สนามภาคใต้ ‘ไข่แดง’ นักเลือกตั้ง หลายพรรคมุ่งตรง หวังเจาะ ‘ปชป.’

เหมือนเป็น ไข่แดง ที่หลายพรรคการเมืองอยากจะเข้าไปเจาะ สำหรับ พื้นที่ภาคใต้ ฐานที่มั่นของ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 

ตลอดระยะเวลาช่วง "อุ่นเครื่องเลือกตั้ง" ที่แต่ละพรรคการเมืองเริ่มลงพื้นที่ หลายพรรคต่างเลือกจะลงพื้นที่ภาคใต้อย่างต่อเนื่อง

ล่าสุด บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.นราธิวาส

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค หัวหน้าพรรค นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการพรรค และ นายวิทยา แก้วภราดัย กรรมการผู้บริหารพรรค ให้การต้อนรับ ทีมผู้บริหารองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุราษฎร์ธานี นำโดย นายพงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว  นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี และสมาชิกสภาจังหวัดสุราษฎร์ธานีกว่า 20 เขต รวมเกือบ 40 คน ขณะเข้าเยี่ยมพรรคภายหลังตัดสินใจซบ รทสช.

โดย เสี่ยตุ๋ย-พีระพันธุ์ ประกาศจะกวาด ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้ ทั้ง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ให้ครบทุกจังหวัด

ส่วนสัปดาห์ที่แล้ว พรรคสร้างอนาคตไทย (สอท.) ของ เฮียกวง-สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานพรรค เลือกจัดสัมมนา "อันดามันรุ่ง ประเทศไทยรอด" ที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งถือเป็นการประเดิมลงพื้นที่ในฐานะประธานพรรคของ "เฮียกวง"

ด้านพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค เดินหน้าตุนแต้มลงพื้นที่ภาคใต้เกือบจะแทบทุกสัปดาห์

จะเห็นว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคขนาดกลาง และพรรคตั้งใหม่ ต่างหมายมั่นปั้นมือที่จะปักธงพื้นที่ภาคใต้ โดยเฉพาะการช่วงชิงพื้นที่เก่าของพรรคประชาธิปัตย์ 

ทั้งที่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า พื้นที่ภาคใต้มี ส.ส.เพียง 58 คน น้อยกว่าภาคกลางที่มี 122 คน หรือภาคอีสาน 132 คน แต่หลายพรรคเลือกที่จะหันมาแย่งชิงกันที่ดินแดนสะตอ

สำหรับพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทยถือว่าไม่แปลกใจ เพราะการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 เป็น 2 พรรคการเมืองที่สร้างปรากฏการณ์ โค่นเสาไฟฟ้า สำเร็จ

โดยในการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 แม้พรรคประชาธิปัตย์จะได้ ส.ส.มากที่สุด 22 ที่นั่ง แต่ถูกเจาะพรุนหลายพื้นที่ โดนพรรคพลังประชารัฐแย่งไป 13 ที่นั่ง และมาแย่งได้อีก 1 ที่นั่ง เป็น 14 ที่นั่ง ในการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ที่ จ.นครศรีธรรมราช ขณะที่พรรคภูมิใจไทยแชร์มาได้ 8 ที่นั่ง 

นอกจากนี้ยังถูกพรรครวมพลังประชาชาติไทยของ สุเทพ เทือกสุบรรณ เจาะไปได้ 1 ที่นั่งที่ จ.ชุมพร รวมถึงที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พรรคประชาชาติของ "วันมูหะมัดนอร์ มะทา" เอาไปได้ 6 ที่นั่ง 

การที่พรรคการเมืองต่างๆ เทน้ำหนักให้พื้นที่ภาคใต้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ต่างเห็นว่ากระแสของ "พรรคประชาธิปัตย์" ยังไม่ฟื้น 

ชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.สงขลา และ จ.ชุมพร ที่ผ่านมา ยังไม่สามารถชี้วัดอะไรได้ชัดเจนนักว่าพรรคประชาธิปัตย์ฟื้นไข้แล้ว โดยคะแนนที่ จ.สงขลา ไม่ได้ชนะผู้สมัครจากพรรคพลังประชารัฐแบบขาดลอย ขณะที่พรรคพลังประชารัฐเองก็เกิดการเมืองภายในพรรค ระหว่าง "บิ๊กป้อม" กับ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม

ส่วนที่ จ.ชุมพร ชัยชนะที่ท่วมท้นไม่ได้มาจากกระแสของพรรคประชาธิปัตย์ แต่เป็นความแข็งแกร่งของ "ลูกหมี" ชุมพล จุลใส อดีต ส.ส.ชุมพร ซึ่งถูกจับตามองอย่างมากว่าครั้งหน้าจะย้ายไปอยู่กับพรรครวมไทยสร้างชาติของ "เสี่ยตุ๋ย"

อย่างไรก็ตาม การเข้าร่วมรัฐบาลเมื่อปี 2562 โดยได้กระทรวงใหญ่ไปรับผิดชอบ ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ พรรคประชาธิปัตย์หวังใช้เป็น "ศูนย์ฟื้นฟู" เพื่อสะสมเสบียงกรังไปกอบกู้หน้าในการเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง 

แต่ดูเหมือนสถานการณ์เป็นรัฐบาล และการได้ดูแลกระทรวงเกรดเอที่สามารถเอาไปแปรรูปเป็นคะแนนได้ ยังไม่ได้ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ชิงความได้เปรียบสักเท่าไหร่ 

ผลงานของพรรคประชาธิปัตย์ แม้จะมีแต่ไม่ได้โดดเด่นเมื่อเทียบกับ 2 พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคพลังประชารัฐที่ปลดล็อกพืชกระท่อม และพรรคภูมิใจไทยที่ปลดล็อกกัญชาสำเร็จ

จุดยืนการเมืองยังไม่ชัดเจน เมื่อปี 2562 อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ประกาศไม่สนับสนุน "บิ๊กตู่" แต่ตอนหลังพรรคประชาธิปัตย์หันมาเข้าร่วมรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ระหว่างเป็นรัฐบาลก็เหมือนจะเป็น "รัฐอิสระ" 

ตัวผู้นำอย่าง จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ไม่ดึงดูดเมื่อเทียบกับผู้นำพรรคอื่น อีกทั้งลูกพรรคบางคนไม่ให้การยอมรับ

สวนทางกับพรรคอื่นๆ โดยเฉพาะพรรคภูมิใจไทยที่ดูมีอนาคตในพื้นที่ภาคใต้ในการเลือกตั้งครั้งหน้า มีนโยบายเอาไปสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ แม่ทัพใหญ่ดินแดนสะตออย่าง เจ๊เปี๊ยะ-นาที รัชกิจประการ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นสายแข็งทั้งพื้นที่และทุนทรัพย์ ซึ่งมั่นใจว่าการเลือกตั้งในสมัยหน้า ภูมิใจไทยจะสามารถคว้าชัยชนะการเลือกตั้ง ส.ส.ในพื้นที่ภาคใต้มากกว่า 20 ที่นั่ง

พรรคประชาธิปัตย์ยังต้องมาเสียอดีต ส.ส.มือดีในภาคใต้ไปให้พรรครวมไทยสร้างชาติของ เสี่ยตุ๋ย อีก ซึ่งหาก ลูกหมี ยกแก๊งมาจริง ที่นั่งในชุมพรหายแน่ ขณะที่ จ.สุราษฎร์ธานี ล่าสุดได้ พงษ์ศักดิ์ จ่าแก้ว นายก อบจ.สุราษฎร์ธานี ยกทีมมาช่วยอีก คราวก่อน "สุเทพ" อาจเจาะพรรคเก่าตัวเองไม่เข้า แต่ครั้งนี้ไม่แน่

ส่วนพรรคพลังประชารัฐ ก็ต้องจับตาดูว่าอนาคตของ "บิ๊กตู่" เป็นอย่างไร เพราะมีผลกับคะแนนของพรรคพลังประชารัฐอยู่บ้าง

จับกระแส "นักเลือกตั้ง" ตอนนี้กับการลุยพื้นที่ภาคใต้ มันพออนุมานได้ว่าการสู้กับพรรคประชาธิปัตย์มีโอกาสลุ้นมากกว่าที่ต้องไปสู้กับพรรคเพื่อไทยในภาคเหนือและภาคอีสาน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ปรับ“ฉก.ทม.รอ.904” “ลดอาร์ม-ถอดคอแดง”จบหรือไม่?

นับแต่วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นในหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) หรือ ฉก.คอแดง อย่างเป็นรูปธรรม หลัง “โผทหาร” ระดับชั้นนายพลเมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาจบลงไปแบบตึงๆ

'อนุทิน' เตรียมลงพื้นที่ตรวจราชการเกาะกูดสัปดาห์หน้า ให้กำลังใจชาวบ้าน

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์หน้าจะลงพื้นที่ตรวจราชการเกาะกูด จ.ตราด

แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด

การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ

'อนุทิน' ชี้ MOU 44 ไทย-กัมพูชา ต้องเจรจาจัดสรรทรัพยากรใต้ทะเล ไม่เกี่ยวเกาะกูด

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ว่า มีการหารือเรื่องเอ็มโอยู 44

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ