นับถอยหลังจากวันจันทร์ที่ 26 ก.ย. ก็เหลือเวลาอีก 5 วัน คือวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. จะได้รู้กันแล้วว่า บิ๊กตู่จะรอดหรือจะร่วง จากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี โดยวันดังกล่าวคนไทยทั้งประเทศจะร่วมลุ้นผลการลงมติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญว่า คำร้องคดี 8 ปี พลเอกประยุทธ์ สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ใน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีดุลยพินิจ-การวินิจฉัยคดีอย่างไร
เบื้องต้นแวดวงการเมืองและนักกฎหมายมหาชนชี้ไปในทางเดียวกัน ว่าผลการลงมติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. ที่คาดว่าจะเสร็จก่อนเที่ยง แนวโน้มฟันธงได้ว่าเสียงแตก ผลออกมาไม่เป็นเอกฉันท์แน่นอน เพียงแต่จะออกสูตรไหน จะออกมาแบบที่ร่ำลือกันทางการเมือง มติ 6 ต่อ 3 หรือ 5 ต่อ 4 หรือ 7 ต่อ 2 ซึ่งทั้งหมดยังเป็นแค่การคาดการณ์เท่านั้น ของจริงรอดูศุกร์นี้
ประเมินแล้ว การลงมติของที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้อาจมีการกำชับเป็นพิเศษ ห้าม ข่าวรั่ว-มติหลุด
หลังก่อนหน้าเกิดกรณีข่าวรั่วเรื่องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 5 ต่อ 4 ให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่การเป็นนายกรัฐมนตรี จนทำให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญต้องยกเลิกการแถลงข่าวที่นัดกับสื่อไว้ เพราะมติรั่วไปก่อนแล้ว รวมถึงกรณี “เอกสารรั่ว” คำชี้แจงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต่อศาลรัฐธรรมนูญและเอกสารบันทึกความเห็นของมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ จนทำให้ศาลรัฐธรรมนูญตกเป็นจำเลยต่อสังคมบางส่วนว่าเอกสารรั่วจากศาลรัฐธรรมนูญทั้งที่ข่าวหลายกระแสยืนยันว่า เอกสารรั่วจากคนข้างนอกศาลรัฐธรรมนูญ
ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดกรณีข่าวรั่วเกิดขึ้นก่อนการอ่านคำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่าย 3 โมง มีการมองกันว่ารอบนี้ ทาง วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ คงมีการสั่งให้คุมเข้มการประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันศุกร์นี้เป็นพิเศษ นอกเหนือจากที่ใช้มาตรการปกติ เช่น การให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทุกคนต้องมอบ " โทรศัพท์มือถือ" ประจำตัวไว้กับเจ้าหน้าที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญตั้งแต่เข้าประชุมจนถึงการอ่านคำวินิจฉัยกลางเสร็จสิ้นลง ขณะเดียวกันก็คงคุมเข้มเจ้าหน้าที่ศาลรัฐธรรมนูญที่จะอยู่ในห้องประชุมตอน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญลงมติวินิจฉัยคดี ที่จะถูกสั่งให้นำโทรศัพท์มือถือมอบให้กับเจ้าหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญไว้จนกว่าการอ่านคำวินิจฉัยกลางเสร็จสิ้นลงเช่นกัน อันเป็นกระบวนการที่ศาลทำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่รอบนี้อาจคุมเข้มมากขึ้น
ขณะเดียวกัน หลังมีการลงมติเสร็จสิ้นแล้วในช่วงก่อนเที่ยง ก็คาดว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาพักรับประทานอาหารกลางวันประมาณ 1 ชั่วโมง และจะกลับมาประชุมร่วมกันอีกครั้งตอนบ่ายโมง จากนั้นจะมีการมอบหมายให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญคนใดคนหนึ่ง ที่ต้องเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก เป็นตัวหลักในการ ร่างคำวินิจฉัยกลาง เพื่อนำไปอ่านกลางห้องพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งช่วงตั้งแต่บ่ายโมงจนถึงบ่ายสามโมง ก็คงมีการคุมเข้มไม่ให้ข่าวรั่วเช่นกัน เพราะเป็นที่รู้กันว่า ตุลการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคน จะมีที่ปรึกษา-ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว ที่เรียกกันว่า ทีมหน้าห้องตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้คาดว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญแต่ละคนก็คงต้องระมัดระวังเป็นพิเศษในการที่จะพูดคุย โดยเฉพาะการต้องไม่หลุดไปพูดเรื่องมติที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญให้ทีมงานหน้าห้องรู้ก่อนบ่ายสามโมง
มีการประเมินกันว่า การที่ตุลาการนัดอ่านคำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่ายสามโมง คงเพราะประเมินแล้วว่า คำวินิจฉัยคดีนี้น่าจะยาวพอสมควร แม้จะเป็นการวินิจฉัยตีความแค่ว่า พลเอกประยุทธ์จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต่อไปหรือไม่หลัง 24 ก.ย.2565 ตามคำร้องของฝ่ายค้าน แต่เนื่องจากเป็นคดีใหญ่ เป็นที่สนใจของประชาชนทั้งประเทศและมีผลต่อการเมืองสูง และตุลาการอาจมีความเห็นในแง่มุมข้อกฎหมายแตกต่างกันมาก จึงเท่ากับว่าตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีเวลาประมาณสองชั่วโมงในการเขียนคำวินิจฉัยกลาง ส่วนการอ่านคำวินิจฉัยกลางคาดกันว่า หากตุลาการทั้งหมด ขึ้นนั่งบังลังก์ศาลรัฐธรรมนูญและเริ่มอ่านตรงเวลาคือบ่ายสามโมง ประเมินกันแล้วก็คาดกันว่าน่าจะเสร็จก่อน 16.30 น.
โดยคาดว่าวันดังกล่าวแวดวงการเมืองคงหยุดพักหายใจ รอลุ้นฟังผลคำตัดสินกันแบบใจระทึก โดยเฉพาะกองเชียร์ลุงตู่ทั้งหลาย แม้ฝ่ายกองเชียร์พลเอกประยุทธ์และฝ่ายรัฐบาลจะมั่นใจว่า พลเอกประยุทธ์จะคัมแบ็กกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวหลังบ่ายสี่โมงวันศุกร์นี้ แต่ก็คงมีกองเชียร์บางส่วนมีเสียวในใจลึกๆ เหมือนกันว่า อาจจะไม่รอดก็ได้ แต่ผลจะออกมาแบบไหนก็รอลุ้นกันไป
มีการคาดหมายทางการเมืองกันว่า วันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ พลเอกประยุทธ์อาจจะปักหลักรอติดตามการอ่านคำวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญอยู่ที่ กระทรวงกลาโหม หรือไม่ก็อาจเป็นบ้านพัก กรมทหารราบที่ 1 รอ. ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง ก็จะทำให้ พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว และคาดว่า หากพลเอกประยุทธ์อยู่ที่กระทรวงกลาโหม ก็อาจจะมีการแถลงข่าวเปิดใจถึงผลคำตัดสินที่ออกมาที่กระทรวงกลาโหมเลย หรือไม่ก็อาจจะนั่งรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่จะแล่นไปรับที่กระทรวงกลาโหมเพื่อพากลับเข้าทำเนียบรัฐบาล แล้วพลเอกประยุทธ์อาจแถลงเปิดใจที่ทำเนียบรัฐบาลก็ได้ เพื่อขอบคุณประชาชนที่คอยให้กำลังใจสนับสนุนตัวเองมาโดยตลอด
แต่หากผลออกมาตรงกันข้าม คือศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไปหลัง 24 กันยายน 2565 เพราะเป็นนายกรัฐมนตรีมาครบ 8 ปีแล้วตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ถ้าเป็นแบบนี้ คาดหมายกันไว้ว่า พลเอกประยุทธ์อาจจะขอตั้งหลักสักพักเพื่อประเมินสถานการณ์ก็ได้ อาจไม่แถลงข่าว แต่หากจะแถลง ก็อาจแถลงหรือให้ข่าวที่กระทรวงกลาโหมในลักษณะยอมรับผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ขณะเดียวกันเริ่มมีกระแสข่าวลือทางการเมืองออกมาในช่วงสุดสัปดาห์ว่า มีสัญญาณจาก ป่ารอยต่อ ไปถึงแกนนำฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาลว่า วันศุกร์นี้ 30 ก.ย. ให้สแตนบายด์กันไว้ให้พร้อม หากไม่ได้ไปราชการต่างจังหวัดที่ไหน ขอให้รอการติดต่อจากป่ารอยต่อไว้ตลอดเวลา เพราะหากสุดท้าย บิ๊กตู่ไม่รอด บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผู้จัดการรัฐบาล อาจจะต้องเรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลโดยด่วนในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ทันที เพื่อหารือกันทางการเมืองว่าจะเอาอย่างไรกันต่อไป แต่หากถ้าพลเอกประยุทธ์รอด ศาลยกคำร้อง ก็คาดกันไว้ล่วงหน้าว่า บิ๊กป้อมและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลอาจไปร่วมต้อนรับและให้กำลังใจพลเอกประยุทธ์ในเย็นวันเดียวกันทันที เรียกได้ว่าเตรียมพร้อมไว้ทั้งสถานการณ์ที่เป็นคุณและไม่เป็นคุณกับบิ๊กตู่กันให้พร้อม
โดยผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา หากพลเอกประยุทธ์คัมแบ็กทุกอย่างก็จบ การเมืองในรัฐบาลก็กลับเข้าสู่สภาวะปกติ รัฐบาลก็เดินหน้าทำงานที่รออยู่ต่อไป เช่น การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม การจัดเตรียมประชุมเอเปกเดือน พ.ย.ที่จะถึงนี้ และคาดว่าอาจจะมีการปรับ ครม.เกิดขึ้นช่วงเดือนตุลาคม เพราะทั้งพลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ต่างต้องการให้ปรับ ครม.รอบสุดท้ายจากตำแหน่งที่ว่างอยู่ 4 เก้าอี้
แต่หากบิ๊กตู่ไม่รอด แบบนี้ก็เรื่องใหญ่ ทางบิ๊กป้อมและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลต้องคุยกันแล้วว่าจะเอาอย่างไร จะส่งสัญญาณให้มีการประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญนัดพิเศษ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีช่วงไหน แล้วจะหนุนนายกฯ จากบัญชีรายชื่อคือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทยที่มี ส.ส.ในสภา มากกว่าประชาธิปัตย์ หรือจะเอานายกฯ คนนอกอย่างบิ๊กป้อม เพราะเรื่องยุบสภา เกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองและร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะต้องเป็นกฎหมายหลักรองรับการเลือกตั้ง ยังค้างอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ กว่าจะจบก็คาดว่าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคม
การตัดสินใจจะออกมาแบบไหน คาดได้ว่า 3 ป.-พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงสมาชิกวุฒิสภา ที่ยึดโยงกับฝ่ายรัฐบาล คงคุยกันหลายรอบกว่าจะตกผลึกว่าจะเอาแบบไหน
การเมืองไทยหลังจากนี้จะคลายล็อกหรือเดินเข้าสู่เดตล็อก จากผลคดี 8 ปีพลเอกประยุทธ์ ก็อยู่ที่ผลคำตัดสินที่จะออกมา 30 ก.ย.นี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่
ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด
นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย
จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง
จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567
ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!
แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่