จับตาหลังคำวินิจฉัยล้มล้างปกครอง แกนนำสู้ต่อ-ติดดาบเจ้าหน้าที่

ผ่านไปแล้วสำหรับคดีที่ได้รับการจับตามองอย่างมาก ว่าจะเป็นตัวกำหนดอุณหภูมิทางการเมืองไทยนับจากนี้ได้ ภายหลังศาลรัฐธรรมนูญได้อ่านคำวินิจฉัยในคดีที่ ณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งให้ อานนท์ นำภา, ภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์, จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์, สิริพัชระ จึงธีรพานิช, สมยศ พฤกษาเกษมสุข และอาทิตยา พรพรม เลิกการกระทำอันเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 49  

โดย ณฐพร โตประยูร ร้องว่า การปราศรัยของอานนท์ และพวกรวม 6 ครั้ง เป็นการใช้เสรีภาพอันเป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จากการชุมนุมและปราศรัยที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 

โดยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงส่วนใหญ่เห็นว่า การกระทำและพฤติกรรมต่อเนื่องของผู้ถูกร้อง 1-3 มีเจตนาซ่อนเร้น เซาะ กร่อนบ่อนทำลาย เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพมุ่งล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และกระทำกันเป็นเครือข่าย ขบวนการอย่างต่อเนื่อง 

นอกจากนี้ยังสั่งการให้ผู้ถูกร้องที่ 1-3 และเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าวอีกด้วย 

อย่างไรก็ดี แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยที่ชัดเจน แต่ดูเหมือนการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 3 นิ้ว จะไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ และการเคลื่อนไหวน่าจะร้อนแรงมากขึ้น หลัง ‘รุ้ง ปนัสยา’ ยืนยันหลังรับทราบคำวินิจฉัยว่าจะเคลื่อนไหวต่อ เพื่อเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน โดยอ้างว่าไม่ใช่การล้มล้างการปกครอง 

จริงๆ ท่าทีของแกนนำ 3 นิ้ว แจ่มชัดตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ได้เริ่มอ่านคำวินิจฉัยแล้วด้วยซ้ำ ตั้งแต่การที่ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากนายอานนท์ ขอออกห้องประชุมไม่ฟังคำวินิจฉัยตามคำขอของนายอานนท์ นอกจากนี้แกนนำบางคนยังระบุว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการไต่สวน 

ซึ่งพยายามจะชี้ให้เห็นว่า ไม่ยอมรับ แม้สุดท้ายพวกเขาจะผิดก็ตาม 

ส่วนหนึ่งเพราะแกนนำแต่ละคนล้วนเคยถูกดำเนินคดีข้อหากระทำผิดต่อประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กันมาแล้วหลายกรรมหลายวาระ ต้องเข้า-ออกเรือนจำกันมาแล้วหลายครั้ง 

เป็นไปอย่างที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า เคยวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์เอาไว้ 3 แนวทาง ก่อนคำวินิจฉัยจะออกมาไม่กี่ชั่วโมง 

โดยนายปิยบุตรชี้ถึงกรณีศาลวินิจฉัยออกมาว่า เป็นการล้มล้างการปกครองเอาไว้ว่า จะเท่ากับการ ‘ปิดประตู’ การปฏิรูปสถาบัน  

และอาจเกิดเหตุการณ์เหมือนกับ กรณี Dred Scott v. Stanford ที่สหรัฐอเมริกา จนนำไปสู่สงครามกลางเมืองในปี 1865 จนสูญเสียนับไม่ถ้วน 

“หากเป็นเช่นนี้ สังคมไทยก็จะเดินมาสู่ทางเลือกเพียงสองทางที่หลงเหลืออยู่ หนึ่ง อยู่กันไปแบบนี้ กับระบอบการปกครองแบบที่เป็นอยู่ที่มีลักษณะโน้มเอียงไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์จำแลงมากขึ้นนับแต่ คสช.ก่อรัฐประหาร หรือสอง ระบอบอื่น” 

ขณะที่ฝ่ายรัฐ น่าสนใจอย่างมากสำหรับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ โดยเฉพาะการให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน และองค์กรเครือข่ายเลิกการกระทำดังกล่าว ซึ่งจะมีผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการรับมือกับการเคลื่อนไหวในลักษณะนี้อีกหลังจากนี้  

ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่เองไม่กล้ากระทำอะไรมาก แต่เมื่อคำวินิจฉัยออกมาแบบนี้ ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่า พฤติกรรมของม็อบ 3 นิ้วเข้าข่ายล้มล้างการปกครอง ก็ย่อมมีความชอบธรรมในการดำเนินคดี หรือป้องกันการกระทำที่สร้างความเสียหาย 

นอกจากนี้ยังน่าติดตามอีกว่า จะมีคนนำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ เพื่อเข้าไปแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ถูกร้องทั้งหมด เพื่อเอาผิดในข้อหากระทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือไม่ 

รวมไปถึงคนที่จะเข้าร่วมชุมนุมและแสดงพฤติกรรม ตลอดจนการปราศรัยในลักษณะเดียวกันหลังจากนี้ อาจจะกระทำได้ไม่ง่าย และอาจจะมีคนถูกดำเนินคดีมากขึ้นกว่าเดิมหรือไม่ 

กรณีนี้ถือว่ามีส่วนสำคัญต่อการกำหนดอุณหภูมิทางการเมืองเป็นอย่างมาก ทางหนึ่ง ม็อบอาจเคลื่อนไหวต่อ โดยมีมวลชนเท่าเดิม ทางที่สอง มวลชนน้อยลง เพราะคนกลัวกระทำผิดกฎหมาย และสาม มีการจาบจ้วง กระทำผิดมากกว่าเดิม เพื่อแสดงความไม่พอใจ อันนำไปสู่ความรุนแรงในอนาคต 

ถือเป็นทาง ‘สามแพร่ง’ ของม็อบ 3 นิ้วเช่นกัน. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ด้อมส้วมดิ้น! 'เพนกวิน' ย้อนพรรคส้ม ไม่ควรฟ้องปิดปากประชาชน

นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน ผู้ต้องหาคดี 112 ซึ่งหลบหนีออกไปต่างประเทศ โพสต์เฟซบุ๊กกล่าวถึงกรณีที่พรรคประชาชนประกาศว่า จะดำเนินการฟ้องร้องประชาชน

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย