เปิดเกมเสี้ยม รวมทุกขั้ว โดดเดี่ยว ‘ประยุทธ์’ 

สัญญาณแห่งการเลือกตั้งเร่งเร้าเข้าใกล้มาทุกขณะ ทุกพรรคการเมืองมุ่งหน้าไปสู่การเลือกตั้งใหญ่ ที่ถึงอย่างไรจะมาถึงอย่างแน่นอน ในไตรมาสแรกหรือไตรมาส 2 ของปี 2566 นับเวลาเหลือเวลาประมาณ 6-7 เดือน แต่สำหรับนักการเมือง พรรคการเมือง เวลาที่เหลือเพียงเท่านี้ถือว่า ไม่มากนัก ในกิจกรรม แผนงานที่ต้องทำในแต่ละช่วง 

ส.ส.เตรียมย้ายพรรค การผนึกกำลังรวมพรรค พรรคเดิมรีแบรนดิง ปรับโฉมใหม่ การแสวงหาพันธมิตรทางการเมืองใหม่ๆ เริ่มเจรจา พูดคุย ประสานงาน จับมือกันรวมขั้ว ทั้งที่ผลการเลือกตั้งยังไม่ออก เริ่มดังขึ้นเป็นระยะๆ  

การเลือกตั้งเมื่อปี 2562 พรรคพลังประชารัฐเป็นแกนนำหลักในพรรคร่วมรัฐบาล มีอำนาจรัฐ อำนาจแกนนำพรรคแต่ละกลุ่มยังเหนียวแน่น แต่ตอนนี้ต้องบอกว่า ปัญหาภายในพรรคแตะไปตรงไหนก็เจอ กระแสข่าว กลุ่ม ส.ส.กทม.-ภาคกลาง เหนือตอนล่าง มีทั้งรายบุคคลหรือยกทีมกันไปในนามกลุ่ม ถูกรุมจีบให้ย้ายพรรค โดยพรรคที่ยื่นข้อเสนอพร้อมเปย์ไม่อั้น   

ความไม่ชัดเจนในเชิงนโยบาย ทิศทางพรรคพลังประชารัฐ เทียบกับพรรคอื่นมีมอตโต-สโลแกน มีทิศทางชัด วางเป้าหมายจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อคนกลุ่มนั้นกลุ่มนี้ แต่สำหรับ พลังประชารัฐยังวนเวียนควานหาหัว แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค ‘คนถือธงนำทัพ’ ความสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป. จากการแสดงออกอะไรหลายๆ อย่าง ยิ่งทำให้คนปักใจเชื่อ 3 ป.ในวันนี้ไม่ได้เหนียวแน่น แน่นแฟ้น เหมือนเมื่อก่อน กระแสผลสำรวจความนิยมของพรรคมีแต่พุ่งดิ่งลง ทิศทางพรรค นโยบายหลัก มือทำงาน แผนงาน ยังไม่มีอะไรเป็นรูปธรรมจับต้องได้ 

เป็นกระแสเร่งเร้า ส.ส.ในพรรค ไล่จี้ทวงถามผู้บริหารพรรคจะเอาอย่างไรแน่ ก่อนหน้า ‘วีระกร คำประกอบ’ ส.ส.นครสวรรค์ เร่งเร้าให้ พล.อ.ประยุทธ์แสดงความชัดเจน รีบสมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ล่าสุด ‘รงค์ บุญสวยขวัญ’ ส.ส.นครศรีธรรมราช พลังประชารัฐ จะว่าไปแล้ว ทางภาคใต้เป็นภาคเดียวที่มีกระแสตอบรับต่อพลังประชารัฐ และ พล.อ.ประยุทธ์ค่อนข้างดี แต่เมื่อในวันนี้ยังไม่เห็นทิศทาง ต้องกระตุกถึง แกนนำพรรคอีกครั้งถึงความชัดเจนในพรรค  

รงค์นำเสนอกลยุทธ์ ‘หมดที่ลุงตู่ สู่ลุงป้อม’ ไม่ว่าการนำเสนอกลยุทธ์นี้จะสะท้อนมาจากความรู้สึกอัดอัดใจของ ส.ส.รายบุคคล หรือกลุ่มบุคคล หรือจะมีบิ๊กๆ แกนนำบางคนส่งซิกส่งสัญญาณอะไรหรือเปล่า แต่จากปัญหาภายในถูกนำมาขยายในที่สาธารณะ มุมหนึ่งสะท้อนให้เห็นถึง ‘ความขาดเอกภาพ’ ในพรรค  

พรรคเพื่อไทยฉวยจังหวะ จับโอกาสแห่งความไม่แน่นอนร่วมผสมโรง อาศัยจังหวะพลังประชารัฐอ่อนแอ ความสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป. ไม่แน่นแฟ้น กลุ่ม ส.ส.ระส่ำระสาย ทิศทางพรรคไม่ชัดเจน  

ชลน่าน ศรีแก้ว’ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ระบุว่า “พล.อ.ประวิตรยังมีข้อดีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในมุมของความเป็นการเมืองเข้าอกเข้าใจ เห็นใจประชาชน เข้าถึงสภาพปัญหา มีลักษณะความเป็นมนุษย์ เข้าถึงจิตใจความเป็นมนุษย์มากที่สุด มีความเห็นอกเห็นใจที่สูงกว่า” 

สุทิน คลังแสง’ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย และประธานวิปฝ่ายค้าน บอกว่า "พร้อมทำงานกับทุกพรรคที่มีจุดยืนใกล้เคียงกัน ถ้าจำเป็นจริงๆ ไม่มีทางเลือกพร้อมจับมือฝ่ายรัฐบาลทุกพรรค เป็นไปได้ทั้งพรรคพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ ต้องดูสถานการณ์ข้างหน้าประกอบด้วย ถ้าจะเอาฝ่ายรัฐบาลมารวมด้วยก็ต้องดูพรรคที่จะมาร่วมทำงานด้วย ต้องมีขนาดพอมีความเหมาะสม ถ้ารวมกันแล้วมีเสียงมากเกินไปคงไม่เอา ต้องมีเสียงมั่นคงในปริมาณที่พอเหมาะ ยังเชื่อมั่นว่า เสียงฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันรวมกันแล้วยังเพียงพอตั้งรัฐบาลได้” 

ชลน่านและสุทินยังบอกถึงความเป็นไปได้ว่า การจับมือร่วมรัฐบาล พลังประชารัฐและ พล.อ.ประวิตร รวมไปถึงทุกพรรคการเมือง หากแสดงออกอย่างชัดเจน ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์        

พรรคเพื่อไทยส่งสัญญาณชัด ไม่ปิดกั้น ร่วมงานพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะพลังประชารัฐนั้น พล.อ.ประวิตรมีสายสัมพันธ์อันดี นายหญิงแห่งเพื่อไทย ผู้ทรงอิทธิพลในพรรค คนใกล้ตัว พล.อ.ประวิตรที่ถูกขนานนามว่า ‘ป.ที่ 4’ เป็นตัวเชื่อมสำคัญระหว่างคน 2 กลุ่ม มักยกหู เดินทางไปเจรจานายใหญ่แห่งดูไบบ่อยครั้ง มีความสนิทสนมแนบแน่นกันอย่างดี ป.ที่ 4 ไม่ลงรอยกับบิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์อย่างรุนแรง ยิ่งเป็นแรงหนุนอยากให้เกิดการพลิกขั้วหรือรวมขั้ว ระหว่างเพื่อไทย พลังประชารัฐ และพรรคอื่นๆ  

เพื่อไทยเจอกระแสตีกลับ ‘ประเสริฐ จันทรรวงทอง’ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ต้องชิงออกตัว ยังเร็วไปที่พรรคเพื่อไทยจะจับมือกับทุกพรรคตั้งรัฐบาล ขอฟังผลการเลือกตั้งก่อน แต่ก็ไม่ได้ปิดประตูตายทั้งหมดเสียทีเดียว ยังแง้มช่องเอาไว้ว่า   

“ถ้าจะจับมือกับพรรคใดตั้งรัฐบาล สิ่งที่สำคัญต้องฟังเสียงประชาชน และพรรคนั้นต้องมีอุดมการณ์และนโยบายในการแก้ปัญหาประเทศสอดคล้องกันกับพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะจุดยืนด้านประชาธิปไตย” 

ขณะที่แกนนำพรรคเพื่อไทยมั่นใจในผลสำรวจเป็นการภายในที่ออกมา นำทุกพรรค ทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ บวกกับจับอาการความอยาก แทบ (จะ) ทุกพรรค ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ไม่มีใครอยากกลับไปเป็นฝ่ายค้าน เปิดแขนพร้อมต้อนรับทุกพรรคการเมืองมาจับมือรวมเสียงกันตั้งรัฐบาล ในด้านหนึ่งเพื่อไทยได้กลับมาเป็น รัฐบาลด้วย อีกด้านหนึ่งยังสะท้อนภาพด้านบวก เรียกความเชื่อมั่น การฟื้นฟูพรรคที่เคยเป็นศัตรูทางการเมือง แต่พร้อมจับมือเดินไปข้างหน้าเพื่อบ้านเมือง   

บนเงื่อนไขโดดเดี่ยวประยุทธ์ ทุกพรรคต้องมีเป้าหมายเดียวกัน ไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า ยังมองว่าประยุทธ์อันตราย ควรจะต้องถูกเขี่ยออกจากกระดานการเมืองอย่างถาวร ช่วงนายกฯ เว้นวรรค 38 วัน ใครบางคนกระฉับกระเฉง คล่องแคล่ว ยิ้มแย้ม เข้ามานั่งประชุมไล่บี้ สั่งการ ตามงานข้าราชการ ปรับปรุงเปลี่ยนลุคส์ โปรโมตผลงานในโลกโซเชียลมีเดีย และช่องทางอื่นๆ อย่างผิดสังเกต บวกกับได้แรงส่งจากคนรอบข้างยุยงส่งเสริม ป้อนแต่คำหวาน ชี้ให้เห็นถึงโอกาส  

พลังประชารัฐตราบใดที่ ‘ความชัดเจนไม่มี ความสามัคคีไม่เกิด’ ระหว่างทางไปสู่ถนนเลือกตั้ง ‘ก็จะเจอเพื่อไทยและองคาพยพ’ ที่คอยจับอาการ ‘ความอยาก’ ขอผสมโรงทั้งแหย่ เสี้ยม บั่นทอนความเชื่อมั่นแบบนี้ไปเรื่อยๆ. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.พลังประชารัฐ แห่ลงชื่อชง 'บิ๊กป้อม' ขับ 'สามารถ' พ้นพรรค

จากกรณีปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) หลังไลน์สส.พรรคหลุด แสดงความไม่พอใจนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรมว.ยุติธรรม และสมาชิกพรรคพปชร.ที่ออกมาวิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไลน์กลุ่ม สส.พปชร. โวย 'สามารถ' ทำพรรควุ่นวาย จ่อคุยบิ๊กป้อมหาทางแก้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชารัฐ ต่อกรณีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม เคลื่อนไหวเชิงตำหนินายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลออกสื่ออย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงบทบาทของนายสามารถในพรรคพลังประชารัฐในระยะหลังโดยเฉพาะการชักชวนนายวัน