ส่องสมรภูมิ ส.ส.ด้ามขวาน 3 พรรคใหญ่รัฐบาลหารกันเอง

ก่อนหน้านี้หลายคนจับจ้องไปที่การห้ำหั่นกันในพื้นที่ภาคอีสาน ระหว่าง 2 พรรคร่วมฝ่ายค้าน พรรคเพื่อไทย กับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีฐานมวลชนเกือบจะกลุ่มเดียวกัน 

แต่อีกภาคที่น่าจะเข้มข้นไม่แพ้กันคือ พื้นที่ภาคใต้ ที่คู่แข่งคนสำคัญล้วนแต่มาจากพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันทั้งสิ้น ที่สำคัญมีมากกว่า 2 พรรค 

โดยการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 ที่ผ่านมา มีพรรคการเมืองจำนวน 5 พรรค ที่สามารถพาผู้แทนเข้าสภาได้ ประกอบด้วย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังประชารัฐ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาชาติ และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 

พรรคประชาธิปัตย์กวาด ส.ส.ได้มากที่สุด 22 ที่นั่ง รองลงมาคือ พรรคพลังประชารัฐได้ 13 ที่นั่ง พรรคภูมิใจไทย 8 ที่นั่ง พรรคประชาชาติ 6 ที่นั่ง และพรรครวมพลังประชาชาติไทย 1 ที่นั่ง  

กรณีดังกล่าวไม่นับรวมการเลือกตั้งซ่อมที่ จ.นครศรีธรรมราช ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคพลังประชารัฐสามารถเอาชนะพรรคประชาธิปัตย์ได้  

อย่างไรก็ดี แม้ในการเลือกตั้งปี 2562 พรรคประชาธิปัตย์จะคว้า ส.ส.เป็นอันดับที่ 1 ของภาค แต่การเหลือเพียง 22 ที่นั่ง ถือว่าสร้างความเสียหายอย่างมาก ถูกพรรคพลังประชารัฐและพรรคภูมิใจไทย แบ่ง ส.ส.ไปเกือบ 20 ที่นั่ง  

ขณะที่การเลือกตั้งครั้งหน้า พรรคประชาธิปัตย์ ในเงื้อมมือของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค หมายมั่นปั้นมือจะทวงคืนความยิ่งใหญ่กลับมายืนหนึ่งเป็นเจ้าของสัมปทานพื้นที่ภาคใต้แบบวันวาน  

พรรคประชาธิปัตย์ทุ่มทุกสรรพกำลังในการดูแลเรื่องสินค้าทางการเกษตรของภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นยางพารา น้ำมันปาล์มให้มีราคาสูง อาศัยความได้เปรียบในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ เสี่ยต่อ-เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ และเลขาธิการพรรค เคยให้สัมภาษณ์ในลักษณะว่า ภาพรวมการเลือกตั้งครั้งหน้าตัวเองรับผิดชอบ แม้ไม่ได้บอกตรงๆ แต่เหมือนส่งซิกว่า จะไม่ล้มเหลวเละเทะแบบครั้งก่อนแน่  

แต่ในขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ อยู่ในอาการกำลังได้ใจ จากการคว้าเก้าอี้ ส.ส.กว่า 10 ที่นั่ง ทั้งที่ไม่ได้อัดกระสุนดินดำลงไปมากเมื่อปี 2562 ประกอบกับชัยชนะเลือกตั้งซ่อมที่เมืองคอน ก็วาดหวังจะสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของภาคใต้แบบเบ็ดเสร็จ  

จะเห็นว่า บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค หรือแม้แต่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และเลขาธิการพรรค ต่างให้ความสำคัญกับภาคใต้อย่างมาก ด้วยการลงทำพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 

เริ่มมีการวางยุทธศาสตร์ จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองตามพื้นที่ต่างๆ อย่างเช่น เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา บิ๊กป้อม พร้อมกับคณะ ส.ส.ต่างยกขบวนกันไปเปิดสาขาพรรคกันที่ จ.นราธิวาส 

นอกจากนี้ยังมีแพลนที่จะเปิดสาขาพรรคการเมืองตามจังหวัดต่างๆ ในพื้นที่ภาคใต้อีกหลายแห่ง เพื่ออัปเกรดให้เป็นมืออาชีพมากขึ้น 

มีการเซตตัวบุคคลเอาไว้สำหรับการต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ คู่แข่งเบอร์ 1 ในดินแดนด้ามขวาน ดังจะเห็นการปรากฏตัวของ นายอนุมัติ อาหมัด ที่เพิ่งลาออกจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ไปขนาบข้าง บิ๊กป้อม ระหว่างลงพื้นที่ จ.นราธิวาส 

สำหรับ อนุมัติ เป็นนักธุรกิจไทย มีเชื้อสายปากีสถาน เป็นที่รู้จักกันดีใน จ.สงขลา เคยได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว.สงขลา เมื่อปี 2557 กระทั่งมีการรัฐประหาร จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อนจะลาออกไปช่วยพรรคพลังประชารัฐทำศึกเลือกตั้งในภาคใต้ตอนล่าง เมื่อปี 2562 

การกลับมาพรรคพลังประชารัฐ ของ อนุมัติ ถูกมองว่าต้องการเอามาต่อสู้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยเฉพาะพื้นที่ จ.สงขลา ที่มี นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย เจ้าถิ่น ผู้สายป่านยาวเหยียดยืนจังก้าอยู่ 

แต่ทั้งนี้ ตัวแปรสำคัญของพรรคพลังประชารัฐอยู่ที่ว่าจะเอาใครนำ เพราะมีเสียงสะท้อนจากในพื้นที่ภาคใต้หลายแห่งเหมือนกันว่า หากไม่ใช่ บิ๊กตู่ ก็ไม่เอา ต่อให้เป็น บิ๊กป้อม หรือ ธรรมนัส ก็ตาม 

ด้านฟากฝั่ง พรรคภูมิใจไทย  ของ เสี่ยหนู-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.
สาธารณสุข หัวหน้าพรรค คราวที่แล้วถือว่ากำไรมากกับการล้มเสาไฟฟ้าของพรรคประชาธิปัตย์ในหลายพื้นที่ได้หลายต้น ไม่ว่าจะเป็น พัทลุง ระนอง กระบี่ สตูล สงขลา ครั้งนี้ยังมีแม่ทัพคนเดิมผู้พาพรรคสีน้ำเงินชูธงในภาคใต้ได้อย่าง นาที รัชกิจประการ ภรรยาของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา  

ครั้งหน้าพรรคภูมิใจไทยหวังเซฟฐานที่มั่นเดิมที่ไปเจาะมาได้ กับการบวกเพิ่มอีกนิดหน่อย เพราะรู้ว่า การแข่งกับ 2 พรรคใหญ่ในภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชารัฐ และพรรคประชาธิปัตย์มันไม่ง่าย  

อย่างไรก็ดี พรรคพลังประชารัฐ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ตอนนี้อาจจะดูรักกัน ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่จับตาดูให้ดี ทันทีที่ปี่กลองเลือกตั้งดัง มีสัญญาณชัดเจน เป็นอีกสนามที่เดือดไม่แพ้ภาคอื่น  

ขนาดตอนนี้แค่ลือว่าจะยุบสภา ยังแทบไม่ให้อีกฝั่งตีกินทำคะแนนนำ แข่งกันลงพื้นที่ภาคใต้กันแทบจะทุกสัปดาห์อยู่แล้ว. 

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แจกเฟส 2 หวังผลการเมือง ส่อผิดกฎหมายหลายกระทง?

ปี่กลองอึกทึกครึกโครม ในสนามเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ที่จะมีการเลือกตั้งทั่วประเทศในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ช่วงนี้จึงอยู่ในช่วงงัดไม้เด็ดเดิมพันให้ได้คว้าชัยชนะ เพื่อเป็นอีกก้าวปูทางไปสู่สนามการเลือกตั้งใหญ่

ปักธง1ภาค1เก้าอี้นายกอบจ. ส้มเก็บชัยหรือระเนระนาด

นับถอยหลังสู่โค้งสุดท้ายของการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) อุดรธานี ซึ่งจะเกิดขึ้นในวันที่ 24 พ.ย.นี้ ระหว่าง นายคณิศร ขุริรัง ผู้สมัครจากพรรคประชาชน และนายศราวุธ เพชรพนมพร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย

จับตาคลอดโผแต่งตั้ง“นายพลใหญ่” ตำรวจคนสนิทฝั่งรัฐบาลพรึบยกแผง

จับตาบ่ายวันนี้ การแต่งตั้งโยกย้ายล็อตแรก “นายพลใหญ่” ระดับรอง ผบ.ตร. จเรตำรวจ-ผบช. ที่นายกฯ อุ๊งอิ๊ง น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) นัดประชุม ก.ตร. ครั้งที่ 10/2567 เพื่อพิจารณาบัญชีรายชื่อ “พล.ต.อ.-พล.ต.ท.” วาระประจำปี 2567

ยากจะขวาง‘โต้ง’นั่งปธ.บอร์ดธปท. แนวต้านขอสกัดจนนาทีสุดท้าย!

แม้จะมีข่าวว่า กรรมการคัดเลือกประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีมติเลือก เสี่ยโต้ง-นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ให้เป็นประธานกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือบอร์ดแบงก์ชาติคนใหม่

โค้งสุดท้ายศึกนายกอบจ.อุดรฯ เดิมพันสูง พท.VSปชน.แพ้ไม่ได้

นับจากวันจันทร์ที่ 18 พ.ย.ก็เหลืออีกเพียง 7 วันเท่านั้น ก็จะถึงวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง ศึกนายกฯ อบจ.อุดรธานี ทำให้ตอนนี้ถือว่าเข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายที่จะได้รู้กันแล้วว่า

‘แม้ว’ ย่ามใจไม่เลี้ยงหลาน ทำตัวเป็น ‘ส่วนหนึ่งของปัญหา’

แม้แต่ "ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ" ประธานคณะก้าวหน้า และอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ยังตั้งคำถามต่อ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกรัฐมนตรี