การจัดทัพขุมอำนาจบิ๊กข้าราชการประจำปีของรัฐบาลทยอยปิดบัญชีไปตามลำดับ โดยเฉพาะกับ 3 หน่วยงานหลัก ที่เป็นขุมกำลังทางการเมืองและความมั่นคงของรัฐบาลทุกยุคสมัยคือ กระทรวงมหาดไทย-สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพ
โดยในส่วนของกระทรวงมหาดไทย นำร่องจัดโผบิ๊กคลองหลอดทั้งอธิบดีกรมต่างๆ และผู้ว่าฯ หลายจังหวัดทั่วประเทศ เสร็จไปเมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา รวม 37 ตำแหน่ง แต่กระทรวงมหาดไทยก็ยังเหลือการแต่งตั้งอีกล็อตที่จ่อคิวนำเข้าที่ประชุมเข้า ครม.เดือนกันยายนนี้คือ การแต่งตั้งเลื่อนขั้นคนมาเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด 23 ตำแหน่ง และผู้ตรวจกระทรวงมหาดไทยอีก 11 ตำแหน่ง เพื่อแทนคนที่เกษียณอายุและตำแหน่งที่ว่าง
ส่วนโผบิ๊กสีกากี ระดับ พล.ต.อ.ถึง พล.ต.ต. ตั้งแต่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จนถึงผู้บังคับการ ก็เรียบร้อยไปแล้วในการประชุม ก.ต.ช.และ ก.ตร. เมื่อวันจันทร์ที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา หลังบิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่งหัวโต๊ะกำกับฉาก และหลังจากนี้ก็จะเป็นการทำโผบัญชีระดับฝ่ายปฏิบัติการทั่วประเทศ กับการทำบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายระดับ “รองผู้บังคับการ-ผู้กำกับทั่วประเทศ” ที่แต่ละกองบัญชาการในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก็จะไปทำบัญชีของแต่ละหน่วยต่อไป ซึ่งความน่าสนใจคงน้อยกว่าการทำโผระดับนายพลค่อนข้างเยอะ แต่ก็เป็นเรื่องที่วงการตำรวจทั่วประเทศติดตามอย่างใกล้ชิด
และล่าสุด เมื่อวันอังคารที่ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา ก็เรียบร้อยไปแล้วเช่นกัน กับการจัดทัพท็อปบูต แต่งตั้งโยกย้ายบิ๊กทหารประจำปี
โดยเมื่อ 30 สิงหาคมที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รมว.กลาโหม ได้ประชุมคณะกรรมการปรับย้ายทหารชั้นนายพล หรือที่เรียกกันว่า "7 อรหันต์" ตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม ที่มีอำนาจเต็มในการทำโผและเห็นชอบรายชื่อบิ๊กกองทัพตามที่แต่ละเหล่าทัพเสนอมา ซึ่งทั้ง 7 คนก็เข้าประชุมพร้อมเพรียงคือ พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล รมช.กลาโหม, พล.อ.วรเกียรติ รัตนานนท์ ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองทัพไทย, พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผบ.ทบ., พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.นภาเดช ธูปเตมีย์ ผบ.ทอ.
จนสุดท้ายมีการเห็นชอบตามบัญชีรายชื่อที่แต่ละเหล่าทัพเสนอมา และได้ส่งบัญชีดังกล่าวให้เจ้ากรมเสมียนตราตรวจความถูกต้องอีกครั้ง พร้อมนำส่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รักษาการนายกฯ ลงนาม เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป
โดยรายชื่อที่เคาะออกมาจากบอร์ดแต่งตั้งบิ๊กกองทัพปีนี้ ซึ่งมี 3 ตำแหน่งหลังเกษียณอายุราชการ คือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการกองทัพเรือ ผู้บัญชาการกองทัพอากาศ พบว่ารายชื่อที่น่าสนใจ ประกอบด้วย
-สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม “พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ หรือบิ๊กหนุ่ม” เตรียทหารรุ่น 24 ขยับจาก รองปลัดกระทรวงกลาโหม เป็น ปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ภูมิพัฒน์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วย ผบ.ทบ.เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม, พล.อ.อ.ชานนท์ มุ่งธัญญา ผู้ช่วย ผบ.ทอ.เป็น รองปลัดกระทรวงกลาโหม
ส่วนกองทัพไทย พล.อ.ทรงวิทย์ หนุนภักดี หัวหน้าคณะฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บัญชาการ ขยับไปเป็น รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, พล.อ.ธิติชัย เทียนทอง รองเสนาธิการทหาร เป็น เสนาธิการทหาร พล.ท.อภิเชษฐ์ ซื่อสัตย์ แม่ทัพภาคที่ 3 เป็น รองเสนาธิการทหาร พล.อ.สุวิทย์ เกตุศรี ผู้อำนวยการศูนย์ประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริเพื่อความมั่นคง เป็น ผู้บัญชาการหน่วยทหารพัฒนา
ถัดมาที่หน่วยงานหลักของกองทัพคือ กองทัพบก พบว่า บิ๊กบี้ พล.อ.ณรงค์พันธ์ เตรียมทหาร 22 ยังนั่งตำแหน่ง ผบ.ทบ. ไปจนเกษียณปี 2566 แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวอาจถูกเปลี่ยนตัว
ทำให้ “บิ๊กต่อ พล.อ.เจริญชัย สินเธาว์ ผู้ช่วย ผบ.ทบ. บิ๊กทัพบก สายทหารเสือราชินีคนสำคัญ สายตรงพลเอกประยุทธ์” ที่ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวอาจได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ หากบิ๊กบี้รักษาเก้าอี้ไว้ไม่ได้ สุดท้ายไม่มีฟ้าผ่ากองทัพบก เพราะบิ๊กต่อได้เพียงขยับจากผู้ช่วย ผบ.ทบ. เป็น รอง ผบ.ทบ
พล.ท.ภูวนารท ชมพูบุตร รองเสนาธิการทหารบก เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ. พล.ท.สุสรรค์ หนองบัวล่าง หรือบิ๊กโต สายบูรพาพยัคฆ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เป็น ผู้ช่วย ผบ.ทบ., พล.ท.ธราพงษ์ มาละคำ หรือบิ๊กหนุ่ย แม่ทัพน้อยที่ 1 ผงาดเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ที่เป็นหน่วยหลักในการคุมกำลังพล เวลามีเหตุการณ์สำคัญๆ ทางการเมือง เช่น การรัฐประหาร ส่วน "บิ๊กปู" พล.ต.พนา แคล้วปลอดทุกข์ รองแม่ทัพภาคที่ 1 สายวงศ์เทวัญ เป็น แม่ทัพน้อยที่ 1, พล.ต.สุริยะ เอี่ยมสุโร รองแม่ทัพภาคที่ 3 เป็นแม่ทัพภาค 3 คุมพื้นที่ภาคเหนือ
ถัดมาที่ทัพฟ้า กองทัพอากาศ “พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เมตะนันท์ เตรียมทหารรุ่น 22 หรือบิ๊กป้อม รอง ผบ.ทอ.ที่อาวุโสสูงสุด ผงาดขึ้นเป็น ผู้บัญชาการทหารอากาศคนใหม่” โดยมีภารกิจสำคัญคือ การสานต่อโครงการจัดซื้อเครื่องบินขับไล่รุ่น F35A ให้สำเร็จตามแผนที่กองทัพอากาศวางไว้ โดยการขึ้นเป็น ผบ.ทอ.รอบนี้ของ พล.อ.อ.ธนศักดิ์ เบียดเต็ง 1 บิ๊กต้น พล.อ.อ.คงศักดิ์ จันทรโสภา ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการควบคุมปฏิบัติการทางอากาศ หรือ ผบ.คปอ. ไปในช่วงโค้งสุดท้าย หลังสัปดาห์ที่แล้วชื่อของบิ๊กต้นยังมาแรงอยู่
ขณะที่ พล.อ.อ.อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้ช่วย ผบ.ทอ. เป็น รอง ผบ.ทอ., พล.อ.อ.พันธ์ภักดี พัฒนกุล เสธ ทอ. ประธานโครงการจัดหา F35A ขึ้นเป็น ผู้ช่วย ผบ.ทอ. พล.อ.อ.ณรงค์ อินทรชาติ หรือบิ๊กณะ ที่ปรึกษาพิเศษกองทัพอากาศ เป็น เสนาธิการกองทัพอากาศ
และกองทัพเรือ ที่ถูกจับตามองมาตลอดในช่วงหลังถึงเรื่องขั้วอำนาจต่างๆ ในกองทัพเรือ สุดท้ายก็เป็นไปตามคาดคือ “พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ เตรียมทหารรุ่น 22 หรือบิ๊กจอร์ช ผู้ช่วย ผบ.ทร.ผงาดขึ้น เป็น ผบ.ทร.คนใหม่”
หลังก่อนหน้านี้ บิ๊กเฒ่า พล.ร.อ.สมประสงค์ นิลสมัย ผบ.ทร. เพิ่งดึงตัวบิ๊กจอร์ชกลับจากรองเสนาธิการทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อช่วงโยกย้ายกลางปี เมษายน 2565 ที่ผ่านมา เพื่อรอสไลด์ขึ้นเป็น ผบ.ทร. จนทำให้กองทัพเรือร้อนไฟลุกมาแล้ว เมื่อผลออกมาแบบนี้เลยทำให้คู่ชิงคนสำคัญ คือ พล.ร.อ.ธีรกุล กาญจนะ รอง ผบ.ทร. ที่เป็นบิ๊กทหารเรือสายขั้วอำนาจเก่ายุค พล.ร.อ.ลือชัย รุดดิษฐ์ อดีต ผบ.ทร.พลาดหวัง อดได้ขึ้นเป็น ผบ.ทร.
ส่วนตำแหน่งอื่น พล.ร.อ.เถลิงศักดิ์ ศิริสวัสดิ์ เสนาธิการทหารเรือ เป็น รอง ผบ.ทร., พล.ร.ท.วรวุธ พฤกษารุ่งเรือง เป็นเสนาธิการทหารเรือ เป็นต้น
หากเป็นไปตามนี้ เท่ากับว่า เตรียมทหารรุ่น 22 ผงาดเป็นผู้นำเหล่าทั้ง 4 เหล่า คือ กองทัพบก กองทัพอากาศ กองทัพเรือ รวมถึง ตำรวจด้วย เพราะบิ๊กเด่น พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ว่าที่ ผบ.ตร.คนใหม่ ก็จบ ตท.22 และ นรต.38 ซึ่งเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนักในวงการแผงอำนาจกองทัพและตำรวจ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด
การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
‘พปชร.’ ปลดแอก ‘สามารถ’ โยนระเบิดเข้า ‘เพื่อไทย’ ต่อ
‘พลังประชารัฐ’ ฝั่งบ้านป่าฯ สถาปนาตัวเองเป็น ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น’ เต็มตัว
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’