นับตั้งแต่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องวินิจฉัยกรณีระยะเวลาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี และมีคำสั่งให้ บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หยุดปฏิบัติหน้าที่
ท่ามกลางการคาดการณ์กันว่า บิ๊กตู่ อาจกระเด็นตกเก้าอี้ ข่าวลือการลมหวนสู่พรรคพลังประชารัฐของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ก็แพร่สะพัดเรื่อยมา
ส่วนหนึ่งเพราะการไม่มี บิ๊กตู่ แล้ว ทำให้ ร.อ.ธรรมนัสสามารถกลับมาช่วยทำงานให้กับ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐได้ โดยไม่ต้องทำให้ใครอึดอัดใจอีกแล้ว
เนื่องจากก่อนหน้านั้นที่ บิ๊กป้อม ต้องแตกสาขาไปเป็นพรรคเศรษฐกิจไทย โดยให้ 20 ส.ส.ตาม ร.อ.ธรรมนัสไป สืบเนื่องจากความขัดแย้งระหว่าง ร.อ.ธรรมนัส กับ บิ๊กตู่ และ ส.ส.ขั้วตรงข้ามในพรรค
เมื่อไม่มี บิ๊กตู่ และ บิ๊กป้อม เป็นใหญ่เพียงหนึ่งเดียว ทุกปัญหาจะจบที่ บิ๊กป้อม ไม่ต้องมี ส.ส.ขั้วตรงข้ามวิ่งไปที่ตึกไทยคู่ฟ้าเพื่อคานอำนาจกันอีก
ขณะที่คำพูดของ บิ๊กป้อม ระหว่างลงพื้นที่ จ.ตาก ที่ระบุว่า จะไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงทับกับเขตเลือกตั้งที่พรรคเศรษฐกิจไทยส่ง ประกอบกับการไม่ปฏิเสธถึงโอกาสการกลับพรรคของ ร.อ.ธรรมนัส ทำให้เรื่องนี้ยิ่งถูกจับจ้อง
ทั้งที่เรื่องการไม่ส่งผู้สมัคร ส.ส.ลงทับซ้อนกับพรรคเศรษฐกิจไทยนั้น เป็นยุทธศาสตร์ดั้งเดิมที่ บิ๊กป้อม วางเอาไว้นานแล้วว่าจะให้พรรคเศรษฐกิจไทยเจาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสาน ที่กระแสของพรรคพลังประชารัฐไม่ค่อยดี
แต่อย่างไรก็ดี ยุทธศาสตร์ดังกล่าวเหมือนจะเงียบๆ ไป หลังเกิดปัญหาภายในเศรษฐกิจระหว่าง บิ๊กน้อย พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา อดีตหัวหน้าพรรค กับ ร.อ.ธรรมนัส จน บิ๊กน้อย อยู่ไม่ได้ ต้องออกไปเทกโอเวอร์ พรรคพลังชาติไทย แล้วตั้งเป็นพรรครวมพลังแผ่นดินเอง
ขณะที่สถานการณ์ของพรรคเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยดี โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดลำปาง ที่ ร.อ.ธรรมนัสหวังปักธงประเดิม ส.ส.คนแรกของพรรค โดยการส่งแชมป์เก่า หมอรวย-นายวัฒนา สิทธิวัง อดีต ส.ส.ลำปาง พรรคพลังประชารัฐ ลงไปป้องกันแชมป์ แต่กลับพ่ายแพ้ให้กับ พรรคเสรีรวมไทย ที่ไม่เคยชนะการเลือกตั้งซ่อม และไม่มี ส.ส.แบบแบ่งเขตในพรรคสักคนเดียวไปหลายคะแนน
แม้ช่วงนั้น ร.อ.ธรรมนัส จะทำตัวเป็นศัตรูกับ บิ๊กตู่ ชัดเจน ก็ไม่ทำให้ได้คะแนนจากขั้วตรงข้าม ส่วนหนึ่งเพราะการใกล้ชิดกับ บิ๊กป้อม ทำให้คนไม่ไว้วางใจว่าสลัดคราบจากฝ่ายนี้ได้แล้ว
การพ่ายแพ้เลือกตั้งซ่อมลำปางครั้งนั้นทำให้ ร.อ.ธรรมนัส ค่อนข้างรู้แล้วว่าการแยกออกมาทำพรรคไม่ได้ง่าย
นอกจากเรื่องทิศทางพรรคที่ชักจะไม่ค่อยเวิร์ก ส.ส.ในพรรคเศรษฐกิจไทยหลายคนตกเป็นข่าวว่าจะย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า และถูกตอกย้ำในการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ผ่านมา หลัง ส.ส.พรรคเศรษฐกิจไทยหลายคนโหวตทิศทางเดียวกับพรรคภูมิใจไทย
ขณะเดียวกัน บางคนยังเตรียมจะขนของกลับมาอยู่กับพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะมองว่า ร.อ.ธรรมนัส ไปลำบาก อีกทั้งบางคนไม่ได้เต็มใจเท่าไหร่ตอนถูกไล่ออกจากพรรคพลังประชารัฐ
ในส่วนของ ร.อ.ธรรมนัส เอง แม้คอนเน็กชันจะทำให้สามารถไปอยู่กับขั้วไหนก็ได้ เพราะมีความสัมพันธ์อันดีกับหลายพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย บ้านหลังเก่าที่หลายคนมอง
แต่การกลับไปแล้วอยู่ในสถานะไหนนั้นอีกเรื่อง พรรคเพื่อไทยเองมีนักการเมืองซีเนียร์หลายคน แน่นอนว่าหากคัมแบ็กไปแล้ว ตัวคงไม่ใหญ่เท่ากับอยู่กับ บิ๊กป้อม อาจเป็นเพียงนักการเมืองคนหนึ่งเท่านั้น
ฉะนั้น แม้กลับได้ แต่จะกลับไปอยู่ในสถานะนั้นได้หรือเปล่า
ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ แน่นอนว่า บิ๊กป้อม นั้นชื่นชอบในฝีไม้ลายมือนายทหารรุ่นน้องคนนี้เป็นพิเศษ ขนาดหักกับ บิ๊กตู่ ยังโอบอุ้มจนทุกวันนี้
และแม้วันนี้จะไปอยู่กับพรรคเศรษฐกิจไทย แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับอยู่พรรคพลังประชารัฐ เพราะคนชื่อ ร.อ.ธรรมนัส ไม่เคยหายไปจากข้างกายของ บิ๊กป้อม ในหลังฉากเลย
เพียงแต่เส้นทางกลับพรรคพลังประชารัฐของ ร.อ.ธรรมนัสนั้นไม่ง่ายเช่นกัน และอาจสร้างแรงกระเพื่อมครั้งใหญ่ภายในพรรคอีกครั้ง เพราะโจทก์ของนายทหารนอกราชการรายนี้ยังอยู่เต็มพรรค
และโจทก์เหล่านี้ล้วนแต่เป็นแกนนำที่มีบทบาทภายในพรรคขณะนี้ทั้งนั้น โดยเฉพาะกลุ่มสามมิตร
ขนาดแค่เพียงมีข่าว ร.อ.ธรรมนัสจะกลับพรรคพลังประชารัฐ ยังมีการปล่อยข่าว ส.ส.บางส่วนเตรียมจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อเผ่นหนีออกจากพรรคทันที
สภาพพรรคพลังประชารัฐอาจจะกลับไปแบบเดิมคือ สร้างมุ้งตีกันยับ
กลับหรือไม่กลับ จึงอยู่ที่ บิ๊กป้อม เพียงคนเดียวว่าจะเอาอย่างไร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ
ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
ชนักติดหลัง-หอกดาบ ที่ค้างอยู่ของ"ทักษิณ"
แน่นอนว่า ทักษิณ ชินวัตรและพรรคเพื่อไทย ย่อมต้องถอนหายใจโล่งอก ที่ไม่ต้องตกอยู่ในสถานะ ผู้ถูกร้อง ที่ศาลรัฐธรรมนูญ หลังศาลรัฐธรรมนูญยกคำร้อง-ไม่รับคำร้องไว้วินิจฉัยในคดีที่ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ "คดีล้มล้างการปกครอง" ที่ศาล รธน.มีมติยกคำร้องไปเมื่อ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา
'ชินวัตร' ตีปีกดันรัฐบาลครบเทอม วิบากกรรมไล่ล่า 'ชั้น14' หลอกหลอน
ดูจากมติเอกฉันท์ของศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องของ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49
แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?
ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่