กลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง กรณี “เสี่ยโอ๋” ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่ออกมาให้ความเห็นกรณีการเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ชุมนุมวันที่ 30 ก.ย. ช่วงของการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญวาระดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม โดยระบุว่า หากไม่พอใจรัฐบาลให้ใจเย็นๆ เพราะจะเลือกตั้งแล้ว หากมีการชุมนุมเคลื่อนไหวมาก ระวังอาจไม่มีเลือกตั้ง
ชัยวุฒิยังได้ขยายความว่า เป็นการให้สัมภาษณ์ในฐานะ “นักการเมือง” ที่แค่เตือนประชาชนหากมีการเคลื่อนไหวในวันที่ 30 ก.ย.นี้ มองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ดี กังวลว่าจะไม่ได้เลือกตั้ง หากมีความวุ่นวายซ้ำรอยอดีตปี 2556-2557 ในวันที่ กปปส.เดินขบวนสร้างความวุ่นวายให้บ้านเมือง และที่สุดก็มีการปฏิวัติ จึงกังวลว่าหากมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ก็เป็นเรื่องน่าห่วง
“ผมไม่ได้ขู่ แค่เตือน ถ้าไม่อยากให้บ้านเมืองวุ่นวาย อย่าออกมาเคลื่อนไหวมากนัก หากไม่พอใจรัฐบาลอยากให้ใจเย็นๆ อีกไม่กี่เดือนก็จะถึงช่วงเลือกตั้งแล้ว ถ้าเคลื่อนไหวมากๆ ระวังจะไม่ได้เลือกตั้งนะ ผมพูดจริงๆ คำนี้ แต่ห่วงสถานการณ์บ้านเมือง เพราะอดีตเมืองไทยเคยเกิดขึ้น ขณะนี้กฎหมายเลือกตั้งก็ยังไม่เสร็จ หากมีม็อบ มีปฏิวัติ ก็จะไม่ได้เลือกตั้งอีกยาว แต่เรื่องนี้ขอบอกว่าการปฏิวัติไม่ได้เกิดจาก 3 ป. เพราะ 3 ป.ไม่ได้ปฏิวัติ คนปฏิวัติก็คงเป็นคนที่มีอำนาจ มีกำลัง ขณะนี้ก็เป็นทหารนั่นแหละ” นายชัยวุฒิระบุ (สยามรัฐ 26 ก.ย.2565)
หลังจากนั้น นักการเมือง กลุ่มเคลื่อนไหว ต่างออกมาสวนกลับคำพูดของรัฐมนตรีระดับแกนนำพรรคพลังประชารัฐผู้นี้อย่างดุเดือด เพราะมองว่านอกจากจะเป็นการ “ขู่” แล้ว อาจจะมีข้อมูล "วงใน" ว่าจะมีการ “เอ็กเซอร์ไซส์” ล้างไพ่อำนาจอีกหรือเปล่า
ยิ่งเมื่อดูเหตุปัจจัยจากสมการ “กองทัพ-รัฐบาล” ในยุคปัจจุบัน ที่ไม่ได้เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนช่วงการรัฐประหารปี 2557 ใหม่ๆ ก็สอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ “ชัยวุฒิ” อยู่ไม่น้อย ว่าคนที่ขยับปรับอุณหภูมิบ้านเมืองด้วยวิธีเดิมๆ ไม่ใช่ 3 ป.
จากนั้นแกนนำระดับบิ๊กๆ ในพรรคร่วมรัฐบาล ต่างก็ออกมาดาหน้าปฏิเสธ และไม่ให้ความเห็นใดๆ เกี่ยวกับข้อวิเคราะห์ดังกล่าว ตอกย้ำหนักแน่นจากคำสัมภาษณ์ของ พี่ใหญ่ป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการแทนนายกฯ ที่บอกว่า "ไม่มี"
สำทับด้วยคำแถลงของ พล.อ.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ภายหลังการประชุมสภากลาโหม ที่มี พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธาน พร้อมด้วย ปลัดกระทรวงกลาโหม ผบ.ทหารสูงสุด ผบ.เหล่าทัพ รวมถึง ผบ.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าร่วมประชุมกันพร้อมเพรียง ที่ยืนยันว่า “ไม่มี”
"ไม่มีรัฐประหาร ใครจะพูดอย่างไร ด้วยวัตถุประสงค์อะไร ก็ต้องไปถามคนนั้น เพราะทหารไม่มีเงื่อนไขอะไรที่นำไปสู่ตรงนั้น อีกทั้งในที่ประชุมสภากลาโหม พล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่ได้พูดถึงประเด็นดังกล่าว" โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุ
ขณะที่มีรายงานว่า พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้ระบุถึงแผนการรับมือกลุ่มผู้ชุมนุม โดยระบุว่าไม่น่าเป็นห่วง และเชื่อมั่นว่าจะไม่รุนแรงเหมือนม็อบปี 2552-2553
แน่นอนว่า ยังไม่มีเงื่อนไขใดที่จะต้องล้มรัฐธรรมนูญ ล้างกระดานอำนาจในตอนนี้ เนื่องจากปมวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ “ไม่ได้ทำให้การเมืองถึงทางตัน”
และยังมีช่องหายใจอีกหลายช่องทางก่อนไปสู่เป้าหมายปลายทางคือ การเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง เพื่อให้ทุกฝ่ายเข้าสู่จุดสตาร์ทของการแข่งขัน ซึ่งเวลาก็งวดเข้ามาแล้ว
ประเด็นที่สำคัญคือ “กติกา” ซึ่งจะนำไปใช้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า หากการตีความของศาล รธน.หลังจากนี้เป็นที่ยุติ ก็เชื่อว่ากระบวนการในกรอบ กม.จะเดินหน้าไปจนถึงวันที่ประชาชนได้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามที่ตั้งใจ แล้วค่อยไปลุ้นดูว่าหลังจากการเลือกตั้งแล้ว จะเกิดปรากฏการณ์ใดๆ ที่นำไปสู่ความวุ่นวายต่อไปหรือไม่
ในขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมแม้จะออกมา “ตีกัน” ศาล รธน.ประกาศไม่เอา “ลุงตู่” กลับมาอีกแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีฐานมวลชนมากพอที่จะสร้างพลังการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่ก็ไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย โกลาหล จึงได้แต่แสดงความรู้สึกด้วยการพูดคุยในสื่อสังคมออนไลน์ แล้วเอาเวลาไปใช้ในการแก้ไขปัญหาปากท้องของตัวเอง จากวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น
ยกเว้นกลุ่มที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลง “นอกเกม” ด้วยการใช้ม็อบสร้างสภาวะแวดล้อมที่รุนแรง ซึ่งดูจากข้อมูลแล้วก็ไม่มีกลุ่มไหนที่ได้รับการหนุนหลังสู้เพื่อนำไปสู่จุดนั้นได้
อีกทั้งกองทัพ โดยเฉพาะกองทัพบก ที่คุมขุมกำลังปฏิวัติ ในขณะนี้ก็ไม่ได้มีสถานะเหมือนเมื่อปี 2557 เพราะบางหน่วยต้อง “สวมหมวกสองใบ” ทำหน้าที่เป็นหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 ซึ่ง พล.อ.ณรงค์พันธ์ก็ทำหน้าที่เป็น ผบ.ฉก.ทม.904 อยู่ด้วย
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยจะเป็น “เขตปลอดการปฏิวัติ” เลยเสียทีเดียว เพราะในเรื่องของโครงสร้างองค์กร ยังมีองค์ประกอบที่เป็นตัวบุคคลในแต่ละห้วงเวลาเป็นตัวกำหนดเวลาด้วย
ซึ่งวัดอุณหภูมิการเมืองขณะนี้ยังไม่เข้าขั้น “ปรอทแตก” หรือถ้าเทียบเป็นหมากรุกก็ยังไม่เข้า “ตาอับ” เพราะยังมีช่องทางเดินได้อีกหลายก้าว
ยกเว้น “มือที่มองไม่เห็น” จะกดปุ่มสร้างเงื่อนไข-ปัจจัยที่คาดไม่ถึง ตามการวิเคราะห์ของ รมต.ในรัฐบาลที่ไม่ควรถูกมองข้าม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
ชำแหละ 'ทักษิณ' คุยโม้ ลดค่าไฟฟ้า 3.70 บ. ทำหุ้นตก มือดีฉวยโอกาสช้อนซื้อทำกำไร
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊คไลฟ์ว่า ทักษิณ ชินวัตร ยิ่งปราศรัยและพูดมากเท่าใด ยิ่งไม่อยู่กับร่องกับรอยสะท้อนอาการน่าเป็นห่วงมากขึ้นเท่านั้น และสิ่งสำคัญแสดงพฤติกรรมและทัศนะเหยียดมนุษย์ให้เห็นอย่างเด่นชัด
'ทักษิณ' สติแตก หาเสียงเหยียดเชื้อชาติ ขู่ส่งเชือกผูกคอคนด่า
ทักษิณ ยิ่งปราศรัยยิ่งมีอาการหนักขึ้น อัดใหญ่มาจากไหน กล้าข่มขู่ส่งเชือกไปผูกคอคนวิจารณ์ ฟาดกลับถ้ากลัวมากต้องเลิกเป็นรัฐบาลไปนอน
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง