สภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบันเหลือเทอมการทำงานอีกแค่ 1 เทอม หรือ 4 เดือนเท่านั้นก็จะสิ้นสภาพ ซึ่งก็จะมีการเปิดสมัยประชุมสภากัน ตั้งแต่ 1 พ.ย.2565 และจะไปปิดสมัยประชุม 28 ก.พ.2566 ที่ก็ยังไม่มีใครเดาใจ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้ว่า สุดท้ายจะอยู่จนครบเทอม 4 ปี หรือเลือกที่จะ ยุบสภา ด้วยเหตุผลทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องกติกาเลือกตั้ง การสังกัดพรรคการเมืองลงเลือกตั้ง ตามที่พรรคร่วมรัฐบาลอาจร้องขอ
สำหรับสมัยประชุมสภารอบนี้ ที่จะเริ่มประชุมกันทันที ตั้งแต่ 2 พ.ย. พบว่ามีร่าง พ.ร.บ.สำคัญๆ ที่รอการพิจารณาของสภาและวุฒิสภาหลายฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงฯ ที่ก่อนหน้านี้เคยเป็นปัญหาการเมืองระหว่าง พรรคภูมิไจไทยกับประชาธิปัตย์ จนทำให้การเสนอร่างดังกล่าวเข้าสู่สภาในวาระ 2 และ 3 ของสมัยประชุมรอบที่แล้วสะดุดลงกลางที่ประชุมสภา
ทำให้ต้องจับตาดูว่าสุดท้ายแล้ว ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ จะผ่านความเห็นชอบจากสภาไปได้หรือไม่ ที่ตามข่าวมีการคาดกันว่า ร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ อาจจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือน พ.ย.
แต่ก่อนที่จะไปถึงคิวร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ พบว่า ตามระเบียบวาระการประชุมสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ต่างๆ มีร่าง พ.ร.บ.สำคัญอีก 1 ฉบับที่จ่อคิวเข้าสู่การพิจารณาของสภาก่อนร่าง พ.ร.บ.กัญชาฯ นั่นก็คือ
“ร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต หรือที่เรียกกันว่า ร่างกฎหมายสุราก้าวหน้า”
ที่เสนอโดย ส.ส.พรรคก้าวไกล โดยมีหัวหอกหลักคือ อดีตคนทำคราฟต์เบียร์ เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร ส.ส.กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ที่เป็นคนเสนอและผลักดันร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า จนผ่านความเห็นชอบจากสภาวาระแรกแบบพลิกความคาดหมาย เพราะ ส.ส.รัฐบาลทั้งพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย แหกโผ ไปหนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวโดยไม่สนใจวิปรัฐบาลที่ขอให้คว่ำตั้งแต่วาระแรก จนมีการไปตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และตอนนี้เสร็จสิ้นแล้ว จะมีการนำเสนอร่างฯ ให้ที่ประชุมสภาพิจารณาในวาระ 2 และวาระ 3 ที่ตอนนี้อยู่ในระเบียบวาระการประชุมสภาอันดับต้นๆ ที่อาจจะพิจารณากันวันที่ 2 พ.ย.นี้
อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่ามีสัญญาณแรงๆ มาจากทำเนียบรัฐบาล ในวงประชุมแกนนำรัฐบาลเมื่อวันอังคารที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา ว่าขอให้มีการประสานไปยัง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลให้ทำการ
ติดเบรก-คว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าฯ
ไม่ให้ไปต่อผ่านวาระ 3 จนส่งไปวุฒิสภา
ที่ก็ต้องดูว่า ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะเอาอย่างไรกับเรื่องนี้ เพราะจะพบว่าร่างดังกล่าวมี ส.ส.รัฐบาลทั้งพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ และ ส.ส.พรรคเล็กจำนวนหนึ่ง เคยลงมติรับหลักการร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต วาระแรก และหลายคนก็ออกมาให้สัมภาษณ์สนับสนุนการเสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวว่า เห็นด้วยเพื่อให้เกิดการ ปลดล็อก การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ ให้เปิดกว้างมากขึ้น
โดยมีรายงานว่า ก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทุกพรรคเข้าไปหารือในห้องรับรองที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย อยู่ในห้องด้วย โดยใช้เวลานานถึง 50 นาที โดยเป็นการเรียกไปสอบถามความเห็นของแต่ละพรรคเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าที่เสนอโดยพรรคก้าวไกล ที่จะมีการพิจารณาวาระ 2, 3 ในวันที่ 2 พ.ย.นี้
วงหารือได้ถกประเด็นนี้กันอย่างเข้มข้น ก่อนจะได้ข้อสรุปว่า ไม่อยากให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากสภา เนื่องจากกังวลว่าหากกฎหมายผ่านสภาจะไม่มีมาตรการรองรับความปลอดภัย เกรงว่าจะมีปัญหาเรื่องการต้มสุราเถื่อนและการผลิตที่ไม่ได้คุณภาพ แตกต่างจากพวกผู้ผลิตรายใหญ่ในปัจจุบันที่ผลิตถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานสูงและสามารถรับผิดชอบคุณภาพได้
นอกจากนี้จะมีการขายสุราเถื่อนเกลื่อนเหมือนกับเรื่องกัญชาเสรีที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่ แล้วจะรับผิดชอบกันไม่ไหว ถ้าเกิดมีการต้มเหล้าผิดกฎหมายมันมีแต่ทำลาย นอกจากนี้ในช่วงท้ายการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ยังได้กล่าวเน้นย้ำเรื่องการพิจารณากฎหมายอีกครั้งว่า ขอบคุณทุกคน ทุกพรรค เรื่องกฎหมายต่างๆ ฝากให้สภาดูแลด้วย ดูแลประชาชนให้เกิดความยั่งยืน กฎหมายบางอย่างถ้าฟรีมากไปก็เกิดปัญหา ต้องหามาตรการควบคุมด้วย
งานนี้ก็ต้องวัดใจหัวหน้าพรรค-แกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่า จะสามารถคอนโทรล ส.ส.ในพรรค ให้คว่ำร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า ในสัปดาห์หน้ากลางสภาหรือไม่ หรือจะฟรีโหวต เพราะมองว่าเป็นเอกสิทธิ์ของ ส.ส.ในการตัดสินใจ
แต่งานนี้เชื่อว่า อาจจะมี ส.ส.รัฐบาล แหกโผ แน่ แต่หากบางคนไม่อยากให้ตัวเองตกเป็นเป้า ก็อาจใช้วิธีเลี่ยงๆ คือ ตอนโหวตลงมติในวาระ 3 ที่เป็นการลงมติว่าจะให้ร่างผ่านความเห็นชอบจากสภาหรือไม่ ซึ่งแม้ในใจ อยากจะลงมติสนับสนุนให้ผ่าน แต่เมื่อมีสัญญาณมาจากแกนนำพรรคให้ทำให้ร่างคว่ำกลางสภา เลยไม่อยากมีปัญหากับพรรค ก็อาจเลี่ยงโดยไม่อยู่ในห้องประชุม ไปเข้าห้องน้ำหรือไม่ก็งดออกเสียงไป แต่ก็ไม่แน่ งานนี้อาจมี ส.ส.รัฐบาล "โหวตสวน” ไปเลย คือลงมติเห็นชอบร่างดังกล่าวในวาระ 3 ส่วนผลจะออกมาอย่างไร ต้องรอติดตาม แต่คาดว่าวิปรัฐบาลคงลงมาคุมเข้มแน่นอนตอนโหวตลงมติ
“เท่าพิภพ-ส.ส.กทม.พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว และยังเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต สภาผู้แทนราษฎร” กล่าวถึงหลักการสำคัญของร่างดังกล่าวว่า มีจุดมุ่งหมายคือเป็นการปลดล็อกเรื่องใบอนุญาตในการทำขาย เช่น ต้องไม่มีการกำหนดทุนจดทะเบียนและกำลังการผลิต และการกำหนดประเภทสุราแบบเฉพาะเจาะจงที่เป็นอุปสรรค ทำให้รายใหม่ไม่สามารถเข้ามาในตลาดได้ เพราะจากกฎกระทรวงตอนนี้ เช่น การขออนุญาตทำเบียร์ ผู้ขอต้องผลิตเบียร์ 10 ล้านลิตรต่อปี เพื่อบรรจุขวดขาย ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะมีคนทำได้สักกี่คนในประเทศนี้ แล้วยิ่งเหล้าขาว เหล้าสีในประเทศไทยยิ่งหนักกว่าเหล้าเบียร์ เพราะกำหนดปริมาณการผลิตไว้เยอะกว่าอีก มันเลยแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนธรรมดา จึงต้องแก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดทางให้คนอื่นมีโอกาสมาทำธุรกิจเดียวกันได้
“เนื้อหาที่ขอแก้ไขก็คือกฎกระทรวงห้ามเอาข้อความเกี่ยวกับเรื่องทุนจดทะเบียน กำลังการผลิต แรงม้า แรงคน เข้าไปใส่กำหนดไว้ เพราะเป็นการทำให้เกิดการผูกขาด ส่วนหลังจากนี้ (หากร่างแก้ไข พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตฉบับดังกล่าวประกาศใช้) เขาจะไปแก้ไขกฎกระทรวงต่อไปอย่างไรก็เป็นเรื่องของกรมสรรพสามิต แต่ต้องห้ามไปเขียนทับกับเนื้อหาที่มีการแก้ไขไว้ในร่าง พ.ร.บ.”
ส.ส.ก้าวไกล อดีตคนทำคราฟต์เบียร์มาก่อนระบุไว้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1