอื้อ โดยเฉพาะตอนคุยกันรอบสุดท้าย พลเอกประยุทธ์บอกกับหมอระวีว่า หากจะทำเรื่องนี้จริง ก็ขอให้การเมืองนิ่งๆ อยากให้ผ่านพ้นการตัดสินคดี 8 ปีของพลเอกประยุทธ์ในชั้นศาลรัฐธรรมนูญไปก่อนแล้วค่อยมาว่ากัน”
ทำให้ช่วงก่อนหน้านี้ นพ.ระวีจึงไม่ได้ขยับอะไร จนมาตอนนี้เมื่อเข้าสู่สภาเทอมสุดท้าย ที่เหลือเวลาอีกไม่ถึง 4 เดือน ทำให้ นพ.ระวีเห็นว่า หากไม่ขยับ ไม่เช็กกระแสสังคมว่าหนุนหรือต้าน สุดท้ายร่างที่เขียนไว้ก็คงถูกเก็บเข้าลิ้นชักจนฝุ่นจับ เลยทำให้ช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เลยออกมาเปิดประเด็นเรื่องนี้เพื่อเช็กกระแสสังคมและท่าทีของกลุ่มต่างๆ
สายข่าวบอกว่า ก่อนหน้านี้ นพ.ระวีได้มีการเดินสายไปพบปะพูดคุยกับคนหลายกลุ่ม ทั้งนักการเมืองฝ่ายค้านและรัฐบาล-สมาชิกวุฒิสภา-นักวิชาการ-นักเคลื่อนไหวการเมือง-อดีตแกนนำและแนวร่วมกลุ่มต่างๆ เช่น อดีตแกนนำพันธมิตรฯ อดีตแกนนำเสื้อแดง อดีตแกนนำ กปปส. โดยมีทั้งเสียงเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่พบว่าเสียงเห็นด้วยให้ผลักดันเรื่องนี้ “มีมากกว่า-ดังกว่า” เสียงที่ไม่เห็นด้วย อย่างหนึ่งในเสียงที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม หนึ่งในนั้นคือ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. เพราะที่ผ่านมาสุเทพได้แสดงจุดยืนมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายนิรโทษกรรม
หลังเช็กเสียงคนที่ไปคุยขอความเห็นแล้ว พบว่า เสียงหนุนมีมากกว่าเสียงค้าน ทำให้ นพ.ระวีเลยมีความมั่นใจในการออกมาเคลื่อนไหวเรื่องนี้ จนเป็นที่มาของการออกจุดพลุเรื่องร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ด้วยการที่ นพ.ระวีเป็น ส.ส.ที่มาจากพรรคเล็ก เพราะพลังธรรมใหม่ก็มี ส.ส.แค่คนเดียว แค่เสนอกฎหมายเข้าสภาฯ ก็ไม่ได้แล้ว เพราะการเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาฯ ต้องมี ส.ส.ลงชื่อไม่น้อยกว่า 20 คน อีกทั้งด้วยเทอมของสภาฯ ชุดนี้ที่เหลืออีกแค่ไม่ถึง 4 เดือน ทำให้มีการมองกันว่า การทำให้กฎหมายออกมาทันก่อนหมดวาระ คงไม่น่าจะทัน เพราะต้องฝ่าด่านทั้งสภาฯ และวุฒิสภา ยิ่งเป็นกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการเมืองสูง ทำให้จะมีทั้ง ส.ส.-ส.ว.ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย จนทำให้การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.อาจไม่ทัน
ท่าทีของ นพ.ระวี แสดงความเชื่อมั่นว่า หาก ส.ส.และ ส.ว.จำนวนหนึ่ง โดยเฉพาะ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลหนุนหลัง ก็เชื่อว่าจะสามารถพิจารณาได้ทัน เนื่องจากเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ดังกล่าวมีแค่ 6 มาตรา ที่หากจะเร่งกันจริงๆ ก็ทันแน่
ส่วนการเคลื่อนไหวหลังจากนี้ ข่าวว่า นพ.ระวี จะรอดูท่าทีของ ส.ส.รัฐบาลและฝ่ายค้าน ว่าจะเอาด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่ ก่อนที่จะเคลื่อนไหวเพื่อรวบรวมรายชื่อ ส.ส.ให้ร่วมลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสภาฯ ให้ได้เกิน 20 คน ซึ่งเจ้าตัวบอกว่ามั่นใจว่าน่าจะมี ส.ส.และ ส.ว.มาลงชื่อด้วยเกินแน่นอน เพราะเป็นกฎหมายที่ไม่ได้ออกมาเพื่อกลุ่มการเมืองกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ออกมาเพื่อสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้กับทุกกลุ่มในสังคม และมั่นใจว่าจะมีสัญญาณจากฝ่ายรัฐบาลหนุนหลังเรื่องนี้
ทำให้ต้องดูกันว่า เส้นทางการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับพรรคเล็ก โดยมี นพ.ระวี เป็นหัวหอก จะดันไปได้ไกลแค่ไหน หรือจะทำได้แค่ยกร่าง เสนอร่างเข้าสภาฯ แต่สุดท้ายดันไปไม่ได้ไกลกว่านั้น เพราะรัฐบาลส่งสัญญาณไม่เอาด้วย เนื่องจากไม่อยากให้เกิดเป็นประเด็นการเมือง จนส่งผลต่อพรรคการเมืองร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะคะแนนนิยมของพรรคฝ่ายรัฐบาลในช่วงใกล้เลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม การผลักดันให้คนในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มคู่ขัดแย้งทางการเมืองหันหน้าเข้าหากัน เกิดความปรองดองสมานฉันท์ จะพบว่า มีความพยายามมาตลอดในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา นับแต่เกิดม็อบเสื้อเหลือง จนมาเสื้อแดง-กปปส.จนถึงม็อบสามนิ้ว
เอาแค่กับรัฐบาลและสภาฯ ชุดปัจจุบัน ก็จะพบว่า สภาฯ ยุคที่มี ชวน หลีกภัย เป็นประธานสภาฯ ก็ทำเช่นกัน โดยเมื่อช่วงมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ได้ลงนามในประกาศรัฐสภา เรื่อง แต่งตั้งกรรมการสมานฉันท์ ที่มีกรรมการที่ส่วนใหญ่มาจากพรรครัฐบาลและ ส.ว. เช่น พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, เทอดพงษ์ ไชยนันทน์ จากประชาธิปัตย์, นิโรธ สุนทรเลขา จากพลังประชารัฐ, สรอรรถ กลิ่นประทุม จากภูมิใจไทย, วัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา, สุริชัย หวันแก้ว จากจุฬาฯ
และต่อมาก็มีการเลือกเทอดพงษ์ เป็นประธานกรรมการสมานฉันท์ แต่ก็พบว่า จนถึงตอนนี้เกือบจะ 2 ปีแล้ว การทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ก็หายไปกับสายลม เงียบเป็นเป่าสาก ไม่ได้มีข้อเสนอหรือทำอะไรที่เป็นรูปธรรมเพื่อนำไปสู่การสร้างความสมานฉันท์ จนเชื่อได้ว่า สุดท้ายก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาทำเรื่องปรองดองสมานฉันท์ แต่ก็เสียเวลา สูญเปล่า เหมือนกับกรรมการอีกหลายชุดที่เคยทำเรื่องพวกนี้ ที่ก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา
ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ที่มี คณิต ณ นคร เป็นประธาน, คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง วุฒิสภา ที่มี ดิเรก ถึงฝั่ง อดีต ส.ว.เป็นประธาน, คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่มี เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน รวมถึงคณะกรรมการย่อยๆ อีกหลายชุด ที่เคยตั้งขึ้นมาเพื่อศึกษาเรื่องปรองดองสมานฉันท์ทั้งในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, พลเอกประยุทธ์ ตั้งแต่ยุค คสช.มาจนถึงรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงการตั้งคณะกรรมการ และคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ในกลไกของสภาฯ-วุฒิสภา-สภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปแห่งชาติในยุค คสช.
ที่ลิสต์ชื่อมาแล้วจะพบได้ว่า ตั้งกันมาแล้วหลายคณะมาก เสียทั้งเงิน เช่น เบี้ยประชุม ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษาดูงาน และเสียเวลากันไปหลายปี แต่ก็ไม่ได้อะไรเป็นรูปธรรม แต่เป็นแค่การตั้งขึ้นมาเพื่อสร้างภาพ ลดกระแสการเมืองในช่วงนั้นๆ เป็นหลักมากกว่า
ด้วยเหตุนี้ การจุดพลุแนวคิดการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ รอบล่าสุดจาก ส.ส.พรรคเล็ก อย่าง นพ.ระวี หลายคนจึงมองกันว่า การเดินหน้าเรื่องนี้น่าจะมีด่านเยอะ แล้วยังมีข้อจำกัดอื่นๆ อีก ทำให้การจะทำให้ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผ่านเข้าไปในสภาฯ ให้ได้ คงไม่ง่าย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่