โผพลิก-ทัพฟ้า ทุ่งดอนเมือง กองทัพภาค 1 ชิงอำนาจดุเดือด

รายชื่อ บิ๊กท็อปบูต-กองทัพ ที่ได้เลื่อนขึ้น ได้ตำแหน่งใหญ่ในเหล่าทัพต่างๆ ตามบัญชีรายชื่อ ซึ่งเมื่อช่วงค่ำวันเสาร์ที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่บัญชีรายชื่อแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี ที่มีการโปรดเกล้าฯ ลงมา จำนวน 765 นาย

ว่าไปแล้ว ชื่อที่พลิกโผมากที่สุดคงไม่พ้น ผู้บัญชาการทหารอากาศ ที่สุดท้ายกลายเป็น พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ (ตท.22) ผู้ช่วย ผบ.ทอ. ขึ้นเป็นเบอร์ 1 บิ๊กทัพฟ้า ทุ่งดอนเมือง จากเดิมที่มีการคาดหมายกันหลังการประชุมคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพล หรือเรียกกันว่า "7  อรหันต์" ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม  เมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมาว่า ชื่อตัวเต็งว่าที่ ผบ.ทอ.คนใหม่  ที่ผ่านความเห็นชอบจากวงประชุมดังกล่าวที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ รมว.กลาโหมคุมหัวโต๊ะการประชุม

ตอนนั้นข่าวว่า บิ๊กป้อง-พล.อ.อ.นภาเดช ธูปะเตมีย์  ผบ.ทอ. ซึ่งเกษียณปีนี้ ได้เสนอชื่อ "บิ๊กป้อม" พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ รอง ผบ.ทอ.ที่อาวุโสสูงสุด อีกทั้งยังเป็น ประธานคณะกรรมการศึกษาโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่น F-35 ที่กำลังลุ้นกันทั้งกองทัพให้มีการจัดซื้อให้สำเร็จ จะขึ้นเป็น ผบ.ทอ.คนใหม่ ส่วน พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้ช่วย ผบ.ทอ. จะขยับเป็นแค่ รอง ผบ.ทอ.      

ทว่าสุดท้าย โผพลิกที่ทุ่งดอนเมือง เพราะกลายเป็น  พล.อ.อ.อลงกรณ์ หรือบิ๊กตุ๊ด เบียดขึ้นมาเป็น ผบ.ทอ.

ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีการมองกันว่า ถ้าไม่ใช่ พล.อ.อ.ธนศักดิ์ ที่เหลืออายุราชการอีกสองปีขึ้นเป็น ผบ.ทอ. อีกคนที่เป็นตัวเต็งก็คือ บิ๊กต้น-พล.อ.อ.คงศักดิ์ จันทรโสภา ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ  หรือ ผบ.คปอ. แต่สุดท้ายกลายเป็น พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ที่ข่าวว่ามีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับ พล.อ.อ.นภาเดช  ธูปะเตมีย์ โดยพบว่า พล.อ.อ.อลงกรณ์จะเกษียณในปีหน้า  ตุลาคม 2566 และเป็นลูกทัพฟ้า นักบินเครื่องบินฝึกและขับไล่แบบ L-39 (Aero L-39ZA/ART) สัญชาติสาธารณรัฐเช็ก  ซึ่งอดีตเป็นเครื่องบินฝึกที่ถูกผลิตใช้งานมากที่สุดในโลก  รวมถึงเป็นนักบิน T-bird

ส่วน บิ๊กณะ-พล.อ.อ.ณรงค์ อินทชาติ (ตท.23)  ขยับจากที่ปรึกษาพิเศษกองทัพอากาศ เป็น เสธ.ทอ. โดย พล.อ.อ.ณรงค์ที่เหลืออายุราชการอีกสองปี ถูกคาดหมายว่า ปีหน้า 2566 อาจได้ลุ้นเป็น ผบ.ทอ. หากการเมืองหลังเลือกตั้งที่จะมีขึ้นไม่เปลี่ยนขั้วเสียก่อน ส่วน พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ จากที่ได้ลุ้นเป็น ผบ.ทอ. ก็ถูกเด้งจากรอง ผบ.ทอ. ไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม

ส่วนตำแหน่งอื่นๆ ในทัพฟ้าที่น่าสนใจก็เช่น พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา (ตท.23) ผู้ช่วย ผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทอ., พล.อ.อ.พงษ์สวัสดิ์ จันทสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพอากาศ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ, พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล (ตท.24) เสธ ทอ. เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ.  เป็นต้น

สำหรับ กองทัพบก ตำแหน่งที่น่าสนใจก็เช่น บิ๊กต่อ-พล.อ.เจริญชัย สินเธาว์ (ตท.23) ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ที่เกษียณอายุราชการในปี 2567 เป็น รอง ผบ.ทบ, พล.ท.เกรียงไกร  ศรีรักษ์ แม่ทัพภาคที่ 4 เป็น ผช.ผบ.ทบ, บิ๊กโต-พล.ท.สุขสรรค์ หนองบัวล่าง (ตท.23) แม่ทัพภาคที่ 1 เป็นผู้ช่วย ผบ.ทบ., พล.ท.อุกฤษฏ์ บุญตานนท์ (ตท.24) เจ้ากรมยุทธการทหารบก ซึ่งพบว่าเกษียณในปี 2570 เป็นเสนาธิการทหารบก

จุดโฟกัสที่น่าสนใจรอบนี้ในส่วนของกองทัพบก พบว่าในส่วนของ กองทัพภาคที่ 1 ที่เป็นหน่วยคุมกำลังหลักในพื้นที่สำคัญใจกลางเมืองหลวง โดยเฉพาะเวลาสถานการณ์การเมืองเข้าด้ายเข้าเข็ม ถือว่าพลิกความคาดหมายหลายตำแหน่ง

สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดคือ มีการจัดทัพปรับรุ่นรัดกุมเพื่อรองรับการปรับย้ายในครั้งต่อไป ที่ดุเดือดคือ พล.ท.ธราพงษ์ มะละคำ (ตท.24) แม่ทัพน้อยที่ 1 หรือบิ๊กหนุ่ย สายบูรพาพยัคฆ์ น้องรัก พล.อ.ประวิตร ออกนอกไลน์ไปเป็น ที่ปรึกษาพิเศษ กองทัพบก โดยที่ พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์ (ตท.26) ขยับจาก รองแม่ทัพภาคที่ 1 เป็น แม่ทัพภาคที่ 1, พล.ต.วรยศ เหลืองสุวรรณ (ตท.28) ผบ.พล.1 รอ. เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ส่วน บิ๊กใหญ่-พล.ต.อมฤต บุญสุยา  (ตท.27) ขยับจาก ผบ.พล.ร.2 รอ. เป็น รองแม่ทัพภาคที่ 1

ที่น่าสนใจคือมีชื่อ พล.ต.ไกรภพ ไชยพันธุ์ (ตท.24) ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 14 หรือ ผบ.มทบ.14 เป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 เบียด พล.ต.ธวัชชัย ตั้งพิทักษ์กุล (ตท.27)  ผบ.พล.ร.11 ไปเป็นรองแม่ทัพน้อยที่ 1 ขณะที่ พล.ต.ชิษณุพงศ์ รอดศิริ (ตท.26) รองแม่ทัพน้อยที่ 1 ขึ้นเป็นแม่ทัพน้อยที่ 1 นอกจากนั้นยังเปลี่ยนผู้บัญชาการกองพลหลัก 3  กองพล มาจาก ตท.28 ได้แก่ พล.ต.สราวุธ ไชยสิทธิ์ ผบ.มทบ.11 เป็น ผบ.พล.ร.2 รอ., พ.อ.ณัฐเดช จันทรางศุ รอง  ผบ.พล.1 รอ. เป็น ผบ.พล.1 รอ., พ.อ.วุทธยา จันทมาศ รอง ผบ.พล.ร.9 เป็น ผบ.พล.ร.9 ขณะที่ พ.อ.ปัญญา ตั้งความเพียร (ตท.27) รอง ผบ.พล.ร.2 รอ. เป็น ผบ.มทบ.11

รวมถึงยังมีชื่อ พล.ต.สุริยะ เอี่ยมสุโร (ตท.22) รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพภาคที่ 3 คุมพื้นที่ภาคเหนือ และ  พล.ต.ศานติ ศกุนตนาค ขยับจากรองแม่ทัพภาคที่ 4 เป็นแม่ทัพภาคที่ 4 ดูแลสถานการณ์ความสงบเรียบร้อยภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อไป

ที่ กองทัพเรือ ก็น่าสนใจเช่นกัน เพราะปีนี้ บิ๊กเฒ่า- พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร.เกษียณอายุราชการ จึงมีการตั้ง ผบ.ทร.คนใหม่ ที่ก็เป็นไปตามคาดโผไม่พลิกคือ  บิ๊กจอร์ช-พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ (ตท.22) ผู้ช่วย  ผบ.ทร. ขึ้นเป็น ผบ.ทร. ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ (ตท.23) เสธ.ทร. เป็น รอง ผบ.ทร., บิ๊กวิน-พล.ร.อ.สุวิน แจ้งยอดสุข (ตท.25) ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ น้องชาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร.ที่เกษียณปีนี้ ขยับเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทร. ส่วน บิ๊กโอ๋-พล.ร.ท.ชลธิศ นาวานุเคราะห์ ตท.23 เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ผงาดขึ้นเป็น เสธ.ทร. ส่วนบิ๊กดุง-พล.ร.ท.อะดุง พันธุ์เอี่ยม (ตท.23) เจ้ากรมสื่อสารและเทคโนโลยีสารสนเทศทหารเรือ เป็นผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ

ถัดมาที่ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นไปตามคาด ตำแหน่งหลักๆ ก็เช่น บิ๊กหนุ่ม-พล.อ.สนิธชนก  สังขจันทร์ (ตท.24) รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม แทน บิ๊กหน่อย-พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกลาโหมที่เกษียณปีนี้ ส่วน บิ๊กโต้ง-พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รอง ผบ.ทร. ที่อาวุโสสูงสุดในระดับบิ๊กกองทัพเรือ หลังปีนี้พลาดหวังเก้าอี้ ผบ.ทร.เป็นปีที่สอง ก็ถูกโยกไปเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม ส่วน พล.อ.นุชิต ศรีบุญส่ง  ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม เป็นรองปลัดกลาโหม

ด้าน กองทัพไทย ก็เป็นไปตามคาดเช่นกัน โดยตำแหน่งหลักๆ ก็เช่น บิ๊กอ๊อบ-พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี  (ตท.24) หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการ  เป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด ซึ่งชื่อนี้ถูกคาดหมายว่าอาจได้ลุ้นชิงในปี 2566 ที่บิ๊กแก้ว-พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผบ.ทหารสูงสุดเกษียณ  

ขณะที่ตำแหน่งอื่นๆ ก็มีเช่น พล.อ.ศิราวุฒิ วงศ์ขันตี ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ เป็นรอง ผบ.สูงสุด, พล.ร.อ.สุทธินันท์ สมานรักษ์ รองเสนาธิการทหาร เป็น รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.อ.คงศักดิ์ จันทรโสภา  (ตท.22) ผบ.คปอ. เป็น รอง ผบ.ทหารสูงสุด ส่วน บิ๊กจ่อย- พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง (ตท.24) รองเสนาธิการทหาร เป็นเสนาธิการทหาร, พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ (ตท.21) แม่ทัพภาคที่ 3 เป็นรองเสนาธิการทหาร, พล.ท.อนุสรรค์ คุ้มอักษร  (ตท.23) รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ นทพ. เป็นผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา หรือ ผบ.นทพ. เป็นต้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1

ปี67‘อดีตสว.’ขยับสะเทือนถึงรัฐบาล ถอดถอน‘เศรษฐา’ที่มาของหลายเรื่อง

การเมืองรอบปี 2567 เหตุการณ์ที่ใหญ่ที่สุดต้องยกให้กับศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ “เศรษฐา ทวีสิน” พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้ “แพทองธาร ชินวัตร” กลายเป็นนายกฯ หญิงคนที่ 2 ของประเทศไทย และทำให้หลายสิ่งหลายอย่างเกิดขึ้นตามมา วันนี้จึงขอบันทึกเรื่องราวนี้ไว้ ยกให้เป็นเหตุการณ์แห่งปี