ดีลทรูฯ-รถไฟฟ้าสีเขียว-สีส้ม 3 เรื่องใหญ่ จบที่ศาลปกครอง

ในรอบปี 2565 ที่เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือนเศษก็จะสิ้นปี เรื่องใหญ่ทางเศรษฐกิจที่เป็นดีลทางธุรกิจและโครงการ เมกะโปรเจ็กต์ของประเทศไทย ที่หลายฝ่ายเฝ้าติดตามกันมาตลอดทั้งปีนี้ พบว่ามีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ

1.ดีลการควบรวมระหว่าง 2 กิจการโทรคมนาคม คือ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE)

2.การหาข้อสรุปเรื่องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวระหว่าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) หน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานครที่ยืดเยื้อมานาน ที่ก่อนหน้านี้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม.ประกาศตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.ว่าเรื่องนี้ต้องจบภายใน 1 เดือน แต่สุดท้ายตอนนี้ผ่านมาแล้วหลายเดือนก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้

3.การทำสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เส้นบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ยืดเยื้อมานาน มีการฟ้องร้องคดีระหว่างบริษัทเอกชนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ทั้งที่ศาลปกครอง และศาลอาญาคดีทุจริตฯ

ที่พบว่าทั้ง 3 โครงการขนาดใหญ่-ดีลธุรกิจดังกล่าว จนถึงขณะนี้ได้กลายเป็นประเด็นทางการเมืองไปแล้วโดยปริยาย

อย่างเช่น ดีลควบรวมระหว่างทรูกับดีแทค หลังคณะกรรมการ กสทช.มีมติอนุมัติควบรวมแบบมีเงื่อนไข ก็พบว่ามีนักการเมือง นักเคลื่อนไหวการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ กสทช.อย่างหนัก 

                    โดยล่าสุดกลุ่มองค์กรผู้บริโภคเปิดเผยว่า จะฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนมติ กสทช.ดังกล่าว พร้อมทั้งขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินฯ เพื่อคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา รวมถึงจะมีการยื่นเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่าสิ่งที่ กสทช.ดำเนินการถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่หรือไม่

ส่วน สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว แนวโน้มคงยืดเยื้ออีกนาน เพราะหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ กทม.จ่ายค่าจ้างเดินรถให้ BTSC แต่ กทม.ก็ใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไปที่ศาลปกครองสูงสุด 

เช่นเดียวกับ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่ก็เป็น มหากาพย์ เมกะโปรเจ็กต์ เช่นกัน เพราะยืดเยื้อกันมานาน แม้ก่อนหน้านี้ที่บีทีเอสซึ่งเคยยื่นประมูลไปตอนรอบที่ 1 ได้ไปยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตฯ เพื่อเอาผิดผู้ว่าฯ รฟม.และคณะกรรมการคัดเลือกผู้ก่อสร้างโครงการว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ได้ยกฟ้อง เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 โดยศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติกรรมใดที่แสดงว่า​มีเจตนากลั่นแกล้งโจทก์หรือเลือกปฏิบัติ

โดยระหว่างนั้นเมื่อ 8 กันยายน 2565 ทาง รฟม.ประกาศว่า คณะกรรมการคัดเลือกผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มีมติให้เอกชนผู้ผ่านการพิจารณาข้อเสนอ คือ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)

อย่างไรก็ตาม คดีที่เกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังคงมีการฟ้องร้องกันอยู่ที่ศาลปกครอง ทำให้แม้จะได้ผู้ชนะการประมูลไปแล้ว แต่ก็ยังต้องลุ้นคดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครองที่ทางบีทีเอสซียื่นฟ้องด้วย อันพบว่า คดีที่อยู่ในชั้นศาลปกครองมีด้วยกัน 3 คดี ประกอบด้วย

 1.คดีกรณี รฟม.เปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาผู้ชนะในการประมูลครั้งที่ 1

2.คดียกเลิกการประกวดราคา และคำสั่งของผู้ว่าการ รฟม.กรณีที่ออกประกาศยกเลิกการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม เมื่อปี 2564 แต่ก่อนหน้านี้ทางศาลปกครองกลางได้พิพากษาเมื่อวันที่ 7 ก.ค.2565 ชี้ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ทาง รฟม.ยื่นอุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุด 

3.คดีกำหนดหลักเกณฑ์ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 2 ที่ขอให้ศาลตัดสินว่า ชอบหรือมิชอบด้วยกฎหมาย ที่อยู่ในขั้นตอนของศาลปกครองกลาง

                    เห็นชัดว่า ฝ่าย รฟม.และบีทีเอส ต่างฝ่ายต้องสู้คดีกันถึงที่สุด เพราะเป็นคดีที่มีเดิมพันโครงการสูง อีกทั้ง หากฝ่าย รฟม.แพ้คดี อาจทำให้สถานะการทำงานของผู้บริหาร รฟม.และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการประมูลมีปัญหาตามมาแน่นอน เรียกได้ว่าสู้กันจนถึงหยุดสุดท้ายทุกคำร้อง จนถึงศาลปกครองสูงสุดชี้ขาด

อย่างไรก็ตาม ระหว่างที่คดีกำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง ที่ทุกฝ่ายมองว่าควรรอให้ศาลปกครองพิจารณาสำนวนทั้งข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงอย่างรอบด้าน ไม่ควรมีการชี้นำหรือกดดันศาล ก็พบว่า ระหว่างนี้ก็มีความเคลื่อนไหวจากฝ่ายต่างๆ ออกมาแสดงความเห็น จนทำให้บางฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าเหมาะสมหรือไม่                 

เช่นเมื่อไม่กี่วันก่อน หลังองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน จัดเวทีสาธารณะ "กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูล รถไฟฟ้าสายสีส้ม ผลประโยชน์..หรือค่าโง่!! ที่รัฐฯ ต้องมีคำตอบ” โดยมีวิทยากร เช่น มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาบริษัท BTS ร่วมเป็นวิทยากร

 ซึ่งแต่ละคนให้ทัศนะ-ข้อมูลที่เป็นมุมมองของตัวเอง ที่สุดท้ายอยู่ที่ประชาชนจะเชื่อและให้น้ำหนักกับแต่ละฝ่ายมากน้อยแค่ไหน ที่ต้องดูด้วยว่าคนที่พูดมีความเกี่ยวข้องกับการได้ประโยชน์-เสียประโยชน์อย่างไรในโครงการนี้ เช่น ความเห็นจากฝ่ายตัวแทนบีทีเอส ที่เคยยื่นประมูลในการเปิดประมูลครั้งที่ 1 และต่อมาเป็นผู้ฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ทาง พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาบีทีเอสฯ ให้ความเห็นไปในทางว่า การที่มีการเปลี่ยนหลักเกณฑ์การคัดเลือก คือจุดเริ่มต้นของปัญหา เมื่อบีทีเอสไปร้องเรียนให้มีการตรวจสอบการกระทำที่ไม่เป็นไปตามครรลอง ไม่เป็นไปตามกฎหมายไปยังผู้มีอำนาจ แต่ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้รับคำตอบหรือหนังสือชี้แจงใดๆ

ขณะเดียวกันมีข่าวว่า ผู้จัดงานเชิญ รฟม.และทาง BEM เข้าร่วมด้วย แต่ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ส่งผู้แทนเข้าร่วมเวทีสาธารณะ โดย รฟม.ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากคดีอยู่ในชั้นการพิจารณาคดีของศาล จึงไม่สะดวกส่งผู้แทนเข้าร่วม เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ สื่อรายงานว่า มีแหล่งข่าวจากศาลปกครองบอกว่า จากการติดตามการจัดเวทีสาธารณะดังกล่าว ข้อมูลจากวิทยากรเป็นข้อมูลที่เคยออกมาคัดค้านการประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฝั่งตะวันตกแล้วทั้งสิ้น และเชื่อว่าทางบีทีเอสที่เป็นผู้ฟ้องคดีจะนำข้อมูลเหล่านี้มาใช้ในการพิจารณาไต่สวนของศาลปกครอง อย่างไรก็ดี มีความเป็นห่วงว่า การให้ความคิดเห็น หรือการจัดเวทีในลักษณะนี้อาจเข้าข่ายชี้นำ หรือกดดันกระบวนการยุติธรรมได้ เนื่องจากขณะนี้คดีความต่างๆ กำลังอยู่ในชั้นศาล อีกทั้งคดีที่บีทีเอสซียื่นฟ้องต่อ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ เกี่ยวกับการล้มประมูลครั้งแรกนั้น ศาลชั้นต้นก็ได้พิจารณายกฟ้องคดีดังกล่าว เนื่องจากคำฟ้องของโจทก์ยังไม่มีน้ำหนักในหลายประเด็น

ถือเป็นความเห็นที่น่าสนใจ เพราะสุดท้ายแล้ว เมื่อแต่ละฝ่ายมั่นใจว่า ทำถูกต้องและมีข้อมูล-มีข้อกฎหมายที่นำมาสู้เพื่อให้แพ้ชนะคดีกันได้ ก็ควรไปสู้คดี-ใส่กันเต็มที่ไปเลยที่ศาลปกครอง เพราะเมื่อคดีอยู่ในชั้นศาลแล้ว การให้ความเห็นใดๆ ในเรื่องนี้ ควรต้องระมัดระวังมากขึ้น

ทั้ง 3 เรื่องใหญ่ของดีลธุรกิจ-เมกะโปรเจกต์ คือดีลทรูกับดีแทค-การต่อสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว-การเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม จึงเป็น 3 เรื่องใหญ่ของปีนี้ ซึ่งคงยืดเยื้อยาวไปถึงปีหน้า 2566 กว่าจะได้ข้อสรุปออกมา ที่จะพบว่า จุดหมายปลายทางของทั้ง 3 เรื่อง ไปจบที่ศาลปกครองหมด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา