นับจากวันอาทิตย์ที่ 25 ก.ย.เป็นต้นไป เหลือเวลาอีก 5 วันเท่านั้น คือวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. ก็จะรู้กันแล้วว่าสุดท้าย บิ๊กตู่-พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหรือไม่ หรือว่าจะต้องหลุดจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรีตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่าน่าจะรู้ผลกันไม่เกิน 16.30 น.ของวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. ผลคำวินิจฉัยที่จะออกมา จะออกมาตาม มติที่ประชุม 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่คาดว่ากันว่า เสียงไม่น่าจะเป็นเอกฉันท์ น่าจะต้องมี เสียงแตก กันบ้างในคำร้องคดีนี้ ซึ่งคำตัดสินที่จะออกมา พูดง่ายๆ ก็คือ การลุ้นว่าหลังการอ่านคำวินิจฉัยกลางเสร็จสิ้นลง พลเอกประยุทธ์จะ รอดหรือร่วง นั่นเอง
รอด ก็คือได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวอีกครั้ง หลังการอ่านคำวินิจฉัยเสร็จสิ้นลง ณ ตอนนั้นเลย ที่ก็คือพลเอกประยุทธ์สามารถนั่งรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเข้ามาที่ห้องทำงานตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 30 ก.ย.นี้ ได้ทันที ไม่ต้องรอข้ามวัน และคาดว่าพลเอกประยุทธ์น่าจะแถลงข่าวเปิดใจต่อผลคำวินิจฉัยที่ออกมา
ไม่รอดหรือร่วง ก็คือพลเอกประยุทธ์ไม่ได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัวอีกต่อไป เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ต่อหลัง 24 กันยายน 2565 ที่ผ่านมา เพราะเป็นนายกฯ มาครบ 8 ปี ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158
ผลจะออกมาแบบไหน รอลุ้นระทึกกันต่อไป รวมถึงต้องดูรายละเอียดของคำวินิจฉัยกลางที่จะออกมาด้วยว่าเรื่อง 8 ปีนายกฯ ตามคำวินิจฉัยของศาลตีความไว้ว่าอย่างไร
เพราะในคำร้องของฝ่ายค้านที่ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเขียนไว้แค่ว่า ผู้ร้องเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้อีกต่อไปหลัง 24 กันยายน 2565 ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 วรรคสอง เพราะผู้ร้องเห็นว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาครบ 8 ปีแล้ว โดยนับตั้งแต่เป็นนายกฯ รอบแรกเมื่อปี 2557 ซึ่งในคำร้องไม่ได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการนับ 8 ปีดังกล่าวให้นับตั้งแต่เมื่อใด แต่ถ้าดูจากนัยในคำร้องของฝ่ายค้าน คือให้นับจากปี 2557 เพียงแต่ในคำร้องที่ยื่นไปต่อศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุในประเด็นนี้ให้ศาลตีความ
ซึ่งโดยหลักปฏิบัติ ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเฉพาะประเด็นในคำร้อง ที่ยื่นมา ดังนั้นจึงมีการมองกันว่า หากศาลรัฐธรรมนูญตีความแบบเคร่งครัด ก็อาจวินิจฉัยว่าพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ ต่อไปหลัง 24 กันยายนนี้ได้หรือไม่ตามที่ร้องมา แต่จะไม่ระบุในคำวินิจฉัยว่า 8 ปีดังกล่าวนับจากเมื่อใด ซึ่งหากเป็นกรณี พลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ แบบนี้ก็จบเลย ก็คือศาลวินิจฉัยว่า 8 ปีให้นับจากปี 2557
แต่หากผลคำวินิจฉัยออกมาใน ทางที่เป็นคุณ กับพลเอกประยุทธ์ คือ ยกคำร้อง ตรงนี้ก็ต้องดูว่าคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญจะไปเขียนไว้หรือไม่ว่า เมื่อศาลเห็นว่า 8 ปีดังกล่าวไม่ได้นับจากปี 2557 แล้วศาลให้นับจากช่วงไหน ที่ก็จะมีได้แค่สองช่วงคือ 1.นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 ที่หากเป็นแบบนี้ก็คือพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแล้ว 5 ปี ยังเป็นได้ต่ออีกร่วมๆ 3 ปี กับ 2.ให้นับจากวันที่พลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯ รอบสองหลังเลือกตั้งเมื่อปี 2562 คือ 9 มิถุนายน 2562 โดยหากศาลตีความออกมาแบบนี้ ก็เท่ากับพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯ มาแล้ว 3 ปี ยังเป็นนายกฯ ได้อีก 5 ปี
แต่อย่างที่บอกไว้ โดยหลัก ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่วินิจฉัยในประเด็นที่ไม่ได้อยู่ในคำร้อง จึงมีการมองกันว่า หากสุดท้ายศาลตีความแบบเคร่งครัด โดยมีความเห็นว่าพลเอกประยุทธ์ยังเป็นนายกฯ ได้ต่อ ศาลอาจบอกแค่ว่ายังเป็นนายกฯ ได้ต่อไปหลัง 24 ก.ย. แต่อาจไม่ได้บอกว่าแล้วศาลนับ 8 ปีจากช่วงไหน ตรงนี้ก็อาจจะเป็นความคลุมเคลือในข้อกฎหมายต่อไป
อย่างไรก็ตาม มีการมองกันในเชิงกฎหมายและการเมืองว่า แม้คำร้องของฝ่ายค้านจะไม่ขอให้ศาลวินิจฉัยว่า 8 ปีนับจากช่วงใด แต่ต้องไม่ลืมความจริงว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะบอกว่าพลเอกประยุทธ์จะหลุดหรือไม่หลุดจากนายกฯ ต่อให้มีคำตัดสินออกมาว่า ไม่หลุดจากนายกฯ หลัง 24 กันยายน 2565 มีการตั้งข้อสังเกตกันว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไรที่ศาลจะไม่อธิบายเหตุผล-ที่มาที่ไปของการตัดสินดังกล่าว ว่าทำไมพลเอกประยุทธ์ถึงไม่หลุดจากนายกฯ ซึ่งการอธิบายที่ดีที่สุดก็ต้องบอกว่า ที่ไม่หลุดจากนายกฯ เพราะศาลเห็นว่า การนับเวลาการเป็นนายกฯ ต้องเริ่มนับจากเมื่อใด ที่ก็หมายถึงอาจมีความเป็นไปได้ที่คำวินิจฉัยกลางอาจเขียนไว้ในบรรทัดใดบรรทัดหนึ่งถึงเรื่องนี้ว่าให้นับจากช่วงใด เช่น ให้นับจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อ 6 เมษายน 2560 เป็นต้น โดยไม่ต้องไปเขียนไว้ในตอนท้ายของคำวินิจฉัยกลางที่เป็นมติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากก็ได้
แต่ทั้งหมดก็เป็นการวิเคราะห์-คาดการณ์ ที่สุดท้ายก็ต้องดูกันว่า 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะมีความเห็นออกมาอย่างไร
สำหรับในทางการเมือง ผลคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา การที่พลเอกประยุทธ์จะได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปหรือไม่ มีผลแตกต่างกันทางการเมืองค่อนข้างมาก
คือหากพลเอกประยุทธ์คัมแบ็ก กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีเต็มตัว ในทางการเมืองและการบริหารราชการแผ่นดิน ก็มีหลายเรื่องสำคัญรออยู่ เช่น การเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอเปกช่วง 18-19 พ.ย.2565 รวมถึงงานบริหารทั่วไป เช่น การรับมือและช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัด
ขณะที่ในทางการเมือง คาดว่าหลังพลเอกประยุทธ์กลับมา สองแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลคือ ภูมิใจไทยกับประชาธิปัตย์ ก็อาจใช้จังหวะนี้ขอให้มีการ ปรับคณะรัฐมนตรี ที่ว่างอยู่ หลังนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย จากประชาธิปัตย์ลาออกจากตำแหน่ง และกนกวรรณ วิลาวัลย์ รมช.ศึกษาธิการ จากภูมิใจไทย ถูกศาลฎีกาสั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งกว่าศาลจะตัดสินเสร็จก็คาดว่าน่าจะกลางปีหน้า 2566 ภูมิใจไทยก็คงไม่ปล่อยให้โควตารัฐมนตรีว่างไปเปล่าๆ รวมถึงแม้แต่กับพลังประชารัฐเองด้วยที่ก็อาจขอให้มีการปรับ ครม.ในส่วนที่ว่างอยู่สองตำแหน่งมาร่วมปี นับแต่มีการปลดธรรมนัส พรหมเผ่า และนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ มาตั้งแต่กันยายนปีที่แล้ว
แต่หาก พลเอกประยุทธ์ไม่รอด ต้องหลุดจากนายกฯ ทันที ถ้าเป็นแบบนี้ก็ต้องดูว่าพลเอกประยุทธ์จะตัดสินใจอย่างไร จะยอมเป็น รมว.กลาโหมตำแหน่งเดียวโดยไม่เป็นนายกฯ ได้หรือไม่ หรือจะลาออกจาก รมว.กลาโหมไปด้วยเลย เพื่อไม่ให้เกิดความตะขิดตะขวงใจภายในพี่น้อง 3 ป. และในรัฐบาล ที่ในช่วงรัฐบาลรักษาการจะได้ไม่เกิดสภาพ พระอาทิตย์สองดวง ในรัฐบาล โดยเฉพาะตอนประชุม ครม. แม้จะเป็นช่วงสั้นๆ ก็ตาม เพราะหากพลเอกประยุทธ์จะยังเป็น รมว.กลาโหมต่อไปตำแหน่งเดียว แต่ใช้วิธีไม่เข้าทำเนียบรัฐบาล ประชุม ครม.ผ่านคอนเฟอเรนซ์ไปเรื่อยๆ มันคงไม่ดีแน่
ส่วนครั้นจะกลับมาเป็นนายกฯ รักษาการในช่วงสั้นๆ เพื่อรอโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 158 เปิดช่องให้ทำได้ เพราะ 8 ปีไม่นับรวมการเป็นนายกฯ รักษาการ ดูแล้วพลเอกประยุทธ์น่าจะไม่กลับมาในสภาพนี้ เพราะไม่สง่างามทางการเมือง จะถูกมองว่ายึดติดตำแหน่งมากเกินไป
ทำให้ก็มีโอกาสสูงที่ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จะเป็นรักษาการนายกฯ ไปในช่วงที่รอการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
โดยคาดว่าพลเอกประวิตรจะเรียกประชุมแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลทันทีในช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 30 ก.ย. เพื่อหารือร่วมกัน หากเกิดกรณีพลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯ เพื่อดูว่าพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาอย่างไร
ขณะเดียวกัน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ก็จะต้องเรียกประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญเป็นกรณีพิเศษ เพื่อให้สมาชิกรัฐสภาทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มาประชุมร่วมกันเพื่อโหวตเลือกนายกฯ คนใหม่
ตรงนี้แหละที่จะเป็นรอยต่อ-จุดเปลี่ยนสำคัญทางการเมือง ว่าพี่น้อง 3 ป.และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลจะเอาอย่างไร?
เพราะเรื่อง ยุบสภา หลัง 30 ก.ย.เลยหากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด ในทางการเมืองทำได้ยาก เพราะตอนนี้ร่าง พ.ร.บ.การเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ อยู่ในขั้นตอนศาลรัฐธรรมนูญกำลังวินิจฉัยว่าขัดหรือไม่ขัดรัฐธรรมนูญตามที่มีการยื่นคำร้องเข้ามา ที่คาดว่ากว่าจะวินิจฉัยเสร็จก็อาจเป็นช่วงสัปดาห์ที่สามของเดือนตุลาคม ทำให้หากยุบสภาจะเกิดปัญหาตามมาได้ เพราะเท่ากับจะไปเลือกตั้งโดยไม่มีกฎหมายรองรับ นอกจากใช้วิธีนำทั้งสองร่างดังกล่าวมาออกเป็นพระราชกำหนดเพื่อแก้ปัญหา
ขณะเดียวกัน หากเลือกยุบสภาแล้วเป็นรัฐบาลรักษาการในช่วงเลือกตั้ง จะมีปัญหาในเรื่องการเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกเดือน พ.ย.อีก ที่อาจไม่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้นำหลายประเทศทั่วโลกในการมาประชุมที่ไทย โดยมีรัฐบาลรักษาการเป็นเจ้าภาพ จนอาจทำให้การจัดประชุมเอเปกไม่ได้ผลอย่างที่ประเทศไทยต้องการ
แต่หากพี่น้อง 3 ป.และพรรคร่วมรัฐบาลตกลงกันได้ ก็อาจใช้วิธีเร่งการเลือกนายกฯ ให้เสร็จโดยเร็วและตั้งรัฐบาลให้จบภายในเดือนตุลาคม โดยลดขั้นตอนต่างๆ ให้รวดเร็ว เช่น การตั้ง ครม.-การแถลงนโยบายรัฐบาลต่อที่ประชุมรัฐสภา เพื่อให้มีรัฐบาลเต็มตัวภายในต้นเดือน พ.ย. แล้วไปทำหน้าที่จัดประชุมเอเปกและเตรียมจัดเลือกตั้ง ซึ่งหากตกลงกันได้ ทุกอย่างก็จบเร็ว
เพียงแต่การตกลงกันดังกล่าวจะออกมาสูตรไหน พลังประชารัฐและประชาธิปัตย์จะยอมไหม ที่จะดันอนุทิน ชาญวีรกูล จากภูมิใจไทยเป็นนายกฯ เพราะพลังประชารัฐ ตอนเลือกตั้งปี 2562 เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ คนเดียว ทำให้ไม่มีชื่ออีกแล้ว ส่วนประชาธิปัตย์ก็มี ส.ส.ในสภาน้อยกว่าภูมิใจไทย ทำให้ ภูมิใจไทยก็อาจต่อรองเรื่องนี้ได้ หรือสุดท้ายจะเกิดกรณีนายกฯ นอกบัญชีรายชื่อ โดยมีพลเอกประวิตรรอคั่วเก้าอี้ แล้วถ้าตกลงกันได้ให้เอาสูตรนี้ พลเอกประวิตรจะคุมเสียงทั้ง ส.ส.และ ส.ว.เพื่อดันให้ตัวเองเป็นนายกฯ คนนอกได้หรือไม่
เรียกได้ว่าแต่ละจังหวะการตัดสินใจของฝ่าย 3 ป.และพรรคร่วมรัฐบาล ล้วนมีเงื่อนไขการเมืองหลายอย่างมาเกี่ยวข้อง ซึ่งคาดว่าจะมีการต่อรองกันสูงแน่หากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด
จึงเห็นได้ชัด การเมืองไทยหลัง 30 ก.ย. “บิ๊กตู่รอดหรือร่วง” ล้วนมีผลกระทบตามมาในหลายบริบท โดยเฉพาะหากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด ต้องหลุดจากนายกฯ สิ่งที่ตามมามีผลถึงขั้นเปลี่ยนหน้ากระดานอำนาจการเมืองไทยเลยทีเดียว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน