'สู้ไป กราบไป' เสียดแทง (คน) เพื่อไทย?

ไม่ว่าวาทกรรม สู้ไป กราบไป จุดตั้งต้นจะมาจากฝ่ายที่ไม่ชอบ  หรือฝ่าย (เคย) สนับสนุนพรรคเพื่อไทย ที่ทนไม่ได้ต่อพฤติกรรม ปัจเจกบุคคล คณะบุคคล แล้วลามเหมารวมเป็นพรรคเพื่อไทย (ทั้งหมด) ไปด้วยก็ตาม ถึงอย่างนั้นในถ้อยคำก็ไม่ได้มีคำหยาบคาย แต่โดยบริบทเมื่อถูกตั้งคำถาม ถูกพูดถึงอย่างจริงจังมากขึ้น  

ทำให้มีความหมายเชิงเย้ยหยัน หยามเหยียด เพราะเวลาด่าหรือ ส่งคำกระแทกกระทั้นมา มันเหมารวมไปถึงพรรค ไม่ได้ระบุชี้เฉพาะเจาะจงใครกันแน่ ที่ยังมีพฤติกรรม "สู้ไป กราบไป"  

ปฐมบทต้นเหตุเมื่อไม่นานมานี้ ก่อนจะนำมาสู่การวิพากษ์ น่าจะมาจากรายการ "สุดกับหมาแก่" ที่ดำเนินรายการโดยอดีตคนเดือนตุลา  ดนัย เอกมหาสวัสดิ์ ซึ่งได้เชิญกลุ่มบุคคลรุ่นใหม่ของเพื่อไทย อย่าง เผ่าภูมิ โรจนสกุล กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ ส.ส.กทม.และโฆษกพรรคเพื่อไทย น.ส.จิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ดและกรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย ไปร่วมออกรายการ  

ช่วงหนึ่งพิธีกรตั้งคำถามว่า เคยถูกน้องๆ ถามหรือไม่ ยังสู้ไป กราบไปอยู่อีกหรือเปล่า น.ส.จิราพรตอบกลับว่า  

 “...คำว่า สู้ไป กราบไป เป็นเพียงวาทกรรมในการด้อยค่าพรรคเพื่อไทย ด้อยค่าการต่อสู้ฝั่งประชาธิปไตย เป็นคำพูด ความคิด ไม่เคารพการต่อสู้ของคนในอดีต ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ของคนพรรคเพื่อไทย หรือตั้งแต่ 2475 เป็นต้นมา มีคุณค่าในตัวเอง เพราะฉะนั้นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เป็นการต่อสู้ของประชาชนที่มีมือเปล่า มีความคิดในการใช้สติปัญญาในการต่อสู้ กับระบอบที่มีอำนาจ เผด็จการ มีอำนาจ มีปืน  เป็นธรรมดาการต่อสู้ความคิดอาจหลากหลาย วิธีการไม่เหมือนกัน แต่เราเคารพซึ่งกันและกัน เพื่อไทยเคารพแนวคิดอื่นๆ หวังว่าทุกท่านจะเคารพการต่อสู้ของเรา เป้าหมายเหมือนกัน เหมือนเดิม การต่อสู้แตกต่างกัน ไม่ได้หมายความว่าเรามีจุดยืนที่เปลี่ยนไป” 

เรื่องราวเริ่มเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ในกระแสโซเชียล เฟซบุ๊ก  ทวิตเตอร์อย่างต่อเนื่อง กระทั่ง 9 พ.ย. สหายใหญ่-ภูมิธรรม เวชยชัย คณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย ทวีตข้อความ 

 “พรรคเพื่อไทย ถูกกล่าวหาว่าร้ายว่า 'สู้ไป กราบไป' แต่ข้อเท็จจริงคือในการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย คนของพรรคเพื่อไทย สมาชิกพรรค เดินเข้าออกคุกตะรางเป็นว่าเล่น ส่วนคนอื่นๆ ที่กล่าวหาพวกเรา ยังไม่เคยเห็นว่าต้องเผชิญทุกข์เหมือนพวกเราเลย #ก่อนกล่าวหาใครส่องกระจกดูตัวเองก่อน” 

ดูเหมือนเรื่องราวจะไม่จบลงเพียงแค่นั้น ในโลกทวิตเตอร์ยังร้อนระอุ แม้จะไม่ถึงขั้นขึ้นเทรนด์ทวีตอันดับต้นๆ แต่ก็มีการรีทวีตกันอย่างดุเดือดจากบุคคลที่มีตัวตน มีชื่อเสียงในแวดวงนักเคลื่อนไหว กองเชียร์สองฟากฝั่ง นำเสนอมุมมองความคิดของตนอย่างถึงพริกถึงขิง อาทิ  

"เข้าคุก ไม่ได้แปลว่าไม่กราบ ตรงกันข้าม มันแปลว่าที่กราบๆ ไป น่ะมันไม่เวิร์ก ป.ล.คุณภูมิธรรมควรรู้ว่าคำว่า #สู้ไปกราบไป นี่จริงๆ ก็เริ่มต้นมาจากคนเสื้อแดงนะ คุณภูมิธรรมคิดว่า เขาไม่เคยเผชิญทุกข์เหมือนพวกคุณจริงเหรอ?" 

"เขาบอก #พรรคเพื่อไทย# สู้ไปกราบไป แต่ในความเป็นจริงแล้ว #พรรคเพื่อไทย# สู้ไปโดนยุบพรรคไปบ้าง สู้ไปโดนจับเข้าคุกไปบ้าง สู้ไปโดนจับเข้าค่ายไปบ้าง สู้ไปต้องหลบหนีลี้ภัยไปบ้าง คนที่บอกไม่สู้ไปกราบไป เคยสูญเสียอะไรบ้าง?" 

บางคนนำภาพในอดีต นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี  ขณะยกมือไหว้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรี ที่ไปร่วมงานศพมารดา พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ.(ในขณะนั้น) มาแสดงความคิดเห็น นำมาประกอบ พร้อมกับวิพากษ์วิจารณ์เรื่องที่ว่าสู้ไป  กราบไป  

กรณี "ชัยเกษม นิติสิริ" ประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และทิศทางการเมือง พรรคเพื่อไทย จุดพลุรับข้อเสนอแนวร่วมราษฎร ต่อการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่คล้อยหลังไม่นาน  ทักษิณ ชินวัตร ก็มาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ตอนหนึ่งว่า "กฎหมายเองไม่เคยเป็นปัญหา แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้  มันเกิดจากการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้อง เพราะว่าบุคคลในกระบวนการยุติธรรมอาจจะเกิดจากความกลัว หรืออาจจะเกิดจากความอยากแสดงความจงรักภักดีโดยไม่ยึดหลักนิติธรรม แล้วเกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิดหรือ Abuse of Power เพื่อหวังผล โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางรัฐบาล เพื่อหวังผลทางการเมือง เลยทำให้เกิดความไม่พอใจ” 

นอกจากนั้น มีการทำภาพตัดต่อล้อเลียนเสียดแทง "ทักษิณ" กลับไปว่า "เพนกวิน ไม่ใช่พานทองแท้ รุ้ง ไม่ใช่พินทองทา เบนจา ไม่ใช่ แพทองธาร ก็แค่นั้น"  

ย้อนกลับไปราวๆ ปลายเดือน ก.ค. เฟซบุ๊กเพจ "CARE คิด เคลื่อน ไทย” ของเครือข่ายนายทักษิณ ชินวัตร เผยแพร่คำพูด "โทนี่ วูดซัม" หรือนายทักษิณ จากคลับเฮาส์ มีคำถามมาว่า "ใน twitter มีการถล่มพี่โทนี่อยู่ว่า สู้ไป กราบไป เป็นรอยัลลิสต์ จุดยืนของพี่โทนี่ตอนนั้นกับตอนนี้ยังเหมือนเดิมไหม?" 

พี่โทนี่ตอบว่า "...ผมเป็นนักเรียนนายร้อย เรียนเตรียมทหารมา  จะให้ผมเป็นคนอีกประเภทหนึ่ง ผมคงไม่ใช่ ผมเป็นคนที่อยู่กับระบบและเคารพระบบ แต่ระบบที่ไม่ดีและมีปัญหาต้องนำไปสู่การแก้ไข ผมเป็นนักแก้ไขเปลี่ยนแปลงมากกว่า 'นักปฏิวัติ'   

ผมจะเปลี่ยนแปลงด้วยสมอง ผมจะไม่เปลี่ยนแปลงด้วยกำลัง  ถ้าในอนาคตจะมีอะไรที่ผมทำเพื่อประเทศได้ในภายภาคหน้า ชาติต้องมาก่อน ชาติคือประชาชน ส่วนอย่างอื่นเป็นส่วนประกอบ เมื่อกาลเวลาเปลี่ยน คนต้องยอมเปลี่ยน ผมฝากเด็กรุ่นใหม่ more for less, less for more อย่าใจแคบ  การเป็นคนที่ใจแคบจะไม่ได้อะไรเลย ถ้าใจกว้างโอกาสเติบโตจะมีสูง             

ใครอยู่ในหน้าที่อะไรก็ตาม ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงมันพังหมด You  have to change before you are forced to  change. ผมคิดว่าคนในทุกระดับ ทุกองค์กร ทุกอำนาจ ต้อง plan your own change ไม่เช่นนั้นจะเปลี่ยนไม่ได้ดี". 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

แม้วเดินสายโชว์บารมี อิ๊งค์ปราศรัยนครพนม

"ทักษิณ" ลุยหาเสียงผู้สมัครนายก อบจ. จ่อขึ้นเวทีเชียงราย 3 เวที "เทิง-เชียงของ-แม่จัน" ปราศรัยช่วย "สลักจฤฎดิ์-เมียยงยุทธ" ก่อนเดินสายลำปาง-นครพนม-บึงกาฬ-หนองคาย-มหาสารคาม-ศรีสะเกษ

‘พ่อ-ลูก’ แห่ช่วยหาเสียง หลายพื้นที่สอย ‘ผู้สมัคร’

“แพทองธาร” ลุยช่วยหาเสียง อบจ.นครพนม 12 ม.ค.นี้ ส่วนพ่อนายกฯ ลงซ้ำ 18 ม.ค.นี้ “อนุทิน” ไม่หวั่น ขอแค่ส่งใจช่วยเครือข่ายสีน้ำเงินรักษาเก้าอี้ภาคอีสาน

ปูด! ส่อเขี่ย 'พีระพันธุ์' ดึงปชน.มาเสริม ปลด 'ภูมิธรรม' นายทหารยศไม่สูงเสียบแทน

นายจตุพร พรหมพันธุ์ วิทยากรคณะหลอมรวมประชาชน โพสต์เฟซบุ๊คว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรมว.พลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มีแววจะถูกปรับออกจาก ครม.

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1