เป็นอีกวันประวัติศาสตร์การเมืองไทยต้องจารึก-บันทึกเอาไว้ ผลคำวินิจฉัยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังมีคุณสมบัติครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปได้ ไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 170 วรรคสอง ประกอบมาตรา 158 วรรคสี่
คำวินิจฉัยกลางจากศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 30 ก.ย. ต่อลมหายใจอีกเฮือก รัฐนาวาประยุทธ์ ตุลาการ 6 เสียงข้างมาก ลงมติให้ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ต่อ ประกอบด้วย นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นายปัญญา อุดชาชน, นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม, นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์, นายวิรุฬห์ แสงเทียน, นายจิรนิติ หะวานนท์
ตุลาการ 3 เสียงข้างน้อย คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์, นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ และนายนภดล เทพพิทักษ์
จากคำวินิจฉัยดังกล่าว เกิดนานาทัศนะตามมาทันที ฝ่ายที่เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย พรรคฝ่ายค้าน วิพากษ์ทันที พรรคเพื่อไทยมองว่าตัดสินประหลาด พรรคก้าวไกลสบช่องอัดซ้ำ ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม-ศาลรัฐธรรมนูญ ส.ส. นักการเมืองขั้วตรงข้าม พุ่งเป้าถล่มซ้ำ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และ รมว.กลาโหม โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊กส่วนตัว ขอบคุณคำวินิจฉัยของศาล จะใช้เวลาที่มีอยู่อย่างจำกัดของรัฐบาลในการติดตามและผลักดันโครงการสำคัญต่างๆ มากมายที่ได้ริเริ่มเอาไว้ให้เดินหน้าและเสร็จสมบูรณ์ สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับบ้านเมือง และสร้างอนาคตให้กับลูกหลาน
หลังโพสต์ข้อความ มวลชนผิดหวังคำวินิจฉัย เข้ามารุมถล่ม แม้จะปิดโหมดช่องแสดงความเห็น ปรากฏว่าผู้คนกดอิโมจิแสดงความโกรธมากกว่าคนกดไลค์ โลกทวิตเตอร์ติดแฮชแท็ก นายกฯ เถื่อน ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งข้ามวัน ตอกย้ำผู้คนในโลกออนไลน์รุมยี้ รุมถล่ม ประยุทธ์รอด แต่ประเทศ ประชาชนไม่รอด
"…การนับระยะเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องนับตั้งแต่การเข้ามาดำรงตำแหน่งในปี 2557 การนับเวลาเช่นนี้จะเป็นการเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนตามที่ได้ลงประชามติไว้ เพื่อการสร้างบรรทัดฐานที่พึงประสงค์และเหมาะสมกันกับในยุคปัจจุบัน
ดังนี้ในบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ ย่อมแสดงให้เห็นอย่างมีนัยสำคัญว่าได้สืบทอดหลักการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 171 วรรคสี่ มีเจตนารมณ์ผ่านประชามติ ว่าต้องการที่จะห้ามมิให้นายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งยาวนานเกินกว่าแปดปี เพื่อมิให้อยู่ในอำนาจนานเกินไปจนเกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมือง"
คำวินิจฉัยส่วนตน ทวีเกียรติ หนึ่งในตุลาการเสียงข้างน้อย บางช่วงบางตอนถูกหยิบยกออกมาพูดถึงในวงกว้าง ที่ไม่ได้เพียงมองแค่หลักกฎหมาย แต่ยังมองไปถึงมุมมองรัฐศาสตร์ ความชอบธรรม จริยธรรม แบบอย่างที่ดีของผู้นำที่ดี ควรมีเสมือนลากมาประจานซ้ำ
ศรัทธาความเชื่อมั่นของผู้คนที่มีต่อกระบวนการยุติธรรม ศาล องค์กรอิสระอย่าง กกต. ป.ป.ช. หลายต่อหลายกรณี กฎระเบียบ การทำหน้าที่ ถูกตั้งคำถาม เหมือนเลือกที่จะปักหมุดเล่นงานบางพวก บางคน ยิ่งตอกย้ำ ยุคแห่งความเสื่อมทรุด ดำดิ่งลงไป ผู้นำประเทศ-ประยุทธ์ 8 ปี นับจากยึดอำนาจเป็นนายกฯ ต่อเนื่อง เผชิญภาวะวิกฤตศรัทธา กองหนุน กองเชียร์ลดน้อยลงไป โดยที่ฝ่ายตรงข้ามไม่ต้องเปลืองแรงแสวงหาแนวร่วมใหม่
การหวนคืนกลับตำแหน่งบนเก้าอี้นายกรัฐมนตรีอีกครั้ง หลังว่างเว้นไป 38 วัน กองเชียร์ กองหนุนดีใจ ฝ่ายตรงข้ามผิดหวังไปตามระเบียบ การกลับมาทำหน้าที่ต่อของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังมีปัญหาใหญ่ ทั้งที่เกี่ยวกับตัวเองและองคาพยพ รอให้คิด อ่าน ตัดสินใจ สะสางอย่างน้อย 5 เรื่อง ที่ต้องการจัดการให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
1.จัดการความเป็นเอกภาพในพรรคร่วมรัฐบาล ปัญหาพรรคภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ จากปมขัดแย้งเชิงนโยบาย กัญชาเสรี-กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ลากโยงไปถึงการช่วงชิง รักษาฐานที่มั่นพื้นที่ภาคใต้ และบางเรื่องพลังประชารัฐโดดลงไปผสมโรงกับบางฝ่ายด้วย หากปล่อยนานไป ปลายอายุรัฐบาลที่หวังจะลากยาวให้ครบวาระรัฐบาล มี.ค.2566 อาจพังลงเร็วกว่าที่คิด
2.กลุ่มพี่น้อง 3 ป. พล.อ.ประยุทธ์ บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ บิ๊กป๊อก-พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ศูนย์กลางอำนาจรัฐ ก่อนเข้าสู่อำนาจ เข้าสู่อำนาจ มาถึงปลายรัฐบาล ยังแน่นแฟ้น กลมเกลียว เหมือนเดิมหรือไม่ ยังจะร่วมทางไปด้วยกัน จับมือสู้ศึกปกป้องอำนาจรัฐ ด้วยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว หรือแตกพรรคสู้ หากเป็นเช่นนั้นยิ่งจะถูกตอกย้ำถึงความกลมเกลียวที่ไม่เหมือนเดิม ยังไม่นับรวมคนใกล้ชิดรายล้อมรอบกายที่เป็นพิษ บางคนคอยยุแหย่ ผนวกกับนายหูเบา ทำให้แตกแยก แล้วคอยเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ อำนาจทางการเมืองในตอนท้าย
3.การปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงปลายรัฐบาล รัฐมนตรีอย่างน้อย 4 ตำแหน่ง รมช.เกษตรและสหกรณ์ รมช.แรงงาน รมช.มหาดไทย รมช.ศึกษาธิการ ที่ว่างเว้นมาจากการปรับออก ลาออก ถูกศาลสั่งให้ยุติปฏิบัติหน้าที่ และยังเป็นการปรับตามวงรอบรัฐบาล หลังจบศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจยังไม่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อกระชับอำนาจ หมุนเวียนตามโควตาของพรรคร่วมรัฐบาล ดันคนของตัวเอง กลุ่มต่างตอบแทนเข้ามาเป็นรัฐมนตรี ในสมัยสุดท้ายของอายุรัฐบาลที่เหลือเวลาไม่มากนัก
4.เดินหน้าจัดประชุมเอเปก 2022 อย่างที่ พล.อ.ประยุทธ์วาดหวังเอาไว้ ช่วงพฤศจิกายน 2565 ที่ยังไม่แน่ชัดจะเป็นการ ทิ้งทวนภารกิจระดับชาติ ระดับโลก งานใหญ่ที่จะมีผู้นำมหาอำนาจจากประเทศต่างๆ เดินทางมาร่วมประชุมเจรจากรอบการค้า การลงทุน ที่จะช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจให้เจริญเติบโต ดีขึ้นได้ในอนาคต
5.กลุ่มมวลชนต่อต้าน แม้การแสดงออก คณะหลอมรวมประชาชน แนวร่วมราษฎร กลุ่มปัญหาความเดือดร้อนจากการบริหารงานของรัฐ ยังจุดไม่ติด ดึงพลังแนวร่วมเสียงส่วนใหญ่ให้ลงถนน ชุมนุมต่อต้านรัฐบาล แต่คนไม่ออกมา ใช่ว่าเห็นด้วยกับฝ่ายรัฐ ด้วยภาวะเศรษฐกิจ โควิด ในเมื่ออดทนการผูกขาดอำนาจได้ 7-8 ปี ปลายรัฐบาล 6-7 เดือนจะมีการเลือกตั้ง ค่อยไปแสดงพลัง แต่จากการที่ยังมีแนวร่วมกลุ่มต่างๆ นัดชุมนุมประปราย จัดกิจกรรม หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน น้ำผึ้งหยดเดียวจากภาครัฐ กระทำต่อผู้ชุมนุม อาจลุกลามบานปลายไปได้เช่นกัน
ตามกฎหมาย พล.อ.ประยุทธ์ วาระการเป็นนายกรัฐมนตรีไปได้จนถึง เม.ย.2568 จะเลือกเส้นทางอำนาจ ถนนการเมืองอย่างไรต่อไป มีกระแสเร่งเร้าให้รีบตัดสินใจ จะสมัครเข้าสมาชิกพรรคพลังประชารัฐต้องชั่งใจหนัก ความนิยมตกต่ำทั้งผู้นำพรรค กระแสพรรคดำดิ่ง เข้ามากอบกู้ ฟื้นความเชื่อมั่น จะกอบกู้ความนิยมปลายรัฐบาลกลับคืนมาได้หรือไม่
พรรครวมไทยสร้างชาติถูกมองเป็นพรรคตั้งขึ้นมารองรับ พล.อ.ประยุทธ์ หากหวังยังเล่นการเมือง หวังที่จะลงชิงชัยในสนามเลือกตั้ง แต่ก็มีข่าวทุนน้ำเลี้ยงเริ่มขัดสน พรรคยังใหม่ ต้องสร้างภาพลักษณ์อีกมาก แต่ก็อย่างว่า หากถูกเชื่อมโยงเป็นพรรคอะไหล่ รองรับสำหรับคนอกหัก ด้วยเงื่อนไขบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ หากไม่แน่จริง แยกกันรบ ยิ่งจะตัดแต้มกันเอง ในวันที่ผู้คนพร้อมจะเลือกพรรคตัวแทนทางขั้วอำนาจ
ท่ามกลางกระแส ความเชื่อมั่น ความศรัทธา ที่ถูกสั่นคลอนอย่างมาก ถึงแม้มีพรรคไหนอ้าแขนรับ จะปลุกกระแส ดึงพลังให้ผู้คนหันมาเลือกด้วยวิธีใด เป็นเครื่องหมายคำถามที่น่าคิด พล.อ.ประยุทธ์จะเอาอย่างไรต่อไปในทางการเมือง ยังขายได้ในตลาดการเมืองหรือไม่ ผลการเลือกตั้งทั้งผู้ว่าฯ กทม. เลือกตั้งซ่อม เลือกตั้งท้องถิ่น เป็นตัวสะท้อนให้เห็นได้เป็นอย่างดี
รัฐบาล 3 ป. เถลิงสุข บัลลังก์อำนาจทางการเมืองยาวนาน 8 ปี ผูกขาดอำนาจเทียบเท่ารัฐบาลสองสมัย ประยุทธ์ ด้วยกลไกรัฐธรรมนูญ ส.ว. เป็นนายกฯ ต่อเนื่อง ไม่สะดุด อนุพงษ์ ไม่เคยหลุดจากตำแหน่ง รมว.มหาดไทย แม้แต่วินาทีเดียว ประวิตร ศูนย์กลางแห่งอำนาจการเมือง-กลไกรัฐ-ทุน
พล.อ.ประยุทธ์รอดพ้นคำพิพากษาจากศาล เครือข่ายพี่น้องพลอยโล่งอก แต่ไม่มีใครฝืนหลัก เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป ในวันนี้ประยุทธ์ ตัวแทนเครือข่าย 3 ป. ได้เดินทางมาถึงปลายทางรัฐบาลแล้ว แต่จะไปด้วยวิธีใด ไปเร็วหน่อย เลือกช่วงเวลาหลังเคลียร์งานใหญ่ ช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมือง ตัดสินใจยุบสภาก่อนครบวาระ หรือถ้าจะไปตามวาระ อยู่จนครบสมัย มี.ค.2566 จากนั้นเข้าสู่โหมดเลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม ปล่อยให้ประชาชนตัดสินใจ จะเลือกดีแต่ไม่เก่ง หรือลองของใหม่ หรืองัดเอาเหล้าเก่าในขวดใหม่ มาเป็นผู้นำ ท่ามกลางกระแส Disrupt ในทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ในวงจรการเมือง
พล.อ.ประยุทธ์อาจรอดพ้นจากคำตัดสินศาล แต่ยังมีคำพิพากษาจากประชาชน ในสนามเลือกตั้งที่กำลังคืบคลานเข้ามา อันส่งผลต่อชะตากรรม 3 ป.โดยตรง เครือข่ายพรรค 250 ส.ว. ยังใช้การได้อีกสมัยในการเลือกนายกฯ เครือข่ายกลไกรัฐยังอยู่ ทว่าในกระดานแห่งการช่วงชิงอำนาจอาจต้องเริ่มคิดจากผู้นำ-พล.อ.ประยุทธ์ ยังไหวจริงหรือ กับกลเกมสู้รบชิงอำนาจทางการเมือง ตลอดเวลาแห่งการดำรงอยู่ในช่วงที่เหลือ ที่มีแต่ "ทรงกับทรุด" แต่กลายเป็น "หัวคะแนนชั้นดี" ให้ฝ่ายตรงข้าม!!!.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่เฟส 4
นายกฯ คิกออฟ 30 บาทรักษาทุกที่ เฟส 4 ครอบคลุมทั่วไทย 1 ม.ค.2568 ลดแออัด รพ. อำนวยความสะดวกปชช. พร้อมดันสร้างอาชีพ 'นศ.จบใหม่-คนเกษียณอายุ' เป็นนักบริบาล 15,000 ตำแหน่ง
'นายกฯ อิ๊งค์' เมินเรื่องตอบกระทู้บอกแค่เมอร์รี่คริสต์มาส
'อิ๊งค์' เมอร์รี่คริสต์มาส หลังถูกถามไปตอบกระทู้สภาหรือไม่ บอกงงใครพูดเรื่องยุบสภา
“รัฐบาล”ไฟลต์บังคับ “ทักษิณ”ได้แค่กร่าง
ดรามาปม “อีแอบ” อาจเป็นแค่ประเด็นโชว์กร่าง หวังกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลสยบยอม หลัง “ทักษิณ ชินวัตร” นายใหญ่ ที่มีสถานะเป็นพ่อนายกรัฐมนตรี ได้พ่นไฟระหว่างงานสัมมนาพรรคเพื่อไทยที่ อ.หัวหิน เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.ที่ผ่านมา
อิ๊งค์ยันแจกหมื่นเฟส3 เคาะขึ้นค่าแรง-อีรีซีท
ครม.ไฟเขียว 1 ม.ค.68 ขึ้นค่าแรง 400 นำร่อง 4 จังหวัด 1 อำเภอ
ฟุ้งปีใหม่โอกาสดีทุกคน มั่นใจ‘แม้ว-หนู’ไร้ปัญหา
นายกฯ อิ๊งค์อวยพรปีใหม่ ให้ทุกคนมีจิตใจเบิกบานยันปี 68
“พ่อเลี้ยง”เปลี่ยนสนามรบเป็นทุน “ดับไฟใต้-สันติภาพเมียนมา”
“ฉายารัฐบาลพ่อเลี้ยง” นับเป็นภาพการเมืองในฝ่ายบริหารที่ “วิญญูชน” พึงประจักษ์ได้ว่าเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการขยับตัวและคำพูดของ “ทักษิณ ชินวัตร” วิทยากร-นักวิชาการของพรรคเพื่อไทย