3 ร่างพ.ร.บ.ร้อนหลังเปิดสภาฯ กม.กัญชาระเบิดเวลาพรรครบ.

สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา กลับมาเปิดสมัยประชุมกันอีกครั้ง ตั้งแต่วันอังคารที่ 1 พฤศจิกายนนี้ และจะปิดสมัยประชุมวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 รวมเวลา 4 เดือน

แต่สำหรับสภาฯ การประชุมรอบนี้ จะเป็นเทอมสุดท้าย เพราะสภาฯ จะหมดวาระตามอายุขัย 4 ปี ส่วนจะได้อยู่จนครบเทอม 4 ปี หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะชิงยุบสภาฯ ก่อน ให้รอติดตามกันให้ดี คาดว่าหลังเสร็จสิ้นการประชุมเอเปกเดือน พ.ย.นี้ น่าจะพอเห็นทิศทางการเมืองหลายอย่างว่าพลเอกประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร 

สำหรับการประชุมสภาฯ และวุฒิสภา ในช่วง 4 เดือนหลังเปิดสภาฯ พบว่าร่างพระราชบัญญัติที่ต้องจับตาทางการเมือง เพราะจะมีผลทั้งกับพรรคการเมืองขั้วรัฐบาลและฝ่ายค้าน พบว่ามีร่าง พ.ร.บ.ที่รออยู่อย่างน้อย 3 ฉบับ

ฉบับแรกก็คือ ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันในทางการเมืองว่า ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า เหตุเพราะผู้เสนอและผลักดัน คือ ส.ส.พรรคก้าวไกล ที่นำโดยอดีตคนทำคราฟต์เบียร์ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้จนผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรวาระแรกมาได้แบบพลิกความคาดหมาย เพราะ ส.ส.รัฐบาลหลายพรรค ทั้งพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย และพรรคเล็ก แหกโผลงมติสนับสนุน โดยไม่สนใจมติวิปรัฐบาลที่ส่งสัญญาณขอให้ ส.ส.พรรครัฐบาลลงมติให้คว่ำตั้งแต่วาระแรก จนสภาฯ ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่งตอนนี้พิจารณาเสร็จสิ้นแล้ว จะมีการนำเสนอให้สภาพิจารณาวาระ 2 และวาระ 3 โดยอาจพิจารณาในการประชุมสภาฯ นัดแรก 2 พฤศจิกายน แต่หากไม่ทันอาจเป็นสัปดาห์ถัดไป

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า เดิมถูกจับตามองทางการเมืองค่อนข้างสูง เพราะธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย พบว่ามีเม็ดเงินปีละขั้นต่ำเกือบสี่แสนล้านบาท โดยร่างดังกล่าวเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพาสามิต ในลักษณะจะให้ปลดล็อกเรื่องใบอนุญาตในการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น ต้องไม่มีการกำหนดทุนจดทะเบียน ไม่มีการกำหนดอัตราขั้นต่ำกำลังการผลิต เช่น จากปัจจุบัน การขออนุญาตทำเบียร์ ผู้ขอต้องผลิตเบียร์ 10 ล้านลิตรต่อปี เพื่อบรรจุขวดขาย ก็มีการเสนอแก้ไขให้ปลดล็อกเรื่องนี้ออกไป

 และยิ่งตอนนี้ เส้นทางร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ก็ยิ่งตกอยู่ในความสนใจมากขึ้นไปอีก หลังมีกระแสข่าวมีสัญญาณแรงๆ ส่งมาจากแกนนำรัฐบาลไปถึงแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค ขอให้ประสานไปยัง ส.ส.ในพรรคให้ลงมติคว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ กลางสภาฯ วาระ 3 ไม่ให้ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับนี้ได้ไปต่อ จนเกิดปฏิกิริยาโต้กลับจากบางฝ่ายโดยเฉพาะจากพรรคฝ่ายค้าน

ทำให้ต้องดูว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับนี้จะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯ จนส่งไปให้วุฒิสภา หรือจะโดนสกัดกลางทาง ด้วยการถูกคว่ำกลางสภาฯ โดยต้องดูกันว่า ผลการออกเสียงลงมติ จะมี ส.ส.พรรครัฐบาลพรรคไหน ใครบ้าง และมีกี่คน ที่จะแหกโผ โดยคาดว่าวิปรัฐบาลจะมีการหารือเรื่องดังกล่าวในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม เพื่อกำหนดท่าทีของวิปรัฐบาลที่จะส่งต่อไปยังพรรคร่วมรัฐบาลต่อไป

ส่วนร่าง พ.ร.บ.ฉบับที่ 2 คือ ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ หรือที่รู้จักกันคือ กฎหมายกัญชา ที่พรรคภูมิใจไทย ผลักดันมาตลอด เพื่อให้เป็นกฎหมายรองรับการปลดล็อกกัญชาให้เป็นกัญชาทางการแพทย์ ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ศุภชัย ใจสมุทร แกนนำพรรคภูมิใจไทยเป็นประธาน ได้พิจารณาเสร็จแล้ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้การผลักดันร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ของพรรคภูมิใจไทยที่ชูนโยบายเรื่องกัญชาทางการแพทย์ ต้องสะดุดกลางสภา เพราะ ส.ส.รัฐบาลด้วยกันเอง โดยเฉพาะจากประชาธิปัตย์ ที่นำโดย สาทิตย์ วงศ์หนองเตย ส.ส.ตรัง กระโดดขวางเต็มตัว โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวยังมีช่องโหว่หลายมาตรา จนทำให้ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ สะดุด ไม่สามารถเข็นให้ผ่านสภาฯ ในการประชุมสภาฯ สมัยที่แล้วได้ ซึ่งในช่วงชุลมุนดังกล่าว เวลานั้นได้เกิดภาพการกระทบกระทั่งกันทางการเมืองระหว่างคนของพรรคภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ ถึงขั้นแกนนำและ ส.ส.ของทั้ง 2 พรรคแยกเขี้ยว-ฮึ่มใส่กันหลายรอบ

และตอนนี้เมื่อสภาฯ กำลังจะต้องพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ วาระ 2 และวาระ 3 อีกครั้งในสมัยประชุมสภาฯ เทอมนี้ หลังสภาฯ บรรจุเรื่องไว้ในระเบียบวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรวาระต้นๆ ก็พบว่าท่าทีของคนในพรรคประชาธิปัตย์ยังตั้งป้อมค้านเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เช่นเดิม

 ทำให้แนวโน้มได้เห็นการเผชิญหน้ากันระหว่างภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์กลางสภาฯ ระหว่างพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ ในอนาคตอันใกล้ เว้นเสียแต่พลเอกประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี และพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้จัดการรัฐบาล จะเข้ามาหย่าศึก เคลียร์ใจกับทั้ง 2 พรรค ก่อนสภาฯ จะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม ไม่ให้เรื่องบานปลาย กลายเป็นปัญหาของพรรคร่วมรัฐบาล

ปิดท้าย ร่างกฎหมายฉบับที่ 3 ที่อาจเป็นเผือกร้อนต่อจากนี้คือ ร่าง พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ.

ที่ตอนนี้ตัวร่างถูกส่งไปให้วุฒิสภาพิจารณาวาระแรก วันที่ 1 พฤศจิกายน คาดว่าสมาชิกวุฒิสภาคงลงมติรับหลักการวาระแรก เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ของวุฒิสภา แล้วก็ให้กรรมาธิการฯ ไปแก้ไขเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กยศ.หลายประเด็น จากที่ผ่านสภาฯ มา หลังมีเสียงท้วงติงจากหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวบางจุด เช่น หลักเกณฑ์การให้เงินกู้ยืม -การชำระเงินกู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย เป็นต้น

โดยคาดว่าหากวุฒิสภาไปแก้ไขเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.กยศ.หลายเรื่อง ทาง ส.ส.คงไม่ยอมง่ายๆ จนอาจต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกันของ 2 สภาฯ เพื่อหาข้อยุติ ทำให้แนวโน้ม ว่าร่าง พ.ร.บ.กยศ.จะเข็นให้คลอดออกมาได้คงหืดขึ้นคอ 

ทั้ง 3 ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว คือ 3 ร่างกฎหมายร้อนๆ ที่รอการพิจารณาของสภาฯ และวุฒิสภา ในสมัยประชุมนี้. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน