‘กัญจนา’ เปิดทาง ‘ท็อป’ ถือธง ‘ชทพ.’ ยุค ‘ลูกไม้ใต้ต้น’ แกร่งขึ้น

ก่อนการเลือกตั้งปี 2562 พรรคชาติไทยพัฒนาในวันที่ไร้ ‘มังกรสุพรรณ’ บรรหาร ศิลปอาชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 21 มีความคิดที่จะรีแบรนด์พรรคใหม่ ใช้นักการเมืองไฟแรงเป็นตัวชูโรง โดยมีนักการเมืองอาวุโสเป็นแบ็กอัพ 

โปรเจ็กต์ดังกล่าวเรียกว่า ‘ยังบลัด’ มีการวาง ‘ลูกท็อป’ วราวุธ ศิลปอาชา ทายาทมังกรสุพรรณเป็นหัวหน้าพรรค และให้ ‘เสี่ยโต้ง’ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ เป็นเลขาธิการพรรค 

 ‘กลุ่มยังบลัด’ ของพรรคชาติไทยพัฒนาในขณะนั้น ประกอบด้วย วราวุธ, สิริพงศ์, 2 พี่น้องปริศนานันทกุล ภราดร-กรวีร์ และเสมอกัน เที่ยงธรรม  

ขณะที่ผู้อาวุโส แกนหลักของพรรค ได้แก่ ‘เฮียเม้ง’ ประภัตร โพธสุธน ‘เสี่ยตือ’ สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ‘เฮียจอง’ จองชัย เที่ยงธรรม ‘นิกร จำนง’ จะคอยทำหน้าที่ ‘พี่เลี้ยง’ 

แต่โปรเจ็กต์นี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน ทั้งที่เหลือเวลาอีกไม่กี่วันจะเข้าคูหา เมื่อพรรคชาติไทยพัฒนาตัดสินใจพับโปรเจ็กต์นี้กะทันหัน หลัง ‘ตระกูลสะสมทรัพย์’ บ้านใหญ่นครปฐม สร้างเซอร์ไพรส์ปฏิเสธพรรคพลังประชารัฐ แต่เลือกมาอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนา  

การที่มีนักการเมืองอาวุโสเข้ามามากมาย ทำให้พรรคชาติไทยพัฒนา ตัดสินใจปรับแผนใหม่ ใช้นักการเมืองที่มีพรรษาสูงกว่า ‘ยังบลัด’ มาเป็นผู้นำ โดยให้ ‘หนูนา’ กัญจนา ศิลปอาชา ลูกสาวคนโตของมังกรสุพรรณ มาเป็นหัวหน้าพรรค และให้ ‘เฮียเม้ง’ มือประสานของพรรค มาเป็นแม่บ้านพรรค เพื่อใช้ประสบการณ์ประคองพรรค  

การพับแผน ‘ยังบลัด’ สร้างความผิดหวังและไม่พอใจให้นักการเมืองกลุ่มยังบลัดที่อุตส่าห์ปลุกปั้นโปรเจ็กต์นี้มาเป็นอย่างมาก ถึงขั้นตัดสินใจออกจากพรรค เริ่มจาก ‘เสี่ยโต้ง’ ที่ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ตามด้วย ‘ตระกูลปริศนานันทกุล’ แห่ง จ.อ่างทอง คนเก่าแก่ของพรรค   

อย่างไรก็ดี แม้ ‘หนูนา’ จะเป็นหัวหน้าพรรค แต่เหมือนว่า การเข้ามาดำรงตำแหน่งครั้งนี้เข้ามาในเชิง ‘สัญลักษณ์’ ในฐานะพี่สาวคนโตของตระกูล ที่พรรษาการเมืองมากกว่าน้องชาย แต่ในทางปฏิบัติได้ปล่อยให้ ‘ลูกท็อป’ แสดงฝีมือผู้นำเต็มที่ 

ตั้งแต่การไม่รับตำแหน่ง รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แต่ให้ ‘ลูกท็อป’ ทำหน้าที่บทบาทหัวหน้าพรรคตลอดช่วงที่ผ่านมาคือ การทำงานช่วยน้องอยู่เบื้องหลัง  

งานในพรรคทั้งหมดปล่อยให้ ‘ลูกท็อป’ กับ ‘เฮียเม้ง’ จัดการเต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมา 2 รัฐมนตรีในโควตาของพรรคต่างทำงานได้อย่างดี โดยเฉพาะ ‘ลูกท็อป’ ที่สามารถพากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นกระทรวงที่ได้รับคำชมเป็นลำดับต้นๆ  

ไม่เพียงการทำงานที่โดดเด่น การวางตัวและทักษะการใช้ภาษาของ ‘ลูกท็อป’ ยังได้รับคำชื่นชมอย่างมาก เหมือน ‘ลูกไม้ใต้ต้น’ ที่เดินการเมืองประนีประนอมแบบ ‘เตี่ย’ แต่เป็นในเวอร์ชั่นประยุกต์ เข้ากับเทรนด์โลกปัจจุบัน  

ทำให้ถูกจับตามองอย่างมากว่า การลาออกจากหัวหน้าพรรคของ ‘หนูนา’ เมื่อวันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อให้มีการประชุมใหญ่สามัญ เพื่อเลือกกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ในวันที่ 3 ตุลาคมนั้น เป็นการเปิดทางให้กับ ‘น้องชาย’ ถือธงเต็มตัวหรือไม่ เพราะขณะนี้อยู่ในโหมดเลือกตั้งแล้ว 

3 ปีเศษๆ ในบทบาทรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา พิสูจน์แล้วว่า วันนี้ ‘ลูกท็อป’ เพียบพร้อมทั้งวัยวุฒิและคุณวุฒิ 

ขณะเดียวกัน เมื่อไม่นานมานี้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของพรรคสุพรรณบุรี เมื่อ ‘กลุ่มทุน’ ชื่อดังด้านขนส่งสาธารณะ ที่มักตกเป็นข่าวเชื่อมโยงกับพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุนพรรคชาติไทยพัฒนา ทำให้มีกำลังวังชาเพิ่มมากขึ้น 

และแม้พรรคชาติไทยพัฒนาจะพอใจในสถานะการเป็น ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พวกเขาเองก็หมายมั่นปั้นมือที่จะได้ ส.ส.มากกว่าการเลือกตั้งปี 2562 เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงการเติบโตทางการเมืองของพรรคในยุคของ ‘ทายาทมังกร’  

ซึ่งท่ามกลางความไม่แน่นอนทางการเมืองของหลายพรรค พรรคชาติไทยพัฒนาเองก็ตกเป็นข่าวอยู่เป็นระยะๆ ว่า ซุ่มขายขนมจีบให้กับบรรดา ‘ศิษย์เก่าชาติไทย’ ที่แยกย้ายกันไปเติบโต ให้ลมหวนกลับมาร่วมงานอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มที่ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะเอาอย่างไรในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

 ‘บ้านใหญ่ชลบุรี’ อดีตศิษย์เก่าพรรคชาติไทย เป็นหนึ่งในก๊วนที่อยู่ในข่าวลือ เช่นเดียวกับ ‘คนเก่าแก่’ ที่แยกย้ายออกไป เพราะความไม่เข้าใจกันบางอย่างระหว่างแกนนำ ซึ่งรายหลังดูเหมือนจะปฏิเสธลมหวนไปแล้ว 

แต่ ณ วันนี้ วันที่การเมืองยังไม่นิ่งมากพอ การโยกย้ายของ ‘นักเลือกตั้ง’ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด คนที่มาแล้วอาจจะออกไป คนที่ไม่มาอาจจะเปลี่ยนใจมาในตอนหลังก็ได้ เป็นไปได้ทั้งนั้น  

พรรคชาติไทยพัฒนาเองก็รู้จุดนี้ดี ยังเดินหน้า ‘ดีล’ ไปเรื่อยๆ เพียงแต่ไม่เอิกเกริกเหมือนพรรคอื่น. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี