'บิ๊กตู่' เวอร์ชันหลังคำวินิจฉัย ลุยงาน-ปลีกห่างการเมือง

สถานการณ์อุทกภัยหลายพื้นที่ถือเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศในขณะนี้ จึงไม่แปลกที่ ‘บิ๊กตู่’ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะยอมเลื่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จากวันอังคารที่ 4 ต.ค. ไปเป็นวันพุธที่ 5 ต.ค. เพื่อเปิดทางให้ตัวเองลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ขอนแก่น และอุบลราชธานี  

โดยเฉพาะ จ.อุบลราชธานี สถานการณ์น้ำท่วมยังคงวิกฤต ระดับน้ำในแม่น้ำมูลยังเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง น้ำเอ่อล้นตลิ่งทะลักท่วมขยายวงกว้าง ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบหลายครัวเรือน 

เรื่องการลงพื้นที่ในช่วงที่ประชาชนประสบความเดือดร้อน ถือเป็นเรื่องปกติของผู้นำที่จะต้องเดินทางไปบัญชาการเหตุการณ์ ตลอดจนให้กำลังใจชาวบ้าน  

ระหว่างถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา แม้ ‘บิ๊กตู่’ จะลงพื้นที่ในฐานะ รมว.กลาโหม แต่ต้องยอมรับว่า หยิบจับอะไรไม่ถนัดเหมือนกับตอนเป็นนายกรัฐมนตรี ที่สามารถสั่งการได้แบบเบ็ดเสร็จ 

คนอย่าง ‘บิ๊กตู่’ ที่ขึ้นชื่อว่า อยู่เฉยไม่เป็น เมื่อได้รับอิสรภาพกลับมา จึงไม่รีรอที่จะลงพื้นที่ทันที ประหนึ่งคนคันไม้คันมือ

ขณะที่การเลือกพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เป็นพื้นที่แรกของการลงพื้นที่ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน 

จ.อุบลราชธานีเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบปัญหาอุทกภัยอย่างหนักหน่วง ในช่วงก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ‘บิ๊กป๊อก’ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่ชายคนเดียวที่ ‘บิ๊กตู่’ น่าจะไว้ใจที่สุดในนาทีนี้ มีกำหนดการลงพื้นที่เมื่อสัปดาห์ก่อน แต่ต้องมีแผนฉุกละหุกไปพื้นที่ จ.พิษณุโลกแทน เพราะไม่สามารถลงสนามบินอุบลราชธานีได้ เพราะพายุโนรู 

เมื่อ ‘บิ๊กตู่’ กลับมา จึงควง รมว.มหาดไทย กลไกสำคัญในการช่วยเหลือประชาชน มุ่งตรงสู่ จ.อุบลราชธานีเป็นพื้นที่แรก  

และในช่วงสถานการณ์อุทกภัยหลายจังหวัด จ.ขอนแก่น และอุบลราชธานีคงไม่ใช่พื้นที่เดียวที่ ‘บิ๊กตู่’ จะลงไปติดตามสถานการณ์ถึงพื้นที่เอง แต่ตลอดช่วงสัปดาห์นี้ต่อไปถึงช่วงปลายเดือน ต.ค. ที่ประเทศไทยยังประสบปัญหาฝนตกหนัก ‘บิ๊กตู่’ น่าจะอยู่ในลักษณะของ ‘ชีพจรลงเท้า’  

เพราะแม้จะทำให้สถานการณ์คลี่คลายทันทีไม่ได้ แต่อย่างน้อยการลงไปในพื้นที่ยามนี้ มันช่วยกระตุ้นการทำงานของหน่วยงานในพื้นที่ และให้กำลังใจชาวบ้านได้  

ถึงแม้จะมีคนไม่ชอบ แต่การไปให้ถูกตำหนิ ดุด่า ยังดีกว่าการให้ชาวบ้านถามหาว่า ยามวิกฤตเช่นนี้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบอยู่ที่ไหน  

 อย่างไรก็ดี การลงพื้นที่ จ.ขอนแก่น และอุบลราชธานีเมื่อวาน ดู ‘บิ๊กตู่’ ค่อนข้างจะกระปรี้กระเปร่าเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากภาวะเก็บกดระหว่างถูกหยุดปฏิบัติหน้าที่ ที่ทำงานแบบมีข้อจำกัด  

 ขณะเดียวกัน การลงพื้นที่ในครั้งนี้ มีบางอย่างที่ค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยเฉพาะมิติทางการเมืองที่ดูจะน้อยลงไป  

“ผมจะลงพื้นที่ จ.ขอนแก่นและอุบลราชธานี เพื่อไปเยี่ยมและให้กำลังใจ ไม่ต้องมีป้าย ไม่ต้องเอาคนมาถือป้าย ไม่เอา เข้าใจใช่ไหม เพราะผมจะไปทำงาน และไม่สร้างภาระให้กับใครทั้งสิ้น ไม่ต้องเรื่องมากกับผม เพราะผมสมบูรณ์แข็งแรง ดูแลตัวเองได้ ขอให้ไปดูแลประชาชนที่เดือดร้อนดีกว่า ผมไม่เป็นภาระกับใคร” นั่นคือ คำพูดของ ‘บิ๊กตู่’ ก่อนลงพื้นที่ 1 วัน  

คำพูดดังกล่าวถูกมองว่ามีนัยเป็น 2 ประการ ประการแรก ถอดบทเรียนการลงพื้นที่ในอดีตที่มักจะมีดรามาตามหลังมาเสมอว่า ไปสร้างปัญหาให้กับเจ้าหน้าที่ในการเตรียมการต้อนรับ 

กับอีกนัยหนึ่งคือ กำลังแซะคนข้างตัว ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่พยายามจะโปรโมต ‘บิ๊กป้อม’ ในช่วงที่ ‘บิ๊กตู่’ ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ ทั้งการทำป้ายต้อนรับขนาดใหญ่ การระดมชาวบ้านมาถือป้ายเชียร์ การมี ส.ส.นักการเมืองล้อมหน้าล้อมหลัง 

สิ่งที่แตกต่างจากอดีตในการลงพื้นที่ของ ‘บิ๊กตู่’ ครั้งนี้คือ ไม่มีคณะ ส.ส. นักการเมือง มาตั้งแถวรับ มีแต่รัฐมนตรีเท่านั้นที่เป็นคณะติดตามไป   

ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะการที่ ‘บิ๊กตู่’ ประกาศก่อนลงพื้นที่ไว้แล้ว  

มีการตั้งข้อสังเกตกันว่า ‘บิ๊กตู่’ กำลังกลับมามีระยะห่างที่มากขึ้นกับพรรคการเมือง และ ส.ส. เพราะไม่ต้องคำนึงถึงคะแนนนิยมและอนาคตทางการเมือง หลังถูกมองว่า หลังครบเทอมรัฐบาลจะไม่ไปต่อ เพราะเหลืออายุนายกฯ อีกเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น 

ระยะเวลาที่เหลือหลังจากนี้คือ ลุยงาน โดยไม่ต้องคำนึงมิติทางการเมืองเหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะอายุรัฐบาลเหลือเพียงไม่กี่เดือน ไม่มีกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวกับความเป็นความตายของรัฐบาล ไม่มีวาระสำคัญอะไรที่จะต้องพินอบพิเทาใคร 

 ‘บิ๊กตู่’ จะกลับไปเป็นเวอร์ชันเป็นตัวของตัวเอง ไม่ต้องแคร์-ไม่ต้องสนว่า ใครจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหรือไม่   

 หากเวลาที่เหลือคือ การนับถอยหลัง ก็เป็นการสร้างผลงานทิ้งทวน ให้จบแบบประทับใจ. 

 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี