เลือด ‘พปชร.’ ยังไม่หยุดไหล สถานการณ์บีบ ‘ลดไซส์พรรค’

สำหรับ นักเลือกตั้ง การเปลี่ยนแปลงพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องปกติ โดยเฉพาะในช่วงก่อนการเลือกตั้งที่จะมุ่งไปพรรคการเมืองที่มีโอกาสพาตนเองเข้าสภาผู้แทนราษฎร หรือการเป็นรัฐบาลเพื่อนำงบประมาณลงสู่พื้นที่ 

แต่สิ่งที่เกิดกับ พรรคพลังประชารัฐ ในขณะนี้ สามารถเรียกว่า ปรากฏการณ์เลือดไหล ก็ได้ เพราะมี  ส.ส.มากกว่าสิบชีวิตเตรียมตัวขนของไปอยู่พรรคใหม่ 

ก่อนหน้านี้มี ส.ส.บางคนตัดสินใจทิ้งเก้าอี้ ส.ส.เพื่อไปร่วมงานกับ เฮียกวง-นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีอีกครั้งที่พรรคสร้างอนาคตไทย ได้แก่ นายวิเชียร ชวลิต และ นายสุพล ฟองงาม อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และยังมีข่าวว่าจะมี ส.ส.ตามไปอีกในไม่ช้า โดยเฉพาะ นายวัชระ ยาวอหะซัน ส.ส.นราธิวาส ที่ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ จี้ถามความชัดเจนในการประชุมพรรคหลายรอบ 

ขณะที่เมื่อไม่นานมานี้ มาดามเดียร์-นางวทันยา  บุนนาค อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และอดีตแกนนำกลุ่มดาวฤกษ์ ทิ้งตำแหน่ง ส.ส.เพื่อย้ายไปอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์  โดยมีรายงานว่า อาจจะมี ส.ส.กทม.ของพรรคพลังประชารัฐบางคนตามไปอยู่ด้วยอีก 

นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังปรากฏภาพ ส.ส.หลายคนของพรรคพลังประชารัฐ ไปร่วมทำกิจกรรมกับพรรคภูมิใจไทยของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข มาพักใหญ่ๆ แล้ว  

ส.ส.ที่มีคนพบเห็นไปป้วนเปี้ยนอยู่แถวซอยรางน้ำ  ฐานบัญชาการใหญ่ของค่ายสีน้ำเงิน มีทั้ง นายอนุชา  น้อยวงศ์ ส.ส.พิษณุโลก ที่มีความสนิทสนมกับ นายชาดา  ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี และรองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ ส.ส.ชัยภูมิ ที่ใกล้ชิดกับ พ่อลูกช่างเหลา-นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น ที่ใช้จังหวะถูกขับออกจากพรรคพลังประชารัฐไปซบพรรคภูมิใจไทย 

รวมไปถึง ส.ส.ในโซนภาคกลางของพรรคพลังประชารัฐ ไม่ว่าจะเป็น นายประทวน สุทธิอํานวยเดช ส.ส.ลพบุรี นายปฐมพงศ์ สูญจันทร์ ส.ส.นครปฐม และ 2 ส.ส.เพชรบุรี คือ ส.ส.เปี๊ยก-นายสุชาติ อุสาหะ และ ทนายกฤษณ์-นายกฤษณ์ แก้วอยู่ นักการเมืองสาย นายธานี ยี่สาร อดีตกลุ่ม 16  

นายสมชาย วอนเพียร ส.ส.กาญจนบุรี ตลอดจนสองพี่น้องตระกูลสงฆ์ประชาจาก จ.ชัยนาท อย่าง ส.ส.แดง-นายมณเฑียร สงฆ์ประชา ส.ส.ชัยนาท และ ส.ส.มันแกว-น.ส.นันทนา สงฆ์ประชา ส.ส.บัญชีรายชื่อ  พรรคประชาภิวัฒน์ ซึ่งเป็นองคาพยพของพรรคพลังประชารัฐ 

คนเหล่านี้มีการดีลกับบ้านใหญ่บุรีรัมย์เรียบร้อยมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนจะถูกพาไปเปิดตัวในงานวันคล้ายวันเกิด นายเนวิน ชิดชอบ ประธานสโมสรบุรีรัมย์ ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน ยังมีรายงานว่าในการเลือกตั้งครั้งหน้า  ส.ส.กทม.เกือบทั้งหมดจะไม่ได้อยู่กับพรรคพลังประชารัฐ  โดยขณะนี้ส่วนหนึ่งถูก นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีต  รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดึงไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย บางคนจะไปทำการเมืองกับ นายณัฐฏพล  ทีปสุวรรณ อดีต รมว.ศึกษาธิการ ส่วนในราย น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. ตกเป็นข่าวมีการดีลเพื่อจะย้ายไปลงสมัครกับพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

ขณะที่ กลุ่มปากน้ำ ของ เอ๋-นายชนม์สวัสดิ์ อัศวเหม  ที่มี ส.ส. 6 คน กำลังถูกจับตามองอย่างมากว่า จะย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทยหรือไม่ เพราะรักใคร่กันดี ลูกสาวเป็นคนรักของลูกชายหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย อีกทั้ง กลุ่มปากน้ำ เองมีปัญหากับ เสี่ยเฮ้ง-นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐ 

อีกคนที่มีแนวโน้มจะย้ายออกคือ "รองตี๋" นายสุชาติ  ตันเจริญ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตแกนนำบ้านริมน้ำ ที่ไม่เคยร่วมกิจกรรมกับพรรคพลังประชารัฐมาตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง มีข่าวว่าจะรีเทิร์นกลับพรรคเพื่อไทย 

เช่นเดียวกับ บ้านใหญ่ชลบุรี ของ นายสนธยา คุณปลื้ม อดีตนายกเมืองพัทยา ที่ลือกันว่าจะพา ส.ส.ชลบุรีบางส่วนกลับไปรีแบรนด์พรรคพลังชลให้เป็นพรรคภาคตะวันออก  

และยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เปิดเผยตัว เพราะรอลาออกหลังยุบสภาหรือก่อนครบเทอม 90 วัน 

กลุ่มใหญ่ๆ ในพรรคพลังประชารัฐตอนนี้ที่ยังตั้งการ์ดสูง เหลือเพียง กลุ่มสามมิตร ที่แม้ยืนยันว่าจะยังอยู่กับพรรคพลังประชารัฐ หลังตกเป็นข่าวจะคัมแบ็กบ้านเก่าอย่างพรรคเพื่อไทย แต่หลายคนยังไม่เชื่อ เพราะเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองค่อนข้างรอบคอบ ชั่งตวงหลายปัจจัย ไม่ผลีผลาม รอดูสถานการณ์จนชัวร์ 

กลุ่มมะขามหวาน ของ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.การคลัง และเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ส.ส.ในมือ 6 คน กลุ่มเพื่อนเฮ้ง ของ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และผู้อำนวยพรรคพลังประชารัฐ ที่มี ส.ส.ระยอง  ฉะเชิงเทราบางส่วน กาญจนบุรีบางส่วน และจันทบุรี รวมไปถึง มุ้งชากังราว จ.กำแพงเพชร ของ นายวราเทพ  รัตนากร ที่มี ส.ส.ในมือ 4 คน  

แม้จนถึงนาทีนี้ บิ๊กป้อม จะออกมาปฏิเสธว่าไม่มีใครย้ายออกไป แต่มันเป็นการตอบตามหน้าเสื่อ เพราะมีข้อมูลลูกพรรคตัวเองทุกคน  

ที่ผ่านมา บิ๊กป้อม ก็มีความพยายามรั้งบางคน แต่รู้อยู่เต็มอกว่าถึงที่สุดก็ยากจะรั้ง เพราะ ส.ส.ทุกคนต่างต้องการอยู่ในจุดที่มีโอกาสเข้าสภา ในขณะที่กระแสของพรรคพลังประชารัฐไปต่อลำบาก ตลอดจนความไม่ชัดเจนของ 3 ป. 

แต่ไม่ว่าใครจะเข้าจะออก ที่สุดแล้วพรรคพลังประชารัฐจะยังอยู่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพียงแต่อาจลดขนาดจาก พรรคขนาดใหญ่ เป็น พรรคขนาดกลาง เปลี่ยนสถานะจาก แกนนำรัฐบาล มาเป็น พรรคร่วมรัฐบาล 

เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผลเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร "บิ๊กป้อม" ก็ยังมีอำนาจต่อรอง โดยเฉพาะเสียง ส.ว. 250 คน. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1