คดีคำร้องตีความวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแปดปี ของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถึงตอนนี้ ถือว่าขยับเข้าใกล้ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้วินิจฉัยตีความให้สิ้นกระแสความข้อสงสัย หลังเรื่องนี้กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างดุเดือดในแวดวงการเมืองและกฎหมายว่า สุดท้ายพลเอกประยุทธ์จะสามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้หลัง 24 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ได้หรือไม่ หรือจะต้องลงจากหลังเสือ เก้าอี้นายกรัฐมนตรี จนต้องมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่
ที่ตอนนี้ถือว่าคำร้องเตรียมถูกวางบนโต๊ะทำงาน 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเต็มที เพราะเมื่อช่วงเย็นวันศุกร์ที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้ลงนามในคำร้องของ ส.ส.ฝ่ายค้านเข้าชื่อกันเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อย โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ เช้าวันจันทร์ 22 สิงหาคม
ทำให้หลังจากนี้จะเข้าสู่กระบวนการ เตรียมนับหนึ่ง การพิจารณาคดีการเป็นนายกฯ ของพลเอกประยุทธ์ ของศาลรัฐธรรมนูญเร็ววันนี้ เพราะแม้องค์กรอิสระคือผู้ตรวจการแผ่นดิน จะไม่ยื่นคำร้องดังกล่าว แต่เมื่อดูตามช่องทางของรัฐธรรมนูญ และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ2561 ที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยคำร้อง
"เกี่ยวกับการสิ้นสุดลงของความเป็นรัฐมนตรี"
จึงไม่มีทางเป็นอย่างอื่น ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องดังกล่าวไว้วินิจฉัยตีความแน่นอน
ทั้งนี้ โดยปกติตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คนที่มีวรวิทย์ กังศศิเทียม เป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่จะนัดประชุมปรึกษาคดีกันสัปดาห์ละหนึ่งครั้งคือในวันพุธ แต่มีหลายครั้ง ประชุมเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ เช่น ประชุมเพื่อลงมติวินิจฉัยคดีและอ่านคำวินิจฉัยกลางกันวันศุกร์ ก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง
จึงต้องจับตากันว่า คำร้องสุดฮอตดังกล่าว ที่กำลังจะกลายเป็น เผือกร้อน ของศาลรัฐธรรมนูญ จะถูกนำเข้าที่ประชุม 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในสัปดาห์นี้คือ วันพุธที่ 24 สิงหาคมเลยหรือไม่ หรือหากไม่ทัน จะมีการประชุมนัดพิเศษช่วงวันพฤหัสบดี หรือศุกร์ที่ 25 กับ 26 สิงหาคมไหม เพื่อลงมติรับคำร้องไว้วินิจฉัย หรือจะต้องรอสัปดาห์ถัดไป
โดยประเด็นสำคัญที่ทุกฝ่ายจับตามองก็คือ เมื่อศาลรับคำร้องไว้แล้ว สุดท้ายจะมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
ซึ่งไม่ว่าศาลจะมีคำสั่งหรือไม่มีคำสั่งออกมาในทางใด ย่อมต้องถูกตีความไปในทางการเมืองถึงโอกาส รอด-ไม่รอด ของพลเอกประยุทธ์ตามมาทันที ถึงแม้ว่าในทางข้อกฎหมายจะต้องรอฟังผลการลงมติของ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญก่อนก็ตาม เพราะอย่างในรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคสอง บัญญัติไว้โดยมีเนื้อหาโดยสรุปว่า
"เมื่อศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง ให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย”
ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์ไม่ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ การเป็นนายกรัฐมนตรี หรือถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ อันดับหนึ่ง ขึ้นมารักษาการแทน แวงวงการเมืองก็ต้องมองว่าการสั่งหรือไม่สั่งดังกล่าวของศาลรัฐธรรมนูญอาจมีนัยบางอย่าง เพราะการสั่งหรือไม่สั่งดังกล่าว รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดให้เป็นเรื่อง หากปรากฏเหตุอันควรสงสัย
กระนั้นก็ตาม ไม่แน่เสมอไปว่า หากพลเอกประยุทธ์ไม่ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ จะเป็นข่าวดี มีโอกาสรอด เพราะเมื่อไปดูคดีอื่นๆ เช่น คดีฝ่ายค้านยื่นให้ศาลวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของสิระ เจนจาคะ สมัยเป็น ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ สิ้นสุดลง เพราะเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดของศาลแขวงปทุมวัน ในคดีทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาฯ
ปรากฏว่าศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้เมื่อ 3 กุมภาพันธ์ 2564 โดยไม่ให้สิระหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนสิระมั่นใจมากว่าตัวเองรอด แต่สุดท้ายต่อมา 22 ธันวาคม 2564 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้สิระหลุดจาก ส.ส.
ดังนั้น ต้องบอกไว้ก่อน หากคดีพลเอกประยุทธ์ ถ้าศาลจะสั่งให้หยุดหรือไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ ก็หาใช่คำตอบที่ตายตัวว่า พลเอกประยุทธ์ จะได้เป็นนายกฯ ต่อหรือต้องหลุดจากตำแหน่ง เพราะของจริงต้องรอ 9 ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ลงมติชี้ขาด
สำหรับประเด็นที่ว่าศาลจะใช้เวลาพิจารณาคำร้องคดีนี้เร็วแค่ไหน พบว่าแวดวงการเมืองและนักกฎหมายมหาชนส่วนใหญ่เชื่อศาลรัฐธรรมนูญปิดคดีนี้เร็วแน่นอน เพราะเป็นคดีที่เป็นแค่เรื่องข้อกฎหมาย อีกทั้งเป็นคำร้องคดีที่เกี่ยวกับตัวนายกรัฐมนตรีที่มีเรื่องกรอบเวลาการเป็นนายกฯ ดังนั้น หากศาลใช้เวลาพิจารณานาน ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม รวมถึงความเชื่อมั่นในด้านเศรษฐกิจและการลงทุนทั้งภายในและต่างประเทศด้วย
อย่างความเห็นของ รองศาสตราจารย์ ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ที่มีความเห็นในข้อกฎหมายว่า พลเอกประยุทธ์ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้ต่อหลัง 24 สิงหาคมนี้ ระบุว่า
"หลังศาลรับคำร้องแล้ว ภายในไม่เกินหนึ่งเดือน น่าจะพิจารณาเสร็จ จริงๆ ใช้เวลาแค่ สองสัปดาห์ก็เสร็จ เพราะเป็นเรื่องข้อกฎหมาย เอกสารทุกอย่างมีหมดแล้ว ศาลเปิดดูได้เองหมด สามารถตีความได้เลย ไม่ต้องสืบพยาน และคดีนี้ไม่จำเป็นต้องฟังพยานผู้เชี่ยวชาญ เพราะเจตนารมณ์การร่างรัฐธรรมนูญถูกบันทึกไว้ชัดเจน อยู่ในรายงานการประชุมของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และบันทึกหลักการและเหตุผล รวมถึงตัวรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องก็ตีความได้"
พิจารณาดูแล้ว เส้นทางคำร้องคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์เดินไปตามนี้ ก็เตรียมนับหนึ่งได้ภายในสัปดาห์หน้านี้.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
แรงต้าน'เสี่ยโต้ง'คุมธปท.แรง ลือสลับไพ่เปลี่ยนตัวปธ.บอร์ด
การที่คณะกรรมการคัดเลือกประธานธนาคารแห่งประเทศและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ธปท. ที่มีนายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง เป็นประธาน เลื่อนประชุมลงมติเลือก ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการ ธปท.ผู้ทรงคุณวุฒิอีก 2 ตำแหน่ง จากวันที่ 4 พ.ย.ออกไปอีก 1 สัปดาห์เป็นวันจันทร์ที่ 11 พ.ย. วิเคราะห์ไว้ว่าอาจเกิดจาก 2 สาเหตุ
เอ็มโอยู44-เอื้อนายทุน จุดจบรัฐบาลไม่ครบเทอม
หากอ้างอิงข้อมูลจากนิด้าโพลเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา หัวข้อ รัฐบาลอุ๊งอิ๊งค์ อยู่ครบเทอมหรือไม่ โดยประชาชนมากกว่า 57.71% มองว่าอยู่ไม่ครบเทอม ประกอบด้วยสัดส่วนร้อยละ
ระแวง-ระวัง “ประโยชน์ทับซ้อน” ถกขุมทรัพย์ไทย-กัมพูชาไปถึงไหน?
การเคลื่อนไหวต่อต้านบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา เพื่อแก้ไขปัญหาเขตแดนและแผนพลังงานเมื่อปี 2544 หรือ MOU44 และการปลุกกระแสการเสียเกาะกูดให้กัมพูชา ถ้ามีการเจรจาผลประโยชน์ระหว่างรัฐบาล 2 ชาติ
‘พปชร.’ ปลดแอก ‘สามารถ’ โยนระเบิดเข้า ‘เพื่อไทย’ ต่อ
‘พลังประชารัฐ’ ฝั่งบ้านป่าฯ สถาปนาตัวเองเป็น ‘ฝ่ายค้าน-ฝ่ายแค้น’ เต็มตัว
"ดีเอสไอ" รับเผือกร้อนต่อ สางคดี "ดิไอคอน" ไม่ใช่เรื่องง่าย
คดีดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นหนึ่งในคดีฉ้อโกงประชาชนและฟอกเงินที่ใหญ่ระดับประเทศ โดยมีความเสียหายสูงถึงเกือบ 3,000 ล้านบาท จากการที่บริษัทดังกล่าวชักชวนประชาชนให้ลงทุนในสินค้าผลิตภัณฑ์ในลักษณะที่เป็นเครือข่าย
ไม่ห้าว ไม่แตะ 'ของร้อน' ‘นายใหญ่’เน้นประคอง‘ลูกสาว’
สถานการณ์ของ รัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร ช่วงนี้ค่อนข้าง ‘นิ่ง’ ‘นิ่ง’ ที่ไม่มีม็อบทางการเมืองขนาดใหญ่มากดดัน ตลอดจนผลงานที่ยัง ‘แน่นิ่ง’