ศุกร์ 30 ก.ย. 'บิ๊กตู่'รอดหรือร่วง ฉากทัศน์การเมืองไทยจะไปทางไหน

วันศุกร์นี้แล้ว 30 กันยายน ได้รู้กันสุดท้าย บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวอีกครั้ง หรือจะต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี ตามมติของที่ประชุม 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่าจากที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัยกลางในเวลา 15.00 น. ดังนั้นเต็มที่ไม่เกิน 16.30 น.ก็คงรู้ผล

ในทางการเมือง ผลคำตัดสินที่ออกมา  การที่พลเอกประยุทธ์จะรอดหรือจะร่วง มีผลแตกต่างกันทางการเมืองค่อนข้างมาก

หากพลเอกประยุทธ์คัมแบ็ก ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวอีกครั้ง เรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน มีหลายเรื่องรออยู่ เช่น การเตรียมความพร้อมในการที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกช่วง 18-19 พฤศจิกายน รวมถึงงานบริหารทั่วไป เช่น การรับมือและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมหลายพื้นที่

ในส่วนของการเมือง คาดว่าสองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคือ ภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ อาจใช้จังหวะนี้ขอให้มีการปรับคณะรัฐมนตรีที่ว่างอยู่ หลังนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากประชาธิปัตย์ลาออกจากตำแหน่ง และกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากภูมิใจไทย ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกว่าศาลจะตัดสินเสร็จ ก็คาดว่าน่าจะกลางปีหน้า 2566 ภูมิใจไทยคงไม่ปล่อยให้โควตารัฐมนตรีว่าง

รวมถึงแม้แต่กับพลังประชารัฐเองด้วย ที่ก็อาจขอให้มีการปรับ ครม.ในส่วนที่ว่างอยู่สองตำแหน่งมาร่วมปี หลังมีการปลด ธรรมนัส พรหมเผ่า และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มาตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว โดยที่ยังไม่มีการแต่งตั้งคนใหม่เข้าไปแทน ทำให้เสียโควตารัฐมนตรีของพลังประชารัฐสองเก้าอี้มาร่วมปี แต่รอบนี้ หากมีการปรับ ครม. คนในพลังประชารัฐ คงเคลื่อนไหวให้ปรับในส่วนของพรรคด้วย ไม่ใช่ปล่อยให้เก้าอี้ว่างไปเปล่าๆ ไม่เกิดประโยชน์ทางการเมืองอะไร ยิ่งกำลังจะมีการเลือกตั้ง การที่คนของพรรคเข้าไปมีตำแหน่งรัฐมนตรี มันก็เป็นผลดีกับพลังประชารัฐเองด้วยตอนเลือกตั้ง โดยพบว่า เวลานี้ เริ่มมีหลายกลุ่มในพลังประชารัฐ จ้องตาเป็นมัน กับการปรับ ครม.รอบสุดท้าย เช่น กลุ่มปากน้ำของบ้านใหญ่อัศวเหม กลุ่ม ส.ส.ภาคใต้ เป็นต้น ที่ต่างก็รอลุ้นเกาะรถไฟขบวนสุดท้ายรอบนี้อยู่

แต่หากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด ต้องหลุดจากนายกฯ ผลที่ตามมาทันทีคือ รัฐมนตรีทุกคนใน ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งอย่างเป็นทางการด้วย กลายเป็นครม.รักษาการ ขณะที่ฝ่ายรัฐสภา ทาง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา จะต้องเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มาประชุมร่วมกันเพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่

ซึ่งช่วงรอเตรียมโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่  บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นรักษาการนายกฯ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมีการโหวตเลือกนายกฯคนใหม่เสร็จสิ้น

โดยคาดว่าพลเอกประวิตรจะเรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทันทีในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. เพื่อหารือร่วมกัน หากเกิดกรณีพลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ เพื่อดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาอย่างไร

ไทมิงดังกล่าว จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง ว่าพี่น้อง 3 ป.และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาอย่างไร?

เพราะเรื่องยุบสภา หลัง 30 กันยายน หากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด ทางการเมืองทำได้ยาก เพราะสถานการณ์ไม่ค่อยเอื้อ เช่น ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมือง อยู่ในขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญ ตามที่มีการยื่นคำร้องเข้ามา ที่คาดว่ากว่าจะวินิจฉัยเสร็จก็อาจเป็นช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม ทำให้หากยุบสภาจะเกิดปัญหาตามมาได้ เพราะเท่ากับจะไปเลือกตั้งโดยไม่มีกฎหมายรองรับ ที่สำคัญ จะขาดความชอบธรรมทางการเมือง

หากจังหวะการเมืองไปถึงจุดนั้น ก็อยู่ที่พี่น้อง 3 ป. และพรรคร่วมรัฐบาลจะตกลงกันได้หรือไม่ หากตกลงกันได้ และต้องการให้มีรัฐบาลใหม่โดยเร็ว ก่อนการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกช่วง 18-19 พฤศจิกายน ก็อาจใช้วิธีเร่งการเลือกนายกฯ ให้เสร็จโดยเร็ว และตั้งรัฐบาลให้จบภายในเดือนตุลาคม และทำขั้นตอนต่างๆ เช่น การตั้ง ครม.-การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภาให้เร็วขึ้น เพื่อให้มีรัฐบาลเต็มตัวภายในต้นเดือนพฤศจิกายน เพื่อรับเอเปก และเตรียมจัดเลือกตั้งใหญ่ปีหน้า ซึ่งหากตกลงกันได้ ทุกอย่างก็จบเร็ว

เพียงแต่การตกลงกันดังกล่าวจะออกมาสูตรไหน เพราะพลังประชารัฐตอนเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เสนอชื่อแค่พลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ทำให้พรรคไม่สามารถเสนอชื่อใครได้ ขณะที่ประชาธิปัตย์ก็มี ส.ส.น้อยกว่า ภูมิใจไทย จึงต้องดูว่า พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ จะยอมไหมที่จะดัน อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทยเป็นนายกฯ  แต่ในส่วนของประชาธิปัตย์ อำนาจการต่อรองมีน้อย เพราะประชาธิปัตย์ มี ส.ส.น้อยกว่าภูมิใจไทย ทำให้ภูมิใจไทยมีสิทธิ์ต่อรองได้ เพราะใครต่อใครก็คงมองเห็นว่า อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แคนดิเดตนายกฯจากประชาธิปัตย์ แรงหนุนการเมือง คงสู้เสี่ยหนู อนุทิน ไม่ได้

 หรือสุดท้ายจะเกิดกรณีนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อ โดยมีพลเอกประวิตรรอคั่วเก้าอี้ แล้วถ้าตกลงกันได้ให้เอาสูตรนี้ พลเอกประวิตรจะคุมเสียงทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เพื่อดันให้ตัวเองเป็นนายกฯ คนนอกได้หรือไม่ เพื่อปลดล็อกไปสู่การเลือกนายกฯคนนอก เพราะหากเลือกใช้วิธีการนี้ จะมีการต่อรองกันในพรรคร่วมรัฐบาลสูงมากรวมถึงพวกพรรคเล็ก ก็จะขอมีเอี่ยวด้วย ที่สำคัญ ต้องประเมินแรงต้านนอกสภาด้วยว่าจะมีมากแค่ไหน เพราะอาจเกิดกระแสไม่ยอมรับ 3 ป.สืบทอดอำนาจกันเอง จากบิ๊กตู่มาบิ๊กป้อมขึ้นมา ในสังคมก็ได้ เรื่องแบบนี้ก็ประมาทกันไม่ได้ในทางการเมือง 

การเมืองไทยหลัง 30 ก.ย. “บิ๊กตู่รอดหรือร่วง” มีผลกระทบตามมาหลายบริบท โดยเฉพาะหากพลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ แต่หากบิ๊กตู่รอด การเมืองในสภาและในพรรคร่วมรัฐบาล ก็เข้าสู่สภาวะปกติ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?

มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน