ครบรอบ 49 ปี 14 ตุลา, 46 ปี 6 ตุลา บทเรียนทางประวัติศาสตร์น่าจะยกระดับการพัฒนาระบอบประชาธิปไตยของไทยให้เข้มแข็ง มีระบบการเมืองโปร่งใส่ นักการเมืองมีคุณภาพ ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สังคมเจริญรุ่งเรือง
แต่การเมืองไทยก็ยังวนอยู่ลูปเดิม มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเกิดการทุจริตคอร์รัปชัน ใช้อำนาจในทางมิชอบ ประชาชนออกมาชุมนุมขับไล่ ทหารยึดอำนาจรัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้ไขกติกาเลือกตั้ง ส.ส.ย้ายพรรค ฯลฯ
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้า คสช.ยึดอำนาจ แล้วร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งพรรคการเมือง สืบทอดอำนาจด้วย รธน.ที่ร่างขึ้นมาเพื่อตัวเอง และกว่า 8 ปีที่อยู่ในอำนาจไม่ได้ทำให้การเมืองพัฒนาในทางที่ดีขึ้น เพราะไม่ได้มีการปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง ตามเสียงเรียกร้องของประชาชน แค่มียุทธศาสตร์เท่ๆ อยู่ในแผ่นกระดาษไว้อวดอ้างว่าได้ทำแล้ว
ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยปมระยะเวลา 8 ปีของการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ให้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ไปต่อถึงปี 2568 และเข้าสู่โหมดเลือกตั้งต้นปี 2566 หรือไม่เกิน 7 พ.ค.66 เกิดการเคลื่อนไหวในพรรคการเมืองต่างๆ ที่สะท้อนบริบทการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี
พรรคการเมืองเก่าแก่อย่างพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มีสมาชิกย้ายออกและย้ายเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส.ส.หลายคนได้เริ่มตัดสินใจย้ายพรรค โดยแบ่งเป็น 2 ล็อต โดยล็อตแรกตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.เป็นต้นไป ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 105 ที่เขียนยกเว้นไว้ว่า ในกรณีที่อายุของสภาผู้แทนราษฎรเหลือไม่ถึง 180 วัน ไม่ต้องมีเลือกตั้งซ่อม เปิดโอกาสให้ ส.ส.ย้ายไปอยู่สังกัดพรรคใหม่ได้
จึงมี ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน จำนวน 29 คน ปรากฏตัวเมื่อวันที่ 4 ต.ค. ที่ จ.บุรีรัมย์ ในงานวันเกิดครบ 64 ปีของ นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรฟุตบอลบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด ในฐานะ ครูใหญ่ ของพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ซึ่งคาดว่า ส.ส.ทั้ง 29 คน จะย้ายไปอยู่ ภท.ทั้งหมด
ล็อตที่ 2 คือวันที่ 24 ธ.ค.เป็นต้นไป เป็นวันนับถอยหลัง 90 วันของอายุสภา ที่กฎหมายกำหนดให้คนลงสมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 90 วันนับถึงวันเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 97 (3) และเว้นแต่กรณีที่มีการเลือกตั้งทั่วไป เพราะเหตุยุบสภา ระยะเวลา 90 วันดังกล่าวให้ลดลงเหลือ 30 วัน
ปมปัญหาดังกล่าว นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ แกนนำพรรคสร้างอนาคตไทย ฟันธงว่า พรรคที่เขาแอบเลี้ยง ส.ส.ไว้ในพรรคอื่น เขาจะให้ ส.ส.ลาออกก่อน 24 ธ.ค.2565 ไม่งั้นเสียเงินฟรี ดังนั้นหลัง 24 ธ.ค. สภาจะเปิดประชุม หรือเสนอกฎหมายอะไรไม่ได้เลย คว่ำแน่ 100% สภาหลัง 24 ธ.ค. จึงไม่มีประโยชน์อีกต่อไป พล.อ.ประยุทธ์คงไม่ยอมให้ ส.ส.ทยอยออกทีละคนสองคน เมื่อสภาก็ทำงานไม่ได้ ผลิตกฎหมายก็ไม่ได้ จะใข้ยุทธวิธีแบบโจโฉที่ "ไม่ยอมให้โลกทรยศ" ด้วยการยุบสภาก่อน 24 ธ.ค.2565
คำว่า แอบเลี้ยง ส.ส.ไว้ที่พรรคอื่น นั้นก็หมายถึงว่า ตัว ส.ส.อยู่อีกพรรคการเมืองหนึ่ง แต่แอบรับค่าตัวและใช้จ่ายรายเดือนจากอีกพรรค ตามสัญญากันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะย้ายไปอยู่กับพรรคที่จ่ายเงินให้นั่นเอง
ขณะที่พรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ได้จัดประชุมใหญ่วิสามัญ หลังจาก ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา ในฐานะหัวหน้าพรรคได้ลาออก โดยที่ประชุมมีมติเลือก นายเชวงศักดิ์ ใจคำ เป็นหัวหน้าพรรค พร้อม กก.บห.ชุดใหม่ ซึ่ง ส.ส.ที่ตามมากับ ร.อ.ธรรมนัส ไม่ได้เป็น กก.บห.ชุดใหม่เลย เพื่อเปิดทางให้ ส.ส.ได้ย้ายพรรคในการเลือกตั้งครั้งหน้า
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส จะย้ายกลับพรรคเพื่อไทย (พท.) ตามที่มีดีลลับกับ คนแดนไกลดูไบ-ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาเรื่องการทับซ้อนของผู้สมัคร ส.ส.บางพื้นที่ แม้ ทักษิณ และ ธรรมนัส จะปฏิเสธว่าไม่มีดีลลับ แต่ก็ยังเปิดทางให้ธรรมนัสกลับเข้า พท.ได้ แต่อย่างไรก็ตามยังมีคลื่นใต้น้ำต่อต้านอยู่เช่นกัน
ภายหลัง ร.อ.ธรรมนัส ย้ายออกจาก พปชร.ไปตั้งพรรค ศท. แต่ความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้า พปชร. ก็ยังแนบแน่นเหมือนเดิม ติดปัญหาที่ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ยังฝังแค้นกับ ร.อ.ธรรมนัสอยู่ แต่หากแผนไปสังกัด พท.สะดุด จะย้ายมา พปชร. กลุ่มสามมิตรก็ไม่แฮปปี้ อาจถึงถอนตัวออกจาก พปชร.เลยทีเดียว
ทั้งนี้หลังจากเกิดความขัดแย้งภายใน พปชร.มาอย่างต่อเนื่อง พล.อ.ประยุทธ์จะได้ไปต่อแค่ปี 68 การจัดทัพภายใน พปชร.ยังไม่ชัดเจน กระแสความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ และ พปชร.ก็ตกต่ำเรื่อยๆ ทำให้ พปชร.ตกอยู่ในภาวะสับสน ระส่ำระสาย ส.ส.บางคนที่มีทางเลือกก็ตัดสินใจย้ายพรรคไปแล้ว จนคาดการณ์กันว่าหากยังอยู่ในภาวะเช่นนี้ การเลือกตั้งครั้งหน้า พปชร.อาจจะได้ ส.ส.ประมาณ 40 คนเท่านั้น
ขณะที่ นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรค พปชร. ซึ่งเคยเสนอให้ พล.อ.ประวิตร เป็นหนึ่งในแคนดิเดตนายกฯ ของ พปชร. ออกมาบอกว่า ให้ พล.อ.ประวิตร กับ พล.อ.ประยุทธ์ คุยกันเรื่องแคนดิเดตนายกฯ ให้ชัดเจน เราได้ส่งสัญญาณว่าต้องรีบคุยกันแล้ว ท่านก็ยังเงียบ จะไปเอาใกล้ๆ ถึงหน้างานว่าจะเอาใครเป็นนายกฯ ไม่ได้ เพราะตอนนี้เงื่อนไขชัดเจนแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ได้ 2 ปี ดังนั้นต้องเลือกว่าจะให้ พล.อ.ประยุทธ์ หรือ พล.อ.ประวิตร เป็นนายกฯ
นายวีระกรยังบอกว่า “พล.อ.ประยุทธ์จะต้องรีบเข้ามาเป็นสมาชิกพรรค พปชร.โดยด่วน จะมายืนอยู่อย่างนี้ไม่ได้ อย่าไปเที่ยวยืนไม่รู้ร้อนรู้หนาวอยู่ตรงไหนก็ไม่รู้ ท่านจะต้องลงมาช่วย พปชร. มาเป็นสมาชิกพรรค มาเป็น กก.บห.”
แต่ยังไม่มีใครรู้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไปต่อถึงปี 68 หรือยุติบทบาทหลังครบเทอม แต่หากจะไม่ไปต่อ ก็คงยังบอกใครไม่ได้ ต้องรอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปก ครั้งที่ 29 วันที่ 16-18 พ.ย.นี้ ให้เรียบร้อยเสียก่อน มิเช่นนั้นจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น
และคาดว่าหลังประชุมเอเปก พล.อ.ประยุทธ์ จะกำหนดบทบาทตัวเองชัดเจนขึ้น และในขณะที่ พปชร.ยังระส่ำระสาย บทบาท 2 ป.ยังไม่ชัดเจน พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมการสู่โหมดเลือกตั้งกันคึกคัก
พรรคเพื่อไทยได้แถลงเปิดศูนย์ปฏิบัติการการเลือกตั้งพรรค โดยมีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.นครราชสีมา เป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ มีผู้อำนวยการและคณะกรรมการทั้งสิ้น 55 คน ที่น่าสนใจมี นายพานทองแท้ ชินวัตร และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เป็นที่ปรึกษาด้วย
เท่ากับว่า ครอบครัวชินวัตร ส่งลูกสาวและลูกชายลงมากำกับพรรค พท.อย่างชัดเจน แกนนำพรรค พท.ก็ยังมั่นใจว่าพรรค พท.ชนะแบบแลนด์สไลด์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ที่ปรึกษาคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง คุยโวว่าโพลของพรรค เราชนะขาด ชนะจนพวกนั้นร้องไห้ จะเอาอะไรมาชนะพรรคเพื่อไทย
เมื่อรัฐบาลเกิดปัญหาในการบริหารงาน พรรค พท.และฝ่ายค้านก็ยิ่งออกมาซ้ำเติมจุดอ่อน โดยเฉพาะหลังเกิดเหตุเศร้าสลด ช็อกโลก ที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลอุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู เมื่ออดีตตำรวจ สภ.นาวัง ที่มีคดียาเสพติด ใช้อาวุธทั้งปืนและมีด ฆ่านักเรียนและครูภายในศูนย์ฯ รวมทั้งประชาชน จนมีผู้เสียชีวิตรวม 37 ศพ บาดเจ็บ 10 ราย เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา
พรรคเพื่อไทยได้ทีถล่มรัฐบาลว่าปราบปรามยาเสพติดล้มเหลว พร้อมกับประกาศว่าจะฟื้นนโยบาย สงครามปราบปรามยาเสพติด ยุค นายทักษิณ ชินวัตร มาใช้ แต่บอกว่าจะปรับปรุงส่วนที่บกพร่อง และจะขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญขยี้ซ้ำอีก
ทั้งนี้ในยุคปัจจุบันยาเสพติดระบาดอย่างหนัก มีข่าวผู้เสพยาเสพติด โดยเฉพาะยาบ้า ก่ออาชญากรรมสะเทือนขวัญแทบทุกวัน โดยคาดว่ามีผู้ติดยาเสพติดนับล้านคน เงินหมุนเวียนปีละนับหมื่นล้านบาท เมื่อรัฐบาลล้มเหลวในการปราบปรามยาเสพติด คนกลุ่มหนึ่งก็โหยหานโยบายที่เด็ดขาดแบบยุคทักษิณ ทั้งที่เป็นตราบาปของรัฐบาลทักษิณ ที่มีการ ฆ่าตัดตอน กว่า 2.5 พันคน
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานการประชุมเพื่อกำหนดมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดและอาวุธปืน พร้อมออก 4 มาตรการด่วน สั่งทบทวนเกณฑ์ครอบครองปืน คุมเข้มคุณสมบัติต้องตรวจสภาพจิต ออก พ.ร.บ.คืนปืนเถื่อนไม่มีโทษ แก้กฎหมายผู้เสพใหม่ ยาบ้า 5 เม็ดถือเป็นผู้ค้า
แต่สังคมส่วนใหญ่ก็ยังไม่เชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ในอำนาจมา 8 ปี ยังแก้ไม่ได้ หนำซ้ำปัญหากลับยิ่งลุกลามมากกว่าเดิม
เป็นที่ทราบกันดีว่า ยาเสพติด สถานบันเทิงผิดกฎหมาย ธุรกิจสีเทาทั้งหลาย มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปเกี่ยวข้องทั้งนั้น แต่ เลี้ยงไข้ไว้เพื่อรีดส่วย เรียกรับสินบน แม้กระทั่งเรียกค่าไถ่ ยิ่งได้ เปอร์เซ็นต์นำจับ ก็ยิ่งทำให้จับไม่หมดสักที แต่เมื่อมีนโยบายจากผู้บังคับบัญชาให้จัดการ ก็จับโชว์ทำยอดให้ได้ แต่ไม่นานก็กลับไปสู่วังวนเดิม
ปัญหาสำคัญไม่ใช่เรื่องบทลงโทษเบาหรือไม่มีมาตรการเข้มงวด แต่เพราะการบังคับใช้กฎหมายไร้ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะตำรวจ ต้นทางกระบวนการยุติธรรม ยังอยู่ในโครงสร้างที่ล้าหลัง ติดกับดักอยู่กับการวิ่งเต้นโยกย้าย ซื้อ-ขายเก้าอี้ หาเงินส่งนาย ทำตามคำสั่งนายมากกว่าความถูกต้อง จึงไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายอย่างสุจริตเที่ยงธรรมได้
รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและระบบการสอบสวนคดีอาญา มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหลายชุด คณะกรรมการชุด นายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน เสนอร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ถือว่าก้าวหน้าระดับหนึ่ง แต่เมื่อถึงมือนายกฯ กลับมีการแก้ไข แปลงสาร หมกเม็ด เสนอเข้ารัฐสภา จนไม่เหลือสาระสำคัญ จึงไม่เรียกว่าเป็นการปฏิรูปแต่อย่างใด
หากไม่สามารถทำให้ระบบตำรวจทำหน้าที่รักษากฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ 4 มาตรการดังกล่าวก็ไม่มีหลักประกันว่าจะทำสำเร็จได้ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ ผู้คนก็หันไปประกอบอาชีพที่ไม่สุจริตเพื่อความอยู่รอด เจ้าหน้าที่รัฐก็หาประโยชน์จากสิ่งผิดกฎหมาย สังคมก็ไร้ความสงบสุข
49 ปี 14 ตุลา การเมืองไทยยังวนอยู่ลูปเดิม เพราะไม่มีการปฏิรูปการเมือง กระบวนการยุติธรรมก็ยังล้าหลัง เพราะไม่มีการปฏิรูปตำรวจ ยาเสพติดระบาดหนัก อาชญากรรมพุ่งสูงขึ้น นับถอยหลังเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง บทบาท 2 ป.ยังคลุมเครือ ฐานอำนาจเริ่มง่อนแง่น คะแนนนิยมเริ่มตกต่ำ ฝ่ายตรงข้ามรุกหนัก เป็นโจทย์ที่ต้องแก้เกมให้ได้ ก่อนที่จะพ่ายแพ้ในกระดานการเมืองต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'จักรภพ' ดิ้น! แจงวาทกรรม 'ผู้มีอำนาจเดิม' หมายถึง ระบบราชการ
นายจักรภพ เพ็ญแข ได้โพสต์ข้อความอธิบายถึงประเด็นดังกล่าวอีกว่า งานตัดต่อคำพูดยาวๆ ให้ลดเหลือเพียง 1-2 ประโยคของเนชั่นทีวีเมื่อวันก่อน ทำให้มีคนเข้าใจผิดผมมากอยู่ เพราะประโยคที่เหลือนั้นมีใจความว่า
ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ
ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
'เทพไท' ชี้เป้า 200 ส.ส. ของทักษิณ เป็นไปได้ยาก
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์เฟซบุ๊ก "เทพไท - คุยการเมือง" ระบุว่า ผล อบจ.อุดรธานี ไม่ได้ชี้วัดเป้า200 ส.ส.ของทักษิณ
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์