อีกไม่กี่เดือนที่รัฐบาลและสภาฯ ชุดนี้จะครบวาระในวันที่ 23 มี.ค.2566 หลายพรรคการเมืองได้เริ่มใช้เวลาในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาลงพื้นที่พบปะประชาชน เรียกคะแนนเสียงตุนไว้ล่วงหน้า ไม่ว่าจะเป็นพรรคแกนนำฝ่ายค้านอย่างพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ใน จ.ร้อยเอ็ด พรรคพลังประชารัฐลงพื้นที่ภาคใต้และ กทม.
ทางด้านคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งต้องทำหน้าที่ “เตรียมการเลือกตั้งให้พร้อมมากที่สุด” จึงต้องดูเรื่องกฎ กติกาต่างๆ ให้เป็นไปตามกฎหมาย และที่ดำเนินการอยู่คือการแจ้งเตือนผู้สมัครรับเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ในเรื่องระยะเวลาของการหาเสียงเลือกตั้ง โดยแจ้งให้ระวังเรื่ององค์ประกอบกิจกรรมการหาเสียงต่างๆ จะถูกคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง โดยจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.นี้ ซึ่งจะเข้าช่วง 180 วันก่อนหมดวาระ
ทั้งนี้ กำหนดให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องปฏิบัติเกี่ยวกับการหาเสียงให้เป็นไปตามมาตรา 68 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) รัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 และต้องมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามมาตรา 73 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน ซึ่งมีช่วงระยะเวลาหาเสียงเลือกตั้ง เริ่มตั้งแต่วันที่ 24 ก.ย.2565 จนถึงวันเลือกตั้ง
โดยสิ่งที่พรรคการเมืองกำลังกังวลคือ ในการหาเสียงเลือกตั้งดังกล่าว หากมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้น ผู้สมัครและพรรคการเมืองต้องเก็บรักษาเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องไว้ประกอบการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งไว้ด้วย
แม้ กกต.เตรียมจะออกข้อกำหนดออกมาภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อวางมาตรฐานเกี่ยวกับการนับค่าใช้จ่าย แต่หากยังคลุมเครือ ขั้วฝ่ายค้านเตรียมที่จะยื่นเรื่องต่อ กกต.ให้วางกรอบที่ชัดเจนเพื่อให้สิ้นข้อถกเถียง
สำหรับข้อห้ามพรรคการเมืองช่วง 180 วัน ตามมาตรา 75 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ห้ามไม่ให้ผู้ใดหรือพรรคการเมืองใด เรียกหรือรับทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดเพื่อลงสมัครหรือส่งผู้สมัคร หรือไม่ลงสมัคร
หรือไม่ส่งผู้สมัครอันก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้สมัครอื่น หรือพรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกตั้งไม่ได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม โดยกำหนดโทษเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งสูงสุดถึงขั้นยุบพรรค
และข้อห้ามผู้สมัคร ส.ส. ตามมาตรา 73 ใน พ.ร.ป.เดียวกัน ระบุ 5 ไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใดทำอย่างอื่นอย่างใด เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองด้วยวิธีการดังนี้ 1.จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใด 2.ให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์สิ่งใด โดยตรงหรือโดยอ้อมแก่ชุมชน สมาคม มูลนิธิ วัด สถานศึกษา ฯลฯ 3.โฆษณาหาเสียงได้ การจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ 4.เลี้ยงหรือรับจะจัดเลี้ยงผู้ใด 5.หลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคาม ใส่ร้ายด้วยความเท็จ หรือจูงใจให้เข้าใจผิดในคะแนนนิยมของผู้สมัครหรือพรรคการเมือง โดยกำหนดโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
จากที่กล่าวมาข้างต้น “ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยงของนักการเมืองที่จะกระทำผิดกฎหมาย” โดยเฉพาะช่วงที่ลงไปช่วยในเรื่องปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน โดยเฉพาะอุทกภัย หรือการพบปะประชาชนตามงานประเพณีต่างๆ กกต.จึงต้องเร่งแจ้งเตือนล่วงหน้าเพื่อให้นักการเมืองระมัดระวังและตรวจสอบว่าสิ่งใดที่ทำได้ และสิ่งใดที่ทำไม่ได้
เพราะถ้าเข้าสู่ระยะเวลา 180 วัน การออกไปแจกของให้ผู้ประสบภัยน้ำท่วม หรือเกี่ยวกับโควิด จะไม่สามารถทำได้แล้ว เข้าข่ายการซื้อสิทธิ์ขายเสียง สิ่งที่ทำได้และคิดเป็นค่าใช้จ่ายหาเสียงได้ เช่น รถแห่ ป้ายหาเสียง ทำให้ถูกมองว่าทำให้เกิดข้อกังขาการช่วงชิงความได้เปรียบเสียเปรียบทางการเมืองหรือไม่ เนื่องจากปม 180 วันอันตราย ที่ขึงนักการเมืองให้ขยับตัวยาก
ในขณะที่ขั้วพรรครัฐบาลที่เริ่มลงพื้นที่ตามจังหวัดต่างๆ อย่างจริงจัง โดยใช้เหตุผลว่า “ลงพื้นที่ปฏิบัติราชการแผ่นดิน อาจถูกมองว่าใช้ความได้เปรียบนี้ในการสั่งสมฐานเสียงตัวเองหรือไม่”
รวมถึงหากเกิดการยุบสภาก่อนจะไม่นับรวม 180 วัน ดังนั้นอาจจะเข้าทางขั้วรัฐบาล โดยเฉพาะ 3 ป. ที่เป็นคนกำหนดเกม รู้ก่อนคู่แข่งว่าจะยุบสภา หรืออยู่ครบเทอม ซึ่งเกณฑ์ 180 วัน สามารถแก้เกมกันได้ เช่น พรรคหนึ่งมีการจัดเลี้ยง ทำกิจกรรมต่างๆ ที่สุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้งล้ำไปช่วง 180 วัน หากผู้มีอำนาจตัดสินใจยุบสภาเกิดขึ้น ความผิดต่างๆ นั้นจะรอดพ้นการจับตาในกรอบ 180 วัน เพราะการนับจะกำหนดตั้งแต่มีพระราชกฤษฎีกา
อย่างไรก็ตาม นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ได้เคยระบุไว้ว่า “สิ่งที่ต้องระวังคือ คนที่เป็น ส.ส.มีกติกามากกว่าข้อกำหนด เพราะต้องรายงานค่าใช้จ่าย ที่เป็นการหาเสียงในห้วงระยะเวลา 4 ปี ที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.ด้วย ไม่ว่าจะแจกข้าวสาร หรือ จัดเลี้ยง ขึ้นป้ายหาเสียงหรืออะไรก็ตามที่มีลักษณะดังกล่าว เป็นอีกเรื่องที่ กกต.ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพราะคู่แข่งสามารถถ่ายภาพ เก็บหลักฐาน เพื่อนำมาฟ้องร้อง รายงานค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง เป็นเท็จได้ในภายหลัง ซึ่งทำให้ต้องพ้นสภาพ และมีโทษอาญา ถูกตัดสิทธิ์การเมือง”
ส่วนฝั่งพรรคเพื่อไทยเองได้เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ต้องจับตาข้อกำหนดของ กกต.ในทุกมาตรการ เพราะ อาจมีการสอดไส้บางอย่าง ทำให้พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านเสียเปรียบ ซึ่งพรรคเพื่อไทยเองเคยเสียเปรียบมาแล้ว ในการเลือกตั้งปี 2562 เพราะพรรคการเมืองฝั่ง คสช.รู้ไทมิงทุกอย่าง จึงกำหนดเกมได้ ซึ่งรู้แม้กระทั่งการแบ่งเขตในแต่ละจังหวัด ทำให้พรรคเสียเปรียบในหลายพื้นที่
ต้องรอดูต่อไปว่า กกต.จะออกประกาศหลักเกณฑ์ ว่าสิ่งใดทำได้หรือไม่ได้บ้างในช่วงเวลาดังกล่าว เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้สมัครและพรรคการเมืองปฏิบัติ และไม่ให้เกิดปัญหาเกิดความสับสนในเรื่องความไม่เป็นธรรม.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตอกยํ้าดีลฮ่องกง ลิ่วล้อแจงแทนนาย ‘พรรคส้ม’ ยากเป็นรัฐบาล
ตอกย้ำดีลฮ่องกงเหลว! "ณัฐวุฒิ" ขยายความ "ทักษิณ" คุย "ธนาธร" แค่เล่าชะตากรรม ไม่มีการพาดพิง ม.112 กับก้าวไกล เผยตั้งแต่โหวต "พิธา"
‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’
แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี
ดร.ณัฏฐ์ ชี้เลือกนายกอบจ.อุดร เพื่อไทยชนะไม่ขาดจะกระทบสนามใหญ่ เตือน 'ทักษิณ' ปากพาซวย!
“ดร.ณัฏฐ์” มือกฎหมายมหาชน ชี้ 'ทักษิณ ชินวัตร' ยกทัพไปช่วยหาเสียงนายกอบจ.อุดรธานี แม้เกณฑ์คนไปฟังเยอะ คะแนนสวนทาง หากไม่ชนะขาด กระทบต่อสนามใหญ่ ยกวาทะ 'ถ้าจะเลือกทักษิณ ให้เลือกเบอร์ 2' ระวังทำคนหลงผิดโทษถึงคุก!
'ณัฐวุฒิ' ป้อง 'ทักษิณ' สวน 'ธนาธร' ปม 112
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กว่า ผมเป็นคนกำกับเวทีปราศรัยที่อุดร ในฐานะผู้ช่วยหาเสียง ยืนอยู่ใกล้ๆ
'กูรู' ย้อนเกล็ด 'แม้ว-สทร.' หมาเห่าโจรปล้นบ้าน!
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย โพสต์เฟซบุ๊กว่าลุงแม้วประกาศตั้งตำแหน่งตนเอง เป็น สทร.
เสื้อแดงไม่เข็ด 'จตุพร' ชี้เปรี้ยง 'ทักษิณ' โชว์เหลี่ยมต้มอีกแล้ว!
นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน เฟซบุ๊กไลฟ์ว่า การปราศรัยของทักษิณ ชินวัตร ที่อุดร ส่อถึงอาการไม่มั่นใจในผลการพิจารณาคำร้องของศาล รธน. ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 22 พ.ย.นี้