ในที่ประชุมสั่งการติดตามการปฏิบัติงานของหน่วยทหารทั่วประเทศกองทัพบกเมื่อวานนี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก แสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งในการแต่งตั้งโยกย้ายวาระตุลาคม 2565 โดยให้ทุกคนทำงานตามตำแหน่งหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้ดีที่สุด และการส่งมอบหน้าที่ความรับผิดชอบให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ถือว่า “ปิดจ๊อบ” โผทหาร หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ มาเมื่อวันเสาร์
และเป็นการนับหนึ่งเริ่มต้นในปีงบประมาณใหม่ภายใต้ ผบ.ทบ.คนเดิม หลังมีข่าวลือปรับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ออกจากตำแหน่งในช่วงก่อนที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ โดยการจัดโผครั้งนี้ในส่วนของ 5 เสือ ทบ.และระดับผู้บังคับหน่วย ปรากฏว่ามีการปรับเปลี่ยนบางตำแหน่งที่เรียกเสียงฮือฮาได้มากกว่าทุกครั้ง
แต่คงไม่ใช่เสียงฮือฮาจากการล้วงโผของฝ่ายการเมือง ทั้งจาก พล.อ.ประยุทธ์ รมว.กลาโหม ที่มีแค่เสียงเดียวใน 7 เสือบอร์ดปรับย้ายทหารชั้นนายพล ตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบกระทรวงกลาโหม เพราะต้องยอมรับว่า “บิ๊กตู่” ไม่มีอำนาจเต็มมือในฐานะ "นายกรัฐมนตรี" ที่จะต่อรองอะไรได้มากนัก ส่งผลให้การจัดวางขุน ม้า เรือ โคน เพื่อรองรับสถานการณ์การเมืองในอนาคตไม่เป็นไปตามคาด
รวมถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ทำการแทนนายกฯ ก็รู้ดีว่าการแตะ “โผทหาร” ในส่วนของกองทัพบก เป็นเรื่องต้องระวังมากกว่า “โผตำรวจ” ดังนั้นจึงทำได้แค่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายตามที่ส่งขึ้นมา
แต่ก็ใช่ว่า “บิ๊กบี้” พล.อ.ณรงค์พันธ์ จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะวางคนไว้ตรงไหนได้อย่างอิสระ ความขรุขระอันเกิดจากพลังของเพื่อนเตรียมทหารรุ่น 22 ในการผลักดันเพื่อนรุ่นเดียวกันให้ได้ดี ส่งท้ายปีเกษียณนั้นก็แรงพอสมควร แต่ในที่สุดก็ถูกตั้งคำถามจากกระทรวงกลาโหม ผ่าน “บิ๊กช้าง” พลเอกชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม ที่พลเอกประยุทธ์ได้ฝากให้ดู “เนื้อใน” ให้เหมาะสม ต้องติดเบรกและซักไซ้ไล่เลียงเหตุผล
นอกจากนั้นยังต้องฟังสัญญาณจากรอบทิศ ในการพิจารณาตัวบุคคลให้สอดคล้องกับภารกิจงานของหน่วยเฉพาะกิจทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ 904 (ฉก.ทม.รอ.904) เพราะอย่าลืมว่าผู้บังคับหน่วย ตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารบกเองนั้น ต้องทำหน้าที่ ผบ.ฉก.ทม.รอ.904 ซึ่งมีภารกิจปฏิบัติหน้าที่ทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ในพระองค์ 904 ในการรักษาความมั่นคง ปลอดภัย และพระบรมเดชานุภาพของสถาบัน
ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่ “บิ๊กบี้”จะจัดโผเองได้แบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไล่ตั้งแต่จัดทัพใน 5 เสือ ทบ.ที่มีการปรับเปลี่ยนในตำแหน่ง ผช.ผบ.ทบ.และ เสธ.ทบ.หลายตลบ จนออกมาเป็น “ทางที่สาม“ ลดข้อครหาเรื่อง “เลือกแต่เพื่อน” ทำให้มีชื่อ พล.ท.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ (ตท.24) เจ้ากรมยุทธการทหารบก ขึ้นเป็น เสธ.ทบ.
สำหรับ “บิ๊กหยอย” พล.อ.อุกฤษฏ์ เหลืออายุราชการถึงปี 2570 อีกทั้งขึ้นจากเจ้ากรมฝ่ายเสนาธิการฯ ไม่ผ่านรอง เสธ.ทบ. ทำให้ในปีหน้าอาจต้องมีการขยับปรับทัพใหม่ ก่อนส่งออกไปอยู่สำนักงานปลัดฯ เข้าคิวขึ้นเป็นปลัดกระทรวงกลาโหมต่อจาก พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ว่าที่ปลัดกระทรวงกลาโหม
นอกจากนั้นยังต้องวางคนที่มาจ่อขึ้นเป็น ผบ.ทบ.แทนตนเองที่ต้องเกษียณอายุราชการในปี 2566 และหากไม่มีอะไรพลิกความคาดหมาย จะเป็นการส่งไม้ต่อให้เตรียมทหารรุ่น 23 ที่ต้องชิงกัน ระหว่างเพื่อน 2 ต. คือ “บิ๊กต่อ” พล.อ.เจริญชัย หินเธาว์ ว่าที่รอง ผบ.ทบ. (อัตราพลเอกพิเศษ) และ “บิ๊กโต” พล.อ.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง ผช.ผบ.ทบ.
“บิ๊กต่อ” ถือว่าเป็นเต็งหนึ่ง เพราะนอกจากอาวุโสแล้วยังเป็นชื่อที่ “ถูกวาง” ไว้แต่ต้น เช่นเดียวกับ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ และ พล.อ.ณรงค์พันธ์ สอดคล้องกับการขยับขึ้นมาของ “บิ๊กดร” พล.ต.นิรันดร ศรีคชา (ตท.23) เจ้ากรมกิจการพลเรือน ทบ. ซึ่งโผนี้ขึ้นมาเป็น รองเสธ.ทบ. เตรียมขึ้นเป็น เสธ.ทบ. และทำหน้าที่เลขาธิการ กอ.รมน.ไปในตัว ตามจังหวะก้าวของผู้ที่จะมารับไม้ ผบ.ทบ.คนต่อไปในปีหน้า
แต่ที่เรียกเสียง “อื้ออึง” ก็คงเป็นตำแหน่งแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่ง พล.ท.ธราพงษ์ มะละคำ (ตท.24) แม่ทัพน้อยที่ 1 ที่คาดว่าจะขึ้นมาตามไลน์ แต่ปรากฏว่าถูกเก็บเข้ากรุเป็นที่ปรึกษาพิเศษ ทบ. (อัตราพลเอก) จนตกเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ว่า นี่คือปฏิบัติการหักลุงบ้านป่ารอยต่อฯ ปิดจ๊อบทหารสายบูรพาพยัคฆ์หรือไม่ แต่หากย้อนเส้นทางรับราชการของ พล.ท.ธราพงษ์แล้ว จะเห็นว่าเป็นลูกหม้อ ร.12 รอ. และเป็นเพียงผู้ใต้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เท่านั้น ทว่ามีความใกล้ชิดกับ “บิ๊กอู๊ด” พล.อ.วลิต โรจนภักดี มากกว่า
ไม่เท่านั้น ยังมีชื่อ “บิ๊กปู” พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์ (ตท.26) รองแม่ทัพภาคที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ซึ่งว่ากันว่าเป็นชื่อที่อยู่ในมือ “บิ๊กบี้” มาตั้งแต่ต้นแล้ว จากสัญญาณแรงนับตั้งแต่ “บิ๊กปู” ถูกเรียกไปฝึกหลักสูตรนายทหาร “คอแดง” เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมานั่นเอง
สำหรับ “บิ๊กปู” มีประวัติรับราชการที่ลุ่มๆ ดอนๆ ถูกเตะไปเตะมาหลายที่ จากต้นทางที่รับราชการในกรมทหารราบที่ 31 รักษาพระองค์ (ร.31 รอ.) หมวกแดง พล.1 รอ. จบปริญญาโทวิศวกรรมเครื่องกล ที่มหาวิทยาลัยโอไฮโอ กลับมาใช้ทุนที่ รร.จปร. จากนั้นมาเป็นผู้พันอาร์ดีเอฟ แต่ไม่ได้ไปต่อ เพราะแรงเสียดทานจากพลังรุ่นข้างเคียง
ต้องระเห็จเข้ากรุงมาอยู่ใน พล.1 รอ. ข้ามมา มทบ.11 จนกระทั่งยุคที่ “บิ๊กแดง” พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น กำลังจัดหารถยานเกราะล้อยางสไตรเกอร์ จากสหรัฐอเมริกาเข้าประจำการที่กองทัพบก จึงได้ปรึกษากับ พล.อ.ณรงค์พันธ์ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่ง ผบ.ร.31 รอ. หน่วยพร้อมรบเคลื่อนที่เร็วมาก่อน เพื่อหาบุคลากรที่เหมาะสมกับภารกิจการไปรับรถรุ่นดังกล่าวเข้ามา และ ช่วยการในเรื่องปรับโครงสร้างกองพลทหารราบที่ 11 ให้สอดคล้องกับการจัดหน่วยรบยุคใหม่
จึงมองไปที่ พล.ต.พนา เพราะเคยเป็นผู้พันอาร์ดีเอฟ เคยไปศึกษาต่างประเทศ มีความสามารถเรื่องยานรบ วิศวกร จึงตัดสินใจดึงตัวไปดำรงตำแหน่งรอง ผบ.พล.ร.11 เพื่อจัดเตรียมหน่วย จนกระทั่งมีการรับรถ และมีการวางโครงสร้างเป็นกรมสไตรเกอร์ได้เป็นรูปเป็นร่าง จนย้ายจากฉะเชิงเทราไปที่ค่ายพนัสบดีศรีอุทัย ต.ท่าบุญมี อ.เกาะจันทร์ จ.ชลบุรี โดยครั้งนั้นมี พ.อ.เอกอนันต์ เหมะบุตร (ตท.30) น้องรัก “บิ๊กแดง” อีกคนเป็นผู้การกรม ซึ่งโผนี้ พ.อ.เอกอนันต์ ก็ได้ขึ้นจากรองฯ เป็น ผบ.พล.ร.11 จัดสถานะให้กองพลหลัก ที่ไม่ได้มีไว้หมุนคนจากหน่วยอื่นเข้ามา เหมือนเช่นกองพลทหารราบ หรือกรมทหารราบในยุคก่อน
ในระนาบของรองแม่ทัพภาคที่ 1 ครั้งนี้มีการปรับทั้ง 3 เก้าอี้ เป็นการเกลี่ยให้เกิดความสมดุล ลดข้อครหาเรื่องการผูกขาดรุ่น โดยมีชื่อ “บิ๊กใหญ่” พล.ต.อมฤต บุญสุยา อดีตผู้การ ร.21 รอ. ที่น่าสนใจคือชื่อของ “ผบ.หมี” พล.ต.ไกรภพ ไชยพันธ์ (ตท.24) ผบ.มทบ.14 อดีตเลขานุการ ทบ. สมัย “บิ๊กแดง” ที่มาแบบขัดตาทัพ เนื่องจาก พล.ต.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล ผบ.พล.ร.11 ถูกดีดไปเป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 1 ลดแรงกดดันในการส่ง ตท.27 สองคนขึ้นเป็นแคนดิเดต แม่ทัพในปีถัดไป อีกทั้งมือวางอันดับ 1 ที่ถูกตั้งไว้คือ “บิ๊กไก่” พล.ต.วรยศ เหลืองสุวรรณ ผบ.พล.1 รอ. หัวหอกของ ตท.28 ยังถือว่าเป็นเต็ง 1 ในการขึ้นแม่ทัพคนต่อไป
ขณะที่อีก 2 กองพลหลักที่คุมกำลัง เป็นจังหวะก้าวของ ตท.28 ที่ขึ้นมาพอดี ได้แก่ “รองแอ้ม” พ.อ.ณัฐเดช จันทรางศุ รอง ผบ.พล.1 รอ ขึ้นเป็น ผบ.พล.1 รอ. “บิ๊กกอล์ฟ” พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ ผบ.มทบ.11 ไปคุมบูรพาทิศ ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.2 รอ. “รองต๊อบ” พ.อ.วุธยา จันทมาศ รอง ผบ.พล.ร.9 ขึ้นเป็น ผบ.พล.ร.9
ส่วน ตท.27 เช่น พ.อ.ปัญญา ตั้งความเพียร (ตท.27) จากรอง ผบ.พล.ร.2 รอ. ถูกส่งไปเป็น ผบ.มทบ.11 ขณะที่ พล.ต.บรรยงค์ ทองน่วม จาก ผบ.พล.ร.9 ไปเป็นรองเจ้ากรมยุทธศึกษา
ที่น่าสนใจคือ ยังมีชื่อ พล.ต.สุริยะ เอี่ยมสุโร (ตท 22) รอง มทภ.3 ที่ถือเป็น “สายแข็ง” ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 และ “บิ๊กต้น” พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค รองแม่ทัพภาคที่ 4 น้องรัก “บิ๊กเดฟ” พล.อ.พรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ ได้เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 สำหรับ “บิ๊กเดฟ” แล้วยังเป็นเพื่อนรัก และเป็น 5 เสือ ทบ. ในยุค “บิ๊กแดง” อีกด้วย
ช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์การเมือง ยังไม่นิ่งและแข็งแรงพอที่จะเขย่า พล.อ.ณรงค์พันธ์ ให้หลุดจากเก้าอี้ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผู้ที่นั่งในเก้าอี้ ผบ.ทบ.จะเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการทำ “โผทหาร” คนเดียวได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ นอกจากปัจจัยเรื่องรุ่นแล้ว ยังต้องรับข้อมูลจากรอบด้าน
แน่นอนว่า ทหารไม่มี “เทรดดิชั่น” เรื่อง “ตั๋วช้าง-ตั๋วเด็ก” แต่การกลั่นกรองคนเพื่อวางตัวไว้ในตำแหน่งสำคัญๆ เพื่อทำภารกิจของหน่วยทหารปกติและหน่วยเฉพาะกิจนั้น มีการกำหนดไว้ชัดเจนแล้วจากภายนอกรั้วแดงกำแพงเหลือง
โดยไม่ได้เป็นการชี้เปรี้ยงตามอำนาจของ ผบ.ทบ.เหมือนในอดีต.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
1ประเทศ2นายกฯ ระวังจบซ้ำรอยเดิม?
มีหลายส่วนในสังคม คนจำนวนไม่น้อยรู้สึกอึดอัดกับท่าทีของ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่พ้นโทษออกมาโดยไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียว แต่ทำตัวเปรียบเหมือนเป็นเจ้าของรัฐบาล
เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง
การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด
'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง
ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ
‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’
ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง
ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน
ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ
การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี
การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน