วันอังคารนี้แล้ว 16 พ.ย.ที่ทางที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับภาคประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อเสนอต่อรัฐสภา อันเป็นร่างแก้ไข รธน.ที่มีการเคลื่อนไหวภายใต้แคมเปญ ขอคนละชื่อ-รื้อระบอบประยุทธ์ ที่ดำเนินการโดยกลุ่ม Re-solution ที่มี 2 แกนนำหลักคือ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า-อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ และพริษฐ์ วัชรสินธุ หรือไอติม
ที่เคลื่อนไหวล่ารายชื่อกันตั้งแต่ 6 เม.ย.2564 จนต่อมาได้รายชื่อประชาชนเอาด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญมา 150,921 คน และมีการส่งร่างแก้ไข รธน. และรายชื่อทั้งหมดต่อรัฐสภา เมื่อ 30 มิถุนายน 2564 แต่สุดท้าย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบพบว่ามีผู้มีสิทธิ์เข้าชื่อและมีเอกสารหลักฐานครบถ้วนทั้งหมด 135,247 ชื่อ จนมีการบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภา 16 พ.ย.นี้ ที่เป็นการพิจารณาในวาระแรก ขั้นรับหลักการ ที่จะใช้เวลาการพิจารณาตลอดทั้งวัน และจะลงมติในวันรุ่งขึ้น 17 พ.ย. เพื่อชี้ขาดว่าร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจะได้ไปต่อ หรือจะโดนคว่ำตั้งแต่วาระแรก
ท่ามกลางแรงต้านที่เริ่มปรากฏให้เห็นแล้วจากสมาชิกวุฒิสภา ที่เป็นด่านสำคัญในการเปิดไฟเขียวผ่านตลอด หรือไฟแดงสกัดร่วง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกรอบ
เพราะร่างแก้ไข รธน.ที่จะฝ่าด่านวาระแรกไปได้ นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา ส.ส.-ส.ว.ที่ปฏิบัติหน้าที่รวมกันแล้ว ในเสียงเห็นชอบดังกล่าวจะต้องมี ส.ว.ลงมติเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 โดยแม้ตอนนี้จะเหลือ ส.ว.ปฏิบัติหน้าที่ 248 คน เพราะมีลาออกไปก่อนหน้านี้ 2 คน ยังไม่มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งใหม่ แต่ตัวเลข 1ใน 3 ก็ยังอยู่ที่ประมาณ 84 เสียงอยู่
ดูจากรูปการณ์ทางการเมืองแล้ว การที่ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจะฝ่าด่าน สภาสูง ไปได้ จึงยากไม่ใช่น้อย
โดยเฉพาะกับร่างแก้ไข รธน.ที่เสนอมา ที่มีการเสนอให้ ล้มสภาสูง คือ แก้ไข รธน.ให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันพ้นสภาพไปทันที หากแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จแล้วเหลือให้มีแต่ สภาผู้แทนราษฎร เพียงสภาเดียว เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยเป็นในรูปแบบของ สภาเดี่ยว ไม่ต้องมีวุฒิสภา
ซึ่งนั่นก็หมายถึง จะทำให้ ส.ว.ชุดปัจจุบันทั้งหมด ที่เสนอแต่งตั้งโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องตกงาน-พ้นสภาพไปโดยทันที ด้วยเหตุนี้วงการเมืองจึงมองว่า แล้ว ส.ว.จะมายอมโหวตผ่านร่าง รธน.เพื่อให้ตัวเองตกงาน พ้นสภาพการเป็นสมาชิกรัฐสภา ก่อนครบวาระร่วม 2 ปีกว่าได้อย่างไร
ด้วยเหตุนี้พอหลายฝ่ายเห็นร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวที่เริ่มรณรงค์ ต่างก็บอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เสนอมาแบบนี้มันก็เสี่ยงจะโดนคว่ำตั้งแต่แรกแล้ว เพราะไม่ใช่แค่กับ ส.ว.ที่จะออกแรงต้าน แต่ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐ ก็คงไม่อยากให้ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวได้ไปต่อ เพราะเนื้อหา-ประเด็นในร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว มันคือการทุบทำลายโครงสร้างอำนาจของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์-พลังประชารัฐ อย่างเห็นได้ชัด เพราะไม่ใช่แค่การโละทิ้ง ส.ว. 250 คน ที่มีอำนาจโหวตนายกฯ ที่เป็นฐานอำนาจของพลเอกประยุทธ์-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ และเป็นแต้มต่อของพลังประชารัฐมาตลอด ในการที่มีแล้ว 250 เสียงในการโหวตนายกฯ ที่ยังคงใช้ได้ต่อกับการเลือกตั้งสมัยหน้า แต่ประเด็นที่กลุ่มรีโซลูชั่นเคลื่อนไหวแก้ไข รธน.อีกบางประเด็น ก็คือการเขย่าฐานอำนาจของพลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐ มองไปแล้วจึงน่าจะทำให้พลังประชารัฐอาจไม่สะดวกใจในการที่จะเอาด้วยกับร่างแก้ไข รธน.ฉบับนี้
อีกทั้งแกนนำหลักๆ ในกลุ่มรีโซลูชั่น โดยเฉพาะหัวเรือใหญ่ ปิยบุตร ก็ชัดเจนว่า เป็นคนที่ฝ่าย ส.ส.รัฐบาล โดยเฉพาะพลังประชารัฐและ ส.ว.มีอาการหมั่นไส้เป็นทุนเดิมอยู่แล้วกับบทบาทที่ผ่านมา โดยเฉพาะบทบาทเรื่องการยกเลิกมาตรา 112 และการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ ส.ว.และพลังประชารัฐมาตลอด
ดังนั้นฝ่าย ส.ว.และ ส.ส.พลังประชารัฐ หากจะเปิดหน้าแลกด้วยการดวลฝีปาก-แลกหมัดกันกลางห้องประชุมร่วมรัฐสภาอังคารนี้ แล้วสุดท้ายจะลงมติไม่เห็นชอบหรืองดออกเสียงร่างแก้ไข รธน.เพื่อทำให้ร่างแก้ไข รธน.ตกไป ก็เชื่อว่าทาง ส.ว.จำนวนไม่น้อย และ ส.ส.พลังประชารัฐ รวมถึง ส.ส.รัฐบาลอีกบางพรรค ก็คงพร้อมจะเปิดหน้าแลกด้วย ชนเป็นชน ภายใต้การตีไปที่ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวที่เสนอมา มีจุดอ่อน-ข้อด้อยอย่างไร เพื่อทำให้มีความชอบธรรมในการทำให้ร่างแก้ไข รธน.ถูกตีตกไปตั้งแต่วาระแรก จะได้ไม่ถูกมองว่าไม่สนใจกับเสียงประชาชนที่ร่วมกันลงชื่อเสนอร่างแก้ไข รธน.หนึ่งแสนกว่ารายชื่อ
ซึ่งท่าทีดังกล่าวประเมินว่า ทาง ส.ว.จะต้องแสดงบทบาทค่อนข้างหนักกว่า ส.ส.รัฐบาลแน่นอน เพราะเมื่อ ร่างดังกล่าวเสนอให้โละ ส.ว.ชุดปัจจุบัน ทำให้ตกงานกันหมด หาก ส.ว.ตีร่างดังกล่าวตก ก็อาจทำให้ถูกมองว่าโหวตคว่ำเพื่อรักษาสถานภาพตัวเอง ดังนั้น ส.ว.ที่จะอภิปรายร่างแก้ไข รธน.วันอังคารนี้ในเชิงคัดค้านไม่เห็นด้วย คงต้องทำการบ้านมาหนักไม่ใช่น้อย โดยคาดว่า ส.ว.จะอภิปรายชี้ประเด็นไปว่าร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าว ทำให้ระบบตรวจสอบ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระอ่อนแอและเกิดการรวมศูนย์อำนาจประเทศไว้ที่สภาฯ เพียงแห่งเดียว ที่หากพรรคการเมืองใหญ่ พรรครัฐบาลคุมเสียงข้างมากไว้หมด ก็เสี่ยงต่อการเกิดสภาพ เผด็จการรัฐสภา เหมือนในอดีต
ในส่วนของกลุ่มรีโซลูชั่น เบื้องต้นพบว่าจะส่งคนไปชี้แจงหลักการ-เหตุผลในการเสนอร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา รวม 5 คน ประกอบด้วย ปิยบุตร แสงกนกกุล , พริษฐ์ วัชรสินธุ, ณัชปกร นามเมือง จากกลุ่มไอลอว์, ชลธิชา แจ้งเร็ว อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองในยุค คสช. ที่ปัจจุบันมีบทบาทไม่ใช่น้อยกับม็อบ 3 นิ้วที่ผ่านมา และมีข่าวว่าการเลือกตั้งรอบหน้าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ในสังกัดพรรคก้าวไกล, เอกรินทร์ ต่วนศิริ นักวิชาการจากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ที่เคลื่อนไหวในกลุ่มเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง
สำหรับเนื้อหา-ประเด็นหลักๆ ในร่างแก้ไข รธน.ฉบับดังกล่าว จะมีด้วยกัน 4 ประเด็นหลัก ภายใต้สโลแกนที่กลุ่มรีโซลูชั่นใช้ในการรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชนเสนอแก้ไข รธน.คือ ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง ได้แก่
1.ล้มวุฒิสภา
โดยให้ ส.ว.ชุดปัจจุบัน 250 คน ที่มีอำนาจโหวตเลือกนายกฯ ด้วย พ้นสภาพทันทีหลังมีการแก้ไข รธน.สำเร็จแล้วให้ใช้ระบบสภาเดี่ยว มีแต่สภาผู้แทนราษฎร ไม่ต้องมีวุฒิสภาอีกต่อไป
2.โละศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด ในลักษณะเซตซีโรหมด
แล้วนับหนึ่งใหม่ แก้ไขเรื่องที่มา-กระบวนการคัดเลือก-เพิ่มระบบตรวจสอบการใช้อำนาจ เช่น เรื่องที่มาตุลาการศาล รธน. ก็ให้สภาฯ ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีอำนาจในการเสนอรายชื่อบุคคลเป็นตุลาการศาล รธน.ได้ฝ่ายละ 3 คน โดยให้สภาฯ เป็นผู้ลงมติเห็นชอบรายชื่อ ซึ่งประเด็นดังกล่าวน่าจะโดนโต้แย้งว่า จะเปิดช่องให้นักการเมืองเข้าแทรกแซงครอบงำศาล รธน.และองค์กรอิสระอื่นๆ ได้ จนอาจเกิดวิกฤตศาล รธน.และองค์กรอิสระขึ้นอีกครั้งแบบในยุคระบอบทักษิณ
3.ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนปฏิรูปประเทศ โดยเสนอให้ตัดทิ้งมาตรา 257-261 ออกทั้งหมด
4.ล้างมรดกรัฐประหารจากยุค คสช.
โดยให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 เพื่อทำให้คำสั่ง คสช.และหัวหน้า คสช.มีผลเป็นโมฆะทั้งหมด ที่หากทำสำเร็จ ก็อาจเป็นช่องทางให้นำไปสู่การหาช่องเช็กบิลขั้วอำนาจเก่า คสช.ได้
จึงไม่แปลกที่เมื่อหลายคนเห็นเนื้อหาร่างแก้ไข รธน.ฉบับ ล้ม-โละ-เลิก-ล้าง ดังกล่าวของกลุ่มรีโซลูชั่นที่มีปิยบุตรเป็นหัวหอก เขียนพิมพ์เขียวร่างแก้ไข รธน.ฉบับดังกล่าว ที่เนื้อหาเป็นการ ดับเครื่องชนทั้งรัฐบาลพลเอกประยุทธ์-วุฒิสภา-ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ-พรรคพลังประชารัฐ เลยทำให้แวดวงการเมือง พอจะประเมินได้ไม่ยากว่า ร่างแก้ไข รธน.ดังกล่าวจะได้ไปต่อในวาระสอง-วาระสาม หรือจะจบลงแค่ตอนโหวตออกเสียงในวันพุธที่ 17 พ.ย.นี้เท่านั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่
โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้
นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี