"บิ๊กป้อม-พรรค พปชร." พลิกเกม ปรับแท็กติก จับ "บิ๊กตู่" พักข้างสนาม

มีความเห็นที่น่าสนใจทางการเมืองกับท่าทีของคนในพลังประชารัฐ คือ วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ ที่รู้กันว่าเป็น ส.ส.ในสายป่ารอยต่อ ออกมาระบุว่า พลังประชารัฐจะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี 3 ชื่อตอนเลือกตั้ง คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา, พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่วนอีก 1 คนกำลังมองอยู่ ที่ก็มีการคาดหมายกันหลายชื่อ เช่น อาจจะเป็นคนที่มีชื่อเสียงด้านเศรษฐกิจ หรือไม่ก็อาจจะเป็นคนที่บิ๊กป้อมไว้ใจ และที่ผ่านมาก็ช่วยงานพลังประชารัฐมาตลอด เลยทำให้มีหลายคนจับตามองกันหลายชื่อ เช่น อาจจะเป็น บิ๊กแป๊ะ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. ที่ตอนนี้ปลดล็อกเรื่องการห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองหลังพ้นจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาโดยตำแหน่ง ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา โดย วีระกร ย้ำว่า หากพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล จะเสนอชื่อให้พลเอกประวิตรเป็นแคนดิเดตนายกฯ ไม่ใช่พลเอกประยุทธ์

 “พลังประชารัฐในการเลือกตั้งรอบหน้าเชื่อว่าจะเสนอรายชื่อให้ครบทั้ง 3 คน ไม่เสนอแค่คนเดียว จะเสนอชื่อทั้ง พล.อ.ประยุทธ์, พล.อ.ประวิตร อีกคนกำลังพิจารณาอยู่ เพราะทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตรต่างเป็นที่ชื่นชอบของประชาชนจำนวนมาก ต้องดึงคะแนนนิยมแต่ละคนมาช่วยทำคะแนนให้พรรค แม้จะบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์มีคนไม่ชอบเยอะ แต่ก็มีแฟนประจำเยอะพอสมควร

 “อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงตอนเสนอชื่อนายกฯ เพื่อโหวตในสภาฯ นั้น คงต้องเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตร เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อได้แค่ 2 ปี อาจให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นรองนายกฯ หรือ รมว. กลาโหม ยืนยันการเลือกตั้งรอบหน้า 3 ป.ยังไปด้วยกัน เพราะ พล.อ.ประยุทธ์เล่นการเมืองไม่เป็น คนเล่นการเมืองคือ พล.อ.ประวิตรคนเดียว

สมัยหน้าเป็นรถเมล์เที่ยวสุดท้ายที่จะมี ส.ว.มาช่วยสนับสนุน ดังนั้นต้องดันลุงป้อมเป็นนายกฯ ส่วนลุงตู่ไปเป็นรองนายกฯ หรือ รมว.กลาโหม หรือโยกเป็น รมว.มหาดไทยก็ได้ ถึงลุงตู่เคยเป็นนายกฯ มาแล้ว จะมาเป็นรองนายกฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะ 3 คนพี่น้องแน่นเฟ้นกันเหนียวแน่น มองบ้านเมืองเป็นหลัก”

เรียกได้ว่า เป็นความเห็นการเมืองแบบชัดเจน ที่แวดวงการเมืองก็รู้อยู่แล้วว่า คนในพลังประชารัฐก็คิดกันแบบนี้ เพียงแต่ไม่คิดว่า ส.ส.อาวุโสหลายสมัยอย่างวีระกรจะ แบไพ่ในมือพลังประชารัฐ ออกมาเร็วปานนี้

สิ่งที่วีระกรระบุออกมา ในทางการเมืองต้องบอกว่า ไม่ใช่การทำ ปืนลั่น ให้พรรคการเมืองอื่นรู้ล่วงหน้า แต่มันคือ แท็กติกการวางหมากการเมือง ของพลังประชารัฐ เพื่อแก้ปัญหากรณี ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การนับเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องนับจากวันที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศชื่อคือ 6 เมษายน 2560

ดังนั้นเท่ากับพลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 5 ปี และหากมีการเลือกตั้งปีหน้าหลังเมษายน 2566 ก็เท่ากับเหลือเวลาอีกประมาณ 2 ปี ในการเป็นนายกฯ ซึ่ง 2 ปีดังกล่าว ต้องนับรวมถึงช่วงการเป็นนายกฯ รักษาการ ตอนช่วงเลือกตั้งและช่วงจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังเลือกตั้งด้วย ซึ่งช่วงดังกล่าวก็กินเวลาร่วม 3 เดือนเข้าไปแล้ว ทำให้พลเอกประยุทธ์ก็จะเหลือเทอมการเป็นนายกฯ จริงๆ ไม่ถึง 2 ปี  

การที่พลเอกประยุทธ์เหลือเทอมการเป็นนายกฯ ไม่ถึง 2 ปี จุดดังกล่าวเมื่อไปถึงตอนเลือกตั้ง จะเป็น จุดอ่อน-ข้อเสียเปรียบ สำหรับพลังประชารัฐแล้วแน่นอนเมื่อเอาชื่อพลเอกประยุทธ์ไปเทียบกับแคนดิเดตนายกฯ คนอื่น

 ยังไม่นับรวม กระแสนิยม-เรตติง ของพลเอกประยุทธ์ ที่เรตติงไม่ดีเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 แล้วยังมาเจอข้อจำกัดดังกล่าวเรื่องเทอมการเป็นนายกฯ อีก ข้อจำกัดและเงื่อนไขการเมืองดังกล่าวที่แตกต่างจากตอนเลือกตั้งปี 2562 ทำให้หากพลังประชารัฐไม่ปรับกลยุทธ์ของตัวเองให้สอดรับกับบริบทที่เปลี่ยนไป พลังประชารัฐก็ลำบาก เพราะยังไงพรรคการเมืองคู่แข่งขัน แม้แต่กับผู้สมัคร ส.ส.เขตในพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองเวลานี้ ก็ต้องหยิบยกประเด็นดังกล่าวมาเกทับ-ดิสเครดิตพลังประชารัฐว่า หากเลือกพลเอกประยุทธ์-พลังประชารัฐ แล้วพลเอกประยุทธ์เข้าไปเป็นนายกฯ งานจะสะดุด ไม่ราบรื่น ไม่ต่อเนื่อง เรื่องนี้ เชื่อเถอะว่าแม้แต่พรรคร่วมรัฐบาลอย่าง ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย หรือพรรคตั้งใหม่อย่างสร้างอนาคตไทย ที่จะชูสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯ ก็ต้องใช้ประเด็นนี้มาหาเสียงใส่เต็มที่แน่นอน โดยเฉพาะในระดับพื้นที่ เช่น ในกรุงเทพมหานคร-ภาคใต้ เป็นต้น

ส่วนพรรคขั้วตรงข้าม ทั้งเพื่อไทย-ก้าวไกล เรื่องเทอมการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่สิ่งที่เพื่อไทย-ก้าวไกล จะนำไปหาเสียงอยู่แล้ว เพราะการเมืองแบบ แบ่งขั้ว-เลือกข้าง พอไปถึงช่วงตอนเลือกตั้ง กระแสเรื่องนี้ก็ยังมีอยู่ จึงไม่มีทางอยู่แล้วที่คนที่จะเลือกพลเอกประยุทธ์-พลังประชารัฐ แล้วพอเห็นว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ได้ไม่เกิน 2 ปี แล้วจะถึงขั้น สวิง-เปลี่ยนใจ ไปเลือกเพื่อไทย ก้าวไกล

คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วพลเอกประยุทธ์รู้สึกอย่างไรกับท่าทีของคนในพลังประชารัฐ ที่จะให้พลเอกประยุทธ์เป็น 1 ใน 3 แคนดิเดตนายกฯ ด้วย แต่ก็จะใส่ชื่อพลเอกประวิตรและอีก 1 คนเข้ามา จากเดิมตอนเลือกตั้งปี 2562 พลังประชารัฐ ยุคบริหารโดยกลุ่ม 4 กุมาร-ดร.อุตตม สาวนายน เสนอชื่อแค่พลเอกประยุทธ์คนเดียว แต่เลือกตั้งรอบหน้า พลเอกประยุทธ์จะถูกส่งชื่อลงแข่งขัน แต่สถานะไม่เหมือนเดิม เพราะมีอีก 2 ชื่อเข้ามาประกบ แต่ชื่อหลักก็คือ พลเอกประวิตร ที่จะดันเป็นนายกฯ

เปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับการแข่งขันฟุตบอล ที่แต่ละทีมจะต้องส่งชื่อผู้เล่นตามโควตาที่ผู้จัดบอกให้ส่งได้ แต่ชื่อของพลเอกประยุทธ์ถูกส่งไปจริงว่าเป็นหนึ่งในผู้เล่นของพลังประชารัฐ แต่เป็นชื่อที่ส่งไปให้ครบตามจำนวน เพราะถึงเวลาลงแข่งจริง ก็จะถูกพักไว้ข้างสนามในฐานะตัวสำรองทางการเมืองนั่นเอง!

แล้วคนอย่างพลเอกประยุทธ์ ที่เป็นอดีต ผบ.ทบ.-อดีตหัวหน้า คสช.-นายกฯ 8 ปีมาแล้ว จะยอมหรือ ที่จะถูกนักการเมือง นักเลือกตั้ง พรรคการเมือง ลดบทบาทลงแบบนี้ โดยไม่มาถามกันก่อน เพราะของแบบนี้ต้องให้เกียรติกันบ้าง

คือแน่นอนว่า พลเอกประยุทธ์รู้ตัวอยู่แล้วว่า ข้อจำกัดเรื่องเทอมการเป็นนายกฯ ของตัวเอง จะมีผลต่อการหาเสียงเลือกตั้งของพลังประชารัฐ ที่ทำให้พลังประชารัฐก็ต้องปรับแท็กติกการเมืองของตัวเองเหมือนกัน อีกทั้งพลเอกประยุทธ์ก็ย่อมรู้ดีว่า กระแสนิยมของตัวเองตอนนี้ก็ไม่เหมือนตอนปี 2562 ตัวพลเอกประยุทธ์จึงคงพร้อมจะปรับตัวให้เข้ากับสภาพการเมืองและข้อจำกัดดังกล่าว

เพียงแต่สิ่งที่พลเอกประยุทธ์ต้องการคือ คงต้องการเป็นคนตัดสินใจเอง เป็นคนคุมเกม ไม่ใช่ให้นักการเมือง-พรรคการเมืองมาคุมเกม ตัดสินใจแทนตัวเอง

ที่สำคัญ พลเอกประยุทธ์ก็คงมองว่า เรื่องนี้ยังมีเวลาอยู่ ไม่เห็นมีความจำเป็นที่พลังประชารัฐจะต้องรีบออกมาแสดงท่าที เหมือนกับลอยแพการเมืองแต่หัววัน

ทั้งที่ถึงเวลาขึ้นมาจริงๆ ไม่แน่ พลเอกประยุทธ์ก็อาจตัดสินใจการเมืองบางอย่าง ที่อาจไม่ขอไปต่อกับพลังประชารัฐ เช่น วางมือหรือหยุดพักการเมืองสักพักก็เป็นได้!.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน