ภาวะคลุมเครือ ‘พปชร.’ ‘หัว’ ไม่ชัด ‘หาง’ ขยับไม่ถูก

แม้ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ และกรรมการยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะไม่ได้เป็นแกนนำคนสำคัญของพรรค แต่ถือเป็น ส.ส.อาวุโสของพรรคคนหนึ่งที่กล้าพูดและกล้าแสดงความคิดเห็น

ครั้งหนึ่งระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เคยพา "บิ๊กป๊อก"-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย มาเคลียร์ใจกับ ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐ หลังมีกระแสข่าวว่าจะโหวตสวน โดยนายวีระกรคือตัวแทน ส.ส.ที่พูดกับ "บิ๊กป๊อก" อย่างตรงไปตรงมาว่า ส.ส.ไม่พอใจเรื่องอะไร และควรจะต้องทำอย่างไร 

นอกจากนี้ยังเคยวิพากษ์วิจารณ์ "บิ๊กตู่"-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ว่าทำตัวห่างเหิน ส.ส. ต่างจาก "บิ๊กป้อม"-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ฉะนั้น การออกมาเรียกร้องติดๆ กันให้ "บิ๊กตู่" มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะโดยคำสั่งของใคร ย่อมต้องเงี่ยหูฟัง เพราะอย่างน้อยเป็นความรู้สึกนึกคิดของคนในพรรค

อย่างไรก็ดี ท่าทีของนายวีระกรที่ออกมาถือเป็นการบ่งบอกสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ได้ในระดับหนึ่ง นั่นคือภาวะ "ไร้ความชัดเจน"

แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ "บิ๊กตู่" เริ่มนับในปี 2560 ตอนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้ ทำให้เหลือโควตาเป็นผู้นำอีก 2 ปีเศษ สามารถเสนอชื่อเป็นแคนดิเดตนายกฯ ได้ แต่ถึงตรงนี้กลับไม่มีใครรู้ว่า "บิ๊กตู่" จะเอาอย่างไร

ช่วงที่ผ่านมามีข่าวออกมาหลายทาง ทางหนึ่งว่า "บิ๊กตู่" จะวางมือทางการเมือง เพราะเหลือโควตาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพียง 2 ปีเท่านั้น 

ทางหนึ่งว่า "บิ๊กตู่" จะไปเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติของ "เสี่ยตุ๋ย"-พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ฝ่ายการเมือง ในฐานะหัวหน้าพรรค 

โดยมีข่าวว่าสาเหตุที่ "บิ๊กตู่" ไม่ต้องการใช้พรรคพลังประชารัฐเป็นนั่งร้าน เพราะเงาด้านหลังของ "บิ๊กป้อม" ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จภายในพรรคพลังประชารัฐขณะนี้ 

กระแสข่าวสารพัดทางที่ออกมาล้วนเกิดจากความไม่ชัดเจนของ "บิ๊กตู่" ว่าจะเอาอย่างไรทั้งสิ้น

ถึงตรงนี้ พรรคพลังประชารัฐแทบจะเป็นพรรคเดียวที่มีความเคลื่อนไหวในสนามเลือกตั้งที่เบาบางเมื่อเทียบกับพรรคการเมืองอื่นในระนาบเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคก้าวไกล หรือแม้แต่พรรคเกิดใหม่ทั้งหลาย

พรรคอื่นสามารถนำเสนอ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี หรือตัวผู้นำของพรรคตัวเองไปนานแล้ว ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐกลับพูดได้ไม่เต็มปาก เพราะขนาดผู้ใหญ่ภายในพรรคยังไม่แน่ใจเลย

และความคลุมเครือตรงนี้นี่เองที่ทำให้ ส.ส.หลายคนของพรรคพลังประชารัฐชิงตัดสินใจย้ายพรรคก่อนที่จะรู้คำตอบจากผู้มีอำนาจ เพราะมันล่วงเลยมาถึงเดือนตุลาคมแล้ว

คนที่สั่นไหวกับความไม่ชัดเจนตรงนี้ที่สุดคือ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐที่ยังอยู่ เพราะระยะเวลามันกระชั้นชิดบีบมาทุกทีให้ต้องตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรกับสนามเลือกตั้งครั้งหน้า ระหว่างรีบย้ายพรรค หรือรอดูสถานการณ์ที่เหลือน้อยเต็มทีสำหรับการเตรียมตัวเลือกตั้ง  

สำหรับบางส่วนในพรรคพลังประชารัฐไม่มีปัญหากับการที่ "บิ๊กตู่" จะอยู่หรือไม่อยู่ เพราะมองว่า "บิ๊กป้อม" สามารถถือธงนำทัพได้ และการไม่มี "บิ๊กตู่" ยังจะเป็นข้อดี ทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการจับขั้วทางการเมืองในอนาคต โดยเฉพาะกับพรรคเพื่อไทย 

แต่อีกบางส่วนให้ความสำคัญกับตรงนี้ เพราะมองว่าหาก "บิ๊กตู่" กับ "บิ๊กป้อม" ผนึกกำลังไปด้วยกันต่อ ผลลัพธ์ในสนามเลือกตั้งน่าจะเป็นบวกมากกว่าแยกกันเดิน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ที่คนในพรรคยังเชื่อว่าชื่อของ "บิ๊กตู่" ยังคงขายได้ แม้จะเหลืออายุใช้งานได้อีกเพียง 2 ปีก็ตาม

ขณะเดียวกันยังเชื่อกันอีกว่า ถ้า 2 พี่น้องยังลุยด้วยกันต่อ เลือดที่ไหลออกไปแล้วจะมีบางส่วนไหลกลับมา เพราะทำให้เห็นว่าผู้มีอำนาจยังเอาอยู่

ซึ่งสถานการณ์ภายในพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ทำได้เพียงแต่เรียกร้องให้ผู้ใหญ่รีบคุยกันเพื่อสร้างความชัดเจน เพราะนักเลือกตั้งยิ่งช้ายิ่งเสียเปรียบ 

ขณะที่จับอาการ "บิ๊กตู่" ที่ยังนิ่ง แม้เป็นเวลาที่กระชั้นมากเรื่อยๆ มันพอจะอนุมานได้เหมือนกันว่าอยู่ระหว่าง "ชั่งใจ" เช่นกัน ไม่เช่นนั้นคงจะแสดงความชัดเจนออกมาแล้ว

แต่กระนั้น ลำพังตัว "บิ๊กตู่" จะไปต่อหรือไม่ไปต่อ คงเป็นแค่ปัญหาเฉพาะตัว ไม่มีผลกระทบอะไรมาก แต่สำหรับสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ การไปต่อหรือไม่ไปต่อ สำคัญมากในเวลานี้ เพราะมีผลเกี่ยวพันกับอนาคตตัวเองในสนามเลือกตั้งและทางการเมือง

การออกมาเรียกร้องให้ "บิ๊กตู่" สมัครสมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ในทางหนึ่งมันคือการทวงถามความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไร.  

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สส.พลังประชารัฐ แห่ลงชื่อชง 'บิ๊กป้อม' ขับ 'สามารถ' พ้นพรรค

จากกรณีปัญหาภายในพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) หลังไลน์สส.พรรคหลุด แสดงความไม่พอใจนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วยรมว.ยุติธรรม และสมาชิกพรรคพปชร.ที่ออกมาวิพากษณ์วิจารณ์รัฐบาลและนายกรัฐมนตรี

เศรษฐาเกาะ“มีชัย”หวังชนะคดี เปิดข้อต่อสู้32หน้าขอศาลอยู่ยาว

เมื่อวันอังคารที่ 30 ก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้ถูกร้องในคดีกลุ่ม 40 อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ยื่นคำร้องให้ศาล รธน.วินิจฉัยกรณี นายกฯ นำความกราบบังคมทูลฯ เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็น รมต.สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดส่ง เอกสารคำแถลงปิดคดี ในคดีดังกล่าวถึงสำนักงานเลขาธิการศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ไลน์กลุ่ม สส.พปชร. โวย 'สามารถ' ทำพรรควุ่นวาย จ่อคุยบิ๊กป้อมหาทางแก้

ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคพลังประชารัฐ ต่อกรณีนายสามารถ เจนชัยจิตรวนิช อดีตผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม เคลื่อนไหวเชิงตำหนินายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลออกสื่ออย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงบทบาทของนายสามารถในพรรคพลังประชารัฐในระยะหลังโดยเฉพาะการชักชวนนายวัน

ก้าวไกลชงนิรโทษฯ 112 แบบมีเงื่อนไข ห้ามทำผิดซ้ำ 3-5 ปี แมตช์วัดใจ พท.-ทักษิณ

เดิมที ศุกร์ที่ผ่านมา 26 ก.ค. คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม สภาผู้แทนราษฎร ที่มี ชูศักดิ์ ศิรินิล จากพรรคเพื่อไทยเป็นประธาน