ครม.วันไร้ ‘บิ๊กตู่’ กุมบังเหียน มี ‘บิ๊กป้อม’ นัมเบอร์วัน

หลัง “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2565 ตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยกรณีดำรงตำแหน่ง 8 ปี แต่ “บิ๊กตู่” ยังคงปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมตามปกติ โดยมี “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รักษาราชการแทนนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่ครบ 1 สัปดาห์พอดี โดย พล.อ.ประวิตรนำทัพบริหารราชการแผ่นดิน สั่งงานและนั่งหัวโต๊ะถกวงประชุมสำคัญๆ ต่างๆ แทน พล.อ.ประยุทธ์ได้อย่างราบรื่น

ทั้งเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และการประชุมคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ในการพิจารณาคัดเลือกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) คนใหม่ การโทรศัพท์สายตรงถึง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อติดตามแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่กรุงเทพฯ

รวมถึงนั่งหัวโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรก ในฐานะรักษาราชการแทนนายกฯ อย่างเป็นทางการ 

โดยมีทีมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้าสรุปข้อมูลวาระการประชุม ครม.ให้ก่อน ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

สำหรับบรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาล ท่ามกลางบรรดา ครม.จากค่ายพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) อาทิ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รวมถึง น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และทีมคณะทำงาน ต่างเรียงแถวมาต้อนรับ พล.อ.ประวิตรกันอย่างคึกคัก

ทั้งนี้ การประชุม ครม.ผ่านไปได้ด้วยดี แม้ พล.อ.ประยุทธ์จะไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ขอปักหลักอยู่ที่ห้องทำงานกระทรวงกลาโหม ประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทน ขณะที่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีที่หัวโต๊ะวงประชุม ครม.ได้เว้นว่างไว้

โดย พล.อ.ประวิตรเลือกนั่งประจำเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรีที่เดิม ซึ่งจะอยู่ทางด้านขวามือของเก้าอี้นายกฯ เพื่อเป็นการให้เกียรติ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เพียงหยุดปฏิบัติหน้าที่นายกฯ แต่ยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลชี้ขาดอีกครั้ง ส่วนทางด้านซ้ายมือมี นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นั่งประจำที่เดิมเช่นกัน นอกจากนี้ในส่วนของเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทางทำเนียบฯ ต้องเตรียมเพิ่มเติมอีก 1 เก้าอี้สำหรับ พล.อ.ประยุทธ์นั้น ปรากฏว่าไม่ได้มีการจัดเตรียมไว้เช่นกัน เนื่องจากได้รับแจ้งล่วงหน้าแล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เดินทางมา

สำหรับบรรยากาศในห้องประชุม ครม. พล.อ.ประวิตรมีสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมประเดิมสั่งการในที่ประชุมเรื่องการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมให้ทุกหน่วยงานรับมือฤดูฝน สั่งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ให้กระทรวงการคลังไปดูเรื่องการแยกสถานะลูกหนี้ เป็นต้น ในส่วนของ พล.อ.ประยุทธ์ที่เข้าร่วมประชุมวิดีโอคอนเฟอเรนซ์มีสีหน้าเรียบเฉย และไม่ได้มีการพูดหรือข้อเสนอแนะอะไรในที่ประชุม ครม.เลย เนื่องจากส่วนของกระทรวงกลาโหม ตามหน้าที่ความรับผิดชอบในขณะนี้ไม่ได้มีวาระใดเสนอในที่ประชุม ครม.

ขณะที่ความสัมพันธ์ของพี่น้อง 3 ป. ยังส่งกำลังใจให้กันดี โดย พล.อ.ประยุทธ์เองยืนยันแล้วว่ามีกำลังใจดี ในขณะที่ “บิ๊กป๊อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ยืนยันอีกเสียงว่า พล.อ.ประยุทธ์นั้นโอเค มีกำลังใจ ส่วน พล.อ.ประวิตรให้เกียรติน้องชาย เว้นที่นั่งนายกรัฐมนตรีไว้ และไม่ใช้ห้องทำงานนายกรัฐมนตรีบนตึกไทยคู่ฟ้าแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม สำหรับเรื่องอำนาจหน้าที่ของ พล.อ.ประวิตรนั้น ล่าสุดมีคำสั่งชัดเจนเรื่องอำนาจหน้าที่ของรักษาราชการแทนนายกฯ โดย พล.อ.ประวิตรได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 215/2565 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี มอบหมายและมอบอำนาจให้รองนายกรัฐมนตรีปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี และปฏิบัติราชการแทนนายกรัฐมนตรี ในกรณีรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติราชการได้ หรือไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง

โดยคำสั่งระบุว่า 1.ให้ พล.อ.ประวิตร รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี 2.กรณี พล.อ.ประวิตร รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ตามลำดับ 3.ในการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ผู้รักษาราชการแทนตามข้อ 1 (พล.อ.ประวิตร) มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่ในการเป็นประธานกรรมการในคณะกรรมการหรือองค์กรใด ทั้งนี้ ในกรณีผู้รักษาราชการแทนตามข้อ 2 จะสั่งการใดอันเกี่ยวกับการบริหารงานบุคคลและการอนุมัติเงินงบประมาณอันอยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจากรองนายกรัฐมนตรี รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีตามข้อ 1 ก่อน

และ 4.ในระหว่างการรักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี หากผู้รักษาราชการแทนตาม 1 หรือ 2 แล้วแต่กรณี ต้องเข้าร่วมประชุมในคณะกรรมการใดซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และผู้รักษาราชการแทนเป็นรองประธานกรรมการหรือกรรมการร่วมอยู่ด้วย ให้ผู้รักษาราชการแทนนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะประธานกรรมการเพียงตำแหน่งเดียว

จากนี้คงต้องจับตาการขับเคลื่อนรัฐบาลที่มี “พี่ใหญ่” ของ 3 ป. อย่าง พล.อ.ประวิตร นำทัพในห้วงเวลานี้จะสำเร็จราบรื่นหรือไม่.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เหลี่ยม"ทักษิณ"หาเสียงนายกอบจ. ก้ำกึ่ง สุ่มเสี่ยง ผิดกฎหมายเลือกตั้ง

การปราศรัยหาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ.ของ "ทักษิณ ชินวัตร" อดีตนายกฯ กำลังกลายเป็นประเด็นร้อนทางการเมือง ทั้งสุ่มเสี่ยงผิดกฎหมายเลือกตั้ง และพาดพิงคู่ปรับทางการเมืองอย่างดุเดือด

'คุมขังนอกเรือนจำ'ความหวังใหม่ ระบบยุติธรรมหรือประตูสู่ความลำเอียง

ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในระบบยุติธรรม โดยในปี 2568 กรมราชทัณฑ์จะเริ่มใช้ ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งเป็นนโยบายใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อลดความแออัดในเรือนจำ

‘แม้ว’ห้าว!ผ่านสนาม อบจ. ท่าทีมั่นใจ‘ความปลอดภัย’

ห้าวทุกเวที! 4 จังหวัด อุดรธานี อุบลราชธานี เชียงใหม่ เชียงราย ที่ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ อดีตนายกรัฐมนตรี ไปช่วยผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือนายก อบจ.หาเสียง

ก้าวต่อไป ‘รทสช.’ ปี 2568 ติดสปีดผลงาน-โกยคะแนน

ต้องฝ่าฟันมรสุมกันระลอกใหญ่ส่งท้ายปี 2567 สำหรับ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) จากพรรคน้องใหม่จนถึงปัจจุบันสู่ปีที่ 3 แล้ว ภายใต้การนำของ “พี่ตุ๋ย” พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะหัวหน้าพรรค และ “ขิง” เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขาธิการพรรค ซึ่งพรรคได้โควตาร่วมทัพรัฐบาลเพื่อไทย และได้กระทรวงที่หมายปองมาครอบครองสมใจ

การเมืองไทยปี 68 เข้มข้น-ขับเคี่ยว-ร้อนแรง ซักฟอกมี.ค.-ปรับครม.กลางปี

การเมืองไทยไม่ว่าปีไหนๆ ก็มีประเด็นร้อนเกิดขึ้นได้ตลอด บางเรื่องเกิดขึ้นตามปฏิทินการเมือง แต่บางประเด็นเป็นความร้อนแรงที่แทรกขึ้นมาแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อน

'ปชน.'ถอย'ม.112'แลกอุดมการณ์ เพิ่มคะแนนนิยม'เท้ง'เฉือน'อิ๊งค์'

ผลสำรวจความเห็นของประชาชน 'นิด้าโพล' สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หัวข้อ ความนิยมทางการเมือง ในไตรมาส 4 ปลายปี 2567 ให้ผลที่น่าสนใจ เมื่อ 'เท้ง’- นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน (ปชน.) เป็นนักการเมืองที่ประชาชนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีมากที่สุดอันดับ 1