ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำคณะราษฎร 63 ที่ชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค.63 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง
กลายเป็นหมุดหมายสำคัญอีกหน้าประวัติศาสตร์ของการเมืองไทย และเป็นที่น่าจับตาว่า หลังจากนี้ความขัดแย้งทางความคิดในสังคมไทยที่เรื้อรังมานานจะพัฒนาไปในทิศทางใด และจะเกิดจุดเปลี่ยนทางการเมืองอย่างไร
ที่น่าสนใจคำวินิจฉัยได้ชี้ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2475 และช่วงหลัง 2475 ว่ามีบทบาทสำคัญต่อประเทศชาติอย่างไร
ก่อนจะสรุปว่า ข้อเรียกร้องที่ขอให้ยกเลิกรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่รับรองพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในฐานะทรงเป็นประมุขของรัฐ ที่ผู้ใดจะกล่าวหาหรือละเมิดมิได้นั้น จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง
การออกมาเรียกร้องโจมตีในที่สาธารณะ โดยอ้างการใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ นอกจากเป็นวิถีที่ไม่ถูกต้อง ใช้ถ้อยคำหยาบคาย และยังไปละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เห็นต่างได้ด้วย อันจะเป็นกรณีตัวอย่างให้คนอื่นทำตาม
การเคลื่อนเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 และกลุ่มเครือข่ายที่เกี่ยวข้องมีลักษณะเป็นขบวนการเดียวกัน ลักษณะของการปลุกระดม ให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ มีลักษณะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความรุนแรงในสังคม
ผู้ถูกร้องทั้ง 3 ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างจากบุคคล รวมทั้งล่วงละเมิดสิทธิส่วนตัวของบุคคลอื่นที่เห็นต่างด้วยการด่าทอ รบกวนพื้นที่ส่วนตัว ยุยงปลุกปั่น ด้วยข้อเท็จจริงที่บิดเบือนจากความเป็นจริง
การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีการจัดตั้งกลุ่มในลักษณะเป็นองค์กรเครือข่าย มีการใช้ความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง บางเหตุการณ์ผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีส่วนในการจุดประกายในการอภิปรายปลุกเร้าให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ
นอกจากนี้ยังปรากฏว่าการชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ การแสดงออกโดยลบแถบสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นสีของพระมหากษัตริย์ออกจากธงไตรรงค์
ข้อเรียกร้อง 10 ข้อของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เช่น การยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ การยกเลิกการรับบริจาคโดยพระราชกุศล การยกเลิกพระราชอำนาจ และการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ เป็นข้อเรียกร้องที่ทำให้สถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของชาติไทยที่ยึดถือปฏิบัติกันตลอดมา
ทั้งพฤติการณ์และเหตุการณ์ต่อเนื่องจากการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 แสดงให้เห็นมูลเหตุจูงใจว่าผู้ถูกร้องทั้ง 3 มีเจตนาซ่อนเร้น เพื่อล้มล้างระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไม่ใช่เป็นการปฏิรูป การใช้สิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมายมีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านพ้นไปแล้ว แต่หากยังคงให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มในลักษณะองค์กรเครือข่ายกระทำการดังกล่าวต่อไป ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสอง
เหตุดังกล่าวจึงวินิจฉัยว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49 และสั่งการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วยตามมาตรา 49 วรรคสอง
คำวินิจฉัยดังกล่าวมีทั้งผู้เห็นและไม่เห็นด้วย ฝ่ายที่เห็นด้วยก็ชื่นชมคำวินิจฉัยว่าเขียนอย่างละเอียดครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ พฤติการณ์ของผู้ถูกร้อง ใช้หลักกฎหมายตัดสินอย่างถูกต้องแล้ว
และมองว่าการสั่งห้ามเลิกกระทำดังกลาวเป็นการป้องปราม จะช่วยเบรกไม่ให้กลุ่มผู้ชุมนุมยกเพดานการเคลื่อนไหวที่อาจจะเกิดความรุนแรงยิ่งกว่าเดิม
ส่วนฝ่ายผู้ชุมนุมและเครือข่าย ก็อ้างว่าพวกตนแค่เรียกร้องปฏิรูปสถาบัน พร้อมยืนยันเจตนารมย์ว่า ปฏิรูป ไม่ได้แปลว่าล้มล้าง
ขณะที่ฝ่ายการเมืองโดยพรรคก้าวไกลออกมาแถลงต่อต้านคำวินิจฉัยทันที นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ระบุว่า อนาคตประเทศไทยเดินไปตามเส้นทางที่สุ่มเสี่ยงและคับแคบ และก่อนที่ศาลฯจะอ่านคำวินิจฉัย นายปิยบุตร แสงกนกกุล แกนนำคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความเชิงข่มขู่ว่าจะเกิด สงครามกลางเมือง
สอดรับกับ นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์หากมี “การปฏิรูป” ก็อยู่รอด แต่หากขัดขืนดำเนินไปแบบเดิม ๆ หรือ แบบทั้งรุนแรง ทั้งร้ายแรง ก็จะหลีกเลี่ยง “การปฏิวัติ” ที่นองเลือดไปไม่ได้
หลังศาลรัฐธรรมนูญอ่านคำวินิจฉัยจบแล้ว แต่เหมือน ยังไม่จบ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เรียกร้องผู้ที่เกี่ยวข้องทุกระดับจะต้องบังคับใช้กฎหมายเพื่อนำตัวผู้กระทำความผิดทุกกลุ่มทุกระดับทั้งในประเทศและต่างประเทศมาลงโทษให้ได้
โดยเฉพาะ นายณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และผู้ร้องคดี ระบุว่า คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคือ"สารตั้งต้น" มีผลผูกพันทุกองค์กร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องนำคำวินิจฉัยไปพิจารณาดำเนินการต่อไป เช่น การพิจารณาเอาผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในข้อหากบฏ และความผิด ในเรื่องความผิดต่อความมั่นคง เช่น การเอาผิด มาตรา 112 มาตรา 116 มาตรา 215
ส่วนพรรคการเมือง หากพบชัดว่าเกี่ยวข้องก็ต้องเอาผิดตาม พ.ร.บ.พรรคการเมืองมาตรา 45, มาตรา 92 ก่อนหน้านี้ตนได้เคยไปยื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พิจารณาไต่สวนพรรคก้าวไกล ตั้งแต่ปี 2563 แล้ว กกต.คงรอคำวินิจฉัยอย่างเป็นทางการในคดีล้มล้างมาประกอบ แล้วก็คงส่งศาลให้วินิจฉัยยุบพรรคต่อไป
ส่วนอาจารย์มหาวิทยาลัยคนใดที่เกี่ยวข้องในการให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวดังกล่าว เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จะถูกเอาผิดฐานละเว้น ตามมาตรา 157
เรียกได้ว่าบุคคลหรือองค์กรใดที่สนับสนุนการกระทำดังกล่าว จะต้องถูกเอาผิดเป็นหางว่าวเลยทีเดียว
สำหรับกลุ่มผู้ถูกร้องและเครือข่ายก็ยังมีการเคลื่อนไหว โดยนัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยในวันอาทิตย์นี้
เมื่อคำวินิจฉัยศาลสั่งให้เลิกกระทำการที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย ตามมาตรา 49 วรรคสองแล้ว แต่หากผู้ชุมนุมยังเคลื่อนไหวภายใต้ข้อเรียกร้องเดิม 10 ข้อ ก็จะมีผู้ยื่นคำร้องให้เอาผิดอีกอย่างแน่นอน
ที่น่าเป็นห่วงคือ มีการนำคำวินิจฉัยไปขยายความและชี้นำในทางที่บิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดย ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุถึงมีผู้ยกข้อความสั้นที่ตัดออกจากบริบท อาจทำให้คนรับเข้าใจคลาดเคลื่อน เช่น จั่วหัวว่า “เห็นได้ว่าประวัติศาสตร์การปกครองของไทยนี้ อำนาจการปกครองเป็นของพระมหากษัตริย์มาโดยตลอด”
แต่ความจริงศาลรัฐธรรมนูญ แยกระหว่าง ก่อนและหลัง 2475 หลัง พ.ศ.2475 พระมหากษัตริย์ไทยจึงไม่มีอำนาจการปกครองเหมือนอย่างก่อนหน้า พ.ศ.2475
นายพิภพ ธงไชย อดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เตือนว่า การหลอกลวงของกลุ่มปฏิเสธสถาบันกษัตริย์โดยการตัดทอนอย่างจงใจ สั้นๆ ต่อคำพิพากษาศาล รธน.และเผยแพร่ออกไป ด้วยการตั้งคำถามต่อท้ายจะนำไปสู่ความเข้าใจผิดเหมือนที่ฝ่ายขวาทำในเหตุการณ์ 6 ตุลา. 19 จนเกิดการฆ่านักศึกษาประชาชนอย่างโหดเหี้ยม
ขณะเดียวกัน ที่อาคารอเนกประสงค์ สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธานพิธีเปิดการศึกษาหลักสูตรการป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่นที่ 64 มีผู้เข้ารับการศึกษา 288 คน โดยนักศึกษา วปอ.ได้ร่วมขับร้องเพลง "บ้านเกิดเมืองนอน" โดยระบุว่า เป็นเสมือนการตั้งปณิธานร่วมกันว่า "จะรัก สามัคคี และช่วยกันรักษาบ้านเมือง เพื่อเป็นกำลังใจนายกฯ"
คล้ายกับบรรยากาศช่วงเหตุการณ์ 6 ตุลา. 19 หวนกลับมาอีกครั้ง
โดยสรุปแล้ว คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญยังไม่สามารถยับยั้งความขัดแย้งทางความคิด 2 ขั้ว ในสังคมไทยได้ แม้ฝ่ายผู้ชุมนุมจะอ้างว่าพวกตนต้องการปฏิรูปสถาบัน ไม่มีเจตนาล้มล้าง แต่พฤติกรรมก็ย้อนแย้งตัวเอง เช่น ฉากหลังที่ รุ้ง-ปนัสยา ปราศรัยเมื่อ 10 ส.ค.63 ก็โชว์หราว่า เราไม่ต้องการปฏิรูป แต่เราต้องการ "ปฏิวัติ" ยุทธศาสตร์ที่ดูเหมือนก้าวหน้า แต่ยุทธวิธีกลับล้าหลัง ไร้อารยะ การเคลื่อนไหวที่ เลยธง เช่นนี้ยิ่งสร้างความหวาดกลัวให้กับสังคมไทย
อย่างไรก็ตาม องค์กรเครือข่ายและแนวร่วมทางความคิดเหล่านี้ก็มีจำนวนมากเสมือนคนที่ถูก ติดชิปทางความคิด ยากที่จะเปลี่ยนกลับไปคิดแบบอื่นได้
ส่วนฝ่ายปกป้องสถาบัน-ชนชั้นนำ ซึ่งมีเครือข่ายและโครงสร้างทางอำนาจที่เข้มแข็ง ก็ใช้มาตรการทางกฎหมายจัดการฝ่ายปฏิรูปสถาบัน ไม่มีท่าทีจะหันหน้าลงมาพูดคุยเจรจาหาทางออกร่วมกัน ด้วยความสมานฉันท์ แต่ก็ไม่มีการเร่งรัดปฏิรูปประเทศทุกด้านตามคำมั่นสัญญา เพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชน โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เชื่อมั่นว่าเขาจะมีอนาคตที่ดีกว่าเดิมได้ จึงไม่สามารถเปลี่ยนความคิดหลอมรวมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเป็นปึกแผ่นได้
ความขัดแย้งแตกแยกทางความคิดในสังคมไทยที่เรื้อรังมานาน จึงยังวนเวียนอยู่ที่เดิมเป็นการ ติดหล่มความขัดแย้ง ที่ยังไม่เห็นสัญญาณว่าจะคลี่คลายลงอย่างไร
ทั้งนี้ ความแตกแยกและการขาดความสมานฉันท์ในสังคมจะเป็นอุปสรรคต่อความร่วมมือกันของภาคส่วนต่างๆ ส่งผลต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมในทุกมิติ
ในขณะที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังต่อสู้กับการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่รู้จะจบลงเมื่อไหร่ สำหรับประเทศไทยนอกจากกำลังต่อสู้กับโควิด-19 อย่างเหน็ดเหนื่อยแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัญหาความแตกแยกทางความคิด ซึ่งสถานการณ์ที่เปราะบางเช่นนี้ ยากที่ประเทศชาติจะพัฒนาให้ก้าวหน้าทันโลกได้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน
'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'
ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1
'จอน อึ้งภากรณ์' ผู้ก่อตั้งไอลอว์ ชี้ไทยเป็นประชาธิปไตยไม่ได้ หาก 'อานนท์ นำภา' ยังติดคุก
นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเทศไทยจะยังเป็นประชาธิปไตยไม่
ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง
การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี
‘ทักษิณ’ไม่กล้าเขี่ย‘ภท.-รทสช.’
เป็นความสัมพันธ์ที่แม้แต่คนภายนอกยังมองออกว่ากระท่อนกระแท่น สำหรับความสัมพันธ์ของพรรคร่วมรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร