เข้าสู่โหมดลุ้นระทึกอีกครั้งว่า บิ๊กตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กับวาระการดำรงตำแหน่ง 8 ปี จะต้องสิ้นสภาพตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ วาระร้อนทางการเมืองไม่ใช่แค่ พล.อ.ประยุทธ์ได้รับผลกระทบ หากคำวินิจฉัยออกมาในทางลบยังลามไปถึงคณะรัฐมนตรี-ชะตากรรม เครือข่ายร่วมจัดตั้ง อุ้มชูรัฐบาลประยุทธ์ และกองหนุนกลุ่ม 3 ป. เครือข่ายนายทุน ดุลอำนาจทางทหารในปีกประยุทธ์คงจะกระทบชิ่งตามไปด้วย
เงื่อนไขทางกฎหมาย วาระร้อน 8 ปี ภาคการเมือง นักวิชาการ นักกฎหมาย มองต่างมุม ในตัวบทกฎหมาย เจตนารมณ์อันต่างกันเป็น 3 ชุดความคิด เกี่ยวกับห้วงระยะเวลาการเริ่มต้นนับหนึ่ง วาระการดำรงตำแหน่ง
1.นับจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.2557 ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557
2.นับตั้งแต่วันรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ประกาศใช้คือ วันที่ 6 เม.ย.2560
3.นับตั้งแต่วันที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ ในวันที่ 9 มิ.ย.2562
ห้วงเวลาสิ้นสุดที่ยังถกเถียง ตกลงประยุทธ์พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 ส.ค.2565 หรือ 6 เม.ย.2568 หรือ 9 มิ.ย.2570 กันแน่ คำวินิจฉัยชี้ขาด เผือกร้อนถูกโยนไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ
ในยุค Social war แม้จะมีนักวิชาการ คณาจารย์ นักกฎหมาย นักการเมือง ออกมาแสดงความคิดเห็นในเงื่อนไขที่ 2-3 แต่ดูเหมือนเสียงจะไม่ดัง ไม่ถูกนำไปขยายผลอธิบายในเชิงวิชาการเท่ากับหลักคิดที่ 1 ทั้งที่หน่วยงานภาครัฐเต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ งบประมาณมหาศาล แต่กลับไม่ถูกนำมาหักล้างความคิดในชุดที่ 1 ไปเลย
ทำให้เครือข่ายใต้ดินได้ใจ ปลุกระดม งัดกฎหมายบางช่วงบางตอนตีกิน ขยายความในทางการเมือง จนโน้มน้าวกระแสสังคมส่วนใหญ่คล้อยตาม 24 ส.ค. เดดไลน์ประยุทธ์ต้องพ้นตำแหน่ง เพราะอยู่ยาวมา 8 ปี ครบตามเงื่อนไขทางรัฐธรรมนูญแล้ว
กลุ่ม 99 พลเมือง นักวิชาการ นักกิจกรรม ภาคประชาชน ร่วมกันลงชื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์พิจารณาตัวเอง
เครือข่ายคณาจารย์นิติศาสตร์ 51 คน จาก 15 สถาบัน กางกฎหมาย ส่งจดหมายถึงศาลรัฐธรรมนูญ กางตำราทางกฎหมายอ้างถึงรัฐธรรมนูญ ปมนับระยะเวลาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ "8 ปีแล้ว พอเถอะนะ" เครือข่ายนักวิชาการ เสียงประชาชน 8 มหาวิทยาลัย ร่วมกับ 8 สื่อสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลและสื่อออนไลน์ ได้แถลงการณ์การจัดโหวตเสียงประชาชน เรื่อง “นายกรัฐมนตรีควรอยู่เกิน 8 ปีหรือไม่
วงเสวนาทางวิชาการจากภาคประชาสังคมหรือการเมืองมองไปในทางเดียวกัน แนะให้รู้จักพอ เอาแบบอย่างทหารรุ่นพี่ ป้องกันวิกฤตความขัดแย้งในอนาคต
ฝ่ายการเมือง ขาประจำ ส.ส.พรรคร่วมฝ่ายค้านเพิ่งเข้าชื่อ 171 คน ยื่นต่อ นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เพื่อขอส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สิ้นสุดลง เนื่องจากดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีรวมระยะเวลาเกินกว่า 8 ปี ตามมาตรา 170 วรรคสอง และมาตรา 158 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 หรือไม่
ม็อบนอกสภาหน้าเก่าหน้าใหม่ตั้งวงฮึ่มๆ กดดัน คณะหลอมรวมประชาชน "จตุพร พรหมพันธุ์" "นิติธร ล้ำเหลือ" นัดชุมนุมขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์บริเวณลานคนเมือง หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 21-24 ส.ค. จัดกิจกรรมปราศรัย มีสลับดนตรีขับกล่อม
จะมีการเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล หรือหมุดหมายสำคัญเชิงสัญลักษณ์ทางการเมืองหรือไม่ แกนนำผู้ชุมนุมยังขอรอดูหน้างาน ประเมินทั้งกระแสจำนวนคนร่วมชุมนุมก่อน ที่จะเป็นตัวชี้วัดในการขับเคลื่อน
ไม่ว่าอย่างไร คนที่ไม่เอาด้วย เบื่อประยุทธ์ มีอยู่ไม่น้อย ขณะเดียวกันคนไม่เอาม็อบ ภาพจำตั้งแต่ปี 2549, 2553, 2557 ที่ส่งผลกระทบทั้งด้านความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ ก็มีอยู่ไม่น้อยเช่นกัน
เครือข่ายแนวร่วม 3 นิ้ว กางตารางกิจกรรมเคลื่อนไหว วันที่ 21 ส.ค. เวลา 10.00 น. ที่สนามหลวง แนวร่วมกลุ่ม 3 นิ้วเตรียมแถลงข่าวกรณี 8 ปีประยุทธ์ กลุ่มทะลุแก๊สเตรียมจัดชุมนุมในช่วงวันที่ 24 ส.ค. แต่ยังไม่กำหนดพื้นที่เป้าหมายการชุมนุมและรายละเอียดกิจกรรม
ภาคการเมือง ภาคมวลชน ขยับขับเคลื่อน จะมีพลังกดดัน ส่งผลต่อสถานะ สถานภาพ พล.อ.ประยุทธ์ มากน้อยแค่ไหน เพราะแกนนำระดับหัวแถว ไม่ว่าจะเป็นนักจัดตั้งม็อบมืออาชีพ หรือนักเริ่มทำม็อบ หลายคนมีคดีรอวันถูกสะสางอยู่ไม่น้อยเหมือนกัน
ประยุทธ์นั่งในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่มาทั้งในภาคหัวหน้าคณะปฏิวัติ หรือภาคที่ได้รับการเลือกตั้งมา อยู่ในตำแหน่งนาน 8 ปี แต่ผลการปฏิบัติ ปฏิรูป พัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม สิ่งจับต้องได้มีน้อยกว่าจับต้องไม่ได้ เลยทำให้เกิดกระแสความเบื่อหน่าย ตามภาวะผู้นำที่ลากยาวเกิน ไม่ใช่เฉพาะแต่ประยุทธ์ ในประเทศอารยะหลายประเทศถึงขนาดบัญญัติไว้เป็นกฎหมาย ให้ผู้นำอยู่ได้เพียงแค่วาระเดียว 4 ปี หรือมากที่สุดก็แค่ 2 สมัย 8 ปีเท่านั้น
ประยุทธ์นับตั้งแต่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เคยโดนยื่นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวพันไปถึงสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วอย่างน้อย 4 เรื่องใหญ่ๆ
-12 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องปมการถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญ
-18 กันยายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเป็นเอกฉันท์วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่มีลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ถือว่าเป็น "เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ"
-2 ธันวาคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ จากกรณีพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปี
-1 กรกฎาคม 2564 ศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้อง 72 ส.ส.เพื่อไทยยื่นขอให้วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ปมเอื้อประโยชน์สัมปทานรถไฟฟ้า
จะด้วยข้อเท็จจริงทางกฎหมายไม่เข้าข่ายการกระทำความผิด บกพร่องตามรัฐธรรมนูญ หรือภูมิคุ้มกันแข็งแกร่ง ยากเกินจะโค่นได้ด้วยข้อหาธรรมดา หรืออะไรก็แล้วแต่ ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ยังคงสถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แต่สำหรับครั้งนี้ วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ 8 ปี ถูกเชื่อมโยง ลากโยงไปถึง
ดีลลับ ระหว่างคีย์แมนเพื่อไทย-พลังประชารัฐ หลายต่อหลายเรื่องที่ปรากฏออกมาล้วนทำให้น่าขบคิดต่อ บวกกับความกระสันอยากเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีสักครั้งในชีวิต ลามไปถึงสายสัมพันธ์พี่น้อง 3 ป. ไม่ได้เหนียวแน่นเหมือนแต่ก่อน ภาพที่เห็นกับการกระทำที่ออกมาสวนทางกัน ประกอบกับคีย์แมนบางคนในรัฐบาลมีเครือข่ายสัมพันธ์กว้างขวาง กดปุ่มสั่งการได้หมด เลยถูกเชื่อมโยงกลายเป็นทฤษฎีสมคบคิดเชื่อมโยง
ชะตากรรมประยุทธ์ในช่วงปลายรัฐบาลต้องลุ้นหนักกว่าทุกครั้ง พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นประธานจัดงานประชุมเอเปกในช่วง พ.ย.นี้หรือไม่ ว่ากันว่าไม่น่าจะเกินกันยายนจะมีการนัดอ่านคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญออกมา
ในแง่กฎหมาย เจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จริยธรรม ความชอบธรรม วาระ 8 ปี ประยุทธ์ ถูกเชื่อมโยงจากคนละเรื่องมาเป็นเรื่องเดียวกัน ผลคำวินิจฉัยที่จะออกมาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญยังถูกจับตามองเป็นอย่างมาก การตีตัวบทกฎหมายอาจไม่ได้ส่งผลแค่สถานะความเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงอย่างเดียว
ฝ่ายการเมือง แนวรบนอกสภา ฝ่ายตรงข้ามเก็บเกี่ยวสถานะแห่งคำวินิจฉัยในทุกแง่มุม รอดก็จะถูกครหาอุ้มชู ช่วยกัน แล้วไปขยายแผล ตีกินในสนามเลือกตั้งในอีก 7 เดือนข้างหน้า ถ้าไม่รอดก็เหมารวม ไม่กล้าฝืนกระแส เจตจำนงประชาชน
วาระร้อน 8 ปีอาจจบในคำตัดสิน แต่สำหรับภาคการเมืองดูเหมือนจะมองข้ามช็อตไปแล้ว ประยุทธ์ รอด-ไม่รอด ล้วนถูกปั่นกระแส ปลุกชนวนวิกฤตความขัดแย้งรอบใหม่ได้ทั้งนั้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ปักหมุด‘ครม.สัญจร’เชียงใหม่ กู้ศก.-ฟื้นท่องเที่ยวหลังภัยพิบัติ
ประเดิมนัดแรก “ประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่” หรือ “ครม.สัญจร” ของรัฐบาล “นายกฯ อิ๊งค์” แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่จังหวัดเชียงใหม่ บ้านเกิดตระกูลชินวัตร
'อังคณา' จี้นายกฯ ตอบปม สตม.ส่งนักการเมืองฝ่ายค้านกัมพูชากลับประเทศ
นางอังคณา นีละไพจิตร สมาชิกวุฒิสภา (สว.)
ตั้งแท่นงบฯเรือฟริเกตทร. จับตาเกมเตะถ่วง"เรือดำน้ำ"
แม้กระแสข่าวเล็กๆ ที่สร้างความชุ่มชื่นหัวใจให้กับกองทัพเรือ (ทร.) ว่ารัฐบาลอาจจะไฟเขียวเดินหน้า “เรือดำน้ำจีน” ต่อไป หลังจาก “อ้วน” ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม
ติดสลักกม.ประชามติ รธน.ใหม่ส่อลากยาว
สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการร่วมกันเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์ที่จะใช้สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรียบร้อย โดยให้ยึดเสียงข้างมาก 2 ชั้น กล่าวคือ 1.ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิ์เกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด และ 2.ต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิ์
นายกฯ ปลุกทุกภาคส่วน ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรีทุกรูปแบบ
น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านวีดิทัศน์ว่า เนื่องในเดือนพฤศจิกายนของทุกปีเป็นเดือนแห่งการรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ประจำปี 2567
ความจริง 'ชั้น 14' ชี้ชะตา 'รัฐบาลอิ๊งค์'
นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม ประธานสถาบันสุจริตไทย และอดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า อายุรัฐบาลขึ้นกับความจริงบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ (รพ.ตร.)