สลับฉาก'พี่ใหญ่'ถือดุลอำนาจ 3ป.แตกหักหรือลับลวงพราง?

ทันทีที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ไว้พิจารณา พร้อมคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยออกมาเมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา

โดยแบ่งเป็นเสียงข้างมาก 5 ราย เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ 1.นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ 2.นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ 3.นายจิรนิติ หะวานนท์ 4.นายวิรุฬห์ แสงเทียน 5.นายนภดล เทพพิทักษ์ 

ส่วนฝ่ายเสียงข้างน้อย 4 เสียง ที่เห็นว่าไม่ควรให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ ได้แก่ 1.นายวรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.นายปัญญา อุดชาชน 3.นายอุดม สิทธิวิรัชธรรม 4.นายบรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์

หลังจากนี้ "บิ๊กตู่" ต้องชี้แจงต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน โดยทีมกฎหมายใช้แนวทางการต่อสู้ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2557-2562 ที่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรกนั้น ได้รับการแต่งตั้งจากสถานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงจะนำมานับรวมอายุ 8 ปีไม่ได้  

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ถูกสถาปนาเป็นนายกฯ ตามขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญปี 60 มาตรา 158 จึงต้องพิจารณาทั้งมาตราประกอบด้วย วรรคแรก การตั้งนายกฯ วรรคสอง เลือกนายกฯ ในสภา วรรคสาม ประธานสภาฯ รับสนองฯ 

ฉะนั้นจะมาตัดตอนยึดตามมาตรา 158 วรรคสี่ ที่จะกำหนดระยะเวลานายกฯ อยู่ไม่เกิน 8 ปีอย่างเดียวมิได้

ทั้งนี้เรื่องดังกล่าวนี้สุดท้ายต้องรอคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ซึ่งไม่มีกรอบระยะเวลาบังคับ ตามข่าวอ้างว่าอย่างเร็วที่สุดภายในเดือนกันยายนนี้ 

กลับมาที่คำสั่งให้ "บิ๊กตู่" หยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือว่าผิดคาดไม่ตรงอย่างที่ฝ่ายการเมืองเก็งข้อสอบเอาไว้ และตามมาด้วยกระแสวิพากษ์วิจารณ์ออกมาเป็น 2 ความเห็นหลัก

ความเห็นแรก ยังเชื่อว่า พี่น้อง 3 ป. รู้กัน และใช้ยุทธวิธี ลับ ลวง พราง หวังลดกระแสสังคม หลังเกิดผู้ชุมนุมและความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนทั้งอาจารย์ หมอ มวลชนบางส่วนทั้งแดง ส้ม สามนิ้ว และฝ่ายการเมืองฝ่ายค้านที่ต่อต้าน พล.อ.ประยุทธ์ รวมทั้งลดกระแสกดดันไปที่ศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย เพื่อออกไปตั้งหลักและประเมินสถานการณ์ใหม่ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะต้องเลิกหรือไปต่อในรูปแบบไหน 

ทั้งนี้หากจะต้องไปต่อว่าจะเริ่มนับอายุการดำรงตำแหน่งนายกฯ ตั้งแต่ปี 2560 และสิ้นสุดในปี 2568 หรือนับตั้งแต่ปี 2562 จะอยู่ไปถึง 2570 หรือสุดท้าย "บิ๊กตู่" จะตัดสินใจเลิกเมื่อครบวาระรัฐบาลนี้ในเดือนมีนาคมปี 2566 หรือจะลงสนามเลือกตั้งเป็นนายกฯ สมัย 3 ในนามพรรคพลังประชารัฐ หรือพรรครวมไทยสร้างชาติ       

ขณะที่อีกความเห็นคือ “พี่น้อง 3 ป.” แตกกันแล้ว และจำเป็นถอดสลักความขัดแย้ง คือให้ พล.อ.ประยุทธ์ พ้นไปเพื่อรักษาระบอบสืบทอดอำนาจ 

สอดรับกับร่องรอยความขัดแย้งในอดีต ที่นักการเมืองและ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐต้องการเปลี่ยนแปลงให้ "บิ๊กป้อม" ขึ้นเป็นผู้นำประเทศหรือ รมว.มหาดไทย และมีอำนาจเตรียมพร้อมไปสู่การเลือกตั้ง หลังก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ไม่ค่อยตอบสนองฝ่ายการเมืองและสร้างความไม่พอใจแก่ ส.ส.

กระทั่งเกิดเหตุการณ์กบฏ “ผู้กอง” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตเลขาธิการ พปชร.และ ส.ส.พะเยา ต้องการล้มนายกฯ ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจในช่วงเดือนกันยายนปี 2564

รวมทั้งเหตุการณ์ล่าสุดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งที่ผ่านมา ที่เสียงคะแนนไว้วางใจมอบให้ พล.อ.ประวิตร มากที่สุด คะแนนเหนือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำประเทศ สวนทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ได้คะแนนไม่ไว้วางใจมากที่สุด 

ท่ามกลางข้อกล่าวหา “พี่ใหญ่” โชว์อำนาจและบารมีทางการเมือง และต้องการสั่งสอน “พี่รอง” และ “น้องเล็ก” ใช่หรือไม่ หลัง ส.ส.ขออะไรแล้วไม่ค่อยได้รับความร่วมมือ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเช่นไร สุดท้ายผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องปม 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นคำตอบ รวมทั้งสัญญาณและอนาคตการเมืองข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ 

แต่ที่แน่ๆ ยามนี้ "บิ๊กป้อม" เมื่อถูกสลับฉากขึ้นรักษาการแทนนายกฯ มีอำนาจเต็มตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 41 และ 48 ต้องจับตาว่าจะกระชับอำนาจเพื่อจัดทัพการเลือกตั้งหรือไม่ 

โดยเฉพาะการควบคุมโผข้าราชการตำรวจ ในวันที่ 29 ส.ค.นี้ จับตาว่า "บิ๊ก ป.ที่ 4" เข้ามาล้วงลูก ชักใยเปลี่ยนแปลงโผหรือไม่  

รวมทั้งโผข้าราชการระดับสูงในกระทรวงมหาดไทย ที่ยังเหลือการแต่งตั้งอีกล็อตใหญ่ คือผู้ว่าราชการจังหวัด 23 ตำแหน่ง และผู้ตรวจ 11 ตำแหน่ง ซึ่ง "บิ๊กป้อม" ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ครม.ควบคุมมติการแต่งตั้งดังกล่าวให้เป็นไปตามความต้องการด้วยหรือไม่   

นอกจากนี้ยังสามารถทำงานตอบสนองคนพลังประชารัฐ ทั้งอนุมัติโครงการ งบประมาณ และโยกย้ายข้าราชการอื่นๆ

รวมทั้งยังสบช่องโอกาสปรับ ครม.เพื่อหาคนมาแทน 2 ตำแหน่งที่เว้นว่างในโควตาพรรคพลังประชารัฐ หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยมีคำสั่งปลดฟ้าผ่า ร.อ.ธรรมนัส ออกจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ พ้นจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน  

สอดรับกับอุบัติเหตุทางการเมือง ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ส.ค. นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการศึกษาธิการ และแกนนำพรรคภูมิใจไทย ถูกศาลฎีกาสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะศาลจะมีคำพิพากษา หลังคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง กรณีบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี 

ต่อด้วยในวันที่ 14 ก.ย.นี้ ศาลรัฐธรรมนูญนัดวินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของนายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ สิ้นสุดลงเฉพาะตัวหรือไม่ หลังถูกสั่งให้พ้นจากตำแหน่งนายก อบจ.สงขลา ตามคำสั่งกระทรวงมหาดไทย เข้าลักษณะต้องห้ามการเป็นรัฐมนตรีและ ส.ส.ตามรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ "บิ๊กป้อม" ยังมีอำนาจทูลเกล้าฯ กฎหมายลูก และยังเป็นผู้กำหนดเกมเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ขณะนี้สูตรการเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อกำหนดให้ใช้หาร 100 หลังก่อนหน้านี้เสนอใช้สูตรหาร 500   

ซึ่งขณะนี้ ส.ส.และ ส.ว.กำลังส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทั้งนี้หากศาลรัฐธรรมนูญมองว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ จะส่งผลให้พรรคเพื่อไทยจะได้ประโยชน์จากระบบเลือกตั้งดังกล่าวนี้ด้วย  

ที่มาพร้อมกับเสียงวิจารณ์ว่า "บิ๊กป้อม" ดีลกับนายใหญ่ เป็นช่องทางสำรองหากกรณีพรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ แต่ยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเพราะติดเรื่อง ส.ว.จำนวน 250 คนที่ยังเลือกนายกฯ ได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งบารมี  "บิ๊กป้อม" หาก "ทักษิณ ชินวัตร" ต้องการกลับเข้ามาแชร์อำนาจการเมืองใช่หรือไม่      

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ดังที่กล่าวมาลงตัว "บิ๊กป้อม" อาจจะใช้โอกาสทองนี้จัดดุลอำนาจทางการเมืองใหม่สู่เป้าหมายหลังเลือกตั้ง 150 เสียงในนาม พปชร. เพื่อรักษาอำนาจต่อไป พร้อมเปิดสัญญาณไว้รองรับทุกขั้วการเมือง

อีกด้านหนึ่ง “พี่ใหญ่” ก็ยังสามารถอยู่ทำหน้าที่ประคองน้องๆ หากมี “บางคน” จำเป็นต้องลงจากหลังเสือเพื่อไม่ให้ถูกแว้งกัด.   

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด

การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ

เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม

หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ

ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?

การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ

"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย

คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย