'เจมส์' คัมแบ็ก โทรโข่งรัฐบาล ลุ้นรองโฆษกฯ เสริมทัพให้แกร่ง

หลัง น.ส.วทันยา บุนนาค หรือ มาดามเดียร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ลาออกจากการเป็น ส.ส. ส่งผลให้ นายธนกร วังบุญคงชนะ อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เลื่อนขึ้นเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อแทน

โดยล่าสุดนายธนกรได้ยื่นหนังสื่อลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ อย่างเป็นทางการ ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม แล้วเมื่อช่วงเย็นวันที่ 17 ส.ค.ที่ผ่านมา พร้อมแจ้งสื่อมวลชนถึงการยุติบทบาทการเป็นโฆษกด้วยว่า

"เรียนพี่น้องสื่อมวลชนที่รัก ผมได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีแล้ว เมื่อช่วงเย็นของเมื่อวาน (17 สิงหาคม 2565) ถือเป็นการยุติบทบาทโฆษกประจำสำนักนายกฯ อย่างเป็นทางการนะครับ

ผมขอขอบคุณสื่อมวลชนทุกท่านจากใจจริง ที่ให้การสนับสนุนการทำงานของผม ในฐานะโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีด้วยดียิ่งมาโดยตลอด ความร่วมมือและแรงสนับสนุนของทุกท่านเป็นกำลังใจ ทำให้ผมสามารถขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ ผลงาน ภารกิจของท่านนายกรัฐมนตรี ตลอดในระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา ประสบความสำเร็จได้อย่างราบรื่น   

แม้จากนี้ผมจะต้องเปลี่ยนบทบาทในการทำงานเพื่อรับใช้พี่น้องประชาชน แต่ก็ยังยินดีและพร้อมประสานกับพี่น้องสื่อมวลชนทุกท่าน เพื่อประโยชน์ในการบริหารราชการแผ่นดินของท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลเช่นเดิมครับ"

ขณะที่ช่วงเช้าวันที่ 18 ส.ค. นายธนกรได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อกราบลาอย่างเป็นทางการ พร้อมระบุด้วยว่า “แม้จะต้องไปทำหน้าที่ ส.ส.แล้ว แต่ก็จะพยายามมาทำเนียบรัฐบาลบ้าง เพราะนายกรัฐมนตรีได้บอกว่าให้ตนมาทำเนียบได้ตลอดเวลา ซึ่งอาจจะมารับนายกฯ ในวันประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) บ้าง และการลงพื้นที่ของนายกรัฐมนตรีก็จะพยายามเดินทางไปด้วยทุกที่ เพื่อคอยประสานกับ ส.ส.ในพื้นที่”

สำหรับทีมโฆษกรัฐบาล ภายหลังจากนายธนกรลาออกจากตำแหน่ง จะเหลือเพียง 2 รองโฆษก คือ น.ส.รัชดา ธนาดิเรก และ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ส่วนผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งโฆษกรัฐบาลคนใหม่แทนนายธนกร มีรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์อยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกผู้ที่มีความเหมาะสม สามารถตอบโต้ทางการเมืองได้ และยังมีงานสำคัญในช่วงปลายปี 2565 ที่ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมเอเปกอีกด้วย 

และสำหรับรายชื่อผู้ที่ถูกคัดเลือกรับตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ เบื้องต้นที่มีรายชื่ออยู่ในตะกร้าให้ พล.อ.ประยุทธ์ตัดสินใจ ได้แก่ “เจมส์” -นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานในทีมโทรโข่ง ปัจจุบันรับผิดชอบงานด้านการต่างประเทศ สามารถนำทีมทำงานในช่วงการประชุมเอเปกได้

นอกจากนี้ยังมีชื่อ “จั้ม”-นายสกลธี ภัททิยกุล อดีตผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี 2565 ที่ถือว่ามีโปรไฟล์ดีพอสมควร และยังเคยเป็นกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ ก่อนลาออกในปี พ.ศ.2565 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในนามผู้สมัครอิสระ

ขณะเดียวกันยังมีชื่อ “แรมโบ้”-นายเสกสกล อัตถาวงศ์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ที่เป็นคนใกล้ชิดเคยทำงานคลุกคลีกับ พล.อ.ประยุทธ์ สามารถตอบโต้ทางการเมืองได้ดี

และชื่อสุดท้ายที่ติดโผคือ นายวรัชญ์ ครุจิต รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะนิเทศศาสตร์และนวัตกรรมการจัดการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ปัจจุบันเป็นทีมด้านการสื่อสารของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.)

นอกจากนี้อาจมีการปรับทัพ เสริมทีมโฆษกรัฐบาลให้แข็งแกร่งขึ้นไปอีก โดยมีชื่อ อ้น-น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และอดีตรองโฆษกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) จะมาเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกฯ อีก 1 คน เพื่อมาช่วยชี้แจงทางการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมา น.ส.ทิพานันสามารถตอบโต้ฝ่ายค้าน เสมือนเป็นทีมองครักษ์ปกป้อง พล.อ.ประยุทธ์ในหลายๆ ประเด็นได้เป็นอย่างดี 

ล่าสุด นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 204/2565 มอบหมายให้ นายอนุชา บูรพชัยศรี ข้าราชการการเมือง ตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีอีกหน้าที่หนึ่ง

ทั้งนี้ ก็เพื่อรองรับการประชุมเอเปกนั่นเอง ส่วนรองโฆษกคาดว่าจะเป็น อ้น-ทิพานัน

อย่างไรก็ตาม สำหรับโฆษกประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จนถึงปัจจุบันมีมาแล้วรวม 5 คน ประกอบด้วย นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ดำรงตำแหน่งโฆษกประจำสำนักนายกฯ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2557-14 พ.ค.2558 ถัดมาคือ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 18 ส.ค.2558-26 ต.ค.2561 

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงแรงงาน ดำรงตำแหน่งเมื่อ 30 ก.ค.2562-29 ก.ค.2563 นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่งเมื่อ 18 ส.ค.2563-24 ส.ค.2564 และ นายธนกร วังบุญคงชนะ เริ่มดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2564-17 ส.ค.2565 ก่อนลาออกเพื่อไปรับตำแหน่ง ส.ส.ตามความฝัน

ต้องจับตา นายอนุชา บูรพชัยศรี จะเป็นโฆษกรัฐบาลคนสุดท้ายของ รัฐบาลลุงตู่ หรือไม่ เพราะต้นปี 2566  ก็จะมีการเลือกตั้งใหม่แล้ว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยังไม่จบ ศึกชิงอำนาจสภาสูง แผนสองกินรวบ ปธ.กมธ.ทุกชุด!

วันอังคารนี้ 23 ก.ค. คาดว่าคงไม่เกินช่วงเที่ยงๆ ก็จะได้รู้กันแล้วว่า ผลการโหวตของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) เพื่อเลือก ประมุขสภาสูง-ประธานวุฒิสภา และ รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง-รองประธานวุฒิสภาคนที่สอง รวมสามเก้าอี้ใหญ่สภาสูงจะออกมาอย่างไร

ตั้งกลุ่มสว.สีเขียว-ปิดดีล'อยู่บำรุง' 'บ้านป่าฯ'ยังมีของไม่วางมือ

การขยับทางการเมืองของ บ้านป่ารอยต่อฯ ภายใต้การนำของพี่ใหญ่ตระกูล วงษ์สุวรรณ บิ๊กป้อม-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ในช่วงนี้น่าสนใจไม่น้อย ทั้งกระแสข่าวดึงสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

พรรคร่วมรัฐบาลขอเขย่า ไม่ตกเป็น'หมูในอวย'พท.

แม้ว่าพรรคร่วมรัฐบาล นำโดยพรรคภูมิใจไทย พรรคพลังประชารัฐ และพรรครวมไทยสร้างชาติ ฯลฯ จะยอมผ่านเรือธงของพรรคเพื่อไทย โครงการดิจิทัลวอลเล็ต แจกเงิน 1 หมื่นบาทให้แก่ประชาชนจำนวน 50 ล้านคน

แจกเงินดิจิทัล1หมื่นบาท ปิดปาก 'ปุ๋ย คนละครึ่ง'?

รัฐบาลเพื่อไทยนำโดย เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ผนึกกำลัง ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะเลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

ปริศนา'เรือดำน้ำ' เปิด5ประเด็นสะดุด'ตอ'

ทริปเร่งด่วน ที่ “สุทิน คลังแสง” รมว.กลาโหม นำทีม พล.ร.อ.อะดุง พันธุ์เอี่ยม ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) และ จักรพงษ์ แสงมณี รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสายตรงของ “นายกฯ" และ “ชินวัตร” บินไปจีนเมื่อช่วงวันที่ 24-25 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องเครื่องยนต์เรือดำน้ำ S26T ที่ ทร.ไทยจ้างบริษัทของจีนสร้างไม่เป็นไปตามสัญญา

‘สภาสูง’ในเงื้อมมือค่ายน้ำเงิน ส่องภารกิจเลือก‘องค์กรอิสระ’

ภารกิจ 200 สว. แสดงตนต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เป็นไปด้วยความเรียบร้อย มารายงานตัวครบจบไม่ขาดไม่เกิน แต่สวนทางกับความอลหม่านที่กลุ่มต่างๆ ภายในสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ด้วยกันเอง