ไล่เรียงปฏิทินเดือน พ.ย.นี้ วงงานสภาผู้แทนราษฎรไฮไลต์พิจารณาร่างกฎหมายสำคัญอีกฉบับหนึ่งที่สังคมให้ความสนใจ คือ ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. ... ที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาเสร็จแล้ว ในวาระสองและวาระสาม ซึ่งคาดว่าที่ประชุมสภาจะได้พิจารณาภายหลังจากที่ไทยประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) เรียบร้อยแล้ว โดยการประชุมเอเปกจะเกิดขึ้นภายในสัปดาห์หน้า
สำหรับร่างกฎหมายกัญชาฯ ค้างคาตั้งแต่สมัยประชุมรัฐสภาครั้งที่แล้ว โดยที่ประชุมสภาเสียงข้างมากมีมติให้ถอนร่าง เพื่อนำกลับไปทบทวนและปรับปรุงมาตรการป้องกันการใช้กัญชาให้รัดกุม แต่ท้ายที่สุดทางคณะ กมธ.ก็ไม่ได้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แต่อย่างใด แม้พรรคการเมืองต่างๆ ที่ทักท้วงจะทำข้อเสนอไปยัง กมธ.ว่าต้องปรับปรุงอะไรบ้างแล้วก็ตาม
โฟกัสที่ความเคลื่อนไหวของ พรรคประชาธิปัตย์ ส่งตัวพ่อ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง เป็นตัวแทนพรรคจุดพลุก่อหวอดคว่ำร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ โดยระบุไว้เมื่อวันที่ 14 ก.ย. แถลงว่า “แม้ที่ผ่านมาพรรคจะเห็นด้วยและรับหลักการร่างกฎหมายนี้ แต่เราหวังว่าจะมีมาตรการรับมือที่เข้มแข็ง โดยให้กัญชาเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่เมื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่ กมธ.ทำมาแล้ว เห็นว่ายังมีความหละหลวมอยู่มาก นอกจากนี้ พรรคเห็นว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมสนับสนุนเรื่องการปลูกกัญชา และยังอนุญาตให้บุคคลทั่วไปสามารถจดแจ้งปลูกกัญชาได้ ซึ่งเรื่องนี้พรรคเห็นว่าไม่ได้เป็นประโยชน์ทางการแพทย์ แต่อาจจะเป็นเรื่องการเสพเพื่อสันทนาการที่จะเกิดผลกระทบต่อสังคมในระยะยาว”
เมื่อ กมธ.ถอนร่างออกไปแล้ว “ประชาธิปัตย์” ทำข้อเสนอถึง กมธ. ให้ทบทวนทั้งหมด 13 ข้อ อาทิ ขอให้การใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ในครัวเรือนต้องเป็นไปตามการวินิจฉัยของแพทย์ กำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการขออนุญาตต่างๆ ทั้งคุณสมบัติผู้ขอที่อาจเกี่ยวพันกับการค้ายาเสพติดมาก่อน แต่ไม่เคยต้องโทษร้ายแรง การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม ทบทวนการขออนุญาตปลูกกัญชาในครัวเรือนต้องเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เท่านั้น
นอกจากนี้ ยังต้องป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน กำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ที่ได้รับการบำบัดด้วยกัญชาและผู้ที่สามารถสูบกัญชา กัญชง ทบทวนอำนาจรัฐมนตรีสามารถสั่งไม่อนุญาตหรือไม่ต่อใบอนุญาต ต้องไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปซื้อกัญชา สารสกัดกัญชาได้โดยเสรี รวมทั้งจะต้องมีกฎหมายควบคุมการซื้อขายอุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสูบกัญชา เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ขณะนี้ กัญชา ถูกปลดออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 เรียบร้อยแล้ว แต่ยังติดแหง็กกับร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เพราะฝั่ง พรรคภูมิใจไทย พรรคต้นตำรับนโยบายนี้ เห็นว่ามีมาตรการป้องกันและควบคุมอย่างดีรัดกุมแล้ว เวลาเดียวกัน หลายพรรคท้วงติงว่ายังหละหลวม โดยเฉพาะ “ประชาธิปัตย์” และ “เพื่อไทย” มีความเป็นห่วงเรื่องการใช้กัญชาในครัวเรือนได้อย่างเสรี ไร้การควบคุม เพราะอนุญาตให้ปลูกได้ครัวเรือนละ 15 ต้น ซึ่งจะกลายเป็นการใช้สำหรับสันทนาการไม่ใช่เพื่อทางการแพทย์อย่างที่ “ภูมิใจไทย” ตั้งใจไว้
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ แม้มีข้อห้ามไม่ให้เสพในที่สาธารณะก็ตาม แต่เกิดคำถามว่า การอนุญาตให้ปลูกกัญชาไว้หลังบ้าน เสมือนเป็นพริก ข่า ตะไคร้ สะดวกจะเก็บเมื่อไหร่ก็ได้นั้น ในภาคปฏิบัติมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดที่รัฐจะควบคุมได้ ไม่ให้ใช้เพื่อสันทนาการ
เท่ากับว่าตอนนี้ใครใคร่ปลูกปลูก ใครใคร่เสพเสพ ใครใคร่ขายขาย ใครใคร่ยำยำ จน “ส.ส.สาทิตย์” ชี้ว่าเป็นกัญชาเสรี “สุดขั้ว” นี่ยังไม่นับปัญหาการวางขายกัญชาและอุปกรณ์การเสพเกลื่อนถนน
ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในตอนนี้คือ การที่ภาคเอกชนตลอดจนประชาชนรายย่อยลงทุนปลูกกัญชาหลักแสนหลักล้านบาทเพื่อรอกฎหมาย จะทำอย่างไร เรื่องนี้ “สาทิตย์” กล่าวไว้ว่า “กระทรวงสาธารณสุขส่งสัญญาณผิดพลาดไปยังประชาชน ส่งเสริมให้ปลูก โดยนำตัวเลขรายได้มาชักจูงใจ แต่สุดท้ายเมื่อไปขายให้กับโรงพยาบาลกลับไม่ได้ตามที่พูดไว้”
ทั้งนี้ สาทิตย์ เผยด้วยว่า ในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่จะมาถึง จะอภิปรายให้นำกัญชากลับเข้าไปในบัญชียาเสพติดเหมือนเดิม และก็ไม่ต้องห่วง เพราะแม้จะกลับไปเป็นยาเสพติดก็ยังใช้กัญชาทางการแพทย์ได้ เนื่องจากของเดิมๆ ไทยก็อนุญาตให้ใช้ในทางการแพทย์อยู่แล้ว แต่เขาทำด้วยความระมัดระวังเท่านั้น รวมถึงจะเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขออกระเบียบเปิดเผยด้วยว่ามีใครบ้างที่จะปลูก
ท้ายสุด “สาทิตย์” บอกให้ติดตามเรื่องนี้ให้ดี เพราะในการอภิปรายจะมีเปิดเผยเบื้องหลังอะไรบางอย่าง!!!
ขณะที่ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร (วิปรัฐบาล) เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีการประชุมที่ผ่านมาแล้ว คือ เห็นด้วยกับกรรมาธิการเสียงข้างมาก เพียงแต่ย้ำว่ากฎหมายฉบับดังกล่าวมีการแก้ไขเพิ่มเติมจำนวนมาก จึงเปิดโอกาสให้ ส.ส.แสดงความคิดเห็นได้เต็มที่ มติจะเป็นอย่างไรก็ต้องฟังเหตุผลในสภา
“อยากให้พิจารณาโดยรอบคอบ โดยไม่เอาผลประโยชน์ทางการเมืองเป็นตัวตั้ง แต่ยึดหลักกฎหมายพิจารณากฎหมายให้เกิดกับประชาชนในระยะยาวเป็นตัวตั้ง ทุกฝ่ายต้องเคารพมติสภา หากชนะก็ส่งให้ ส.ว. หากไม่ชนะก็ตกไป” รองประธานวิปรัฐบาลกล่าว
จับตาหลังประชุมเอเปก ที่ประชุมสภาพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เดือดระอุอีกแน่!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'จุรินทร์' ยึดหลัก 4 ข้อ โหวตแก้รธน. เชื่อ สว. ลงมติมีเหตุผลอยู่แล้ว
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ สส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภา จะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
'ชวน' อวยพรคนไทยให้เข้มแข็งด้วยตัวเองอย่ารอแค่เงินแจก
'ชวน' อวยพรคนไทยประสบความสำเร็จ ย้ำต้องเข้มแข็งช่วยเหลือตัวเอง ไม่รอเงินแจก