โค้งสุดท้าย คดี 8 ปีเดือด ลุ้นศาล รธน.นัดวันลงมติ

การประชุมนัดพิเศษของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 8 ก.ย. ที่จะมีการพิจารณาคำร้องคดี 8 ปี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกจับตาจากประชาชนทั้งประเทศ หลังมีกระแสข่าวว่า สุดท้ายหากเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นชอบด้วยกับการให้ใช้มาตรา 58 ของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ที่บัญญัติว่า

"หากศาลเห็นว่าคดีใดเป็นปัญหาข้อกฎหมาย หรือมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ ศาลอาจประชุมปรึกษาเพื่อพิจารณาและวินิจฉัย โดยไม่ทําการไต่สวนหรือยุติการไต่สวนก็ได้"

ที่ก็หมายถึง หากเสียงส่วนใหญ่ของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คำร้องคดีนี้มีพยานหลักฐานและองค์ประกอบในการวินิจฉัยคดีครบถ้วนแล้ว ควรที่จะยุติการไต่สวนหรือ ปิดคดี ไปเลย ด้วยการนัดประชุมเพื่อให้ตุลาการทั้งหมดได้แถลงคำวินิจฉัยส่วนตนต่อที่ประชุมตุลาการศาลรัฐธรรมนูญทีละคน จากนั้นก็ร่วมกันลงมติตัดสินคำร้องคดีพลเอกประยุทธ์ก็อาจจะมีการกำหนดนัดวันลงมติดังกล่าวออกมา หลังประชุม 8 ก.ย.เสร็จสิ้นลง

จนมีกระแสข่าวในแวดวงการเมืองตั้งข้อสังเกตว่า อาจเป็นไปได้ที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญอาจจะนัดลงมติคำร้องคดีนี้ในช่วงเช้าวันศุกร์ที่ 9 กันยายนนี้ จากนั้นก็เปิดห้องพิจารณาคดีของศาล รธน.เพื่ออ่านคำวินิจฉัยกลางในช่วงบ่ายวันเดียวกัน ท่ามกลางการตั้งข้อสังเกตย้อนกลับไปว่า คดีที่มีอิมแพ็กทางการเมืองสำคัญๆ ศาลรัฐธรรมนูญมักจะนัดลงมติตัดสินคดีกันในวันศุกร์ เช่น คดียุบพรรคอนาคตใหม่-คดีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พ้นจากการเป็น ส.ส.กรณีถือหุ้นสื่อ เป็นต้น

ยิ่งเมื่อมีกรณี เอกสารรั่ว ของมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่าง รธน.หรือ กรธ.ออกมาเมื่อวันที่ 6 ก.ย.เข้าไปอีก ยิ่งทำให้แวดวงการเมืองมองว่า ศาล รธน.คงไม่รอช้า ปิดคดีเร็วแน่นอน ช้าสุดน่าจะไม่เกินพุธหน้า 14 ก.ย. เพื่อจบเรื่องโดยเร็ว

อย่างไรก็ตาม ก่อนถึงการประชุมนัดพิเศษ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญวันที่ 8 ก.ย. เกิด ฉากแห่งคดี ขึ้นมาคั่นจังหวะถึง 3 ฉาก ที่จะเป็นจุดเปลี่ยนทำให้คดีตัดสินเร็วหรือช้าตามมาทันที

ฉากแรก คือออกมาอีกแล้วกับเอกสารรั่ว

รอบนี้ถึงคิวเอกสาร 23 หน้า คำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของพลเอกประยุทธ์ ในฐานะผู้ถูกร้องที่เริ่มมีการเผยแพร่ในวงกว้างในช่วงก่อนเที่ยง วันพุธที่ 7 กันยายน ที่คล้อยหลังเอกสารรั่วของมีชัย 1 วัน

อันมีเนื้อหาโดยหลักๆ อาทิเช่น พลเอกประยุทธ์ย้ำว่า ไม่สามารถนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 8 ปี จากปี 2557 ที่เป็นนายกฯ ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ได้ และการดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.2560 หลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้นั้น เป็นการดำรงตำแหน่งตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ หลังการเลือกตั้ง ในปี 2562 ดังนั้นการเป็นนายกรัฐมนตรีหลังรัฐธรรมนูญบังคับใช้ จึงเป็นการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ตามบทเฉพาะกาล และได้ขาดตอนจากการเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกไปแล้ว

อีกทั้งยังอ้าง ข้อมูลสำคัญ ที่ไม่เคยเปิดเผยออกมาก่อนหน้านี้ก็คือ เรื่องที่มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 17 ม.ค.2565 มาเพื่อพิจารณากรณีวาระ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วยคณะกรรมการกฤษฎีกาที่มีตำแหน่งเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 7 คน ได้แก่ มีชัย ฤชุพันธุ์, นรชิต สิงหเสนี, ธิติพันธ์ เชื้อบุญชัย, ประพันธ์ นัยโกวิท, ปกรณ์ นิลประพันธ์, อัชพร จารุจินดา และอุดม รัฐอมฤต

โดยคำชี้แจงของพลเอกประยุทธ์ ให้ข้อมูลว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 7 คน เห็นว่าบทบัญญัติกำหนดวาระ 8 ปีดังกล่าว หมายถึงนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ 2560 เท่านั้น

อีกหนึ่งไฮไลต์สำคัญคือ การงัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในอดีต ที่เคยวินิจฉัยและเป็นบรรทัดฐานไว้ก่อนหน้านี้ คือคำวินิจฉัยถึงสถานะความเป็นรัฐมนตรี เมื่อปี 2562 และ 2561 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีว่า คณะรัฐมนตรีที่อยู่ก่อนรัฐธรรมนูญปี 2560 บังคับใช้ถือเป็นรัฐมนตรี นับจากวันที่รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ และต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นต้น

เรียกได้ว่า เอกสารรั่ว ที่ออกมาติดๆ ทั้งของมีชัยและพลเอกประยุทธ์ เพื่อทำให้สังคมได้เห็นเนื้อหา-ประเด็นข้อต่อสู้ของฝ่ายพลเอกประยุทธ์ในเชิงจิตวิทยาการเมือง ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผลในทางบวก-ในทางที่เป็นคุณกับพลเอกประยุทธ์ต่อการสู้คดีไปเต็มๆ

ฉากที่ 2 การแถลงข่าวด่วนของ เชาวนะ ไตรมาศ​ เลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

 ที่เป็นการแถลงเรื่องการประชุมตุลาการศาล รธน. วันที่ 8 ก.ย.และขั้นตอนต่างๆ ในการวินิจฉัยคำร้อง โดยมีเนื้อหาหลักๆ คือ จะยังไม่มีการลงมติตัดสินคดีวันที่ 8 ก.ย.นี้ เพราะเป็นการนำพยานหลักฐานที่ศาลได้รับมาพิจารณาว่าเพียงพอที่จะวินิจฉัยหรือไม่ ถ้าไม่พอจะต้องแสวงหาเพิ่มเติมหรือไม่ ซึ่งตามที่วิธีที่กฎหมายกำหนดทำได้ แต่ เลขาธิการศาล รธน. ก็บอกว่าหากเสียงส่วนใหญ่ของ 9 ตุลาการศาล รธน.เห็นว่าคำร้องคดีนี้เห็นควรให้ยุติการไต่สวนแล้ว ก็อาจจะมีการนัดประชุมเพื่อลงมติได้ ที่ก็คือขั้นตอนตามมาตรา 58 ของ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีของศาล รธน.นั่นเอง แต่ทั้งหมดขึ้นอยู่กับเสียงส่วนใหญ่ว่าจะให้ยุติการไต่สวนหรือยัง

ฉากที่ 3 คือ การเคลื่อนไหวของฝ่ายค้าน ที่ยื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส่งหลักฐานเพิ่มเติมถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการวินิจฉัยคำร้อง

เพื่อ หักประเด็นคำชี้แจง ของมีชัย อดีตประธาน กรธ.ที่บอกว่า เอกสารบันทึกการประชุม กรธ.ที่คุยกันเรื่องการนับ 8 ปีการเป็นนายกฯ ซึ่งมีชัยชี้แจงต่อศาล รธน.ว่าบันทึกประชุมดังกล่าว ที่เป็นบันทึกประชุมครั้งที่ 500 เมื่อปี 2561 ไม่สมบูรณ์ มีข้อบกพร่องอยู่ และ กรธ.ก็ไม่รับรองรายงานการประชุม

ฝ่ายค้านก็เลยยื่นเอกสารบันทึกการประชุมครั้งที่ 501 เมื่อวันที่ 11 ก.ย.51 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย มีเนื้อหารับรองการประชุมของ กรธ. ครั้งที่ 497-500 ว่ามีความถูกต้องโดยไม่มีการแก้ไข ดังนั้นบันทึกการประชุมครั้งที่ 500 จึงมีความสมบูรณ์ ที่ก็คือการหวังทำลายน้ำหนักของมีชัยนั่นเอง โดยฝ่ายค้านขอให้มีการส่งเอกสารดังกล่าวไปให้ศาล รธน.โดยเร็วที่สุดเพื่อให้ส่งเข้าที่ประชุมตุลาการศาล รธน.ในวันที่ 8 ก.ย.นี้

ซึ่งฉากนี้น่าสนใจไม่น้อย เพราะหากเสียงส่วนใหญ่ในตุลาการศาล รธน.ให้น้ำหนักเรื่องนี้สูง ก็อาจขอเวลาในการให้ฝ่ายสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ทำการตรวจสอบ และส่งเอกสารทั้งหมดมาให้เพื่อตรวจสอบให้ละเอียด โดยหากเป็นแบบนี้ก็อาจทำให้การนัดลงมติตัดสินคดีนี้อาจขยับออกไป เพราะศาล รธน.คงอยากให้ข้อเท็จจริงสะเด็ดน้ำ สิ้นข้อสงสัยทุกกระแสความ

เรียกได้ว่า ทั้งฝ่ายผู้ร้องคือฝ่ายค้าน และฝ่ายผู้ถูกร้องคือพลเอกประยุทธ์ สู้กันดุเดือด ทั้งในชั้นศาลรัฐธรรมนูญและในสงครามข่าวสาร โดยมีเก้าอี้นายกฯ เป็นเดิมพันตัดสินแพ้-ชนะ ภายใต้การลุ้นระทึกว่า คำตัดสินของศาล รธน.ที่จะออกมาอีกไม่กี่อึดใจต่อจากนี้ ใครจะเป็นฝ่ายกุมชัยชนะ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง